อนาคตชาติไทย ๒๐ ปีจากนี้…ไม่ต้องเป็นโหรก็ทำนายได้แม่น
อนาคตชาติไทย ๒๐ ปีจากนี้…ไม่ต้องเป็นโหรก็ทำนายได้แม่น
ผมขอทำนายว่า ถ้าเราไม่ออกแรงทำอะไรเลยเพื่อเบี่ยงเบนทิศทางที่สังคมไทยกำลังพุ่งทะยานไปในวันนี้ ..สังคมไทยอีก ๒๐ ปีจากนี้จะมีลักษณะดังนี้คือ
- 1. ชนบทจะว่างเปล่า เพราะคนในชนบทจะอพยพไปขายแรงงานเป็นขี้ข้าเขาในนิคมอุตสาหกรรมริมทะเลและปริมณฑลกันหมด
- 2. จากที่เคยมีบ้านหลังใหญ่ ที่ดิน ๑๐ ไร่ เป็นเจ้าของกิจการ จะกลายไปเป็นลูกจ้างเขา อยู่ห้องเช่าเท่ารูหนู ซื้ออาหารถุงกินทุกวัน ท่ามกลางน้ำครำเน่าเหม็น
- 3. ชีวิตของคนงานส่วนใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมก็จะเหมือนเดิมๆ คือ ค่าแรงต่ำ
คุณภาพชีวิตต่ำ - 4. นายทุนจะกว้านซื้อที่ดินในชนบทเสียหมดในราคาต่ำ (เพราะเกษตรกรทิ้งไร่นา
หมดสิ้น) แล้วจัดทำเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องจักรทุ่นแรง วิถีชีวิตอันสวยงามในอดีตที่พึ่งตนเอง จะหายไปหมดสิ้น กลายเป็นพึ่งเครื่องจักร พึ่งทุน เงินกู้สารพัดประชานิยมจากนักการเมืองที่หวังคะแนนเสียง - 5. พอเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (ซึ่งขอทำนายด้วยว่ามันจะเกิดขึ้นแน่ๆ เป็นระลอก) พวกนายทุนต่างชาติถอนทุนหมด แล้วพวกพนักงานลูกจ้างที่หลงโง่ไปแล้ว ที่แสนหิวโหยจะไปปล้นเอาที่ดินคืน เกิดโกลาหลทั่วทุกหย่อมหญ้า แผ่นดินจะ “ลุกเป็นไฟ” (ไม่ใช่ในแนวคิดแต่ไฟจริงๆที่จับต้องได้)
- 6. ดังนั้นก่อนยุบสภา หรือ หมดวาระรัฐบาล ผมใคร่ขอเสนอให้ฉวยโอกาสออก. “พรบ. เพื่อความมั่นคงแห่งฐานรากของสังคมไทย” เพราะถ้าไม่รีบทำและปล่อยให้สังคมดำเนินไปแบบนี้ผมเชื่อว่าสังคมไทยจะพังครืนในเวลาไม่นานเกินกว่า ๒๐ ปี ชาติไทยเราอาจไม่มีโอกาสนี้อีกแล้ว
ขอวิงวอนมายังท่านสส. สว. ผู้รักชาติทั้งหลาย โปรดเข้าชื่อกันเสนอพรบ.นี้ด้วยเถิด เพราะรอให้รัฐบาลทำคงไม่ไหวแล้ว เพราะรัฐบาลตอนนี้ (และทุกตอนที่ผ่านมาในรอบ ๔๐ ปี) เล่นแต่การเมืองจนมองไม่เห็นหัวประชาชนแล้ว อย่าว่าแต่อนาคตของชาติอีก ๒๐ ปี
พรบ. ที่เสนอนี้จะประกันว่าจะมีองค์กรรับผิดชอบ และจะมีงบประมาณผูกพันเป็นเวลาประมาณ
๒๐ ปี หลักการของพรบ.คือ
1) จัดตั้งโรงงานเกษตรอุตสาหกรรมในทุกพื้นที่อบต. โดยโรงงานนี้ต้องมีขนาดที่ใช้
กำลังคนงานอย่างน้อย 5% ของประชากรในพื้นที่
2) ทุนที่ใช้ในการจัดตั้งนี้ให้ระดมมาจากประชาชนในตำบล อำเภอ หรือ จังหวัดนั้นๆ
โดยรัฐบาลจะปล่อยกู้แบบดอกเบี้ยต่ำเท่าอัตราเงินเฟ้อเป็นเวลา ๒๐ ปี โดยยอดกู้นี้คิดตามสัดส่วนประชากร
3) ใช้ระบบแบ่งปันผลกำไรตามยอดการลงทุน ทั้งนี้แรงงานทุกคนก็ให้มีส่วนเป็นเจ้า
ของโรงงานด้วย สัดส่วนตามที่กฎหมายกำหนด (นี่จะเป็นการเอาข้อดีของทุนนิยมมาผสมกับ
ระบบคอมมูนของคอมมิวนิสต์)
4) ให้มีหน่วยงานกลางระดับสำนักงานแห่งชาติ เพื่อกำกับดูแลกิจการนี้ และมีงบ
ประมาณผูกพันปีละ 10% ของงบประมาณ เป็นเวลา ๒๐ ปี หน่วยงานต้องดูแลให้มีการผลิตที่
สมดุล ไม่ซ้ำซ้อนกันมากเกินไป มีเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม และต้องหาตลาดรองรับ
