โอวาทข้อที่สามของท่านเหลี่ยวฝาน(๑)

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 21 พฤษภาคม 2010 เวลา 21:44 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1400

วันนี้มาเล่าให้ฟังต่อว่าโอวาทของท่านเหลี่ยวฝานข้อที่สาม ท่านสอนเรื่อง “วิธีสร้างความดี” อย่างไร

ในข้อ ๒ ท่านเหลี่ยวฝานสอนลูกให้แก้ไขความผิด พอมาข้อที่สามท่านให้ลูกทำความดีเพราะการสร้างความดีของหัวหน้าครอบครัวจะส่งผลไปถึงลูกหลาน ดังนั้น การจะยกลูกสาวให้ใครคนโบราณจะมองไปถึงบรรพชนของเขาด้วยว่าเป็นคนดีหรือไม่ ท่านได้ยกตัวอย่างคนดีมาสอนลูก คือ ตาของท่านขงจื๊อ,ท่านตี้ซุนผู้มีความกตัญญู , พระอาจารย์ที่ถวายพระอีกษรของฮ่องเต้,เสมียนอำเภอที่รักความยุติธรรมและมีเมตตาธรรม,ขุนนางแซ่เจี่ยที่ไม่คิดฆ่าประชาชนที่ปะปนในหมู่โจร โดยให้เอาสัญลักษณ์ผ้าขาวมาผูกไว้ที่หน้าบ้านหากไม่เข้าข้างโจร,คุณยายแซ่หลิน ชาวฮกเกี้ยนที่ทำขนมเลี้ยงคนจน,พ่อของขุนนางแซ่เฝิงที่ช่วยเหลือคนนอนหนาวจมกองหิมะ, ขุนนางแซ่อิ้งที่ช่วยหญิงไม่ให้ฆ่าตัวตายเพราะถูกบีบให้แต่งงานใหม่,บิดาของซิวจ๋ายแซ่ซื้อที่ให้ชาวนาทำนาฟรี,ขุนนางแซ่ถู ที่ช่วยสืบหาความจริงของนักโทษว่าทำความ ผิดจริงหรือไม่ คนที่ถูกปรักปรำได้รับการปล่อยตัว,บิดาของขุนนางแซ่เปา ซึ่งสนใจพุทธศาสนาและลัทธิเต๋า เห็นศาลเจ้าเก่าทรุดโทรมจึงบริจาคเงินและเสื้อผ้าที่ติดตัวมาหลายชุดเพื่อซ่อมแซมศาลเจ้า,ขุนนางแซ่จือที่ช่วยเหลือนักโทษประหารที่ถูกปรักปรำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

บุคคลตัวอย่างที่ท่านยกมาสอนลูกข้างต้นนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ประกอบกรรมดีและได้รับผลดีทั้งต่อตนเองและลูกหลานทุกคน ท่านยังสอนลูกอีกว่าการทำความดีนั้นก็ต้องดูว่าดีจริงหรือเปล่า บริสุทธิ์ใจหรือไม่ สุจริตหรือไม่ สมบูรณ์หรือไม่ ยากหรือง่าย เพราะสิ่งที่เรียกว่าทำดีนั้นอาจจะเป็นการสูญเปล่า ท่านจึงยกคำสอนมาเป็นข้อๆ อย่างนี้ครับ

ข้อแรก การทำความดีนั้น ทำแล้วดีจริงหรือไม่

ในสมัยราชวงศ์หยวน ท่านจงฟง เป็นถึงสังฆราช ท่านมีคุณธรรมล้ำเลิศ อยู่มาวันหนึ่ง มีพวกนักศึกษาลัทธิขงจื๊อ ได้พากันไปนมัสการท่าน กราบถามท่านว่าบางคนทำความดี แต่ลูกหลานไม่เจริญรุ่งเรือง ส่วนคนที่ทำชั่ว กลับได้ดีมีหน้ามีตา แล้วจะเชื่อคำสอนของพระพุทธศาสนาได้อย่างไรกัน

ท่านอธิบายว่า ถ้าเราทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นเรียกว่า ทำความดี แต่ถ้า เราทำเพื่อตัวเราเอง นั่นคือ ความไม่ดี

ความดีข้อที่สอง คือ ทำความดีโดยบริสุทธิ์ใจ หรือแฝงด้วยเจตนาใดๆ

การทำความดีมิได้อาศัยที่ตาดู หูฟัง แต่ต้องเริ่มที่ใจของตนเอง เริ่มไตร่ตรอง สำรวจตนเองอย่างระแวดระวัง อาศัยกำลังใจของเราเองซักฟอกจิตใจให้ใสสะอาด ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ให้คิดถึงประโยชน์สุขของผู้อื่นก่อน แล้วทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่แฝงไว้ด้วยเจตนาที่จะต้องการการตอบแทนจากใคร จึงจะเป็นความดีโดยบริสุทธิ์ หากเราทำความดีเพื่อเอาใจผู้อื่นก็ดี หวังการตอบแทนก็ดี ก็ไม่ใช่ความดีที่เกิดจากความบริสุทธิ์ใจแล้ว เป็นการเสแสร้งเพทุบาย เพื่อหวังประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง เป็นเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ จะถือเป็นความดีแท้ไม่ได้

