เมื่อผมไปเป็นกรรมการยกร่างรายงานแก้ไขสถานการณ์ภาคใต้๓.
อ่าน: 1498ในการทำร่างรายงาน เรามีกระบวนการในการจัดทำรายงานดังนี้ครับ เราทำเป็นโครงการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ทั้งนี้เรามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ด้วยสันติวิธีที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเสนอต่อ รัฐบาล รัฐสภา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสังคมไทยโดยรวม (ผมจึงแอบเอามาให้ท่านอ่านกันก่อนไงครับ อิอิ)
การเก็บข้อมูลและยกร่างรายงานมีการแบ่งเป็นสองระยะ ในระยะแรก ๒๑ มกราคม-๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ เก็บข้อมูลโดยนักวิชาการของสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล พอมาถึงระยะที่สอง ๑ กันยายน ๒๕๕๑-๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ นักศึกษาหลักสูตร สสสส๑(การเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่ ๑) จำนวน ๙๒ ท่าน ซึ่งมีภูมิหลังและวิชาชีพหลากหลายและมีผมเป็นหนึ่งในนั้น ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อทำรายงาน โดยสถาบันพระปกเกล้ามีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างรายงานฯ จำนวน ๑๓ ท่าน มีผมเป็นหนึ่งในนั้น กรรมการชุดนี้มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมและยกร่างรายงานพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกพื้นที่
ผมอยากจะเรียนว่าสิ่งที่เราทำมานั้น มีทั้งการศึกษาจากเอกสาร การสัมภาษณ์พูดคุย การสนทนากลุ่ม การรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ยุติธรรม สาธารณสุข การศึกษา และนักวิชาการ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน นักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น โต๊ะอิหม่าม กรรมการอิสลามประจำจังหวัด เจ้าอาวาส ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด นักศึกษามหาวิทยาลัย คณาจารย์และนักเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและสถาบันปอเนาะ ชุมชนชายฝั่ง ประมงพื้นบ้าน ชุมชนไทยพุทธและมุสลิม โดยลงพื้นที่ทั้งจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลา จำนวน ๑๑ ครั้ง รวม ๕๒ วัน เป็นการสัมภาษณ์พูดคุยกับบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ ๕๔ ท่าน สนทนากลุ่ม ๒๘ ครั้ง มีผู้เข้าร่วม ๒๗๓ คน และรับฟังความคิดเห็นโดยการเปิดเวที เอกสารทางไปรษณีย์ ซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษา ๔ ส.(พวกเราหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข เรียกตัวเองว่าเป็นพวก ๔ ส.ครับ) มีเยาวชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคมด้วย เราก็คิดว่าสิ่งที่เราทำมานั้นก็คงมีอะไรดีๆบ้างแหละน่า….
เฉพาะในส่วนการประชุมพวกเราประชุมกันหลายครั้ง ใช้เวลาเก็บตัวนั่งจัดทำรายงานกันหามรุ่งหามค่ำ พอเดินทางเข้าถึงที่พักในแต่ละครั้ง เอาของเก็บแล้วเข้าห้องประชุมกันเลย เย็นทานข้าวเสร็จก็ประชุมกันสามทุ่มจึงแยกย้ายกันไปพักผ่อน เช้าก็เริ่มกันแต่เช้า เที่ยง เย็น มีเวลาพักผ่อนกันเล็กน้อย ครั้นเช้าอีกวันหนึ่งก็เข้าห้องประชุมสรุปการทำงานในครั้งนั้น จากนั้นฝ่ายเลขาฯก็จะสรุปร่างรายงานฯให้พวกเราทราบทางอีเมล์ ใครมีข้อเสนอแนะอะไรก็แจ้งทางอีเมล์อีกรอบ
จนมาถึงขณะนี้ งานของเราเป็นรูปเป็นร่างแต่ยังไม่สมบูรณ์แบบทั้งหมด ได้ส่งให้คณะกรรมการยกร่างรายงานฯตรวจสอบ เสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ผมเห็นว่าหากเพื่อนพ้องน้องพี่ใน G2K จะได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ เพียงแต่อย่าแสดงความคิดเห็นโดยอคติและขอได้โปรดแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่สุภาพ อย่าใช้อารมณ์เท่านั้นเป็นพอครับ
ขอนำข้อเสนอแนะเป็นบทสรุปแล้วกันนะครับ ไม่เช่นนั้นจะยาวเฟื้อย
เราขอเสนอแนะทางการเมืองในเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องการตอบโจทย์สำคัญของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งแก้ไขที่รากเหง้าของปัญหาซึ่งเรามีความเชื่อว่า หากมีการดำเนินการตามข้อเสนอที่เป็นการใช้สันติวิธีเชิงรุกบนหลักการ “เปิดพื้นที่/มีส่วนร่วม/รับฟังเสียง/สร้างความเข้าใจ/สอดคล้องอัตลักษณ์และวิถีชีวิต” ทั้งหมดนี้แล้ว ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้น่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มาช่วยกันคิดนะครับว่าสิ่งที่เรานำเสนอนั้นมันจะเป็นผลดีหรือไม่
ปัญหาใจกลาง
คือการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนของขบวนการต่อสู้ที่ปาตานี ซึ่งมีกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนตและพูโลเป็นแกนหลัก ผสมกับกลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์แบ่งแยกดินแดนหากแต่ต้องการตอบโต้การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่กลุ่มรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ในเรื่องต่างๆ โดยมีประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบ
รากเหง้าของปัญหา
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอาการของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับมิติทางวัฒนธรรมซึ่งมีรากเหง้ามาจาก
ก.ความไม่เข้าใจกันอย่างแท้จริงของสองชาติพันธุ์ ไทยกับมลายูปาตานี ทำให้เกิดอคติลึกๆต่อกัน
