จำลองสถานการณ์ประเทศไทย๑
เมื่อวันที่ ๘-๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย (ท่านตวง อันทะไชย) ให้เข้าร่วมโครงการเพื่อจำลองสถานการณ์ประเทศไทยในอนาคต เพื่อเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นในการเสริมสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองร่วมกัน ผมก็นำมาแหย่ในลานปัญญาให้พวกเราช่วยกันคิดช่วยกันทำในกลุ่มเฮฮาศาสตร์ แล้วได้นำเสนอความคิดจากกลุ่มของเราที่สรุปแล้วนำเสนอที่ประชุมครับ
มีผู้คนจากหลากหลายอาชีพเข้าร่วมเสนอแนะความคิดเห็นเพื่อมองภาพอนาคตว่าทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมันจะเกิดอะไรขึ้น หากสองขั้วความขัดแย้งลุกขึ้นมาใช้กำลังต่อกัน/หากไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันโดยปล่อยให้เหตุการณ์มันเป็นอยู่อย่างนี้จะเกิดอะไรขึ้น กับให้เราเขียนภาพว่าอีกสิบปีข้างหน้าเราอยากให้ประเทศไทยเป็นอย่างไร
เราไปประชุมกันที่ นนท์นที รีสอร์ท บรรยากาศแบบบ้านสวน ใช้เวลาสองวัน โดยเราสรุปสถานการณ์ความขัดแย้งกันก่อน ให้แต่ละท่านที่เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นออกไปเขียนในกระดาน หลังจากนั้นมาให้เลือกกันว่าข้อไหนที่มีเสียงเห็นด้วยมากที่สุดสามละดับลดหลั่นกันไป จนได้ภาพสรุปมาดังนี้ (บทสรุปนี้ไม่ได้รวมเนื้อหาที่เสนอในที่ประชุมทั้งหมดครับ เฉพาะที่ได้คะแนนสูงสุดเท่านั้น)
ขอขอบคุณคุณหมอพงศ์เทพ สุธีรวุฒิ ที่สรุปข้อมูลทั้งหมดดังนี้ครับ
สถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศ
1.1 สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ที่สำคัญได้แก่ เกิดการแบ่งกลุ่ม แบ่งขั้ว แบ่งสี เกิดความรุนแรงในระดับชาติ รองลงมาคือความรุนแรงในการเมืองระดับท้องถิ่น
สาเหตุ มาจาก
· แนวคิดทางการเมืองแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องมีเป้าหมายสังคมการเมืองแตกต่างกัน เกิดการขัดกันในวิธีการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง และมีความขัดแย้งในการจินตนาการความเป็นชาติ
· ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ
· ใช้ฐานมวลชนสร้างความขัดแย้ง
· ขาดคุณธรรมทางการเมือง มุ่งหวังประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก
· ขาดความไว้วางใจของทุกฝ่าย
· ขาดความเชื่อมั่นในระบบ
· ขาดข้อมูลความจริง และหลักฐานเชิงประจักษ์
ทางออกเบื้องต้นที่เป็นรูปธรรม
· การจัดตั้งโรงเรียนนักการเมือง
· แก้กฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ
· พัฒนาระบบการเลือกตั้ง
1.2 สถานการณ์ความขัดแย้งในระบบการปกครอง มีความขัดแย้งทั้งแนวคิดและรูปแบบการปกครองตามวิถีตะวันตกและวิถีตะวันออก ทางออกเบื้องต้นที่เป็นรูปธรรม คือ การพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีการจัดการ และ การกระจายอำนาจ
1.3 สถานการณ์ความขัดแย้งเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจ ในทุกองค์กร ทุกระดับ ต่อไปนี้
· รัฐและในวงการข้าราชการ
· การเมือง
· เอกชน
· ภาคประชาชน
· สถาบันต่างๆ
· ศาสนา
· องค์กรอิสระ
· สถาบันเบื้องสูง
· อำนาจมืด
1.4 สถานการณ์ความขัดแย้งเนื่องมาจากการการแย่งชิงทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องน้ำและที่ดินทำกิน
