ทำไมไทยไม่เจริญเท่าฝรั่ง (๑)

โดย withwit เมื่อ 23 January 2011 เวลา 10:15 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2121

ทำไมไทยไม่เจริญเท่าฝรั่ง (๑)

(บทความเก่าเขียนไว้นานปีที่เอามาปัดฝุ่นเสนอใหม่ในลานปัญญา)

 

ผมแสวงหาคำตอบต่อคำถามที่ว่า “ทำไมไทยไม่เจริญเท่าฝรั่ง” มานานโขตั้งแต่พศ. ๒๕๑๓ เมื่ออายุได้ ๑๕ กระมัง บัดนี้พศ. ๒๕๔๕  ผมมาฉุกคิดว่า ก่อนอื่นต้องกำหนดกติกากันก่อนว่าคำว่า “เจริญ”  หมายความว่าอะไร มองจากมุมมองไหน ของใคร ซึ่งอย่าคิดว่าเรื่องนี้มันง่ายนะ ผมว่ายากที่สุดด้วยซ้ำไป และถามต่อว่าคำว่าเจริญยังไม่รู้ว่าคืออะไรแน่ แล้วจะไปลงแรงพัฒนาให้ “เจริญ” มันก็น่าหวาดเสียวอยู่นะ เหมือนคนตาบอดจากเชียงแสนจะไปเกาะสมุยโดยสัญญาว่าจะไม่ถามทางใคร แต่จะคลำทางไปเอง

 

…แต่เอาละเรื่องหนักๆขอละไว้ก่อน เอาง่ายๆแบบไทยไทยเราก่อนก็แล้วกัน ถ้าเอากันลวกๆ..แบบนี้ ผมว่า ที่ฝรั่งเจริญกว่าไทยเรานั้นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งเพราะเขามี “ความกล้า” มากกว่าเรา

 

ที่ว่ากล้านี้หมายถึง กล้าที่จะเรียนรู้ กล้าที่จะแสวงหา  กล้าถาม นะครับ ไม่ได้หมายถึงกล้าสงคราม (ซึ่งเรื่องนี้ผมว่าคนไทยเราบ้าบิ่นกว่าฝรั่ง เพราะฝรั่งกลัวตาย ใส่เสื้อเกราะหนาเตอะ แต่คนไทยถอดเสื้อรบกัน)

 

ผมเห็นว่าคนไทยเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าที่จะรู้  เช่นสมัยเด็กๆ แค่เรียนในห้องเรียน เวลาสงสัย ไม่เข้าใจ ยังไม่กล้ายกมือถามครูเลย ส่วนนักเรียนฝรั่งเขาจะยกมือถามกันมาก เพียงแค่นี้มันก็มีผลมหาศาล เพราะการช่างซัก ช่างถามเป็นการเปิดประตูไปสู่อะไรอีกร้อยแปดอย่าง

 

ผมสรุปว่าการที่เด็กไม่กล้า มีสาเหตุมาจากครูไม่กล้านั่นเอง มันเป็นเรื่องแม่ปู ลูกปู ง่ายๆนี่เอง

 

ครั้งหนึ่งผมเข้าประชุมผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ด๊อกเตอร์ 200 กว่าคน แปรสภาพกลายมาเป็นนักเรียน ให้ดร. ที่เก่งและแก่มากที่สุดคนหนึ่งเป็นวิทยากร ท่านวิทยากรได้พูดคำศัพท์ย่อคำหนึ่งเป็นภาษาปะกิดซ้ำๆอยู่นั่นแหละ จนในที่สุดผมทนไม่ไหว ก็ยกมือถามท่านว่า “คำนี้ย่อมาจากอะไรขอรับ และมีความหมายว่ากระไร” 

 

ปรากฏว่าท่านวิทยากรคิดอยู่นาน แต่ตอบไม่ได้  ในที่สุดท่านแก้สถานการณ์ด้วยการรับปากว่า “แล้วจะไปค้นมาให้” 2 วันต่อมาท่านก็สำเนาความหมายส่งมาให้ผมเสีย 3 หน้ากระดาษ

 