ข.บาดแผลทางประวัติศาสตร์ของรัฐปัตตานีที่เคยรุ่งเรืองในอดีตแต่สูญเสียจากการกระทำของรัฐสยามในอดีต
ค.โครงสร้างการบริหารจัดการทางการปกครอง กฎหมาย นโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ยังมีบางส่วนไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ตลอดจนไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับที่สามารถสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริงและเท่าเทียม
ทั้งหมดนี้ทำให้คนมลายูปาตานีโดยเฉพาะกลุ่มใช้ความรุนแรงรู้สึกว่าไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยได้อย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี มีคุณคุณค่า ทุกฝ่ายจึงต้องตระหนักปัญหาใจกลางและรากเหง้าดังกล่าวนี้ นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของความรู้สึกว่าเขาได้รับความอยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันกับพลเมืองอื่นๆ
เราเห็นว่ามาตรการในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐต้องคำนึงถึงโจทย์สำคัญ ๒ ข้อที่เชื่อมโยงกับรากเหง้าของปัญหาดังกล่าว คือ
๑.ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนในพื้นที่รวมทั้งผู้ที่เห็นต่างจากรัฐได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนกิจกรรมหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง ผ่านโครงสร้างการบริหารจัดการทางการปกครอง กฎหมาย นโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่
๒.ทำอย่างไรที่รัฐ ประชาชนในสังคมใหญ่และในจังหวัดชายแดนใต้จะเกิดความเข้าใจยอมรับ เห็นคุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์อย่างเพียงพอไม่รู้สึกหวาดระแวงว่าความแตกต่างดังกล่าวจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของตน
กรอบคิดและทิศทางการแก้ปัญหา
การแก้ไขปัญหาต้องอยู่ในกรอบ “สันติวิธีโดยใช้การเมืองนำการทหารอย่างแท้จริง” สันติวิธีมิได้ปฏิเสธการใช้การทหารแต่ต้องใช้อย่างจำกัดภายใต้หลักนิติธรรมในลักษณะควบคุมความรุนแรงมิให้ขยายตัวและต้องสนับสนุนและตอบสนองต่อเป้าหมายของงานการเมืองเท่านั้น โดยนอกจากจะใช้งานการเมืองในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่แล้วรัฐยังจำเป็นต้องใช้งานการเมืองในเชิงรุกต่อกลุ่มขบวนการที่ไม่ใช่แค่ยันในทางยุทธการเท่านั้นด้วย
ข้อเสนอแนะงานการเมืองเชิงรุก
ข้อเสนอแนะต่อไปนี้เป็นการใช้งานการเมืองเชิงรุกสู่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยั่งยืนบนหลักการ “เปิดพื้นที่/มีส่วนร่วม-รับฟังเสียง-สร้างความเข้าใจ-สอดคล้องอัตลักษณ์”
๑.จัดการพูดคุยเพื่อสันติภาพ (Peace Talk) กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเพื่อทำความเข้าใจและหาทางออกที่เป็นไปได้ร่วมกัน แต่ไม่ใช่การเจรจาต่อรอง (Negotiation) เพื่อยุติความสูญเสียของทุกฝ่ายให้เร็วที่สุด
๒.ร่วมกันสร้างเครือข่ายสันติภาพชายแดนใต้ (Peace Net) ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างความเข้มแข็งแก่ภาคประชาสังคมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่
๓.กำหนดยุทธศาสตร์ในการสื่อสารสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างคนในสังคมใหญ่กับในพื้นที่ในการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนความหลากหลายภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม
๔.ส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาการจัดการบริหารปกครองที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมในพื้นที่และเอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนตามกรอบรัฐธรรมนูญ
๕.ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศาลศาสนาอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกในสำนักงานศาลยุติธรรมไทย
๖.ส่งเสริมการใช้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงานควบคู่ไปกับภาษาไทย
๗.ส่งเสริมการศึกษาข้อดีและข้อจำกัดของการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับได้ของทั้งฝ่ายความมั่นคงและประชาชนในพื้นที่
ข้อเสนอที่ ๑ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปิดประตูไปสู่สันติภาพ ข้อเสนอที่ ๒ เป็นข้อเสนอเชิงกระบวนการเพื่อให้มีกลไกเชื่อมถึงฐานรากในการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชน ข้อเสนอที่ ๓ เพื่อเน้นสร้างความเข้าใจกับสังคมใหญ่ให้เห็นประโยชน์ของสันติวิธีและเห็นแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งเราถือเป็นข้อเสนอหลักทั้งสามข้อ ส่วนข้อ ๔-๗ เป็นข้อเสนอรองที่เห็นควรสนับสนุนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อทำให้คนมลายูปาตานีรู้สึกว่ารัฐและสังคมใหญ่ยอมรับและเห็นคุณค่าในตัวตนของเขาอย่างจริงจังและจริงใจ
(ขอบคุณข้อมูลจากคุณเมธัส อนุวัตรอุดม นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้าและคณะกรรมการและอนุกรรมการยกร่างรายงานข้อเสนอการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้)
« « Prev : เมื่อผมไปเป็นกรรมการยกร่างรายงานแก้ไขสถานการณ์ภาคใต้๒.
Next : จำลองสถานการณ์ประเทศไทย๑ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "เมื่อผมไปเป็นกรรมการยกร่างรายงานแก้ไขสถานการณ์ภาคใต้๓."