คดีหกลังแม่โขง(๒)

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 19 มิถุนายน 2010 เวลา 7:59 ในหมวดหมู่ นักกฎหมายอย่างผม, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1956

สำนวนคดีนี้เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งคำสั่งของอัยการจังหวัดจึงต้องส่งไปให้อัยการสูงสุดชี้ขาด แต่ก่อนจะชี้ขาดก็ต้องฟังความเห็นจากผู้ใต้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ใครได้อ่านความเห็นคดีแล้วสนุกครับ เพราะแย้งกันไปกันมาหลายครั้งเป็นที่สนุกสนาน ต่างก็งัดข้อเท็จจริงข้อกฎหมายว่ากัน บ้างก็ว่าขาดอายุความ บ้างก็ว่าไม่ขาด จนในที่สุดอัยการสูงสุดชี้ขาดเอาแบบที่ผมเสนอ(ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าอัยการระดับอธิบดีหรือรองอัยการสูงสุดเห็นด้วยกับผม จำไม่ได้เพราะคดีมันนานมากแล้วและให้ลูกน้องหาสำนวนเก่ามาดูเขาก็บอกว่ายังหาไม่เจอ)

รับสำนวนกลับมาแล้วก็พิมพ์ฟ้องได้เลยเพราะผมร่างฟ้องไว้เสร็จก่อนเสนอสำนวนแล้ว คราวนี้ที่เรียกว่าผู้ต้องหาพอยื่นฟ้องเขาก็ตกเป็นจำเลย คดีนี้ฟ้องจำเลยสองคนครับ คนแรกเป็นทนายความ คนที่สองก็คือหลานของผู้เสียหายเริ่มต้นสืบพยานได้ไม่นานจำเลยที่ ๑ ถูกยิงตายไม่ทราบเป็นฝีมือของใคร ระหว่างนั้นผมก็แถลงขอส่งประเด็นไปสืบพยานที่กรุงเทพมหานคร และที่จังหวัดพังงา ระหว่างนั้นลุงกับครอบครัวของลุงซึ่งถือหุ้นอยู่ในบริษัทเหมืองแร่ได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม และแล้วเรื่องของญาติก็จบลงแบบญาติ ก็คือคุยกันรู้เรื่อง ลุงผู้เสียหายและบุคคลในครอบครัวยอมถอนคำร้องทุกข์ในคดีที่ยอมความได้ คดีน่าจะจบแต่มันไม่จบอีตรงข้อหาที่ผมเสนอความเห็นให้ดำเนินคดีนี่แหละ เพราะมันเป็นคดีความผิดที่ยอมความไม่ได้

ศาลท่านก็พยายามให้คดีจบลงด้วยดีเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องในเครือญาติ หากเขาคุยกันรู้เรื่องแล้วก็จะได้จบกันไป ข้อหาที่ยอมความไม่ได้จำเลยจะรับสารภาพไหม ศาลจะได้พิจารณาให้เพราะผู้เสียหายเขาก็ไม่ติดใจเอาความแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมเพราะเขาถือว่าเขาไม่ผิด เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ต้องสืบพยานกันต่อครับ จนคดีล่วงมาจนถึงปี ๒๕๔๒ คำสั่งย้ายให้ผมไปรับราชการที่จังหวัดกระบี่ แต่คดีนี้ถึงเวลาสืบพยานฝ่ายจำเลย ทนายจำเลยเขาเบิกความก่อน ผมจำคลับคล้ายคลับคลาว่าผมได้ถามค้านเพียงนัดเดียวหรือยังไม่ทันได้ถามค้าน ฝ่ายจำเลยเขาขอเลื่อนคดีเพื่อให้ผมไปพ้นจากจังหวัดภูเก็ตก่อน แล้วผมก็พ้นจากคดีนี้ไป