ผมรับรองได้เลยว่าผู้ฟังทุกคนก็ไม่รู้หรอกว่าย่อมาจากอะไร (ขนาดครูที่พูดติดปากมานานยังไม่รู้เลย)  แต่ไม่กล้าถาม กลัวเสียฟอร์มว่าไม่รู้คำย่อภาษาอังกฤษ (ที่คนอื่นๆทุกคนเขาคงรู้ก้นดีหมดแล้ว)

 

ทำให้ต้องถามด้วยความกล้าหาญต่อไปว่า ทำไมฝรั่งกล้าในสิ่งที่เรากลัว

 

ผมเชื่อว่าเป็นเพราะสังคมฝรั่งเป็นสังคมที่มีลักษณะปัจเจกชนนิยม (individualism) ซึ่งค่อยๆพัฒนามาหลายร้อยปี ผิดกับสังคมไทยที่มีลักษณะกลุ่มนิยม ลักษณะปัจเจกฯนี้นักสังคมวิทยาไทยมักเข้าใจกันว่าเป็นลักษณะของ “ตัวใครตัวมัน” “เห็นแก่ตัว” ซึ่งผมว่าก็ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกเสียหมด ถ้ามองในแง่ดีลักษณะนี้นำมาซึ่ง “การพึ่งตนเอง”(มากกว่าพึ่งกลุ่ม)  ก่อให้เกิด “ความมั่นใจในตนเอง”

 

เมื่อต้องพึ่งตนเอง เขาก็เลยต้องรู้ให้มากพอ(ที่จะพึ่งตนเองได้)  ก็เลยต้องขวนขวายด้วยการกล้าถาม ส่วนของเรา..ไม่เป็นไร ถ้าไม่ถาม ไม่รู้ ก็ยังมีพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน ช่วยกัน ในลักษณะแบบอิงกลุ่ม ยังไงก็คงไม่อดตายหรอก

 

ลองสังเกตดูสิเวลาฝรั่งเที่ยวมักนิยมเที่ยวคนเดียวหรือสองคน ส่วนไทยเราขนกันไปโขยง ไม่งั้นไม่สนุก เรื่องเที่ยวคนเดียวนี้คนไทยทำไม่ได้จริงๆ ส่วนผมมักตะแบงไปเสียหมดทุกเรื่องแหละ ไปคนเดียวรอบประเทศไทยมาหลายครั้งแล้ว ไปคนเดียวก็มีเวลามาก ก็เลยได้สังเกตเห็นแหม่มฝรั่งเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยคนเดียวจำนวนมาก บางคนไปมาหลายประเทศมาแล้วด้วย บางคนสาวสวยขนาดนางแบบก็มี แต่(กล้า)มาคนเดียว ไม่ต้องพูดถึงพวกผู้ชายที่มาคนเดียวก็ยิ่งมีจำนวนมากกว่าเสียอีก

 

การแยกออกจากกลุ่มมาอยู่คนเดียวเสียบ้างจะทำให้เราเรียนรู้ได้มาก เพราะมีเวลาคิดมากกว่าเวลาพูดเจื้อยแจ้วกับหมู่คณะ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ทำการปลีกวิเวก เพราะมีอานิสงส์ยิ่ง

 

แม้นักวิทยาศาสตร์เอกที่คิดค้นศาสตร์และวิทยาการทั้งหลายให้เป็นสมบัติโลกทุกวันนี้ ต่างคิดค้นได้หลังจากปลีกวิเวกในห้องทดลอง กองหนังสือ เป็นเวลาหลายปีด้วยกันทั้งสิ้น แต่อ่านแล้ว คิดแล้ว เขาไม่เชื่อตามนั้นเสมอไปถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพอ เขา “กล้า” ที่จะคิดแหกคอกออกไป …ส่วนของเราไม่กล้า เพราะกลัวเป็นการ “นอกคอก” “นอกครู”

 

พอเห็นป่าทึบ ขุนเขาตระหง่าน ต้นไม้ใหญ่ คนไทยเราต่างกราบไหว้ เจ้าป่าเจ้าเขาและรุกขเทวดา  เอาผ้าเหลือง

