จำลองสถานการณ์ประเทศไทย๒

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 27 มิถุนายน 2009 เวลา 18:59 ในหมวดหมู่ พระปกเกล้า, เรื่องทั่วไป, เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 1812

คราวที่แล้วเราว่ากันถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งต่างๆในประเทศไทย สาเหตุ ทางออก ปัจจัยที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง กว่าจะได้ข้อสรุปเราก็ถกกันหลายข้อแล้วมาสรุปเลือกให้ลงคะแนนว่าพวกเรามองเห็นข้อใดสำคัญที่สุด จากนั้นเราก็สร้างฉากทัศน์กันขึ้นมา ผมขอคัดลอกข้อสรุปของคุณหมอพงศ์เทพ สุธีรวุฒิ มาให้อ่านกันต่อนะครับ

1. ฉากทัศน์
5.1 ฉากทัศน์ที่หนึ่ง หากปล่อยให้สถานการณ์การเมืองเป็นเช่นปัจจุบัน อีก 5-10ปี เศรษฐกิจและสังคมจะเป็นอย่างไร

5.1.1 สภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
ภายใต้เศรษฐกิจที่เป็นแบบ Digital เปลี่ยนแปลงเร็วและการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบรุนแรงจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบ 3 ธุรกิจอยู่ในมือกลุ่มทุน ระบบนายทุนเข้มแข็ง เกิดการเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มทุน ทิศทางเศรษฐกิจเป็นแบบ political approach อ่อนไหวกับการเมืองและนโยบาย คอรับชั่นทางนโยบายมากขึ้น ภาคการผลิตระส่ำระสาย ภาคเกษตรล่มสลาย การลงทุนลด การท่องเที่ยวตกต่ำ เกิดภาวะตกงานมากขึ้น ปัญหาแรงงานมากขึ้น เกิดปัญหาความยากจน ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนมากขึ้น

5.1.2 สภาพสังคมจะเป็นอย่างไร
วิถีของสังคมเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ แบ่งแยกเป็นชนชั้น แต่ละกลุ่มชาติพันธ์ต้องการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ของตนเองเกิดป็นภูมิภาคนิยม เป็นสังคมที่ให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ลดลง ทุนนิยมทำให้คนให้ความสำคัญกับวัตถุนิยมมากขึ้น ประชาชนไม่เชื่อมั่นในการทำดี ประชาชนไม่ยอมรับกฎหมาย กติกาทำให้เกิดสภาพสังคมที่มีความอึดอัด คับข้องใจ เกิดความสับสน นำไปสู่สังคมอยุติธรรม
สังคมเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น เนื่องจากระบบข้อมูลพัฒนามากขึ้นและควบคุมได้ยากขึ้น และใช้สื่อเป็นสงครามแย่งชิงมวลชน ขณะเดียวกัน มีปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงสถาบันหลัก ซึ่งอาจจะแรงเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นระบบสังคมนิยมแบบกลายพันธุ์

5.2 ฉากทัศน์ที่สอง หากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันยกระดับความรุนแรงเกิดการปะทะกันทั้งสองฝ่ายอีก 5-10ปี เศรษฐกิจและสังคมจะเป็นอย่างไร

5.2.1 สภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
จะเกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจ เป็นหายนะทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่สุด กลุ่มทุนต่างชาติจะเข้ามาหาผลประโยชน์ได้ง่าย ครอบครองธุรกิจของประเทศ ไม่เหลือธุรกิจของคนไทย ไทยตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจและถูกต่างประเทศกีดกันการค้า และจะเกิดอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หากกลุ่มทุนในประเทศร่วมมือกับกลุ่มทุนต่างประเทศ

5.2.2 สังคมจะเป็นอย่างไร
เกิดรัฐประหาร/ปฏิวัติรูปแบบใหม่ เป็นการเร่งให้สถาบันหลักเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ และสถาบันศาสนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนอาจจะเปลี่ยนชาติ สังคมแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างภูมิภาค เกิดสงครามกลางเมือง เกิดภาวะมิคสัญญี เกิดแบ่งแยกดินแดนโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทบต่อความเชื่อมั่น เกียรติภูมิจากต่างประเทศ
การกระจายอำนาจเป็นแบบการแย่งชิงการปกครองในแต่ละพื้นที่ สถาบันครอบครัวล่มสลาย ชุมชนอ่อนแอ เห็นแก่ตัว เห็นแก่กลุ่ม

