ไปประชุมที่กรุงเต๊บ(จบ)

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 29 กรกฏาคม 2010 เวลา 6:56 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1290

รุ่งขึ้นเป็นวันประชุมวันที่สอง ผมตื่นแต่เช้าและไปทานอาหารเช้าซึ่งก็เหมือนๆกับเมื่อวาน พยายามทานข้าวน้อยๆ นั่งคุยกับผู้อาวุโสทั้งหลาย แล้วเข้าห้องประชุม ซึ่งก็ว่ากันด้วยเรื่องประธาน อ.ก.ค.ศ.ที่พึงปรารถนาและไม่พึงปรารถนา โดยเป็นการอภิปรายของประธาน อ.ก.ค.ศ. ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ถึงการทำงานร่วมกัน การให้เกียรติกัน บารมีของประธาน อ.ก.ค.ศ. ซึ่งท่านเล่าให้ฟังว่าท่านสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกัน โดยเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานด้วยการให้เงินอนุกรรมการไปทัศนศึกษาคนละหนึ่งหมื่นบาท เรียกเอาเสียงฮือฮากันทั้งห้องประชุม ซึ่งผมฟังแล้ว ผมคงทำเช่นนั้นไม่ได้ ฮ่าๆ

ช่วงต่อมาก็เป็นการบรรยายเรื่อง การให้มีและเลื่อนวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีวิทยฐานะ ซึ่งเป็นเรื่องการเลื่อนวิทยะฐานชำนาญการและชำนาญการพิเศษ ซึ่งวิทยฐานะชำนาญการนั้นผู้อนุมัติคือ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา แต่วิทยฐานะชำนาญการพิเศษนั้นต้องเป็นการอนุมัติของ ก.ค.ศ. เท่านั้น ท่านก็ฝากว่าการจะอนุมัติอะไรต้องตรวจสอบก่อนว่าเรามีอำนาจมากน้อยเพียงใด และเกี่ยวกับเรื่องการทำผลงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามีอำนาจตรวจสอบเอกสารการประเมินก่อนพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติผลการประเมินได้

หลังจากทานอาหารเที่ยงเสร็จก็เป็นเรื่อง “การบริหารงานบุคคลสำหรับบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค(๒)” ซึ่งคำว่าบุคลากรทางการศึกษาอื่นตาม มาตรา ๓๘ ค(๒) ก็คือข้าราชการพลเรือนที่โอนเข้ามาอยู่กับพวกเรานั่นเอง ซึ่งในส่วนนี้จะมีความสับสนเล็กน้อยเกี่ยวกับหนังสือเวียนของก.ค.ศ. ซึ่งมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมอีกจึงเกิดปัญหาในวิธีปฏิบัติ วิทยากรจึงให้เราดูว่าส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในช่วงระยะเวลาไหน ถ้าอยู่ในช่วงปลายปี ๒๕๕๑ ก็ให้ใช้หนังสือเวียนเก่า หากเป็นช่วงปัจจุบันต้องใช้หนังสือเวียนใหม่ ซึ่งการออกหนังสือเวียนใหม่ทำให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเวียนหัวเหมือนกัน ฮ่าๆ

หัวข้อสุดท้ายของวันนี้ก็คือ “การตรวจสอบคำสั่ง ก.พ.๗ อิเล็คทรอนิคส์” ซึ่ง ก.ค.ศ.ได้ทำโครงการนำร่องไปหลายจังหวัด โดยเริ่มที่เชียงใหม่ ฟังประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เล่าให้ฟังถึงการทำงานของระบบอย่างน่าสนใจ ความจริงผมไปยืนดูนิทรรศการตั้งแต่วันแรกและซักถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ไว้แล้ว ถ้าถามว่าทำไมภูเก็ตไม่ทำ ตอบได้ว่าผมกับอนุกรรมการท่านหนึ่งได้พูดเรื่องนี้ในที่ประชุมไม่น้อยกว่าสองครั้งแต่ไม่มีการตอบสนองจากเขตพื้นที่การศึกษาเลย เราต้องการให้มีระบบตรวจสอบบุคลากรในเขตพื้นที่การศึกษา สามารถเรียกข้อมูลดูได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางแผนกำลังคน การโยกย้าย แต่งตั้ง การประเมินวิทยฐานะ การสอบขึ้นบัญชี สาขาวิชาเอกที่ว่าง เพื่อการวางแผนกำลังคนจะได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เขาเฉยๆกัน เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะเราไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของเขตพื้นที่การศึกษา ทำได้เพียงกระตุ้นในที่ประชุมและเขาก็บอกว่าทำกันอยู่แล้ว ผมว่าบรรดาผู้อำนวยการเขตพื้นที่และผู้อำนวยการกลุ่มงานบุคคลที่ได้เข้าร่วมประชุมคงมองภาพที่ผมฝันออกแล้ว และก็คงไม่นานที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ชุดนี้จะใช้ทั่วประเทศในงบประมาณปี ๒๕๕๔