ไปผูก ส่วนฝรั่งอยากพิชิตให้ได้ด้วยการบุกป่า ปีนเขา ปีนต้นไม้

 

เมื่อเห็นแม่น้ำฝรั่งอยากสำรวจ ไปหาแหล่งต้นน้ำว่ามาจากไหน ส่วนไทยเราบูชาพระแม่คงคา ลอยกระทง

 

ผมไม่ได้กำลังบอกว่าใครดีเลวกว่ากันนะ เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าโลกทัศน์ฝรั่งกับไทยต่างกันมาก

 

ที่น่าขำคือฝรั่งที่ดูเหมือนว่าแสนกล้านั้นในขณะเดียวกันก็ช่างขี้ขลาดเหลือใจ เช่นมาเมืองไทยก็ไม่กล้ากินอาหาร ไม่กล้ากินน้ำ  เพราะกลัวไปหมด เช่นกลัวเชื้อโรค ว่าจะทำให้ท้องเสีย เป็นโรคอะไรร้อยแปดตามที่อ่านมาจากหนังสือนำเที่ยว ส่วนไทยเรานั้นกล้ากว่าฝรั่งร้อยเท่าในประเด็นพวกนี้ เช่น กล้าขายอาหารหน้าห้องส้วม ริมทางที่ฝุ่นปลิวว่อน กลางน้ำครำเฉอะแฉะที่เปี่ยมไปด้วยเชื้อโรค

 

..เออ มันก็กล้ากันคนละอย่างเนาะ เรากล้าโง่ ส่วนเขากล้าฉลาด (ซึ่งผมว่าเรากล้ามากกว่าเขานะ และถ้าเรากล้าที่จะผันความกล้าเชิงลบให้มาเป็นความกล้าเชิงบวกเมื่อไร เราคงไปโรจน์ (โลด) แน่ๆ)

 

…ทวิช จ (๒๓ มกราคม ๒๕๕๔)

 

ปล. วันนี้ ๒๓ มค. ๕๔ ผมเขียนไว้ได้ประมาณ ๓๐ ตอนแล้ว ถ้าไม่ลืมหรือเบื่อเสียก่อน ผมจะทยอยลงให้ครบนะครับ เอาเป็นว่าทุกวันอาทิตย์ก็แล้วกันนะครับ

 

« « Prev : ข้อควรคิดก่อนไปเที่ยววังน้ำเขียว

Next : ลอกฝรั่ง..ระวังตาย (๑) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

8 ความคิดเห็น

  • #1 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 January 2011 เวลา 6:32 pm

    โอย..โพสต์มาตั้งนานแล้วไม่มีใคร กล้าถามสักปัญหาเลยหรือ :-) 

    ผมจำได้ว่าสมัยผมเรียนอยู่โรงเรียนนายเรือ เรียนวิศวะ ผมยกมือถามครูมากจริงๆ ทั้งที่รร.ทหารนั้นเขาเน้นการเชื่อฟัง ห้ามถามมากเรื่อง (ไม่รู้นศ.มหาลัยเขาจะถามากแบบผมไหม) จนผมแก่อายุ 40 ครูที่สอนผมอายุ 65 วันหนึ่งท่านไปค้นหาเบอร์โทรผมมา แล้วโทรมาถึงผม ผมตกใจมากเลยที่ท่านคิดถึงลูกศิษย์ปานนั้น เข้าใจว่าท่านเกษียณแล้วมีเวลามากท่านเลยโทรไปหาคนที่ท่านคิดถึง ท่านเล่าว่าจำได้ไหมคุณถามปัญหาผมมากเลย รวมทั้งไปถามผมว่าข้อสอบผิดหรือเปล่า ซึ่งมันผิดจริงๆตามที่คุณถาม

