วันพระกับยุ้งข้าว

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 เวลา 20:18 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 5211

วันพระ……

คนเมืองทำอะไร

ทำอะไรก็ได้ที่ใจอยากจะทำ

หรือไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า วันพระนั้นคือวันไหน

……………..

เพราะวิถีเมืองรัดรุมเราจนหลงลืม…


วันพระ….

ชนบทแห่งนี้ ที่ยุ้งข้าวหลังเล็กๆนี้

คือที่บรรจุข้าวของเราที่เราใช้ชีวิตทั้งชีวิตหามาก็เพื่อชีวิตนั่นแหละ

เราเคารพแม่โพสพ เราเคารพข้าวทุกเมล็ด เราเคารพจิตวิญญาณ เราเคารพธรรมชาติ

เราเคารพคุณค่าข้าวที่ให้ชีวิต


เราขอมอบใบไม้นี้แทนดอกไม้ ธูปเทียน เคารพ แด่ข้าว คุณค่าของข้าวผู้ให้ชีวิตแก่พวกเรา

———————-

หมายเหตุ ทุกวันพระพี่น้องดงหลวงจะเอาดอกไม้ไปแสดงความคารวะ ต่อแม่โพสพที่ยุ้งข้าวเพื่อระลึกถึงคุณของข้าว.


ต้นหมี่..

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 พฤษภาคม 2009 เวลา 0:05 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 23386

เมื่อสัปดาห์ก่อนโครงการจัดงานวัน Field day แก่ผู้นำเกษตรกร ต.ดงหลวง ซึ่งเราพยายามให้บทบาทแก่ผู้นำได้เอาผลงานของตนเองมาเสนอในลักษณะเล่าสู่กันฟัง ซักถาม แลกเปลี่ยนกัน

ระหว่างนั้น ผู้นำเครือข่ายไทบรู ได้ขึ้นมาแนะนำกิจกรรมของเครือข่ายที่สนับสนุนให้ปลูกต้นไม้ และหันมาพึ่งพาตนเองกันให้มากๆ โดยลดรายจ่ายด้านต่างๆ อะไรที่ทำขึ้นเองได้ก็ทำ ไม่ต้องไปซื้อ แล้วผู้นำท่านนี้ก็นำตัวอย่างพืช และผลิตภัณฑ์ของกลุ่มออกมาแนะนำให้สมาชิกได้ทราบและให้กลับไปทำใช้เอง…..

มีสิ่งหนึ่งที่ผมสนใจมากคือ ผู้นำท่านนั้นแนะนำต้นไม้พื้นบ้านต้นหนึ่งคือ “ต้นหมี่” ซึ่งสามารถนำไปทำสบู่ ยาสระผม และเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลากหลาย เมื่อเสร็จงาน ผมไปสอบถามผู้นำท่านนั้นว่ามีตัวอย่างให้ผมดูไหม ท่านก็จูงมือผมไปดูต้นหมี่ หลังจากนั้นผมก็มาค้นข้อมูลคุณประโยชน์มากมายของพืชป่าต้นนี้ ดังนี้


ข้อมูลเบื้องต้น: เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 5-15 เมตร ชอบขึ้นบริเวณดินร่วนปนทราย ตามไร่ นา ป่า โคก เปลือกมีกลิ่นหอม ใบ เป็นใบเดี่ยว ผล เป็นผลเดี่ยว ผลสดรูปทรงกลม ออกเป็นพวง พวงละ 3-7 ผล ผลดิบสีเขียวจุดขาวมันวาว ผลสุกมีสีม่วงเข้มออกดำ เมล็ด เมล็ดสดรูปทรงกลม เนื้อเมล็ดแน่น สีขาวนวล หนึ่งผลมีหนึ่งเมล็ด ต้นหมี่สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีทางธรรมชาติได้ 2 วิธี คือ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและการงอกเป็นต้นกล้าจากรากของต้นเดิมที่แผ่ขยายออกไป