แต่เวรกรรมไปอยู่ที่กระบี่ได้ ๖ เดือน ผมโทร.คุยกับอัยการจังหวัดภูเก็ตซึ่งเพิ่งย้ายมาไม่กี่เดือนถามสารทุกข์สุขดิบเพราะท่านเคยมาเป็นอัยการจังหวัดฝ่ายช่วยเหลือกฎหมายที่ภูเก็ต ท่านก็บอกกลับมาช่วยพี่ที่ภูเก็ตดีกว่า พี่ไม่มีคนช่วยรับแขกเลย มือรับแขกสองคนสำคัญอย่างผมไปอยู่กระบี่ เพื่อนอีกคนไปอยู่พังงา แถมทั้งสองคนมีแต่คดีสำคัญทั้งนั้น เพราะลูกพี่ไว้ใจใครมารับสำนวนต่อปวดหัวทั้งน้านเพราะมีแต่สำนวนยากๆหนาๆ…อิอิ ผมรับปากว่าจะกลับไปช่วย อยู่กระบี่ได้ ๖ เดือนก็มีคำสั่งจากสำนักงานอัยการเขต ๘ สั่งให้ผมกับเพื่อนสองคนไปช่วยราชการสำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตคนละ ๖ เดือน

กลับมาที่สำนวนคดีที่ว่า พอผมย้ายไปสองเดือนก็เป็นวันสืบพยานต่อ อัยการคนมารับสำนวนก็แถลงขอเลื่อนเพราะอ่านสำนวนไม่ทันเพราะเอกสารเยอะและคดีมีความซับซ้อน ศาลอนุญาตไปอีก ๒ เดือนเข้าใจว่าสืบพยานปากทนายจำเลยจบ ก็เป็นการเริ่มต้นสืบพยานตัวจำเลยเอง ก็เลื่อนไปอีก ๒ เดือนและนัดสืบพยานสองวัน ถึงวันนัดวันแรกเขาก็ขึ้นเบิกความพอถึงเวลาให้ซักค้านอัยการขอเลื่อนโดยแจ้งกับศาลว่าวันรุ่งขึ้นผมกลับไปรับราชการที่สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตและประสงค์จะมาว่าความคดีนี้เอง แฮ่…

วันรุ่งขึ้นผมไปศาลแต่เช้า อ่านตรวจสอบสำนวน เตรียมเอกสารซักค้านไว้พร้อมสรรพ พอเริ่มซักค้านจำเลยได้สองสามคำถาม จำเลยเหมือนผีเข้าตอบผมแบบผมเป็นไอ้หน้าโง่ เป็นเด็กไม่รู้ประสา ตอบแบบตะคอก ยังงี้เข้าทางโจรครับ ฮ่าๆ ผมยืนยิ้ม แล้วพูดแบบกวนๆว่า ผมถามคุณด้วยถ้อยคำที่สุภาพแบบผู้ดี คุณมีหน้าที่ตอบคำถามของผมให้ศาลท่านได้ยิน ผมทำหน้าที่ของผมไม่ได้มีอคติกับคุณ คุณก็ทำหน้าที่ของคุณ ศาลท่านก็ทำหน้าที่ของท่าน ศาลกับอัยการไม่ใช่ลูกน้องคุณ ไม่เชื่อก็ถามท่านดู (อิอิ…เทคนิคการหาพวก ฮ่าๆ) ศาลก็เลยใส่จำเลยให้ตอบคำถามอัยการดีๆ อัยการเขาทำหน้าที่ของเขา จำเลยมีหน้าที่ตอบก็ตอบไป จำเลยก็จ๋อยลงมาหน่อยนึง ผมถามค้านแบบเน้นๆเนื้อๆในประเด็นสำคัญว่า ข้ออ้างที่จำเลยไปให้การกับเจ้าพนักงานที่ดินว่ายายยกที่ดินให้มารดาและมารดายกให้กับพยานเป็นความเท็จ เพราะยายให้การยืนยันว่าไม่ได้ยกที่ดินให้มารดาจำเลยเพราะยกทรัพย์สินอื่นให้ไปตั้งแต่แต่งงานแล้ว และยายยังมีสติสัมปชัญญะดี จำเลยไปให้การกับเจ้าพนักงานที่ดินแทนยายอ้างว่ายายไม่สามารถไปให้การกับเจ้าพนักงานที่ดินได้จำเลยจึงไปให้การแทนเป็นความเท็จ แถมยังเอาเอกสารนั้นไปดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์

ในที่สุดคดีนี้ก็สืบพยานเสร็จ ศาลนัดฟังคำพิพากษา ผมไปศาลแต่ไปคดีอื่นบอกกับเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ว่าเดี๋ยวจะมาเซ็นชื่อ ผลคำพิพากษาศาลพิพากษาจำคุกจำเลยสองปีโดยไม่รอการลงโทษ ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยหน้าซีดเป็นไก่ต้ม เพราะไม่นึกว่าจะโดนจำคุก

