เรียนรู้คนเป็นโรคไต 3

โดย นักการหนิง เมื่อ 12 ธันวาคม 2009 เวลา 10:43 (เย็น) ในหมวดหมู่ เรื่องเล่าจากลานดีดี #
อ่าน: 3347

ความเดิมจากตอนที่แล้ว เล่าค้างว่า โรคไตมีกี่ประเภท  ซึ่งเราไม่เข้าใจกันเท่าไรเลย  พอบอกว่าเป็นโรคไต ก็นึกถึงภาพคนที่ต้องฟอกเลือด  หรือนอนตัวบวมอยู่ในโรงพยาบาล  เอาความรู้แบบชาวบ้านอย่างเราๆ ดีไหมคะ

ไตจะทำงานลดลงเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี  แต่จะเสื่อมช้าๆ ค่ะ  แต่ภาวะไตเกิดโรค ไตจะเสื่อมเร็วกว่าปกติ   กรณีไตเสื่อมอย่างรวดเร็ว  เรียกว่า ไตวายเฉียบพลัน   แต่ถ้าไตเสื่อมช้าๆ และต่อเนื่องจนผิดปกติ เรียกว่าไตเรื้อรัง  ในกรณีของคุณสามี เป็นไตวายเรื้อรังระยะที่ 4

คนที่ต้องฟอกไต  คือ คนที่เป็นโรคไตเรื้อรังในระยะที่ 5 หรือไตวายระยะสุดท้าย   ไตทำงานเหลือน้อยกว่า 15% หรือภาษาเราๆ เรียกว่า ไตวาย

อย่างนี้ก็แสดงว่ามีโรคไตเรื้อรังอีกสี่ระยะ ก่อนจะถึงระยะที่ 5 ซึ่งต้องฟอกไต  ซึ่งหากตรวจพบก่อนที่จะเป็นในระยะที่ 5 จะสามารถ  หน่วงความรุนแรงลงได้ ตรงนี้สำคัญค่ะ  หากพบก่อนและดูแล ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายๆ ประการ  ตรงนี้หากกระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง และรณรงค์ลดการกินเค็ม ให้ความรู้การดูแลตัวเองให้ดี  จะช่วยได้เยอะค่ะ

แต่เราก็ต้องมาดูกันอีกว่าอไรเป็นสาเหตุของการเป็นโรคไตเรื้อรัง

อย่างแรก ทานอาหารเค็มเป็นประจำ  ลองสังเกตุ การทานอาหารของเรากันดีไหม  ต้องเติมน้ำปลาทุกครั้งหรือเปล่า ต้องทานน้ำปลาพริกเป็นประจำหรือเปล่า  ทานอาหารนอกบ้านประจำหรือเปล่า  (อาหารนอกบ้านมีผงชูรส ซึ่งมีสถานะเป็นโซเีดียมเหมือนเกลือ)  ไปทานอะไร ก็คว้าเครื่องปรุงทุกครั้งหรือเปล่า กินบะหมี่สำเร็จรูปบ่อยๆ   ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ

ทานอาหารเค็มแล้วไปเกี่ยวอะไรกับไตเรื้อรัง

อะโฮ ไม่เกี่ยวได้ไง  ทานอาหารเค็มประจำ ก็จะทำให้ความดันโลหิตสูงไง  ร่างกายคนเราต้องการเกลือเพียงเล็กน้อยในแต่ละวัน  เมื่อปริมาณเกลือในร่างกายเรามากเกินกว่าที่ต้องการ    มีปริมาณโซเดียมสะสมสูง น้ำในร่างกาย จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น นั่นหมายถึงว่า ระดับเลือด จะสูงขึ้นด้วย เมื่อปริมาณเลือดสูงขึ้น เลือดต้องวิ่งผ่าน ไปยังเส้นเลือดมากขึ้น เป็นผลให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้น ความดันโลหิตสูงทำให้หัวใจทำงานหนักค่ะ  และในระยะยาวก็ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายเสื่อม ทำให้ไตเกิดการเปลี่ยนแปลง  ตรงนี้ืแหล่ะที่เราจะพบโปรตีนในเลือดรั้วออกมาในปัสสาวะ

ลองมาดูของจริงค่ะ ว่าทานอย่างไง ถึงทำให้มีเกลือในร่างกายมากไป

  1. ตำน้ำพริกแกง ใส่กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ  เกลือ 1 ช้อนชา  ปลาร้า 1 ช้อนชา  แล้วปรุงน้ำแกงด้วยน้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ และผงชูรสอีกครึ่งช้อนชา  ต่อแกงหม้อเล็กถึงกลางหนึ่งหม้อ ( ตักได้สองชามใหญ่ๆ )
  2. ทานแหนม ปลาจ่อม  ปลาแดดเดียว  ปลาส้ม เป็นประจำ
  3. ทานผักกาดดอง  ผัดหัวไชโปว์
  4. ดื่มน้ำอัดลม (มีน้องในที่ทำงานดื่มน้ำอัดลม(น้ำดำ)  แทนน้ำดื่ม ตอนนี้ฟอกไตไปแล้วค่ะ)
  5. ทานมาม่า ยำยำ ไวไว กุ๊งกิ้ง สารพัด