    พอผมไปเรียนเมืองนอก วันแรก วิชาแรก ฝรั่งเต็มห้องสัก 100 คนเห็นจะได้ (วิชาป.โท เอก) ผมก็ยกมือถามอาจารย์ฝรั่ง  ซึ่งเป็นคนที่โด่งดังทั่วโลก เพราะตำราที่ท่านเขียนนั้น พิมพ์โดย mcgrawhill ยังใช้กันกว้างขวางจนวันนี้ ทั้งที่ภาษาเราก็ยังกระเหรี่ยงมากๆ ใจสั่นผับๆว่าเราจะปล่อยไก่ไหมหวา    ผมถามว่าสิ่งที่ท่านเขียนบนกระดาน สูตรการคำนวณ ว่ามันแปลกๆ นะ  ปรากฎว่าท่านเขียนผิดจริงๆด้วย จากนั้นผมก็ถามเป็นระยะๆ จนท่านจำชื่อผมแม่นที่สุด (ทั้งที่ยาวเป็นวา) สามปีหลังจากนั้นท่านไปกินอาหารไทยที่ร้านหนึ่งที่ผมกับเพื่อนสองคนเล่นดนตรีไทย duo ด้วยกันอยู่ ผมไปสวัสดีท่าน ท่านทักผมด้วยชื่อท้าย (จิตรสมบูรณ์) อย่างชัดเจน

    วันนี้ผมก็ยังไม่ทิ้งความเป็น “ลูกอีช่างถาม” เหมือนเดิม โดยเฉพาะคำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม”  แต่ผมไม่รอให้ใครตอบอีกแล้ว ไปหาคำตอบเอาเองดีกว่า สนุกดี พอคิดว่าหาเจอแล้วก็เอามาเล่าต่อ เพราะคิดว่ามันอาจมีประโยชน์บ้าง ส่วนใครจะโยนเศษสตางค์ให้บ้างเหมือนนักดนตรีริมทางผมก็คงไม่โยนมันทิ้งหรอก 

  • #2 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 January 2011 เวลา 7:12 pm

    อิอิอิ อาจารย์เหงาล่ะสิคะ มะมาคุยกับเบิร์ดต่อ (เสาร์-อาทิตย์ติดงานรพ.ที่ทำไม่เสร็จเลยหายหัวและตัวไป)

    เราวัด”ความเจริญ”จากอะไรล่ะคะ เทคโนโลยี่ ?

    เบิร์ดเห็นด้วยในหลายๆอย่างที่อาจารย์กล่าวมาถึงความเชื่อโชคลาง เทวดาผีสาง ว่า”อาจ”เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่กล้า แต่ก็ยังค้านอยู่ในหลายอย่างว่ามันมีส่วนทำให้เรา”รักษา”พื้นที่บางส่วนไว้ต่อๆมาได้เหมือนกันค่ะ

    คุณลักษณะประจำชาติหรือคุณลักษณะประจำตัวมันมีทั้งสองด้าน คือ”คุณและโทษ”นะคะอาจารย์  เช่นอังกฤษมีคุณลักษณะที่คนทั่วโลกให้นิยามว่า”ผู้ดี” (ซึ่งเป็นคุณ) แต่ก็ใช้ความเป็น”ผู้ดี”ไปเบียดบัง กดขี่ประเทศราช เพื่อหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ

    คนไทยเราถูกสอนให้เชื่อและยอมตาม เพราะอะไรคะ ? …ง่ายต่อการปกครอง ?

    เด็กไทยถูกผลิตด้วยความเชื่อว่าควรสุภาพ เรียบร้อย เป็นฝ่ายรับ คอยยอมตามมากี่ทศวรรษแล้วล่ะคะ (และมาจากใคร?)

    เบิร์ดว่าความสุภาพเรียบร้อย นบนอบ อ่อนน้อมก็ไม่ใช่คุณลักษณะที่แย่จนเกินไป เพียงแต่อาจต้องมีรายละเอียดเพิ่มในการพัฒนาว่าต้องการแบบไหน
    1. แบบให้สมยอมตลอดไปต่อ”ผู้มีอำนาจ”ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งพ่อ แม่ ครูอาจารย์ ราชการหรือสส.?
    2. แบบโอบอ้อมอารี ที่ทุกคนยอมรับ เคารพ นับถือซึ่งกันและกัน

    การขายสิ่งของในที่ไม่ควร การไม่รักษาระเบียบวินัย ฯลฯ สำหรับเบิร์ดไม่คิดว่านั่นคือความกล้านะคะ แต่มันน่าจะเป็นคุณลักษณะอื่นมากกว่า เช่นมักง่าย ฯลฯ แต่หรือจะเป็นอย่างที่อาจารย์กล่าว กล้าในสิ่งที่โง่จริงๆ !!!