การใช้ประโยชน์ ส่วนต่าง ๆ ของต้นหมี่มีสรรพคุณทางยา คือ ราก นำมาใช้ตำทาแก้ ฝี หนอง ต้มกินแก้ท้องอืด แก้ท้องร่วง เป็นส่วนผสมยาเย็น ยาผง ยาแก้ซาง บางหมู่บ้านนำรากตากให้แห้ง แล้วดองกับเหล้าขาว แก้โรคเลือด เช่น ระดูมาไม่ปกติ ลมพิษ เป็นต้น เปลือก นำมาใช้ฝนทาแก้ฝี ผิวในของเปลือกสดอมแก้ปวดฟัน แก้ปากเหม็น ต้มอาบแก้ผดผื่น แก้ท้องอืด ใบ ใบสดใช้ฆ่าเหา ใช้ขยี้ทารักษาแผล กลากเกลื้อน แก้พิษแมงมุม แก้ท้องร่วง ท้องอืด นอกจากนั้นก็ใช้ ลำต้นใช้สร้างบ้านเรือน เผาถ่าน ทำฟืน ทำเขียง ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำด้ามมีด จอบ เสียม ขวาน ทำยุ้งใส่ข้าว และปลูกให้ร่มเงา เปลือกใช้ย้อมผ้า ย้อมแหให้ติดสี ผงเปลือกทำธูปจุดไล่แมลง ยางของต้นหมี่ ใช้ทาเครื่องจักสานให้หนา และทนทาน ใช้ดักแมลงตัวเล็กๆ ใช้ใบสดสระผม ใช้ตำผสมกับผลทำหัวเชื้อชีวภาพ ใช้บ่มกล้วยให้สุกเร็ว ใช้รองฝาปิดปากไหปลาร้ากันหนอน ดอก ของต้นหมี่สามารถนำมาตากแห้งอบน้ำหอม ประดิษฐ์เป็นของชำร่วย ผลสุก ใช้บีบหรือตำทาแก้โรคผิวหนัง หรือนำมาสระผมก็ได้


ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เด่นชัดที่สุด คือ ใช้ใบสดสระผม และใช้ส่วนต่าง ๆ ตามสรรพคุณทางยา
ด้านประเพณี ใช้ใบห่อข้าวต้มประกอบในพิธีบายศรีสู่ขวัญ ใช้แก่นทำช่อฟ้าอุโบสถ ด้านความเชื่อ มีการขูดเปลือกขอหวย ใช้ใบไล่ผี เวลาเดินทางไกลใช้เหน็บบั้นเอว จะทำให้หายจากอาการจุกเสียด เชื่อว่าคนท้องสระผมด้วยใบหมี่ผสมกับน้ำซาวข้าวแล้วจะช่วยให้คลอดลูกได้ง่าย ภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นให้ตระหนักถึงคุณค่าของต้นหมี่ คือ แชมพู ครีมนวด และสบู่เหลวล้างมือ..


ต้นหมี่กับวัฒนธรรมล้านนา….เทศกาลงานสงกรานต์

อุ๊ยแสงดาเล่าว่า “สมัยก่อน จะต้มใบหมี่ในหม้อดินก้นทรงกลม หรือเรียกว่า หม้อสาว จุน้ำสิบถึงยี่สิบลิตร เมื่อต้มแล้ว นำไปสระผมได้หลายๆ คน ขณะที่ต้มกลิ่นอายจากหม้อช่วยผสมให้น้ำเดือดช่วยให้กลิ่นใบหมี่อยู่ได้นาน เพราะความหนาแน่นของหม้อดินจะอมความร้อนได้นานนั้นเอง “

แม่อุ๊ยสอนว่า “ใบแก่ดีกว่าใบอ่อน เพราะกลิ่นหอมมากกว่า..เพียงเอาใบมาทุบแล้วแช่น้ำไว้นานๆ ก็จะมีกลิ่นหอมได้เช่นกันนำมาต้มไฟอ่อนพอน้ำเดือด กลิ่นหอมจะถูกความร้อนละลายออกมาทีละน้อยๆ ไม่ระเหยไปกับน้ำโดยไม่จำเป็น..”


