ไปประชุมที่กรุงเต๊บ(๒)
อ่าน: 1674อาบน้ำแต่งตัวเสร็จก็ไปหาอาหารเช้าทาน มันก็เหมือนเดิม เหมือนกันเกือบทุกโรงแรม ขนมปัง ไข่ดาว หมูแฮม ไส้กรอก ไก่ผัดพริก ผัดผัก ข้าวต้มไก่ ก็เลือกกินข้าว ๑ ทัพพี กินกับเล่นๆ ผลไม้ นม ๑ แก้ว เตรียมตัวเข้าฟังการบรรยาย
มีการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อยกับโปรแกรมการประชุมเพราะท่านรัฐมนตรีมีภาระกิจช่วงเช้า รศ.สุขุม เฉลยทรัพย์ จึงบรรยายก่อน ท่านก็มาบอกกล่าวบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน ก.ค.ศ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา) บทบาทหน้าที่ของสำนักงาน ก.ค.ศ.ด้านการบริหารงานบุคคล และบทบาทหน้าที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา(อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา)ตามกฎหมาย ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งเราก็พอรู้อยู่เพราะเป็นประธานรอบแรกมาสี่ปีแล้ว นี่กำลังเริ่มรอบสองอีก ๔ ปี พอท่านบรรยายจบก็เปิดโอกาสให้ซักถามและแสดงความคิดเห็น มีบรรดาอดีตข้าราชการกระทรวง ศึกษาธิการที่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก็ออกมาเรียกร้องให้ยกฐานะ ก.ค.ศ.ให้เป็นระดับกรม ไม่ใช่แค่สำนักงาน และมีผู้สนับสนุน
ได้เวลาท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ท่านชินวรณ์ บุญเกียรติ)ก็มาเป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา และได้บรรยายพิเศษโดยเล่าให้ฟังว่าท่านได้ต่อสู้เรื่องการปฏิรูปการศึกษาและเป็นผู้เสนอกฎหมาย เป็นผู้แปรญัตติกฎหมายที่เกี่ยวกับครู และจนปัจจุบันได้มาดูแลกระทรวงศึกษาก็มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบต่างๆให้เข้าที่เข้าทาง เน้นให้ อ.ก.ค.ศ.ช่วยกันพัฒนาศักยภาพครู ให้ครูได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกระดับอัตราเงินเดือนครู การดำเนินการเรื่องการเลื่อนวิทยฐานะ ขอให้พวกเราช่วยกัน ได้เวลาเที่ยงก็จบการบรรยาย ไปพักทานอาหารเที่ยงกัน
บ่ายก็มาต่อกันเรื่องการบริหารงานบุคคลในรูปองค์คณะบุคคล โดยนายเอกศักดิ์ คงตระกูล ท่านบรรยายเรื่องอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะ อ.ก.ค.ศ. ท่านได้รวบรวมอำนาจหน้าที่ที่กระจัดกระจายอยู่ตามมาตราต่างๆ ให้มารวมอยู่ที่เดียวกัน อ่านง่ายดี ท่านได้พูดถึงหน้าที่ของประธาน อ.ก.ค.ศ. ในที่ประชุม และยังพูดถึงหลักการบริหารงานบุคคล รวมไปถึงอำนาจตามกฎหมายและอำนาจดุลพินิจ โดยเฉพาะเรื่องดุลพินิจ ท่านเน้นว่า การใช่ดุลพินิจควรจดรายงานให้ชัดเจนด้วยว่าที่ใช้ดุลพินิจอย่างนี้เพราะอะไร ปรากฏว่าท่านบรรยายจนถึงบ่ายสามโมง โดยไม่พัก เหนื่อยทั้งคนบรรยายและคนฟัง ฮ่าๆ
ถัดจากนั้นมาก็เป็นการบรรยายเรื่องการดำเนินการทางวินัย เรื่องอุทธรณ์และการร้องทุกข์ โดยเป็นรูปแบบคล้ายเป็นการอภิปราย มีวิทยากรสามท่านคือ นางวงจันทร์ ชีวธาดาวิรุทน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย สำนักงาน ก.ค.ศ. นายธีรนันท์ ไกรนิธิสม ผู้อำนวยการภารกิจเสริมสร้างและมาตรฐานวินัย กับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ซึ่งมีนายมานิตย์ สุฤทธิกุล ผู้อำนวยการภารกิจกฎหมาย อุทธรณ์ และร้องทุกข์ เป็นผู้ร่วมอภิปราย ซึ่งมีทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยร้ายแรงและไม่ร้ายแรง กรณีใดบ้างที่ถือว่าร้ายแรง ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.