และแล้วจำเลยก็ยื่นอุทธรณ์ ในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยแก้เป็นว่า “ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๖ เดือน และปรับ ๖,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น” ความหมายก็คือจำเลยมีความผิดเหมือนที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั่นแหละ แต่ที่จำคุก ๒ ปี โดยไม่รอนั้นหนักเกินไป ก็เลยลดโทษให้และเพิ่มโทษปรับและรอการลงโทษ แต่แล้ว…จำเลยก็ยังไม่พอใจ ยื่นฎีกา ซึ่งกลายเป็นคำพิพากษาฎีกาที่เป็นบรรทัดฐานให้นักศึกษากฎหมายได้เรียนกัน
ตอนหน้าผมจะยกคำพิพากษามาให้ดูกันว่าคดีนี้ในชั้นฎีกาจำเลยสู้ข้อกฎหมายว่าอย่างไรและศาลฎีกาว่าอย่างไร ยังมันไม่หาย อิอิ…

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : คดีหกลังแม่โขง

Next : คดีหกลังแม่โขง(๓) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

8 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 มิถุนายน 2010 เวลา 8:14

    คนอ่านเก๊าะยังมันอยู่ค่า
    กม.นี่อยู่ที่การตีความเหรอคะพี่ฑูร ทำไมถึงแย้งกันได้ทั้ง ๆ ที่อยู่ในข้อกม.เดียวกัน

  • #2 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 มิถุนายน 2010 เวลา 8:26

    ถูกต้องครับกฎหมายเขียนขึ้นจะเขียนให้มันละเอียดยิบก็ไม่ได้เพราะมันจะยาวมาก จึงต้องเขียนให้กระชับได้ใจความ พอมันสั้่นลงมันจึงต้องตีความว่าที่กฎหมายเขียนอย่างนี้มีประสงค์อย่างไร แต่การตีความมันก็ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายด้วย คราวนี้มันก็เป็นช่องทางทำมาหากิน เพราะต่างก็ตีความเข้าหาตัวเพื่อให้ตัวได้ประโยชน์ จึงต้องมีตุลาการมาทำหน้าที่พิเคราะห์และวินิจฉัยว่าความเห็นใครผิดใครถูก
    อัยการก็เป็นกึ่งตุลาการ การวินิจฉัยสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ถ้าสั่งไม่ฟ้องก็จบเหมือนศาลตัดสินจบไปแล้ว แต่มันจบไม่เด็ดขาดเพราะกฎหมายไทยให้นำไปยื่นฟ้องศาลได้เอง
    น้องเบิร์ด ลงเรียนกฎหมายเล่นๆดีกว่ามั๊ง อิอิ

  • #3 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 มิถุนายน 2010 เวลา 8:43

    แล้วมีแนวทางในการตีความมั้ยคะ หรือใครใคร่พูดอย่างไรก็ได้ (เบิร์ดหัวไม่จำเกี่ยวกับกม.เลยค่ะพี่ฑูร ถึงมีข้อซักถามเยอะ)

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 มิถุนายน 2010 เวลา 14:19

    “มือรับแขก” นี่เป็นภาษากฎหมายหรือภาษาถิ่น แล้วแปลว่าอะไรครับ

  • #5 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 มิถุนายน 2010 เวลา 7:32

    อินเทอร์เน็ตที่บ้านไม่เสถียรครับ ทราบจากเนติ์ว่าเกิดจากไฟฟ้าดับกระทันหันและค่าในราวเตอร์ ในไวร์เลส มันเปลี่ยนแปลง เขามาเซ็ทค่าให้ใหม่ ประกอบกับโมเด็มก็มีอาการไม่ดี ก็เลยติดๆดับๆ ตอบน่ารอกอดและน้องเบิร์ดไปสองครั้งแล้วก็นำขึ้นไม่ได้ ลองตอบอีกครั้งถ้าโพสต์ขึ้นได้เดี๋ยวมาตอบเพิ่มครับ

  • #6 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 มิถุนายน 2010 เวลา 7:42