2. ภาพพึงประสงค์เพื่อลดการขัดแย้ง (ภาพอนาคตประเทศไทย)

6.1 การพํฒนาระบบการศึกษา

6.1.1 การพัฒนาระบบการศึกษาให้เป็นฐานการพัฒนา ดังนี้
• การศึกษาตามอัธยาศัย
• การศึกษาที่เท่าทันโลก
• การศึกษาตลอดชีวิต
• การศึกษาที่ไม่เน้นการแข่งขัน
• การจัดระบบศึกษาเป็นระบบสร้างสุขภาวะ
• เน้นการสร้างความงอกงามทั้งกาย อารมณ์ สังคม ปัญญา
• การศึกษาเพื่อความเสมอภาค ทัดเทียม
• การจัดหลักสูตรการเมืองการปกครอง ตั้งแต่ระดับประถม

6.1.2 ยกมาตรฐานการผลิตครู
• สร้างครูให้มีความเป็นครู
• จัดระบบการประเมินผล การปรับตัวชี้วัด

6.2 การพัฒนาการเมืองการปกครอง
6.2.1 สร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องการเมือง
• มีวิชาการเมืองในการเรียนการสอนทุกระดับ
• มีหลักสูตรการเมือง การปกครองในการเรียนการสอนทุกระดับ
• มีโรงเรียน/หลักสูตรสำหรับนักการเมือง โดยนักการเมืองที่จะลงเลือกตั้งต้องผ่านหลักสูตรก่อน

6.2.2 พัฒนาโครงสร้างที่มีความสมดุลระหว่างการเมืองภาคตัวแทนกับภาคประชาชน
• สร้างการเมืองระดับท้องถิ่นให้เข้มแข็ง มีโครงสร้างสมดุลระหว่างการปกครองส่วนกลางกับท้องถิ่น เช่น ส่วนกลางเน้นเฉพาะความมั่นคงและการต่างประเทศ
• มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่าง ประชาชน ข้าราชการ นักการเมือง
• มีการกระจายอำนาจทุกมิติ
• มีกลไกการจัดการกิจกรรมทางการเมือง
• ในระบบตัวแทน ต้องมีการคัดกรองก่อนเข้าระบบด้วยกระบวนการทางจริยธรรม
• มีระบบตรวจสอบทางสังคม

6.2.3 พัฒนาการเมืองภาคประชาชน
• สร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง
• พลเมืองสามารถดำเนินการเองบนข้อมูลความจริงเลือกทางออกเองได้
• พัฒนาพรรคการเมืองเป็นของมวลชน

6.3 การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ

6.3.1 พัฒนาระบบเศรษฐกิจที่เน้นความเป็นธรรม
• เป็นระบบเศรษฐกิจที่สร้างเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์
• เน้นนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม ปลูกฝังแนวคิดตั้งแต่ระดับเยาวชน
• สร้างเครือข่ายทางการค้า ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้บริโภค ที่เน้นความรับผิดชอบต่อสังคม

6.3.2 เน้น Human Touch Industry สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจที่มีชีวิต เช่น
• เน้นเกษตรวิถีธรรม ปลอดสารพิษ
• ใชัความรู้จากงานวิจัย ภูมิปัญญา
• สร้างระบบแปรรูป เพิ่มมูลค่า
• สร้างเครือข่ายการผลิตในชุมชน
• อาหาร
• สปา นวดแผนไทย

