โอวาทข้อที่ ๒ ของท่านเหลี่ยวฝาน

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 16 พฤษภาคม 2010 เวลา 20:05 ในหมวดหมู่ ครอบครัว, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1548

วันนี้จะมาเล่าให้ฟังถึงโอวาทของท่านเหลี่ยวฝานต่อนะครับ คงจำได้ว่าผมเล่าให้ฟังแล้วว่าโอวาทของท่านมีสี่ข้อวันนี้จะเล่าให้ฟังโอวาทข้อที่สอง ซึ่งท่านสอนเรื่อง “วิธีแก้ไขความผิดพลาด”

ท่านได้สอนลูกโดยยกตัวอย่างในสมัยชุนชิว เป็นระยะเวลาที่อำนาจของราชวงศ์โจวเสื่อมถอย หัวเมืองใหญ่น้อยต่างแข็งข้อ ตั้งตนเป็นใหญ่จิตใจ คนจีนในยุคนี้เสื่อมทรามโหดเหี้ยมมาก ลูกฆ่าพ่อ ขุนนางฆ่าฮ่องเต้ท่านนักปราชญ์ขงจื๊อก็เกิดในยุคนี้ ท่านเห็นว่า เหตุการณ์จะรุนแรงยิ่งขึ้น ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ จึงนำหนังสือเล่มหนึ่งมีชื่อว่า ชุนชิว ซึ่งเป็นของแคว้นหลู่ มาแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ส่วนที่ดีคงไว้ ส่วนที่ขาดเพิ่มเติม บันทึกความชั่วร้ายในยุคนั้นไว้ในหนังสือ ชุนชิว นี้ อย่างละเอียดละออ เพื่อไว้เตือนใจคน ไม่ให้นำมาเป็นเยี่ยงอย่าง ท่านจึงให้ลูกอ่านหนังสือเล่มนี้และให้ลูกค้นหาส่วนดีส่วนเสียของหนังสือเล่มนี้เพราะจะได้ประโยชน์จากหนังสือนี้อย่างเหลือล้น และแนะนำให้ลูกศึกษาประวัติศาสตร์ เพื่อให้ลูก “รู้จักนำส่วนดีของอดีต มาเสริมสร้างชีวิตอนาคตของลูกเอง ให้เพียบพร้อมด้วยความเป็นคนที่มีศีลมีธรรมหลุดพ้นจากความเป็นปุถุชนได้ในที่สุด”

ท่านสอนให้ลูกศึกษาธรรมชาติเพราะ “ธรรมชาตินั้นมีความซื่อตรงยิ่งนัก หากเราเอาอย่างธรรมชาติได้ จิตใจของเรานี้ก็จะผสมผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติซึ่งก็คือฟ้าดินนั่นเอง”ท่านให้ลูกดูพฤติกรรมของคนถ้าทำดีก็จะได้ดี หากทำชั่วก็จะได้ชั่ว และบอกว่า “หากลูกต้องการความสุขและห่างไกลจากความทุกข์ลูกจะต้องรู้จักวิธีแก้ไขความผิดพลาดของตนเองเสียก่อน”

ข้อ ๑ ลูกจะต้องมีความละอายต่อการทำชั่ว ไม่ว่าจะอยู่ต่อหน้าหรือลับหลังผู้คน

ท่านให้ดูนักปราชญ์แต่ครั้งโบราณทำไมจึงได้รับความเคารพบูชาเป็นปูชนียบุคคล ในโลกนี้จะมีสิ่งไรอีกเล่าที่จะน่าละอายไปกว่าที่ตนเองไม่รู้ดีรู้ชั่ว

ท่านนักปราชญ์เมิ่งจื๊อ จึงได้กล่าวไว้ว่า ความละอาย และความเกรงกลัวต่อบาปนั้นเป็นความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ในโลกนี้ผู้ใดมีไว้ย่อมได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ผู้ใดมิได้มีไว้ย่อมเหมือนสัตว์เดรัจฉาน ลูกจึงต้องเริ่มต้นแก้ไขความผิดพลาดของตนเอง
ด้วยกุศลธรรมข้อนี้ก่อน

ข้อ ๒ ลูกจะต้องมีความเกรงกลัวต่อการทำชั่ว

ในข้อนี้ท่านสอนว่าในโลกนี้มีเทวดาและผีสางวิญญาณอยู่ทั่วไปหมด แม้แต่ในบ้าน ไม่ว่าจะทำอะไรผีสางเทวดารู้หมด และที่สำคัญหากเราทำความชั่วหากคนอื่นไม่เห็นผีสางเทวดาเห็น ที่สำคัญกว่านั้น “หากวันใดบังเอิญมีคนแอบเห็นเข้าลูกก็จะกลายเป็นคนไร้ค่าไปทีเดียว อย่างนี้แล้วลูกยังจะไม่กลัวอีกหรือ”

แต่อย่างไรก็ตาม ท่านยังพยายามสอนลูกว่าแม้จะทำผิดมาแล้วแต่ถ้าสำนึกได้แล้วรีบแก้ไขหรือย่างน้อยก็สำนึกได้ก่อนตายชีวิตก็อาจจะรอดพ้นอบายภูมิ ท่านเล่าให้ลูกฟังโดยยกตัวอย่างว่า