จำนวน ใบที่นำมาต้ม ส่วนมากจะใช้ห้าใบขึ้นไป ปีใหม่เมืองเหนือหรือสงกรานต์ ผู้คนนิยมนำใบหมี่มาสระผมจนถือเป็นเคล็ดกันว่าปีหนึ่งขอให้ได้สระผมด้วยน้ำ ต้มใบหมี่ปีละหนึ่งครั้ง ในวันปีใหม่ ก็จะมีโชคคุ้มได้ทั้งปี

ว่าแต่ว่าสาวเหนือทั้งหลาย อุ้ยสร้อย อึ่งอ๊อบ ครูอึ่ง น้องเบิร์ด เคยสระผมด้วยหมี่หรือยังล่ะ หากเคยละก็เอาผมมาให้พ่อครู จอมป่วน อาเหลียง หอมหน่อยนะ อิอิ

(ข้อมูลจาก http://www.udif.or.th/paritusapril%2051/aal.html)


ลายเซ็น

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 พฤษภาคม 2009 เวลา 13:20 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 5130

หากท่านเข้าไปดงหลวง เพื่อสัมภาษณ์ชาวบ้าน ท่านจะต้องฉงน เพราะมีแต่นามสกุล เชื้อคำฮด ที่ตำบลพังแดง วงศ์กะโซ่และโซ่เมืองแซะที่ ตำบลดงหลวงอาจเรียกว่าร้อยละ 99 มีเพียง 2-3 นามสกุลนี้เท่านั้น

เมื่อเราเข้าไปทำงานใหม่ๆเราก็ ฉงน และสับสน เพราะพบบ่อยที่ไทโซ่มีชื่อและนามสกุลเหมือนกัน ลองเดาซิครับว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะแยกบุคคลนั้นได้ถูกต้องว่าหมายถึงคนนี้ คนนั้น.. คำตอบคือเราใช้สิ่งที่แตกต่างกันแน่นอนคือบ้านเลขที่ เพราะคงไม่มีใครที่ชื่อเหมือนกันและนามสกุลเหมือนกันอยู่ในครอบครัวเดียวกัน

ราษฎรไทยเชื้อสายโซ่ เป็นชนเผ่าที่มีภาษาเป็นของตนเอง อพยพมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตั้งแต่รัชการที่ 3 เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานหลายแห่ง โดยเลือกตั้งถิ่นฐานในเขตที่สูง เพราะวิถีเขานั้นพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากภูเขา โดยกายภาพแล้วการตั้งถิ่นฐานนี้อยู่ในตำแหน่งที่ห่างไกลศูนย์กลางความเจริญ อันเป็นเหตุให้ได้รับสวัสดิการของรัฐน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ

ยิ่งสมัยที่เมืองไทยเรามีการขัดแย้งกันทางความเห็นการปกครอง พื้นที่ดงหลวงอยู่ในเขตปลดปล่อย เป็นเวลายาวนาน การศึกษาก็ยิ่งห่างไกลออกไป หลังปี 2527 โดยประมาณ เขาทั้งหลายก็ลงมาจากภูเขาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายของประเทศไทย

ปัจจุบันการทำงานพัฒนาภายใต้กึ่งระบบราชการนั้นยังจำเป็นต้องอิงระบบ แม้ว่าจะขัดต่อวิถีทางการพัฒนาคนในหลายๆด้านก็ตาม เพราะโครงการนี้มีที่มาจากระบบราชการนั้นเอง