6.4 การพัฒนาโครงสร้างของสังคม

6.4.1 สร้างครอบครัวเข้มแข็ง
• เป็นครอบครัวขยาย
• มีระบบการดูแลครอบครัว
6.4.2 สร้างชุมชนเข้มแข็ง
• สังคมที่เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน
• สังคมที่รู้จักฟังและให้อภัย
• ส่งเสริมศาสนา วัฒนธรรม
6.4.3 สร้างกลไกทางสังคมขับเคลื่อนตามหน้าที่ภายใต้การเคารพศักดิ์ศรี ความเท่าเทียม สร้างจิตสำนึกรับผิดชอบ และมีระบบถ่วงดุลอำนาจ

6.5 การพัฒนาระบบข้อมูล

6.5.1 ผู้รับสาร
• ประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูล
• เน้นการเรียนรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำให้ประชาชนสามารถตัดสินข้อมูลได้
6.5.2 ผู้ส่งสาร
• ใช้ความจริงสื่อสารต่อสาธารณะ
• ผู้สื่อสารต้องรับผิดชอบต่อสังคม เน้นจรรยาบรรณ
6.5.3 ช่องทางการสื่อสาร
• ทำให้เกิดระบบร่วมรับผิดชอบต่อการสื่อสารข้อมูล
• มีกฎหมายดูแลที่มีประสิทธิผล
• ระบบสื่อสารที่ปราศจากอิทธิพลทางการเมือง ธุรกิจ
6.5.4 ตัวสาร ควรพัฒนาให้เกิดศูนย์ข้อมูลที่สร้างความเชื่อมั่น มีการจัดการ และประชาชนเข้าถึงได้

6.6 การพัฒนาระบบสุขภาพ

6.6.1 การปรับกระบวนทัศน์สุขภาวะ
• สร้างสุขภาวะมากกว่าสาธารณสุข
• เป็นการสร้างนำซ่อม
• มีระบบสร้างเสริมสุขภาพ
• จัดกระบวนการเรียนการสอน การเรียนรู้เรื่องสุขภาพ
6.6.2 การนำพรบ.สุขภาพไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม
• กระบวนการนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ
• กระบวนการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ
• การนำกระบวนการสมัชชาสุขภาพเป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนสังคม
6.6.3 พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุม เท่าเทียม เป็นธรรม
• พัฒนากองทุนสวัสดิการสุขภาพชุมชน
• พัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น

เราสรุปกันได้ดังที่ว่ามาข้างต้นนี่แหละครับ จากนั้นท่านตวง อันทะไชย ก็จะนำข้อสรุปนี้ไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน จากทุกช่องทาง เพื่อนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น หากท่านทั้งหลายที่เข้ามาอ่านอยากแสดงความคิดเห็นหรือมีข้อเสนอแนะในการช่วยกันพัฒนาประเทศของเรา ท่านแสดงความคิดเห็นในบันทึกนี้ก็ได้ครับ เพราะเราก็เป็นเสียงส่วนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและเราก็ไม่ได้บอกว่าความคิดเห็นของเราถูกต้องทุกอย่าง การระดมสมองเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศชาติและแนวคิดในการพัฒนาประเทศก็เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนที่อยู่ในประเทศนี้ การแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องที่สังคมเราควรมีพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นกันให้มาก เชิญชวนทุกท่านมาช่วยกันแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติกันครับ

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : จำลองสถานการณ์ประเทศไทย๑

Next : ผมไปร่วมเสวนาเรื่องการเมืองนำการทหาร » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 มิถุนายน 2009 เวลา 19:47

    การจำลองน่าสนใจมากค่ะ และแนวทางการแก้ไขดูจะเป็นเรื่องที่เน้นกันมานานแต่กลับติดโครงสร้างของระบบทำให้อุ้ยอ้ายชักช้า และเกาไม่ถูกที่คัน ถ้าเราจะเน้นภาคราชการให้เป็นหัวหอกในการนำทีมแบบที่ผ่านมา คงไปไม่ถึงไหนและกวนกาละแมกันเหมือนเดิม

    เราจะผลักดันได้อย่างไรโดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม? ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูง

    เบิร์ดสนใจเรื่องสร้างนำซ่อมและการเกษตร เพราะเบิร์ดมองว่าศักยภาพด้านนี้ไปได้ไกล แต่จะคิดช้าไม่ได้แล้ว เพราะเท่าที่ทราบกัมพูชาให้ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ฯลฯ เข้าไปจัดการท่องเที่ยวให้ ทำให้แหล่งท่องเที่ยวของกัมพูชามีการพัฒนาไปไกลมาก การท่องเที่ยวของไทย?  ใครที่เคยไปเที่ยวในอดีตสัก 5 -10 ปีที่แล้ว และไปใหม่ในปีนี้จะเห็นความแตกต่างของสภาพแหล่งท่องเที่ยว ความรกรุงรัง ความไม่สะอาดตาหายไปเพราะ”โดนจัดระเบียบใหม่” และถ้าญี่ปุ่นได้สัมปทานจัดการแหล่งท่องเที่ยวของกัมพูชา คิดว่าคนญี่ปุ่นจะไปเที่ยวที่ไหน?

    ที่ดินของกัมพูชาเปิดให้จีนครอบครอง ตัวเลขน่าจะอยู่ราวๆเกือบหนึ่งในสามของประเทศที่เป็นพื้นที่เพาะปลูก …ข้าว ผัก ผลไม้ไทยยังฝันลมๆแล้งๆอีกได้หรือคะพี่ฑูร ถ้าไม่ลงมือโดยเร็ว?

    จะเกิดอะไรขึ้นถ้าภูมิภาคจับมือกันทั้งหมด กำแพงภาษีคงไม่มี ดินแดนเอเชียมีเส้นทางติดต่อกันหมดทุกประเทศ การเกษตรไทยจะอยู่ตรงไหน? ที่ดินทำกินของเราเพาะปลูกได้ดีเท่าไร น้ำเราพอไหม เทคโนโลยีหรือจุดขายของสินค้าเกษตรเราคืออะไร… เราคงแข่งในเรื่องราคาไม่ได้แล้วค่ะ แต่ควรเป็นเรื่องของคุณภาพ และสิ่งแวดล้อม

    สปาไทย นวดแผนไทยที่เป็นเอกลักษณ์ควรยกระดับขึ้นเป็นการรักษาด้วยค่ะ ( นวดมี 2 ระดับคือนวดปกติและนวดเพื่อการรักษา )… 

    ถ้าทั้งภูมิภาคเชื่อมต่อกัน ถนนที่พี่ฑูรไปคุณหมิง ก็แสดงให้เห็นว่าจีนมีแผนการระยะยาวขนาดไหน การขนส่งสินค้ามีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน ชายแดนไทยเตรียมพร้อมเรื่องนี้แค่ไหน แค่ไม่มีกำแพงภาษีและสินค้าทะลักเข้ามา ถ้าไม่มีแผนรับมือด้วยความเข้มงวดกับ”คุณภาพของสินค้า” แบบยุโรปทำกับไทย เกษตรกรไทยจะอยู่อย่างไร? ถ้าเราจะเข้มงวดกับผู้อื่น ตัวเราควรทำตามมาตรฐานที่วางไว้ได้ด้วยนะคะพี่ฑูร

    จะเห็นว่าทุกอย่างจ่อคอเราอยู่ แล้วจะทะเลาะกันทำอะไร ไม่ต้องไปดูไกลเลยแค่กัมพูชาเราก็ควรสะดุ้งได้แล้วเนาะคะพี่ฑูร

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 มิถุนายน 2009 เวลา 22:55

    เรื่องใหญ่แบบนี้ ขอไปสงบสติ พิจารณาดีดีก่อนนะครับแล้วค่อยมาแลกเปลี่ยน

  • #3 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 มิถุนายน 2009 เวลา 6:54

    ขอบคุณน้องเบิร์ดทึ่มาเติมเต็มให้กับบันทึกนี้ครับ
    ในการเสวนาพูดคุยเรื่องนี้ เรื่องเกษตรอินทรีย์ได้พูดกันวันที่สอง มีตัวแทนกลุ่มเกษตรกรมาด้วยเขาก็นำเสนอต่อยอดคุยกันสนุกมาก และมีการพยายามโยงเข้ากับเศรษฐกิจมีชีวิตของลุงเอก เลยสนุกกันใหญ่การเสนอแนวคิดจึงได้รับการตอบรับอย่างดี