ความดีข้อที่สาม คือการทำดีที่มีผู้รู้เห็น และไม่มีผู้รู้เห็น

ถ้าเราทำความดี มีคนรู้เห็นมาก ก็กลายเป็นความดีทางโลกไป แต่ทำแล้วไม่มีผู้รู้เห็น เหมือนการปิดทองหลังพระ นี่เป็นความดีทางธรรม ความดีทางธรรม ฟ้าดินย่อมประทานผลดีให้ ส่วนความดีทางโลก ก็จะได้รับแต่ชื่อเสียงเกียรติยศ ความมั่งคั่งเป็นผลตอบแทน

ความดีข้อที่สี่ คือความดีที่ทำผิดหรือทำถูก

ท่านยกตัวอย่างลูกศิษย์ท่านขงจื๊อไปช่วยไถ่เชลยศึกคืนมาให้แคว้นหลู่โดยไม่ยอมรับเงินรางวัลขงจื๊อทราบเรื่องเข้า ท่านก็โกรธลูกศิษย์ของท่านมาก เพราะจะทำให้คนที่ยังยึดติดในรางวัลไม่ยอมช่วยเหลือทำให้เชลยศึกเดือดร้อน

ต่อมาศิษย์เอกของท่านขงจื๊อเช่นกัน ได้ช่วยคนตกน้ำไว้ได้ ชายคนนั้นให้วัวตัวหนึ่งเป็นการตอบแทน จึงรับเอาวัวนั้นมา ท่านขงจื๊อเมื่อทราบเรื่องก็ดีใจมาก ท่านพูดว่า ต่อนี้ไปในแคว้นหลู่ของเรานี้ จะมีคนชอบช่วยเหลือผู้อื่นเพิ่มขึ้นอีก เพราะเมื่อทำความดีแล้ว มีคนเห็นความดีและได้รับการตอบแทนทันที

ในสายตาชาวโลกแล้ว จะต้องมองในทัศนะกลับกันกับท่านขงจื๊อเป็นแน่ แต่นักปราชญ์ท่านมองไกล การทำความดีที่มีคนนําไปเป็นเยี่ยงอย่าง ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ จึงจะเป็นความดีแท้ ส่วนการทำความดีที่กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป เป็นผลร้ายต่อส่วนรวมแล้วไซร้ ก็หาชื่อว่าเป็นความดีแท้ไม่

ความดีข้อที่ห้า คือการทำความดีแล้วผลทำให้ผู้อื่นเป็นอย่างไร

ชายขี้เมาคนหนึ่ง มาด่าท่านไจเสี่ยงซึ่งๆ หน้าท่านเห็นเป็นคนเมาก็ไม่ถือโกรธ กลับบอกคนรับใช้ว่า อย่าไปเอาเรื่องกับคนเมาเลย ปิดประตูเสียเถิด ต่อมา ชายขี้เมาคนนี้ ได้รับโทษประหารชีวิต เมื่อท่านไจเสี่ยงรู้เข้าก็เสียใจมาก รำพึงว่า ถ้าเราเอาเรื่องเสียแต่แรกที่ด่าเรา จับไปทำโทษสถานเบาเสียที่อำเภอ เขาก็จะไม่ต้องรับโทษประหารในวันนี้ เพราะเราแท้ๆ กรุณาเขาผิดกาละไป ทำให้เขาเหิมเกริม ทำชั่วจนตัวตาย นี่คือ ตัวอย่างของความใจดี แต่กลับทำให้ผู้อื่นได้รับผลชั่วตอบแทน
ความดีข้อที่หก คือ ความดีที่กระทำครึ่งๆ กลางๆ และทำอย่างสมบูรณ์
ท่านสอนลูกว่า “การสั่งสมความดีความชั่วนั้น ดุจนำของบรรจุลงในภาชนะ ถ้าสั่งสมทุกวัน ก็จะเต็มเปี่ยม ถ้าสั่งสมบ้างไม่สั่งสมบ้าง หยุดๆ ทำๆ บุญหรือบาปนั้นก็พร่องอยู่เสมอ ไม่มีวันเต็มได้เลย