ทุกครั้งที่เรามีการประชุม สัมมนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ฯลฯ ที่ต้องอาศัยงบประมาณราชการก็ต้องมีหลักฐานลายเซ็นผู้เข้าร่วม อย่างน้อยที่สุดก็เท่ากับจำนวนที่ระบุไว้ในแผนงานที่เสนอของบประมาณนั้นๆ

ที่ดงหลวงเราต้องเตรียม Stamping Ink ทุกครั้งเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรผู้ที่ไม่สามารถลงนามชื่อตัวเองได้ทำการปั้มลายนิ้วหัวแม่มือแทน


ปรากฏการณ์นี้สะท้อนหลายแง่มุม คนที่คลุกคลีกับวิถีไทยโซ่ฐานรากย่อมเห็น และทราบดีว่า

  • ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่มีน้อยกว่าท้องถิ่นอื่นๆส่งผลให้โลกทัศน์ของเขายังสืบต่อความเชื่อและวัฒนธรรมเดิมๆของเขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนชีวิตที่เป็นไปอย่างช้าๆ
  • ระบบการสื่อสารที่เข้าสู่ชุมชนที่ทันสมัยแต่เต็มไปด้วยการกระตุ้นค่านิยมที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขาคือปัญหาใหม่
  • งานพัฒนาชุมชนยังไม่ได้เข้าไปจักกระบวนการปรับตัวที่เหมาะสม แต่นำเสนอชิ้นส่วนที่เขาต้องหักดิบการเปลี่ยนแปลงซึ่งย่อมส่งผลสะเทือนมาก
  • นโยบายของรัฐที่ใช้ศูนย์กลางอำนาจเป็นคำสั่งออกแบบงานพัฒนาชุมชนนั้นก็ยังซ้ำซาก ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต
  • ฯลฯ

บางทีเราก็นึกไม่ออกว่าเทคโนโลยีนาโน กับการพยายามลงนามเข้าร่วมการเรียนรู้ภายใต้ระเบียบของรัฐของชาวบ้านแบบดงหลวงนี้ ระยะห่างขององค์ความรู้นี้จะก่อผลกระทบในการเคลื่อนตัวของสังคมมากน้อยแค่ไหน


สารภาพ..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 พฤษภาคม 2009 เวลา 9:48 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 1477

ในปี 2505 กรมการข้าว ได้ทำการส่งเสริมการผลิตข้าว โดยตั้งกองส่งเสริมและเผยแพร่ขึ้น มีฝ่ายต่างๆหลายฝ่าย หนึ่งในนั้นคือฝ่ายปุ๋ย

ความจริงสารเคมีเข้ามาเมืองไทยนานมาแล้วประมาณปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลสั่งนำ DDT เข้ามาในเมืองไทยเพื่อทำการปราบปรามยุงตัวนำเชื้อโรคมาเลเลีย ซึ่งระบาดมาก ประชากรเจ็บป่วยล้มตายปีละมากๆ DDT จึงถูกสั่งเข้ามาแล้วนำไปพ่น ฉีดฆ่ายุงก้นปล่อง ซึ่งใช้มาหลายสิบปีต่อมา เจ้าสารเคมีตัวนี้ยังมีฤทธิ์ฆ่าเห็บ เหา เลือด อีกด้วย ปัจจุบันเกือบไม่ได้ยินว่าที่ไหนมีตัวเลือดให้ปรากฏ

ย้อนไปปี 2503 ฝ่ายวิศวกรรมเกษตร กรมการข้าว สร้างควายเหล็กตัวแรกขึ้นมา เพื่อใช้แทนควาย ซึ่งสมัยนั้นเจตนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ราคาน้ำมันเบนซินในสมัยนั้นลิตรละ 1 บาทเท่านั้น เริ่มมีการใช้ปุ๋ยเคมี สมันนั้นข้าวก็ใช้สูตร 16-20-0 เป็นปุ๋ยนำเข้า ใส่แปลงข้าวในอัตรา 20-30 กก.ต่อไร่

