ดอกส้มสีทอง(๔)

อ่าน: 25090

เอ๊ามาเร็ว…มาโม้กันเรื่องฟ้องหย่ากันต่อ นอกจากฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนจากเมียน้อยอย่างเรยาแล้ว รู้ไหมครับว่าในการฟ้องหย่านั้นจะต้องจัดการเรื่องอะไรกันอีก ไหนๆก็ไหนๆแล้วว่ากันให้หมดเปลือกเลยดีกว่า
ถ้ามีลูกด้วยกัน เรื่องลูกเอาไงกันดี งั้นเรามาดูตามกฎหมายกันดีกว่า ว่ากฎหมายเขาเขียนไว้ว่ายังไง เขาว่าไว้อย่างนี้ครับ

“มาตรา 1520 ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ตามมาตรา 1582
ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ”

เห็นไหมครับเรื่องลูกนี่ก็มีความสำคัญนะครับ เขาดูกันที่ความสุขและประโยชน์ของลูกเป็นหลักนะครับ อ้อ…อย่าลืมนะครับเมื่อพูดถึงการใช้อำนาจปกครองบุตรก็ต้องหมายถึงว่าบุตรนั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งมี ๒ อย่าง คอื บรรลุนิติภาวะเนื่องจากมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ กับบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายนะครับ(ซึ่งหมายถึงว่าอาจจะบรรลุนิติภาวะได้ตั้งแต่อายุครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ เพราะการสมรสตามกฎหมายคู่สมรสจะต้องมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ขึ้นไปครับ)

พูดถึงการหย่าด้วยความยินยอมกัน บางคู่เขาอาจจะมีเรื่องระหองระแหงกันและยังมิได้หย่าขาดจากกันเพราะเหตุผลส่วนตัว
มีสามีภริยาคู่หนึ่งเดินจูงมือกันมาขอจดทะเบียนหย่า นายอำเภอถามว่าคุณตาคุณยายจะจดทะเบียนหย่าเหรอ อยู่กันมากี่ปีมีลูกกันกี่คนแล้วล่ะ
ยายตอบว่าอยู่กันมา ๕๐ กว่าปีแล้ว ลูกสิบคนทำงานทำการกันหมดแล้ว
นายอำเภอก็สงสัยว่าลูกตั้งสิบคนและอายุก็มากแล้ว ทำไมถึงอยากมาจดทะเบียนหย่าตอนนี้
ยายบอกว่า โอ๊ย…ยายอยู่ไปก็ไม่มีความสุข อยากจะเลิกกับมันตั้งนานแล้ว…ทะเลาะกันเกือบทุกวัน คิดจะหย่ากับมันตั้งแต่แต่งงานได้สองสามปีแรก แต่กลัวลูกจะมีปมด้อย…ตอนนี้ลูกมีงานมีการทำหมดแล้ว ไม่ห่วงแล้วจะได้หย่ากับมันสักที….จ๊าก…ยาย

คราวนี้เรามาดูกันต่อว่า คู่สมรสหย่าขาดจากกันมีสิทธิเรียกร้องอะไรกันได้บ้าง ขอแบ่งอะไรได้บ้าง
“มาตรา 1533 เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน”

เอาละ สมมติว่าคุณสามีไปมีเรยา อยากหย่าขาดจากภรรยาผู้แสนดี คุยกันด้วยดีในฐานะเราเป็นภรรยาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมียหลวง เรามีสิทธิได้สินสมรสครึ่งหนึ่ง อยากหย่าใช่ไหม เอามา….อิอิ
พอเขียนอย่างนี้ก็ต้องมีคนสงสัยว่าสินสมรสมันคืออะไร เพื่อจะให้เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ เราก็มาดูว่าทรัพย์สินของคู่สมรสมีอะไรบ้าง มีสองตัวครับ ตัวแรกเรียกว่า “สินส่วนตัว” ตัวที่สองเรียกว่า “สินสมรส” มาดูตามตัวบทกฎหมายกันเลยดีกว่า….
มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ขออธิบายหน่อยนึงครับ เครี่องใช้สอยส่วนตัว เช่น ipad2 iphone4 เครื่องประดับตามควรแก่ฐานะ เช่นแหวนเพชร ๑ กะรัต สำหรับพ่อค้าแม่ค้าอาจจะเป็นเรื่องตามควรแก่ฐานะ แต่ถ้าคู่สมรสเป็นกรรมกรผู้ใช้แรงงาน แหวนเพชร ๑ กะรัตก็ไม่ใช่เครื่องประดับตามควรแก่ฐานะแล้วละครับ และถ้าไม่ใช่เป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรส ไม่ใช่ของหมั้น ไม่ใช่ของที่ได้รับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หาเฉพาะตัว ก็ไม่อาจถือว่าเป็นสินส่วนตัวถ้าหย่าขาดจากกันก็อาจจจะต้องแบ่งกัน ซึ่งแล้วแต่ข้อเท็จจริงนะครับ)
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
(4) ที่เป็นของหมั้น

ซึ่งทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นแล้ว หรือเอาไปซื้อทรัพย์สินอื่นมา หรือเอาไปขายได้เป็นเงินมา ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว ของใครก็ของมันว่างั้นเหอะ…
นอกจากนี้สินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินอื่นหรือเงินมาทดแทน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว คู่สมรสจะมายุ่งเกี่ยวไม่ได้ ที่เล่าให้ฟังอย่างนี้เพราะมีประสบการณ์ที่คู่สมรสต้องการหย่า พอเรียกร้องสินสมรสสามีก็ต่อรองให้เอาทรัพย์สินทั้งหมดมาแบ่งกัน ภรรยามาปรึกษาว่าเป็นทรัพย์มรดกที่พ่อยกให้หลังแต่งงานจะต้องแบ่งให้สามีด้วยไหม หรือรถยนต์เก๋งที่พ่อซื้อให้เป็นของขวัญจะต้องแบ่งให้เขาด้วยไหม ตอบได้เลยครับว่า อย่าไปแบ่งให้นะ เพราะเขาไม่มีสิทธิมีส่วนใดๆในสินส่วนตัวของเรา

คราวนี้เรามาดูว่าสินสมรสมันเป็นยังไง กฎหมายเขียนไว้อย่างนี้ครับ
มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว (ขออธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่งครับ มีเงินสดส่วนตัวในธนาคารสิบล้าน ได้ดอกเบี้ย สองแสนบาท สองแสนนี่เป็นสินสมรสนะครับ ต้องเอามาแบ่ง แต่เงินสดสิบล้านยังเป็นของส่วนตัวของคู่สมรสคนนั้นอยู่ไม่ต้องแบ่งครับ)
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

อ่านกฎหมายมากๆจะเพลียนะครับ ไว้แค่นี้ก่อน คืนนี้ดูเรยากันต่อ แล้วพรุ่งนี้ผมจะมาเล่าต่อว่าถ้าหย่ากันแล้ว จนลงกว่าเดิมจะเรียกร้องอะไรได้อีกไหม อิอิ

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : ดอกส้มสีทอง(๓)

Next : ดอกส้มสีทอง(๕) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

25 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.093241930007935 sec
Sidebar: 0.065962076187134 sec