ทำไมเมื่อเป็นโรคไตเรื้อรังในระยะที่หนึ่งจนถึงที่สี่ต้องควบคุมการทานอาหาร   ไตเปรียบเหมือนบ่อบำบัดน้ำเสียในโรงงานค่ะ  แต่ไม่เหมือนกันตรงที่ว่า บ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงาน ไม่ใช้ก็ได้  ปล่อยออกคูคลอง ลำน้ำสาธารณะไปเลยก็ได้  รู้อีกทีก็ปลาลอยตายเป็นแพ   แต่ไตจะทำงานเท่าที่ทำได้  หากเกินกำลังไตก็จะกำจัดของเสียออกไม่ได้  ของเสียก็จะคั่งอยู่ในกระแสโลหิตนั้นแหล่ะค่ะ

การควบคุมการทานอาหารคือการลดการผลิตของเสียลง  หรือให้ไตทำงานน้อยลงนั่นเอง

ไม่ใช่ทานเค็มอย่างเดียวนะที่เป็นตัวเร่ง  การทานยาแก้อักเสบ  ยาแก้ปวดโดยเฉพาะที่เรียกว่า “เอ็นเสด”  ยาลดความอ้วนก็เป็นสาเหตุด้วยค่ะ

สามีของนักการหนิง เมื่อเริ่มตรวจพบแล้วก็ทานยาลดความดันโลหิตมตามหมอสั่งมาตลอด   มีวันหนึ่งเธอไปอ่านเจอหนังสือเล่มหนึ่งบอกว่า เราสามารถลดความดันโลหิตสูงได้เอง ด้วยกรรมวิธีต่างๆ  นักการหนิงก็อ่านค่ะ  หนังสือเล่มนี้ก็เขียนดี  แต่ไม่เหมาะกับคนที่เป็นความดันโลหิตสูงด้วย และเป็นไตเรื้อรังด้วย  คุณสามีอ่านและศึกษาจากหนังสือโรคไตหลายๆ เล่ม  มีวันหนึ่งเขาสรุปด้วยตัวเองว่า  ตัวชี้วัดระดับของโรคไต คือ โปรตีนในเลือดรั่วออกมาในปัสสาวะ (ไข่ขาว) และจากการศึกษาด้วยตัวเอง

จนกระทั่งเมื่อห้าปีที่ผ่านมา  เขาไม่ไปพบหมอตามนัด โดยที่นักการหนิงไม่ทราบ เพราะที่บ้านก็ยังมีถุงยาถุงใหญ่  หยุดทานยาที่หมอให้ ทั้งยาลดความดันโลหิตสูง และโอมาคอร์  ขณะนั้น ค่าคริอะตินีนในเลือดมีค่า ประมาณ 2 มก.% กว่านิด (คนปกติ จะต่ำกว่า 1.2 มก.%)   หนึ่งปีกว่าๆ ผ่านไป  ระยะนั้นเขาไปตรวจปัสสาวะทุกเดือนที่แลป ค่ะ ซึ่งก็พบไข่ขาวเหมือนเดิมนั่นแหล่ะ  เขาก็พยายามควบคุมความดันโลหิตของตัวเองตามที่หนังสือให้คำแนะนำ  ช่วงครึ่งปีหลังที่หยุดทานยาลดความดันโลหิตสูง  เขามีอาการเป็นตะคริวบ่อยๆ   ปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยมากขึ้น  มีอาการอึดอัด  จนกระทั่งอึดอัดมาก ๆ   ปวดศรีษะ  ความดันโลหิตก็ยังสูงกว่าปกติ  ช่วงนี้ยังมีดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างบ้าง แต่ไม่มากนัก  อาหารทานตามปกติคือลดเค็มลงมานิดเดียว  เนื้อสัตว์ยังทานเยอะเหมือนเดิม  มีอยู่วันหนึ่งเขาไปซื้อหนังสือเรื่องโรคไตมาอีกเล่มหนึ่ง  ในหนังสือเขียนชัดเจนว่าตัวบ่งชี้ภาวะโรคไตเรื้อรัง คือ ครีอะตินีน   เขาตกใจมาก เพราะตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาเขาตามดูแต่ค่าของไข่ขาว เริ่มรู้สึกตัวว่าน่าจะมีความผิดพลาดในการตัดสินใจ   เขาค่อยๆ มาบอกนักการหนิง …  พูดไม่ออกค่ะ  ไม่รู้จะพูดอย่างไร   ก็บอกกับเขากลับไปหาหมอเถอะ

ที่พูดไม่ออกคือโกรธมากๆ  โกรธที่ดื้อรั้น ไม่บอกกล่าวก่อนตัดสินใจ  ไม่รักตัวเอง

ภายหลังจากวันนั้น ก็คุยกับเขาว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนี้   ทำไมเชื่อหนังสือเล่มเดียว ไม่เชื่อหมอซึ่งร่ำเรียนมาจนเป็นหมอเฉพาะทางซึ่งมีประสบการณ์ก็ไม่ใช่น้อย