การผลิตข้าวในสมัยก่อนนั้นมีโรคที่เป็นกันมากคือ บั่ว หนอนกระทู้ รัฐบาลจึงสั่งสารเคมีเข้ามาเพื่อปราบโรคบั่ว สารเคมีสมัยนั้น เช่น ไทเม็ก โฟลิดอน E605 เอนดริน และ ฯลฯ กลิ่นเหม็นมาก ฉุนแรง สมัยนั้นไม่มีปุ๋ยน้ำหมัก ชีวภาพ และน้ำส้มควันไม้แต่อย่างใด ภายหลังมาทราบว่าจีนและญี่ปุ่นรู้จักและใช้มานานถึง 700 ปีแล้ว

มาในปัจจุบันนี้ เราพบแล้วว่า สารเคมีเหล่านั้น ปุ๋ยเคมีเหล่านั้นมีส่วนสำคัญยิ่งในการทำลายระบบนิเวศแมลงที่มีประโยชน์ต่อพืชมาก เจ้าแมลงที่ตั้งใจฆ่าก็พัฒนาตัว พัฒนาสายพันธ์ของมันไปมากขึ้นด้วยทำให้ทนทานต่อสารเคมีที่เคยใช้ได้ผลมาก่อน

สมัยนี้มีทางเลือกใหม่ๆมากมายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเพื่อสุขภาพที่ดี นี่เป็นความรู้สึกที่อยากจะบอกพวกเรา….

นี่คือความในใจที่อดีตข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคยรับผิดชอบการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืชและกระบวนวิธีแบบเก่าๆ อันเป็นเทคโนโลยีและนโยบายของรัฐในอดีต ท่านมาตอกย้ำแนวทางที่เรียกว่าเกษตรทางเลือก…..

ขอบพระคุณพี่…เป็นอย่างสูง

คำสารภาพนี้มีคุณค่าแก่การเดินทางเป็นอย่างยิ่งครับ..


ทุนชุมชน

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 เมษายน 2009 เวลา 15:36 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 2651

(บทความนี้เป็นบทความที่บางทรายเขียนแล้วเวียนภายในโครงการฯ เป็นลำดับที่ 56 แล้ว เห็นว่าสามารถออกสู่สาธารณะได้ จึงเอามาลงในลานนี้ ท่านที่เข้ามาอ่านอย่าสงสัยว่าคำกล่าวหลายตอนนั้นเป็นการกล่าวกับเพื่อนร่วมงานที่มีอยู่ใน 4 จังหวัด ผมไม่อยากเสียเวลาปรับแก้สำนวนเพื่อสาธารณะจึงคงไว้เช่นนั้น การเอามาลงสาธารณะก็เพื่อ “เปิด” อาจจะมีท่านใดๆที่มีคำชี้แนะก็อยากได้ครับ ถือว่า Open KM)

—————

 

เมื่อวันก่อนมีโอกาสดูทีวีแวบๆรายการหนึ่ง เสียดายที่ไม่ได้ดูเต็มๆ รายการนี้พูดถึงทุนชีวิตทุนสังคม คือมีหน่วยงานหนึ่งที่เห็นความสำคัญเรื่องนี้จึงก้าวเข้ามาพัฒนาเครื่องมือสำรวจทุนชีวิตทุนสังคมนี้ในหมู่บ้าน ชุมชน เมื่อพบสาระก็เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์…

 

ทุกท่านคงเดาเรื่องราวเหล่านี้ออกนะครับว่าแนวจะเป็นอย่างไร

 


 

รายการนี้พบว่า จากการสำรวจชุมชนพบคุณยายท่านหนึ่งอายุมากแล้ว จบการศึกษาแต่ ป 4 แต่มีความสามารถในบทกลอน และเรื่องราววรรณคดีไทยต่างๆ หน่วยงานจึงสนับสนุนให้คุณยายใช้ความสามารถที่มีอยู่โดยการเปิดเป็นห้องเรียนชุมชนง่ายๆ เอาเด็กๆในหมู่บ้านมานั่งตามศาลาวัด เอาเสื่อมาปู แล้วคุณยายก็มาเล่าวรรณคดีต่างๆ ทั้งแบบพรรณนา และบทกลอนต่างๆ