การผลิตด้วย
5) จัดให้มีร้านค้าปลีก (ห้างสรรพสินค้า) ขนาดใหญ่ในทุก อบต. เป็นอย่างน้อย โดย
ร้านค้านี้ใช้นโยบายการก่อตั้ง การบริหาร เช่นเดียวกับโรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าว นอกจากนี้
จัดให้มีโกดังและระบบรับส่งสินค้าร่วมกันเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อระบายสินค้าซึ่งกันและ
กัน ที่เหลือส่งขายต่างประเทศ (ร้านค้านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เงินไทยไหลออกนอกผ่านร้าน
ค้าปลีกรายใหญ่จากต่างชาติเสียหมด ยังช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจในประเทศ และสร้างงานเพิ่ม
ขึ้นอีกด้วย)
6) โรงงานอื่นใดนอกจากนี้ ที่จะก่อตั้งในพื้นที่ใดทั่วประเทศจะต้องวิเคราะห์ว่าใน
พื้นที่ “อำเภอ” นั้นมีแรงงานคนในอำเภอรองรับได้เพียงพอ (วิธีนี้จะบังคับโดยปริยายให้โรง
งานขยายออกมาสู่ชนบท เพราะ “ระยอง” ไม่มีแรงงานในพื้นที่รองรับแล้ว ซึ่งจะช่วยกระจาย
ความเจริญไปสู่ชนบทโดยปริยาย คนทำงานไม่ต้องทิ้งถิ่นอีกด้วย)
หากใช้วิธี “สามประสาน” แบบที่ว่านี้สังคมไทยในชนบทจะเข้มแข็ง มีรายได้ดี มีคุณภาพชีวิตที่
ดี ประชาชนไม่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ไปขายแรงงานที่อื่นห่างไกล ชาติไทยเราจะมีรายได้
ประชาชาติเพิ่มอีก 10 เท่า จากการที่เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรก่อนส่งออกไปขายตปท.
แบบดิบๆเหมือนที่ผ่านมา รัฐก็จะมีรายได้จากการเก็บภาษีมากขึ้นประมาณ 20 เท่า (ไม่ใช่
10 เท่านะ) ก็รวยกันหมดทุกฝ่าย เงินลงทุน 10% เป็นเวลา 20 ปีกลายเป็นขี้ปะติ๋วไปเลย
ทางเลือกอื่นคือล่มสลายตามที่ทำนาย หากไม่เชื่อก็คอยดู และรอรับคำสาปแช่งจากลูกหลาน
ในอนาคตได้เลย
…ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓)
« « Prev : ขอม สยาม เขมร …ทฤษฎีใหม่
Next : ขอมสยามเขมร..(๒)..หลักฐานเพิ่มเติม » »
2 ความคิดเห็น
มันต้องใช้เวลาถึง ๒๐ ปีเทียวหรือคะอาจารย์เบิิร์ดว่าตอนนี้ก็ละม้ายๆคำทำนายแล้วนา
โรงงานเกษตรอุตสาหกรรมคือการทำให้เราเป็น NAIC (New Agriculture Industrialized Country) ??
เห็นด้วยว่าเราควรเพิ่มมูลค่าการผลิต ยกตัวเองจากผู้ผลิตขั้นต้นให้กลายเป็นผู้แปรรูป ตามพรบ.ของอาจารย์ครอบคลุมการกระจายสินค้าและการขนส่ง แต่มีความจำเป็นในการจัดโซนนิ่งด้วยหรือเปล่าคะ เบิร์ดนึกถึงโอทอปของเราที่มีน้ำพริกมากมายซ้ำๆ ข้าวเกรียบ ผลไม้แช่อิ่ม สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน ฯลฯ โดยขาดความหลากหลายน่ะค่ะ
การมี”หน่วยงานกลางดูแล” ร่วมนั้นมันจะได้ผลดีเหรอคะ เพราะที่ผ่านมาเรามี”หน่วยงาน”มากเกินพอเลยนะคะ
หน่วยงานกลางต้องมีครับ ไม่งั้นก็จะเป็นน้ำพริก เสื่อกระจูด ซ้ำๆ หน่วยงานนี้ต้องจัดการให้เกิดบูรณาการสินค้า (เสริมกันไม่ใช่ซ้ำกันมากไป) และต้องหาตลาด หาเทคโนโลยีมาช่วย ครับ
หน่วยงานกลางนั้นผมว่ามันดีที่สุด เสียแต่ว่าที่ผ่านมามันบริหารด้วยคนที่มักไม่ค่อยดี ไปจนถึงเลวที่สุด