“มีชายคนหนึ่ง ตลอดชีวิตของเขาชอบทำแต่กรรมชั่ว ครั้นพอใกล้จะตาย ได้สำนึกผิดเพียงขณะจิตเดียวและจิตสุดท้ายที่รู้จักผิดชอบชั่วดีก็ยังสามารถทำให้จิตที่เกิดต่อจากจิตสุดท้าย (จุติจิต) ได้ปฏิสนธิในสุคติภพทันท่วงที รอดจากการไปสู่ทุคติภพอย่างหวุดหวิด และเมื่อเขาได้ไปสู่สุคติภพเสียก่อนเช่นนี้ จิตที่รู้จักผิดชอบชั่วดีแล้วในวินาทีสุดท้ายนี้ ก็ย่อมเป็นปัจจัย ให้เขาประกอบแต่กรรมดี หากเขาสามารถสั่งสมความดีได้มากกว่ากรรมชั่วที่เคยกระทำมาเป็นหมื่นเท่าพันทวีแล้วไซร้วิบากแห่งกรรมชั่วที่มิใช่กรรมหนัก จักติดตามมาให้ผลไม่ทันเสียแล้วดุจในถ้ำที่มืดมิดมานานนับพันปี เพียงแต่จุดไฟให้สว่างเพียงดวงเดียวก็สามารถขับไล่ความมืดที่มีมานานนับพันปีให้หมดสิ้นไปในพริบตาเดียว” ท่านสอนลูกว่าแม้จะแก้ไขความผิดได้แต่ถ้าทำผิดบ่อยๆก็อาจจะสายเกินไปที่จะแก้ไขเพราะชีวิตเราไม่แน่ว่าจะอยู่ถึงวันพรุ่งหรือไม่ และสอนให้กลัวบาปกรรมเพราะสิ่งที่ทำหากเป็น “กรรมหนักไม่สามารถมาเกิดเป็นมนุษย์อีกก็จะต้องตกนรกหมกไหม้ ทนทุกข์ทรมานไปชั่วกัปชั่วกัลป์ แม้พระพุทธองค์ ก็ทรงโปรดไม่ได้ เพราะผู้ใดทำกรรมไว้ ผู้นั้นเองเป็นผู้ได้รับผลแห่งกรรมนั้นลูกยังจะไม่กลัวได้หรือ”

ข้อ ๓ ลูกจะต้องมีความกล้าที่จะแก้ไขตนเอง

เพราะ “ความผิดเล็กๆ น้อยๆ นั้น เปรียบประดุจหนามตำอยู่ในเนื้อ
ถ้ารีบบ่งหนามออกเสีย ก็จะหายเจ็บทันที หากเป็นความผิดใหญ่หลวง ก็เปรียบประดุจถูกงูพิษที่ร้ายแรงขบกัดเอาที่นิ้ว ถ้าลูกไม่กล้าตัดนิ้วทิ้ง พิษก็จะลุกลามไปถึงหัวใจและตายได้ง่ายๆ ลูกจึงต้องมีจิตใจ ที่เด็ดเดี่ยว กล้าเผชิญความจริง รู้ตัวว่าผิดตรงไหนต้องแก้ตรงนั้นทันที อย่ารีรอลังเล จะเสียการในภายหลัง”

ท่านให้ลูกศึกษาวิชาโป๊ยก่วยที่ว่าด้วยความแข็งแกร่งของฟ้าความอ่อนโยนของดินความมีพลังของไฟความเย็นของน้ำ ความกึกก้องของเสียงฟ้าร้อง ความแรงกล้าของลม ความมั่นคงของขุนเขาและความเป็นกระแสของสายธาร เพื่อให้ลูกเข้าใจ ถึงธรรมชาติแปดประการนี้ซึ่งต่างก็เป็นปัจจัยให้กันและกันและให้นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์สุข ความผิดถูกความดีชั่ว ล้วนเป็นปัจจัยแก่กันและกัน เมื่อรู้ว่าผิด รีบแก้ไขเสีย ความถูกก็จะกลับคืนมา เมื่อทำความดีอยู่ความชั่วไหนเลย จะกล้ำกราย และการการแก้ไข ต้องแก้ก่อนที่จะมีการกระทำผิดเกิดขึ้น คือ ต้องรู้เหตุ ที่จะก่อให้เกิดความผิดได้เสียก่อน

นอกจากนี้ยังสอนไม่ให้โกรธ รู้จักระงับอารมณ์ และให้รู้จักจับผิดตนเองอย่าไปจับผิดผู้อื่น เพราะจับผิดผู้อื่นทำให้โกรธ ความโกรธมีแต่โทษหามีคุณไม่ ถ้าลูกสามารถใช้เหตุผลใคร่ครวญดูแล้ว ทุกสิ่งก็จะไม่น่าโกรธ ความโกรธก็จะไม่เกิดขึ้นกับลูกอีกเลย โดยสรุปแล้วท่านสอนให้แก้ไขที่ใจนั่นเอง

นอกจากนี้ท่านสอนให้ลูกมีสติ ทำจิตให้สงบ เพราะเมื่อจิตสงบจะทำอะไรก็สำเร็จ

น่าอ่านไหมละครับหนังสือเล่มนี้ ยังมีโอวาทอีกสองข้อที่ผมจะนำมาเล่าต่อนะครับ

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : ชวนอ่านหนังสือ”โอวาทสี่ท่านเหลี่ยวฝาน”

Next : โอวาทข้อที่สามของท่านเหลี่ยวฝาน(๑) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 ป้าหวาน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2010 เวลา 21:21

    น่าอ่านมากค่ะ ป้าหวานมาติดตามอ่านค่ะ ชอบมากสอนถูกใจ หรือพี่อัยการสรุปมาเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

  • #2 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2010 เวลา 21:55

    ขอบคุณป้าหวานที่มาตามอ่าน ผมพยายามย่อมาให้อ่านง่ายๆ สรุปมาให้บ้าง ตอนไหนที่ประทับใจผมก็ลอกมาบ้าง ย่อยแบบนี้เพื่อยั่วยุให้อยากอ่าน พอได้อ่านฉบับเต็มจะได้อรรถรสเพิ่มครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.12259006500244 sec
Sidebar: 0.11137199401855 sec