 

ภาพที่ปรากฏคือ

  • เด็กๆสนุกสนานมากด้วยอรรถรสการเล่าเรื่องของคุณยาย อิสระ ไม่ต้องอยู่ในห้องเรียน ไม่มีกฎระเบียบมาขีดขั้น มีแต่คุณยายที่สั่งสอนมารยาทในการฟังการเรียนแบบไม่เรียนเช่นนี้
  • คุณยายท่านนี้มีความสุขมาก มาก ที่ได้นำความสามารถพิเศษมาทำประโยชน์ให้แก่ลูกหลานในชุมชนของตนเอง วันเดือนปีไม่มีใครทำเช่นนี้ แต่วันนี้มีคนเปิดโลกแห่งการจัดการความรู้แบบนี้ให้ จึงเกิดพลังมหาศาลขึ้นแก่คุณยายท่านนี้
  • พ่อแม่เด็กก็ภูมิอกภูมิใจที่ลูกหลานได้นั่งกับคุณยาย ไม่ไปเล่นอะไรที่ไร้สาระ และพ่อแม่เด็กต่างก็เข้ามาอยู่รอบนอกคอยดูว่าจะสนับสนุนอะไรได้บ้างที่จะทำให้ห้องเรียนของคุณยายนี้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น เดาได้เลยว่าสารพัดการสนับสนุนจะออกมาจากพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นรวมไปถึงพระที่วัด ผู้ปกครองชุมชนต่างเข้ามาดู และต่างร่วมกันคิดถึงการสนับสนุนปรากฏการณ์ดีดีเช่นนี้

 


 

วิเคราะห์

  • เรายังไม่ได้มองชนบทในมุมมองเช่นนี้บ้าง อาจจะมองบ้างแต่ไม่ได้สร้างกิจกรรมที่ใช้ทุนในชุมชนที่มีอยู่สักเท่าไหร่ ใช้บ้างแต่น้อยไป และจำกัด
  • โครงการพัฒนาแบบของเราเป็นโครงการที่ออกแบบสำเร็จรูป มีหลักการ มีขอบเขตงาน มีกรอบกิจกรรม เราก็วนอยู่แต่ตรงนั้น เป็นโครงการปลายปิด มิใช่ปลายเปิด จะดัดแปลงทุนชุมชนมาใช้ได้บ้างก็แค่เล็กน้อย ไม่มีพลังสักเท่าไหร่
  • ความจริงทุนชีวิต ทุนชุมชนมีมากมายทุกแห่งทุกพื้นที่ เพียงแต่เรามองไม่เห็น หรือเห็นบ้างแต่ไม่ได้ออกแบบการสนับสนุนการแสดงพลัง อาจจะคิดแต่ไม่มีช่องที่จะทำเพราะโครงการปลายปิดดังกล่าว
  • โครงการไม่มี Unforeseen budget อย่างผมเคยแลกเปลี่ยนกันบ้างแล้ว ประสบการณ์เรื่องงบประมาณปลายเปิดแบบนี้ผมได้มาสมัยทำงานกับโครงการ NEWMASIP กับ EURO Consultant ที่เขากันงบประมาณจำนวนหนึ่งซึ่งมากพอที่จะทำกิจกรรมที่ดีดี หลังจากที่ดำเนินการตามแผนงานปกติ แล้วไปพบสิ่งที่น่าทำ น่าสนับสนุนขึ้นในชุมชน ก็สามารถพิจารณาเสนอของบจำนวนนี้มาทำกิจกรรมได้ ในโครงการของเราก็เห็นกิจกรรมใหม่ๆที่น่าทำหลายประการแต่ทำไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่ในแผน และงบแบบ Unforeseen ก็ไม่มี
  • การพิจารณาสนับสนุน พัฒนาทุนชีวิต ทุนชุมชนนั้น ผมคิดว่าเป็นฐานที่สำคัญต่อการพึ่งตนเองในระดับหมู่บ้าน ชุมชน ในหลายๆสาขา เพียงแต่ว่าเราสามารถจะขุดค้นศักยภาพของชุมชนมาได้มากน้อยแค่ไหน
  • กิจกรรมเช่นข้างบนนั้นทุกคนได้หมด คุณยายได้ เด็กๆได้ พ่อแม่ของเด็กๆได้ หน่วยงานที่สนับสนุนได้ ที่สำคัญ ชุมชนได้