    พูดถึงเรื่องจีนแล้วพี่ยังนึกถึงชาวสวนยางพาราจะทำอย่างไรกับอนาคต เพราะจีนปลูกยางพาราพื้นที่ไม่น้อยเลยประมาณการไม่ถูก เอาเป็นว่าจากภูเก็ตไปพัทลุงบ้านเรามีสวนยางพาราเป็นหย่อมๆ แต่ที่จีนเป็นสวนยางพาราทั้งหมด นี่เฉพาะยางพาราอย่างเดียวนะ ยังไม่ได้เห็นพืชตัวอื่นเลย คิดแล้วเหนื่อย..และถ้ามองรอบด้านของเพื่อนบ้านแล้วยิ่งหนาว หรือวงจรประวัติศาสตร์กำลังทำงานอีกครั้ง เรากลับไปสู่ยุคเดิมที่อยู่กันเป็นก๊กเป็นเหล่า แยกกันเป็นเสี่ยงๆ แล้วค่อยมารวมกันใหม่ หรือมันต้องการกลับไปเป็นเหมือนเดิมของยุคใดยุคหนึ่ง เช่นสุโขทัย ภาคใต้ก็ไปทาง ภาคเหนือไปทาง อิสานไปทาง ไม่อยากจะนึกภาพร้ายๆพวกนี้เลย

     

  • #4 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 มิถุนายน 2009 เวลา 7:10

    มาต่อ เมื่อกี้ไปส่งน้องนิวที่คิวรถ
    การนำเสนอภาพจำลองนี้ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าเขารับฟังแค่ไหน เอาไปปฏิบัติหรือไม่ มุมมองของคนไม่เหมือนกันแต่ปัญหาของประเทศที่แก้ไขยากเย็น ก็เป็นเพราะการเมืองนี่แหละ เพราะนักการเมืองมีแต่ความหวาดระแวง กลัวว่าถ้าทำไปแล้วก็ไปเข้าทางคู่แข่ง เป็นทางหากินของฝ่ายตรงข้าม กลัวว่าผู้เสนอมีผลประโยชน์ ฯลฯ มันก็เลยแก้ไม่ได้สักที

    ปัญหาของกลุ่มเกษตรกรก็วนเวียนอยู่เหมือนเดิม สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ประกันราคา รับจำนำ ปุ๋ยขึ้นราคา ฯลฯ พี่ก็แปลกใจว่าเกษตรอินทรีย์กำลังมาแรงแต่ทำไมเกษตรกรส่วนใหญ่ยังนิยมใช้ปุ๋ยเคมี หรือเพราะเกษตรกรไม่มีทุนสำรองเพียงพอ หรือเพราะอะไรกันแน่ เกษตรกรจะลุกขึ้นมาปฏิวัติกระบวนการทำการเกษตรกันจะได้ไหม..

  • #5 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 มิถุนายน 2009 เวลา 15:57

    เกษตรอินทรีย์เข้ามาในไทย 18 ปีแล้วค่ะพี่ฑูร แต่ไม่โต เบิร์ดเคยนึกเล่นๆว่ากรมส่งเสริมการเกษตร บุคลากรที่ส่งเสริมชาวบ้านเพาะปลูกควรแยกเด็ดขาดระหว่างคนที่ศรัทธาในแนวทางเกษตรอินทรีย์ กับคนที่สนับสนุนการใช้เคมี เพราะถ้าไม่ศรัทธา เพียงทำตามนโยบายก็เท่านั้น

    อยากให้เห็นว่าพลังของคนปฏิบัติมีอำนาจมากกว่าคนที่เรียกร้อง หรือนักการเมืองมากนักค่ะพี่ฑูร เพียงแต่เสียงของคนเหล่านี้ไม่ดัง และกระจัดกระจายเป็นกลุ่มๆ