  • #3 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 January 2011 เวลา 7:51 pm

    เรียนคุณน้ำฟ้าฯ

    ผมเองนั้นไม่ได้ด่าสังคมไทยเสมอ แต่ชมก็มาก (ประมาณสัก 30% กระมัง) ส่วนฝรั่งนั้นผมชมประมาณ 15% เห็นจะได้ แต่นั่นแหละเรามันคนไม่เข้าข้างตนเอง มักด่าตัวเอง และชมคนอื่นไว้ก่อนเสมอ (ตามมารยาทสังคมไทยที่ได้รับการสอนมา)

    ท่านคึกฤทธิ์ว่า คนไทยเราเสมือนน้ำ ไหลไปได้เรื่อย และจัดตัวให้เข้ากับภาชนะได้เสมอ ผมก็ว่าใช่นะ แต่มันน้ำเน่าต่างหากล่ะ :-)

    แล้วไม่ถามบ้างหรือว่าไหลไปสู่หนไหน  ใครกำหนดทิศทางการไหล แล้วใครเอาภาชนะมาหุ้มเราไว้ให้เป็นรูปร่างดังว่า

    คนไทยไม่ถาม ยอมตามไปเรื่อย นี่เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง ในตัวเอง

    ถ้าเรามีผู้นำที่เก่งดีมีวิสัยทัศน์ (เก่งดีเฉยๆอาจไม่พอ เช่น เก่งคณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์จนได้รางวัลโนเบล และดีแบบผ้าพับไว้ แต่คิดเชื่อมโยงมาสู่ภาคสังคมและจิตวิญญาณไม่ได้ก็อาจยิ่งแย่ ดังนั้นผมเติมคำว่า วิสัยทัศน์ไปด้วย) แล้วมีประชาชนเชื่องๆ ไม่มากเรื่องมากความ ตอดนิดตอดหน่อย (แบบเอามัน เพื่อเอาชนะคะคาน) ผมว่าสังคมไทยไปโรจน์แน่ นี่เป็นทางลัดของการพัฒนาสังคม ที่ดูเหมือนว่าเคยเกิดขึ้นแล้วครั้งเดียวในโลก คือสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

    การเอาผ้าเหลืองไปผูกต้นไม้นั้น ความจริงผมเห็นด้วยนะ เป็นนวัตกรรมทางวัฒนธรรมที่วิวิเศษมาก แต่เวลาเขียนมันกลายเป็นว่าผมไม่เห็นด้วยไปฉิบ ธรรมดาของการสื่อสารที่มีข้อจำกัดครับ

    ขอบคุณคุณน้ำฟ้าฯที่มาเป็นเพื่อนคุยช่วยแก้เหงาในยามนี้ :-) นิสัยผมแต่โบราณคือถ้าอยู่ท่ามกลางงานเลี้ยงอึกทึกผมมักเหงา แต่ถ้าอยู่คนเดียวแล้วจะรื่นเริงบันเทิงใจมาก สงสัยชาติก่อนเป็นนักโทษขังเดี่ยว หรือไม่ก็ฤาษี

  • #4 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 January 2011 เวลา 8:21 pm