วันนี้เราเลิกเร็วเพราะมีงานเลี้ยงที่จะเซอร์ไพรซ์ท่านเลขาธิการ ก.ค.ศ.ซึ่งกำลังนับถอยหลังจะเกษียณอายุราชการ ท่านเป็นคนทำงานเก่ง ลูกน้องรัก เขาถึงแอบจัดงานกัน เพราะถ้าท่านทราบท่านก็จะสั่งระงับการจัดงานเลี้ยง ทราบว่าลูกน้องไปบอกท่านว่าน้องๆอยากเชิญท่านไปร่วมงานเลี้ยงเล็กประสาพี่น้อง ท่านก็เลยมาร่วมงาน ท่านบอกว่ามาถึงงานก็ตกใจ เพราะวงดนตรีที่มาเล่นในงานก็เป็นวงใหญ่ เป็นของโรงเรียนวัดอัมพวัน จ.สมุทรสงครามที่ได้แชมป์ออฟเดอะแชมป์ในรายการชิงช้าสวรรค์ และชนะเลิศการประกวดดนตรีลูกทุ่งของสยามกลการ เรียกว่าคุณภาพคับแก้ว และเวลาเริ่มแสดงก็สมคำร่ำลือจริงๆครับ เราแอบออกจากงานมาก่อนงานเลิกเล็กน้อยเพื่อมาหารือกันเรื่องปัญหาของเขตพื้นที่การศึกษาภูเก็ต โดยมีท่านผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ผม และผู้แทน ก.ค.ศ.ประจำเขตพื้นที่การศึกษาภูเก็ต ซึ่งสรุปกันว่าเมื่อเรากลับไปอาทิตย์หน้าเราจะเรียกประชุมเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน กลับเข้าห้องนอนเมื่อตอนสี่ทุ่ม

เช้าวันสุดท้ายไปทานอาหารซึ่งมันก็คล้ายเดิมๆอีกนั่นแหละเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจากมะระต้มซี่โครงหมูเป็นปีกไก่ต้มจืด กินไปเหอะเพื่อมีชีวิตอยู่รอด และเตรียมไว้ไปทานอาหารมื้อเที่ยงกับพรรคพวกที่จะมาไปเลี้ยง เสร็จแล้วเข้าห้องเพื่อฟังการบรรยายเรื่องการพัฒนาและเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจว่าจะได้รับเงินเมื่อไหร่ จะได้ตามบัญชีไหน ทำไมไม่เหมือนของคนอื่น และการซักถามประเด็นปัญหา ผมเห็นปัญหาที่เขียนทิ้งไว้ในกล่องเกือบครึ่งกล่อง กระดาษเอสี่ ถ้า ก.ค.ศ.ตอบปัญหาทุกฉบับสงสัยต้องสัมนาต่อกันอีกสักวัน และก็ยังสงสัยว่าการหารือ ก.ค.ศ.เป็นลายลักษณ์อักษร ก.ค.ศ.ก็ไม่ตอบอ้างว่ามันเยอะมาก ถ้าอยากรู้อะไรให้โทรศัพท์สอบถาม ซึ่งผมเห็นว่าการตอบปัญหาทางโทรศัพท์โดยไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ฝ่ายผู้ที่เกิดปัญหาจะเอาอะไรไปยืนยันว่าเขาได้หารือ ก.ค.ศ.แล้ว หรือ ก.ค.ศ.ไม่กล้าตอบเพราะกลัวผูกมัดตัวเอง สี่ปีที่ผ่านมาผมได้เพิ่มประสบการณ์ชีวิตในการทำงานในฐานะประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และได้พบสัจธรรมอย่างหนึ่งว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์ แม้มีความตั้งใจจะทำให้มันสมบูรณ์ก็ตาม และวิธีการแก้ปัญหาของ ก.ค.ศ.ที่ผ่านมาโดยการออกหนังสือเวียนวางหลักเกณฑ์การพิจารณาโยกย้าย การบรรจุแต่งตั้ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในตำแหน่งต่างๆ แต่พอออกหนังสือเวียนมาแล้วมันทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องจากการแก้ปัญหานั้นๆ แล้วเราจะบริหารงานกันอย่างไร

ก.ค.ศ.เองก็บอกว่าการตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาขึ้นมาก็เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจ แต่ปรากฏว่ามันไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เพราะเหมือนกับว่า อ.ก.ค.ศ.ไม่กล้าตัดสินใจ ผมฟังแล้วไม่อยากให้เกิดการโทษกันไปโทษกันมา เพราะถ้าผมกล่าวในฐานะประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาบ้างว่า ก็เพราะระเบียบกฎเกณท์ของ ก.ค.ศ.เองนั่นแหละที่ไม่ชัดเจน หรือไม่ก็มิได้คำนึงถึงวิธีปฏิบัติ หรือไม่ได้คิดวางภาพล่วงหน้าว่าถ้ามันเกิดอย่างนั้นอย่างนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร

ผมยกตัวอย่างที่ ก.ค.ศ.แก้ปัญหาการที่ผู้บริหารยื่นคำขอโยกย้ายโดยไม่ได้ระบุชื่อโรงเรียนให้คลุมเอาไว้ หรือไม่ได้ยื่นคำขอย้ายเพราะไม่คิดว่าจะมีโรงเรียนที่มีตำแหน่งว่าง เช่น ผู้บริหารเขียนขอย้ายไปเป็นผู้บริหารโรงเรียนเล็กระดับมัธยม เอาไว้ จู่ๆผู้บริหารโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ขอลาออกก่อนกำหนด ทำให้โรงเรียนแห่งนั้นมีตำแหน่งผู้บริหารว่าง หากพิจารณาแต่งตั้งคนที่เขียนขอย้ายไปอยู่โรงเรียนเล็กและเขียนคลุมไว้ว่า หากไม่ได้ตามขอก็ขอเป็นผู้บริหารโรงเรียนใดก็ได้ในจังหวัดภูเก็ต หากไม่มีใครเขียนขอย้ายในช่วงนั้น บุคคลผู้นั้นจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่ทันที ในขณะที่ผู้บริหารโรงเรียนอื่นก็อยากมาลงโรงเรียนที่มีตำแหน่งว่างแต่ระยะเวลาที่ให้เขียนคำขอโรงเรียนนั้นยังไม่ว่าง ทำให้เขาเสียโอกาส ก.ค.ศ.จึงกำหนดหลักเกณฑ์ว่าเมื่อมีตำแหน่งว่างเช่นนี้ให้ประกาศว่ามีตำแหน่ง ณ โรงเรียนใดใน ๓๐ วันเพื่อให้ผู้บริหารเขียนคำขอได้ แต่กลับกลายเป็นว่าพอประกาศตำแหน่งว่างแล้ว มีผู้บริหารอีกโรงเรียนหนึ่งได้รับการพิจารณาให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ว่างนั้น โรงเรียนที่ตนบริหารอยู่เดิมก็ว่างอีก คราวนี้ก็ต้องประกาศอีก ๓๐ วันอีก โดยจะประกาศว่างต่อเนื่องไม่ได้ ถาม ก.ค.ศ.ไปแล้ว ก.ค.ศ.ตอบว่าต้องประกาศ ๓๐ วันต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งมันเกิดปัญหาว่าถ้าเป็นอย่างนี้เมื่อไหร่จะจบกระบวนการแต่งตั้งผู้บริหารสักทีล่ะ นี่ได้ข่าวแว่วๆว่าจะแก้ไขหลักเกณฑ์อีกแล้วเพื่อแก้ปัญหานี้อีก อิอิ

ผมไม่ทราบว่าวันนี้มีการตอบคำถามได้มากน้อยขนาดไหนเพราะอยู่ฟังไม่จบ เพราะไม่รู้เขาจัดห้องประชุมกันอย่างไร ทั้งๆที่จัดมาแล้วสองวันที่นั่งก็พอ แต่พอมาวันนี้ตอนเช้าผมก็ดูทะแม่งๆ เพราะขนาดมีคนกลับไปก่อนบ้างแล้ว เก้าอี้นั่งกลับไม่พอ อย่าให้พูดมากเลยเดี๋ยวหาว่าผมปากเสีย มีแต่วิพากษ์วิจารณ์การจัดงานที่ไม่ค่อยประทับใจ เว้นแต่วงดนตรีลูกทุ่งเมื่อคืน สะใจคอลูกทุ่งอย่างผม ฮ่าๆ

ผมทราบมาว่ากฎหมายที่มีการแบ่งการบริหารสายประถมและสายมัธยมกำลังจะประกาศใช้ และ อ.ก.ค.ศ.ชุดที่ผมทำงานอยู่นี้ก็จะให้เป็น อ.ก.ค.ศ.สายประถม โดยให้กรรมการที่มาจากสายมัธยมออกไป และจะมีกรรมการสายมัธยมชุดใหม่ ผมไม่รู้ว่าการแก้ปัญหาการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการจะถูกหรือผิด แต่บอกได้คำเดียวว่าที่ผ่านมาการแก้ปัญหาเหมือนวัวพันหลัก แก้ตรงนี้ก็ไปเจอปัญหาตรงโน้น ผมกำลังใคร่ครวญอยู่ว่าผมจะทำยังไงดีกับตำแหน่งที่สวมหัวโขนอยู่ในฐานะประธาน อ.ก.ค.ศ. คิดไปคิดมาผมว่าน่าจะให้คนในเขาแก้กันเองดีกว่ามั๊ง….อิอิ

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : ไปประชุมที่กรุงเต๊บ(๒)

Next : วันแม่ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ไปประชุมที่กรุงเต๊บ(จบ)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.8564920425415 sec
Sidebar: 0.29275584220886 sec