การทำความดีนั้น เมื่อทำแล้วก็แล้วกัน อย่าได้นำมาคิดถึงบ่อย ราวกับว่าการทำดีนั้นช่างใหญ่ยิ่งนัก ใครก็ทำไม่ได้เหมือนเรา ถ้าคิดเช่นนี้ ความดีนั้นก็จะเหลือเพียงครึ่งเดียว แต่ถ้าทำแล้วก็ไม่นำมาใส่ใจอีก คิดแต่จะทำอะไรต่อไปอีกจึงจะดี
จึงจะเป็นความดีที่สมบูรณ์ จิตนั้นก็ย่อมเต็มเปี่ยมไปด้วยกุศลผลบุญ พลังแห่งกุศลกรรมเช่นนี้ใหญ่หลวงนัก สามารถทำลายเคราะห์กรรมได้ ถึงหนึ่งพันครั้ง เพราะฉะนั้นการทำความดี จึงมิได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของเงินทอง หรือวัตถุที่บริจาค แต่อยู่ที่ใจเราเท่านั้น ที่จะทำจิตใจให้ว่างเปล่า จนสามารถบรรจุบุญกุศลได้เพียงใดต่างหาก

ความดีข้อที่เจ็ด คือ ความดีที่ใหญ่หรือเล็ก

ท่านเล่าเรื่อง คนที่ตกนรก เมื่อยมบาลเอาบัญชีความดีความชั่วมาดูปรากฏว่าความชั่วเยอะมาก ความดีมีนิดเดียวแต่หนักมาก ยมบาลบอกว่า การที่ท่านมีเมตตาจิตต่อราษฎร เกรงจะได้รับความลำบากกันมากมาย กุศลจิตนี้ใหญ่หลวงนัก ท่านสอนว่า”แม้จะเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้ากระทำเพื่อชนหมู่ใหญ่แล้วไซร้ ความดีนั้นก็ใหญ่หลวงยิ่งนัก หากทำดีเพื่อตนเองแล้วไซร้ แม้จะทำดีขนาดไหน ก็ได้ผลน้อยมาก ลูกจงจำไว้ว่า การทำความดี ไม่ว่าจะเป็นความดีมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับเจตนาในการทำความดีนั้น เพื่อผู้อื่นหรือเพื่อตนเอง

สังเกตไหมครับว่าท่านเหลี่ยวฝานเน้นสอนให้ลูกทำความดีเพื่อผู้อื่นไม่ใช่ทำความดีเพื่อตัวเอง

ข้อที่แปด คือ ความยากง่ายในการทำความดี

ท่านยกว่าโบราณสอนเอาไว้ ถ้าจะเอาชนะใจตนเองให้ได้ ต้องเริ่มจากจุดที่ข่มใจได้ยากที่สุดเสียก่อน ถ้าสามารถเอาชนะได้จุดอื่นๆ ก็ไม่สำคัญเสียแล้ว
ย่อมจักเอาชนะได้โดยง่าย

โอวาทข้อสามนี้ท่านยกตัวอย่างมากมาย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ท่านเอาเรื่องราวเก่าๆยกตัวอย่างชีวิตจริงของคน มาสอนลูก อ่านแล้วเพลินดี แต่มันยาวมากจึงสรุปมาตอนหนึ่งก่อน คงจะเล่าโอวาทข้อที่สามอีกตอนครับ..อิอิ จบไม่ลง

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : โอวาทข้อที่ ๒ ของท่านเหลี่ยวฝาน

Next : ไปถ่ายภาพเขากระโดดกัน อิอิ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 ป้าหวาน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2010 เวลา 22:27

    มาติดตามค่ะ  ท่านสอนไว้ละเอียดมากเลยนะคะ  ทำดี เราคิดเอาเองก็ไม่ลึกซึ้งอย่างนี้  ขอบพระคุณพี่อัยการค่ะ  คอยติดตามต่อไป อิอิ

  • #2 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2010 เวลา 9:01

    ขอบคุณป้าหวานที่มาติดตาม หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผมชอบมาก อ่านเองก็หลายครั้ง แนะนำให้นักเรียนและคนอื่นๆอ่านก็หลายครั้ง การมาสรุปลงที่นี่ก็เป็นการดีที่จะได้อ่านใหม่อีกครับ

  • #3 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2010 เวลา 10:15

    สวัสดีค่ะ

    เป็นหนังสือที่ได้อ่านมานานมาก ๆ แล้ว ตอนนั้นจะมีเทปเสียงอัดเป็นเทปทั้งแจกทั้งขาย สะดวกในการฟัง ตามวัดและโรงเจก็มีผู้ศรัทธาพิมพ์แจกเป็นธรรมทานจำนวนมาก

    เป็นหน้งสือที่ควรอ่านค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.5725998878479 sec
Sidebar: 0.2602870464325 sec