    เบิร์ดเคยแต่งชุดไทย (คือผ้าถุงและเสื้อคอกระเช้า มันหาง่ายดีและคิดว่าใช่มากกว่าทรงชฎา ห่มสไบและผ้าถุงดิ้นทอง) เดินแว้บๆตามต้นไม้ตอนเที่ยงคืน(ซึ่งธรรมดาหลับแล้ว) กะเอาช่วงที่ชาวบ้านกลับจากเที่ยวงานวัด… และตอนเช้าให้เพื่อนเอาผ้าไปผูก บอกว่า”เห็น”นางตะเคียน …เพื่อรักษาต้นตะเคียนใหญ่ขนาดหกคนโอบ (มั้งคะ มันนานแล้วจำไม่ได้ชัด) อายุร้อยกว่าปี ทั้งสองต้นไม่ให้โดนตัดเพราะจะขยายถนนผ่านหมู่บ้าน…ได้ผลเชียวล่ะค่ะ ตอนนี้เป็นศาลใหญ่เป้ง แถมต้นไม้ใกล้ๆนั้นรอดหมดเลย อิอิอิ

    ตอนทำอาหารปลอดภัยก็เหมือนกันค่ะ ช่วงแรกใช้ทุกทางในการโน้มน้าว โดยเฉพาะเรื่องบุญกุศล (ซึ่งคู่กับ”รายได้”ในตลาดที่รับซื้อแน่นอน คือรพ.เราเองนะคะ ห้าๆๆๆ)

    มันอยู่ที่เราจะเลือกใช้ และมีแนวทางชัดเจนอย่างที่อาจารย์กล่าวมานั่นแหละค่ะ ซึ่งการจะล่อลวง เอ้ย ชักนำได้ผู้นำควรมีบารมี(ซึ่งไม่ใช่ความหมายของอำนาจ) และวิสัยทัศน์ดังที่อาจารย์กล่าวมา  (ว่าแต่มันแปลว่าอะไรคะ อันนี้สงสัยจริงๆไม่ได้กวนนะคะ เพราะเบิร์ดว่ามันเข้าใจให้ตรงกันยาก)

  • #5 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 January 2011 เวลา 9:10 pm

    สงสัยว่าสมัยโน้นคำว่า “เจริญ” จะมาจากการไม่เหมือนใครในยุคนั้นนะคะ จำได้ว่าอ่านนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน ของอาจารย์คึกฤทธิ์ แล้วมีเรื่อง “โก้” “เห่อ” เพราะเป็นของแปลก ของแปลกแปลว่า ไม่มีใครเหมือน???  ของใหม่ของแปลกได้มายาก

    อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องยากในสมัยก่อนโน้น คือ การเป็น “ผู้ดี”  ซึ่งเป็นอะไรที่ คนรวยสมัยก่อนกำหนดคุณสมบัติขึ้น เมื่อคนรวยเข้าถึงความทันสมัยของโลกตะวันตก ยิ่งทิ้งระยะห่างของการเข้าถึงและครอบครอง

    นิสัยคนไทยซึ่งกล้าบ้าบิ่น ชอบเอาชนะอะไรที่ยาก ก็เลยตั้งเป้าว่า ต้องเป็นเจ้าของให้ได้หรือเปล่า

    หลายอย่างที่เกิดขึ้นเป็นวิวัฒนาการของสังคม ดูเหมือนจะเป็นทำนองนี้ ความเจริญที่เป็นมาของเมืองไทย จึงเน้นไปที่วัตถุซะเลย

    อะไรๆที่เป็นวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องวัตถุทั้งนั้น ต้องพิสูจน์ได้ ภูมิปัญญาไทยที่รู้และเกิดปัญญาโดยสัญชาติญาน ทำให้ดูได้แต่อธิบายเป็นภาษาให้เหมือนตะวันตกไม่ได้ ก็เลยโดนดูถูกว่าล้าสมัย  ความนิยมไทยถูกนโยบายผสมกลมกลืนทางการปกครองละลายหายไป ทำให้แรงดูถูกนี้มีผลให้ผู้คนทิ้งภูมิปัญญาเดิมเพื่อแสดงความกล้า ความนิยมใหม่เข้ามาแทนที่ทีละนิดๆ จนกลายเป็นความเจริญแบบตะวันตกนำความคิดไปหมด ก็ด้วยการผสมกลมกลืนนี่กระมัง

    ตอนกล้าทำนั้น คงมีแต่คิดว่า ตัวเองฉลาด เพราะตอนนั้นคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจฝรั่ง ใครเข้าใจฝรั่งก็เป็นคนฉลาด เก่ง  ค่านิยมนี่พาคนหลงตัวจริงๆนะคะ 