    ยางพาราเป็นสิ่งที่กังวลกันอยู่ค่ะ เพราะเมื่อใดที่จีนกรีดยางได้ เมื่อนั้นเจ้าของตลาดตัวจริงคงเป็นเขาแน่ ในลาวก็รู้สึกจะไปปลูก (พี่เปลี่ยนเนคยเขียนไว้ค่ะ) เราจะอยู่อย่างไร การเรียกร้องกดดันรบ.คงช่วยอะไรไม่ได้มาก ถ้าเกมส์การตลาดเปลี่ยนมือ ต่อให้เชิญเทวดาที่คิดว่าทำได้มาแก้ก็คงลำบากค่ะ

    วงจรรับจำนำก็เป็นวงจรที่เหนื่อยใจ  แถมการร้องเรื่องของแพงก็ทำให้เกษตรกรลำบาก เวลามะนาวหน้าแล้งก็มีคนเอาไมค์ไปจ่อสัมภาษณ์ หมูขึ้นราคา ไข่ขึ้นราคาก็มีคนสัมภาษณ์เพื่อให้รบ.กดราคาไว้ แล้วเค้าจะกินอะไร ลูกเมียของคนเหล่านี้จะทำยังไง ถ้าตัดวงจรพ่อค้าคนกลางได้น่าจะดีค่ะ (เดี๋ยวพ่อค้าโวยอีกฐานไม่เอื้อให้เกิดอาชีพ)

    คนทำการเกษตรน่าจะเป็นอาชีพหนึ่งที่ควรพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง เหมือนอาชีพอื่นๆ เช่นเดียวกันค่ะพี่ฑูร แต่ไม่ต้องเอา KPI ไปจับวัด … เดี๋ยวแวะมาคุยใหม่ค่ะ

  • #6 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 กรกฏาคม 2009 เวลา 14:21

    ความจริงถ้าเรากล้าจัดการโดยไม่กลัวผลจากคะแนนเสียง รัฐกำหนดพื้นที่ไปเลยว่าพื้นที่ไหนจะใช้เกษตรอินทรีย์ และให้ทั้งพื้นที่ปลูกพืชและใช้เกษตรอินทรีย์เพียงอย่างเดียว รอบเขตนั้นพื้นที่ห่างไปไม่ต่ำกว่ากี่กิโลก็ว่ากัน ห้ามปลูกพืชชนิดนั้นชนิดนี้ แต่ต้องทำประชาพิจารณ์กันให้หนักก่อน ให้เกิดการยอมรับกันก่อนว่าเราจะพัฒนากันเป็นแบบไหน จะเอาเกษตรอินทรีย์หรือไม่ และบริหารแบบที่น้องเบิร์ดว่า สร้างผลิตผลที่เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด มาประเทศไทยหากต้องการสินค้าประเภทที่ได้จากเกษตรอินทรีย์ต้องไปที่นี่แห่งเดียว อะไรทำนองนี้
    หรือหากจะเป็นอย่างที่น้องเบิร์ดว่า อย่าให้รัฐเข้ามายุ่งเลย เกษตรกรคิดกันเองได้ไหม ทำกันเองได้ไหม ทำแบบที่นครศรีฯ ปลูกข้าวมาขายข้าวไม่ค่อยได้ หมู่บ้านใกล้เคียงกันก็ช่วยรับซื้อข้าวมาทำเส้นขนมจีนขาย  เอื้อประโยชน์กันไปมา แถวนี้มีสวนมังคุด ลูกดก ขายไม่ได้ราคา เอาเนื้อมากวนหรือทำน้ำมังคุด  หมู่บ้านนี้เอาเปลือกมังคุดมาทำสบู่ ยาสระผม น่าจะไปรอดนา…..
    พูดถึง KPI การทำ KM ของหลายหน่วยงานวุ่นเพราะ KPI นี่แหละ ยิ่งถ้าเจ้านายกำหนดหัวปลาให้โดยที่ไม่ตรงกับปัญหาของเขา  กำหนดแบบกรอกในการทำ KM ให้ด้วยแล้วละก้อ…พาลไม่ทำเอาเสียเลย แค่กรอกแบบฟอร์มก็งงกันแล้ว อิอิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.93746113777161 sec
Sidebar: 1.031574010849 sec