จะต้องตรวจสอบด้วยว่าผู้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยนั้น มีอำนาจหรือไม่ มีการดำเนินการตามขั้นตอนหรือไม่ เมื่อมีคำสั่งลงโทษแล้ว ผู้ที่มีสิทธิอุทธรณ์ก็คือเจ้าตัวที่ถูกคำสั่งลงโทษ จะให้ภรรยามาอุทธรณ์แทนไม่ได้ ท่านยังเล่าว่าบางครั้งในการดำเนินการลงโทษถ้าอ่านจากข้อเท็จจริงแล้วสรุปได้เลยว่าผิดจริง แต่พอฟังข้อมูลที่เขาอุทธรณ์อาจจะเป็นหนังคนละม้วนเลย หากเขาไม่ผิดก็ต้องวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่ง ส่วนเรื่องการร้องทุกข์เนื่องจากเป็นเวลา ๕ โมงเย็นแล้ว ท่านก็เลยบอกให้พวกเราไปศึกษากันเองจากเอกสารที่ท่านแจกไว้ให้ อิอิ
คำสั่งลงโทษทางวินัยเป็นคำสั่งทางปกครอง จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ วิทยากรท่านแนะนำว่าขอให้มีความสุจริตเป็นที่ตั้ง ไม่ไปกลั่นแกล้งใคร ก็จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง เพราะปัจจุบันมีการฟ้องร้องกันเยอะมาก ถูกลงโทษทางวินัยก็อุทธรณ์ อุทธรณ์คำสั่งไม่ได้ผลก็จะฟ้องศาลปกครอง พอศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ชนะคดีก็จะฟ้องคดีอาญาฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซี่งหากเป็นการกลั่นแกล้งเขาจริงๆ ผมก็เห็นด้วยว่าที่คนกลั่นแกล้งผู้อื่นจะโดนลงโทษ แต่ถ้าคำสั่งนั้นออกมาโดยสุจริตในรูปของคณะกรรมการ และมีการวินิจฉัยกันอย่างรอบคอบแล้วแม้จะผิดพลาดผมว่าไม่ควรที่จะต้องได้รับโทษทางอาญา เหตุผลก็คือเพราะไม่มีเจตนานั่นเอง เรากำลังใช้กฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ กันอย่างพร่ำเพรื่อมันก็เลยเกิดปัญหา
การบรรยายจบลงไปแล้ว มีเสียงประกาศว่าขอพบประธาน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ทุกเขต กับขอพบหัวหน้ากลุ่มบริหารงานบุคคล และแล้วพวกหัวหน้ากลุ่มเขาก็ใช้ไมโครโฟนในห้องพูดอธิบายกัน ส่วนประธาน อ.ก.ค.ศ. ก็ยืนมั่งนั่งมั่งรีๆรอๆอยู่ในห้องเดียวกัน เพราะไม่รู้ว่าใครนัดประชุม ประชุมกันเรื่องอะไรก็ไม่มีใครบอก ไม่เห็นมีใครมาพูดอะไร ก็เลยพร้อมใจกันลุกขึ้นเดินออกจากห้องประชุม เมื่อวานก็ทีหนึ่งแล้วสำหรับการจัดให้เข้าที่พัก ผมโชคดีที่มาถึงตั้งแต่ตอนเที่ยงคนยังไม่มากเท่าไหร่ แต่พวกที่เข้าบ่ายนี่สิ หลายคนต้องรอกุญแจห้องนานถึงสองชั่วโมง แถมประธาน อ.ก.ค.ศ.ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิก็ต้องพักคู่ บางท่านเป็น รศ. อย่างผมเป็นอัยการชั้นผู้ใหญ่แล้วไม่ต่ำกว่าระดับ ๙ อยู่แล้ว ขนาดผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเป็นเลขาฯของ อ.ก.ค.ศ. ยังได้พักห้องเดี่ยว แต่ประธานกลับพักห้องคู่ คิดอย่างไรมันก็ไม่สมเหตุสมผล แถมไม่ดูด้วยว่าตำแหน่งหน้าที่ราชการเขาเป็นอย่างไร นึกๆแล้วก็ยังเสียดายว่าผมน่าจะใช้สิทธินั่งเครื่องในชั้น business class ตามสิทธิ นี่อุตส่าห์ประหยัดให้ทางราชการโดยนั่งบางกอกแอร์เวย์ด้วย รับรองว่าเวลากรอกแบบสอบถาม ดูไม่จืดแน่นอน อิอิอิอิ
« « Prev : ไปประชุมที่กรุงเต๊บ(๑)
Next : ไปประชุมที่กรุงเต๊บ(จบ) » »
3 ความคิดเห็น
โห เรื่องแบบสอบถามนี่เบิร์ดไม่ค่อยตอบเท่าไหร่ค่ะ แม้จะรู้ว่าผู้จัดต้องการก็ตาม(ยกเว้นเรื่องวิทยากร) แต่ถ้าตอบเมื่อไหร่แสดงว่าไม่ไหวแล้วเหมือนกัน
ผู้จัดคงโดนไปเยอะเหมือนกันสิคะ แต่ก็ทำให้คิดได้ว่าเวลาเตรียมงานต้องละเอียดในเรื่องอะไรบ้างถือเป็นข้อมูลที่ดีมากๆเลยล่ะค่ะ
ก็ขนาดรัฐมนตรีไปถึงงานไม่มีใครไปรอรับ คิดดูสิ อย่างนี้ไม่ควรจะเฉ่งเหรอ อิอิ โดนเข้าไปหลายดอกเหมือนกัน ฮ่าๆ
I’m shckeod that I found this info so easily.