    อย่างนี้จะเรียกว่า “กล้า” หรือ “ขี้ขลาด”  ก็คงต้องใช้ยุคหรือเวลาเข้าไปประกอบด้วย ก่อนสรุปมังค่ะ

  • #6 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 January 2011 เวลา 9:55 pm

    55 คุณน้ำฟ้าฯ แม่นางตะเคียน นี่เป็นการแสดงที่ต้องให้รางวัลตะเคียนทองเป็นรางวัลจริงๆด้วย นี่แสดงว่าคุณมี “วัสัยทัศน์” แล้วแหละ อย่ามาอำให้ผมแสดงวิสัยทัศน์มากไปกว่านี้เลย

    สำหรับที่คุณสาวตาว่ามานั้น เห็นด้วย และเห็นมานานแล้ว เพระผมสรุปมาแต่ประมาณ พศ. ๒๕๓๕ ว่าวิทยาศาสตร์คือความงมงายในเหตุผลซึ่งเหตุผลก็มีรากมาจากความเชื่อ จนวันนี้ก็มีหลายคนเชื่อว่า อินเตอร์เน็ตจะปฏิวัติโลก (ไปในทางที่ดีขึ้น..ยกเว้นผม จนเป็นเหตุหนึ่งให้ผมต้องมาเป็นทาสมันจนทุกวันนี้แหละ หุหุ)

  • #7 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 January 2011 เวลา 11:11 am

    เมื่อคืนอ่านแบบง่วงๆ
    และไม่เชิงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยทั้งหมด

    ส่วนหนึ่งเพราะ….มีคำ่ว่า “เจริญ” อยู่ในนามสกุล และเคยนึกถึงความหมายของคำนี้มาก่อนเมื่อยังอายุน้อยกว่านี้ หลังจากนั้นก็ทิ้งข้อสงสัยไปเมื่อตระหนักด้วยตัวเองว่า คำไม่ได้เปลี่ยนสถานะความเป็นบุคคล แต่บุคคลเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คงความหมายได้ตามที่เจ้าตัวตีความ

    สำหรับตัวเองแล้ว การเปลี่ยนแปลงนั้น ก็ขึ้นกับฐานและบริบทของบุคคล ถ้าฐานไม่แน่นแล้วสังคมไล่ลื่นไปทิศใด โอกาสของการเปลี่ยนเพื่อไหลลื่นไปจะสูงกว่าการขืนต้าน

    คำถามจึงมีว่า…ฐานที่มีอยู่ของแต่ละบุคคล…หนักแน่นในเรื่องแบบไหน
    ฝรั่ง(ตะวันตก) หมุนตาม ตะวัีนออก(ไทย?) หรือ ไทยหมุนตามตะวันตก…น่าสนใจค่ะ เพราะเมื่อเราอยู่ในโลกที่หมุนรอบตัวเอง เราจะบอกได้ไหมว่า…จุดกำเนิดของความคิดมันแบบบริสุทธิ์จากฝรั่งหรือไทยหรือชาติใดชาติหนึ่ง …ได้อย่างไร

    มีความคิดที่เรียกว่า..ความคิดที่มีต้นกำเนิดอันบริสุทธิ์ไม่ได้อิงแอบบนฐานคิดใดเลย…ได้หรือไม่

    …..บันทึกของอาจารย์แต่ละบันทึก ชวนให้ออกความเห็นนะคะ
    เป็นบล็อกที่กระตุ้นความกล้า(ที่จะให้ความเห็นตรงหรือไม่ตรงประเด็นก็คงไม่เป็นไร…ฮา)

  • #8 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 January 2011 เวลา 12:39 pm

    ดีครับแม่อุ๊ยสร้อย คนไทยต้องกล้ามากขึ้นกว่านี้ แต่ต้องคงความดีของเราไว้ด้วย คือความอ่อนน้อม แบบว่า แข็งแรงแต่ไม่แข็งกระด้างกระมังครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.19262790679932 sec
Sidebar: 0.10907602310181 sec