เมื่อไปพบหมอและผลการตรวจออกมา พบว่่า ค่าครีอะตินีน  เป็น 4 มก.% กว่านิดๆ จากเดิมอยู่ที่ 2 มก.% กว่านิดๆ  หมอบอกว่า ถ้าหากทานยาตามที่หมอสั่ง และดูแลตัวเองให้ดี ไตจะเสื่อมช้าลงกว่านั้อีกหลายปี  อาจเป็นถึงสิบปี  การทานยาลดความดันโลหิตมีอาการข้างเคียงก็จริง  แต่การไม่ทานยากลับส่งผลรุนแรงต่อไปมากกว่า โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคไตเรื้อรัง การไม่ทานยาจะทำให้ไตวายเร็วมากยิ่งขึ้น  มาถึงตรงนี้หมอสั่งจำกัดอาหารโปรตีน   แลผลไม้ค่ะ

ตรงนี้ก็งงกันอีกว่าอาหารโปรตีนมีผลอย่างไรต่อไต และผลไม้มีผลอย่างไร

นักการหนิงไปขอผลการตรวจเลือดของน้องที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง  ดูว่าหมอสั่งให้เขาฟอกไต เมื่อใด  พบว่า เมื่อค่า ครีอะตินีน  ประมาณ 8 มก.% กว่าขึ้นไป  แต่อีกตัวหนึ่งที่ทำให้หมอตัดสินใจนั่นคือ ค่าเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติมาก

มาถึงตอนนี้ก็ต้องจัดคอร์สอาหารกันใหม่  หลังจากปรึกษากันว่าจะหน่วงเวลาการฟอกไตไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้  จึงเริ่มหาความรู้กันเรื่องโภชนาการสำหรับคนเป็นโรคไตเรื้อรัง ตั้งแต่ระยะที่หนึ่งจนถึงระยะที่สี่  ซึ่งหากเข้าสู่ระยะที่ห้าก็เตรียมตัวรับการล้างไต   ได้หนังสือจากพี่พยาบาลคนหนึ่งจากโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ชื่อพี่กรุณา  และหาซื้อหนังสือมาศึกษาอีกหลายเล่ม  ได้แนวในการดูแลตัวเองมาหลายประการ

ประการแรก ก็คือการควบคุมอาหาร

ทุกวันนี้คุณสามีจึงต้องทานอาหารที่ปรุงเองที่บ้านเป็นหลัก  ไปทำงานด้วย ทำไง  ก็ปรุึงอาหารให้สุก แล้วเก็บใส่ตู้เย็นวันรุ่งขึ้นก็อุ่นให้เดือด แล้วก็ใส่ปิ่นโตไปสองเถา มื้อเช้าหนึ่งเถา มื้อกลางวันหนึ่งเถา

ปรุงอาหารทุกวันนี้จึง  ลดเค็มลงสองในสี่ส่วน จากที่เคยทาน  พูดง่ายคือใส่พริก หอม กระเทียม เครื่องเคราทุกอย่าง เหมือนเดิม  แต่ใส่กะปิเพียงครึ่งช้อนชา หรือไม่ใส่  เกลือประมาณ ครึ่งช้อนชา หรือซีอิ้วขาวนิดหน่อย ปลาร้าไม่ใส่เลย

ปลาร้ากับกะปิ นอกจากได้ความเค็มแล้ว  ยังมีพิวรีนสูงด้วย ไม่เหมาะกับคนเป็นโรคเก๊าท์หรอกค่ะ

งดน้ำอัดลมเด็ดขาด

งดอาหารหมักดอง บะหมีสำเร็จรูป

ถ้าทานนอกบ้านก็พยายามทานร้านประจำ ที่สะอาด และสั่งได้

ขอบอกว่าอาหารที่คุณสามีทานทุกวันจะไม่มีรสเค็มค่ะ  คือมีเกลือเท่าที่ร่างกายต้องการจริงๆ

งานนี้ใจต้องแข็ง นักการหนิงก็ต้องช่วยในการเตรียม ปรุงอาหาร และคอยเตือน  แต่เตือนบ่อยๆ ไม่ได้นะคะเขาโกรธวันไหนเผลอมากๆ ก็ต้องเตือนค่ะ   เรื่องอย่างนี้เจ้าตัวต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ค่ะ

เรื่องที่เล่าจะกระโดดไปมาตามที่่ควรจะได้อ่านแล้วรู้เรื่อง เข้าใจ  เพราะไม่ใช่เป็นการเขียนตำรา แต่เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่ล้ำค่่า ของคนคนหนึ่ง เพื่อพี่น้องชาวลานปัญญา  และหากคุณหมอท่านใดที่เป็นผู่้เชี่ยวชาญ หรือมีความรู้ด้านนี้ สามารถให้ความคิดเห็นข้อเสนอแนะ แก้ไขได้นะคะ ยินดีน้อมรับเสมอ

« « Prev : Todo tag : เรียนการทำ ลายรดน้ำ

Next : เรื่องของคน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

17 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.59960508346558 sec
Sidebar: 0.048639059066772 sec