1.5 สถานการณ์ความขัดแย้งเนื่องมาจากการความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ศาสนา ได้แก่ กระแสวัฒนธรรมบริโภคนิยม วัตถุนิยม การก่อการร้ายอันเนื่องมาจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง
1.6 สถานการณ์ความขัดแย้งเนื่องมาจากการระบบเศรษฐกิจ เป็นความขัดแย้งทั้งกลุ่มทุนต่างชาติ และกลุ่มทุนภายในประเทศ
1.7 การแบ่งแยกดินแดน เป็นความขัดแย้งที่ยกระดับเป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน
2. ปัจจัยที่นำไปสู่ความขัดแย้ง
2.1 ปัจจัยที่เกิดจากปัจเจกบุคคล
· มายาคติ อันได้แก่ ค่านิยม ความเชื่อ ในทุกกลุ่ม ทุกระดับ
· ความศรัทธา อันนำไปสู่วิกฤตศรัทธาในด้านต่างๆ
· ผลประโยชน์ทั้งส่วนตัว/พวกพ้อง ทั้งตำแหน่งและงบประมาณ
2.2 ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ได้แก่
· โครงสร้างอำนาจของรัฐ ราชการ ท้องถิ่น
· ความอยุติธรรม โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชน
· ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมและความเชื่อ อันนำไปสู่ความแตกต่างในระบบความสัมพันธ์
· ระบบการศึกษา ที่มีผลต่อความคิด ความรู้ ความเข้าใจ
· ระบบข้อมูล ที่ทำให้เกิดการเข้าถึง การรับรู้ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล เพื่อการตัดสินใจ
· ผลประโยชน์อันเนื่องมาจากงบประมาณ และการคอรับชั่น
3. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทย
· ผู้นำการเมืองไทย
· พรรคการเมือง
· การเมืองภาคประชาชน
· รัฐบาล
· กระบวนการเลือกตั้ง
4. ปัจจัยเชิงระบบที่มีผลต่อการเมืองเป็น 5 ด้าน
4.1 ระบบความสัมพันธ์
· เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ
· เป็นความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการกับนักการเมือง ที่ไม่คำนึงถึงความถูกต้อง
· เป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการแยกขั้วแย่งชิงอำนาจ
4.2 ระบบค่านิยม
· คุณธรรม นักการเมือง
· นิยมเงินและอำนาจ
· ความเชื่อผู้นำ
4.3 ระบบผลประโยชน์
· การใช้อำนาจโดยอ้างอิงประชาชน
· การแย่งชิงทรัพยากร
· ผลประโยชน์ทับซ้อน
4.4 ระบบโครงสร้าง
· การศึกษา
· รัฐธรรมนูญ
· เศรษฐกิจ
· การเข้าถึง
· การกระจาย
4.5 ระบบข้อมูล
· สื่อไม่เป็นกลาง
· การใช้เครื่องมือของรัฐ
· การเลือกรับรู้อย่างมีอคติ
(ยังมีต่อ คราวหน้าเรามาดูกันว่าภาพที่เราจำลองกันขึ้นมามันเป็นอย่างไร)
« « Prev : เมื่อผมไปเป็นกรรมการยกร่างรายงานแก้ไขสถานการณ์ภาคใต้๓.
Next : จำลองสถานการณ์ประเทศไทย๒ » »
4 ความคิดเห็น
การระดมปัญญา ก็ดีอย่างนี้แหละ รอบด้าน รอบคอบมากขึ้น
ผมเข้าใจว่าประเด็นสาระที่ระบุไว้นั้น ก็มีที่มาที่ไปยาวเหยียด เกี่ยวเนื่อง อีรุงตุงนังไปหมด
แต่ระบบการทำงานก็จะต้องแยกแยะออกมาให้เห็นประเด็นที่ชัดเจน
น่าสนใจครับ ตามติดครับ
ตามพี่บู๊ทมาติดๆค่ะ เพราะสนใจการแก้ไข อิอิอิ
พี่บู้ธครับ
แม้จะมีหลายคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ก็ได้แสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย ไม่มีใครอมภูมิ มีเท่าไหร่ซัดกันออกมาเต็มที่ เป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยแหละครับ
เดี๋ยวจะโพสต์ต่ออีกครับ
น้องเบิร์ด อย่าลืมติดตามตอนสองนะครับจะเห็นภาพที่พวกเราพยายามเขียนกันขึ้นมา กำลังคิดอยู่ว่าถ้าทำเป็น my mapping จะเป็นยังไง