    โอ..ประหลาดครับมันใช้ได้แล้ว อิอิ
    ตอบท่านรอกอดก่อน คำว่ามือรับแขกในภาษาพวกผมที่ภูเก็ต ไม่ใช่ภาษากฎหมายหรือภาษาถิ่นแต่ภาษาพวก อิอิ หมายถึงพวกอัยการที่ชำนาญการรับแขกบ้านแขกเมือง ประเภทที่เมื่อมีแขกมา ท่านอัยการจังหวัดไม่ต้องวุ่นเหมือนที่อื่น เพราะพวกมือรับแขกเป็นมืออาชีพที่จะรู้ว่าจะรับรองแขกอย่างไร เรียกว่าไว้ใจได้ เอ..หรือจะเขียนเรื่อง “มือรับแขก” เป็น KM เกี่ยวกับการรับรองแขกบ้านแขกเมืองของอัยการอย่างพวกผมดี..อิอิ
    ยกตัวอย่างความเป็นมืออาชีพ พวกผมในยุคสมัยนั้นมีอยู่ ๔ คนที่เป็นหลัก ผมทำหน้าที่คอยดูแลแขกให้เกิดความสุข จัดกิจกรรม ทำหน้าที่พิธีกร จัดกิจกรรมให้เกิดความประทับใจ เช่น มีเสื้อบาติกลายเฉพาะให้สวม,
    เพื่อนอีกคนเก่งเรื่องอาหารและโรงแรม มีเพื่อนมากขอราคาพิเศษให้อยู่ในงบ จัดการเรื่องอาหาร ไม่ต้องไปห่วงเขาเพราะเขาจะโทร.เช็คว่าแขกชอบทานอาหารประเภทไหน ชอบไวน์หรือบรั่นดี
    อีกคนจะเก่งเรื่องการจราจร จากสนามบินถึงที่พัก จากที่พักไปยังจุดต่างๆการประสานงานจะยอดเยี่ยมมากเพราะจะไม่ติดไฟแดงเลย
    อีกชุดหนึ่งก็จะจัดการเรื่องกระเป๋าแขก จากสนามบินถึงที่พัก จัดเข้าที่พักของใครห้องไหน อย่างไร
    อธิบดีอัยการเขตเขาจะรู้ว่าทีมรับแขกภูเก็ตนั้นแค่ไหน เรียนว่าใน ๗ จังหวัดภาคใต้ตอนบน จะรับแขกต้องที่นี่เพราะไม่เคยทำให้นายเสียหน้า อิอิ

  • #7 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 มิถุนายน 2010 เวลา 7:47

    สวัสดีน้องเบิร์ด
    หลักในการตีความต้องมีอยู่ไม่เช่นนั้นนักกฎหมายก็จะขาดความเชื่อถือเพราะจะไปคนละทิศละทาง แต่ก็อย่างว่าแหละจะให้คนคิดเหมือนกันได้อย่างไร
    การตีความอันดับแรกเราจะดูกันที่เจตนารมณ์ของกฎหมาย ถามว่าดูทืี่ไหน ตอบได้เลยว่าดูที่ท้ายกฎหมายนั้นๆ เขาจะเขียนเอาไว้ว่าทำไมจึงต้องมีกฎหมายฉบับนั้นๆ
    อันดับต่อมาก็ดูที่หลักกฎหมายนั้นๆที่เขียนไว้ในตัวบทกฎหมาย
    พอมีปัญหาการตีความก็อ้างเอาสุภาษิตกฎหมายซึ่งบางทีก็เป็นหลักกฎหมายอยู่ด้วยมาอ้าง เช่น หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เหมือนคดีถุงกล้วยแขกของพระพยอม ผู้โอนโฉนดให้มูลนิธิวัดสวนแก้ว ได้โฉนดมาโดยไม่ชอบจึงไม่ได้กรรมสิทธิ มูลนิธิวัดสวนแก้วซื้อมาเป็นผู้รับโอน เมื่อผู้โอนไม่ได้เจ้าของกรรมสิทธิ ผู้ซื้อจึงวไม่ได้กรรมสิทธิไปด้วย ดังนี้แล…อิอิ

  • #8 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 มิถุนายน 2010 เวลา 18:43

    ตามมาอ่านต่อ สนุกมากค่ะ

    ไม่เคยเข้าไปอยู่ในบรรยากาศของศาลจริง ๆ เคยแต่ดูหนังฝรั่งเป็นส่วนใหญ่
    จำเลยกล้าตะคอกและพูดจาไม่ดีกับอัยการด้วยหรือคะ น่าจะไม่ธรรมดา คงคร่ำหวอดอยู่กับโรงกับศาลจนชินชา หรือไงนี่ล่ะค่ะ

    ไปอ่านต่อตอนจบดีกว่า…


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.63790988922119 sec
Sidebar: 0.27585315704346 sec