 

ผมฝันไปว่าในอนาคตโครงการของเราจะมีโครงสร้างแบบผสมผสานระหว่างการออกแบบเดิมกับแนวทางการทำงานแบบปลายเปิดแบบนี้บ้าง เพราะข้อเท็จจริงคือ การออกแบบโครงการนั้นไม่ครอบคลุมศักยภาพทั้งหมดของชุมชน ขณะที่ทำงานไปนั้นผู้ปฏิบัติเห็นศักยภาพชุมชนมากมายที่สามารถพัฒนาขึ้นไปได้ครับ

 


ทุนชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 เมษายน 2009 เวลา 15:33 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 1417

ขออภัยครับที่ขึ้นมาทีเดียวมากกว่า 1 บันทึก คนบันทึกน่ะดียู้  แต่เครื่องมันไม่ดี  อิอิ


ทุนชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 เมษายน 2009 เวลา 15:32 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 1549

ขออภัยที่โผล่ออกมามากกว่า 1 บันทึก ไม่ทราบเป็นอะไร พอ Post เครื่องบอก Post ไม่ได้ ก็พยายามทำใหม่ กลายเป็น Post มากกว่า 1 บันทึก อิอิ


เห็บบิน…..

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 มีนาคม 2009 เวลา 20:42 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 3650

อ่านบันทึก เรื่องทำไมวัวไม่บิน…ของเม้ง ก็นั่งขำอยู่คนเดียว

……………..

สองวันนี้ที่บ้านวุ่นวายกับ “เห็บ” น้องหมา คุ๊กกี้

เพราะสงสารเขาตั้งแต่เล็กก็เอามานอนในห้องทำงานผมโดยมีกรงอย่างดี เมื่อเขาโตขึ้นก็เปิดให้เดินเล่นในห้องทำงานและห้องครัวได้ แต่ไม่ให้ขึ้นไปห้องโถง เช้ามืดก็เอาเขาออกไป ค่ำมืดก็เอาเข้าบ้าน…
เขาก็นอนไม่รบกวนสิ่งของใดๆ

มาวันก่อนเด็กที่บ้านพบตัวเห็บไต่ข้างฝาบ้านในห้องครัว.. เลยมาตรวจดูกันใหญ่ วุ้ย ว้าย…ตาย…ตาย….
พบเห็บตัวเล็กๆซ่อนอยู่ใต้แผงวงจรไฟฟ้าบนฝาพนังห้องนับร้อยๆตัว ผู้หญิงกรี๊ดกราดกันใหญ่…
ตกใจ..และกลัวว่ามีที่ไหนอีก เลยหมอบๆคลานๆดูทุกมุมห้องครัว

เพราะเราไม่รู้จักวงจรชีวิตเห็บน้องหมาดีว่าเป็นอย่างไร
ตกกลางคืนผมไปหาอาจารย์กู(Google) ตาย..ตาย..ตาย…เจ้าเห็บหมานี่ร้ายจริงๆ…. เขาดูดเลือดน้องหมาแล้วออกจากน้องหมาไต่ฝาบ้านไปแอบในที่สูงๆแล้วออกไข่
ไข่จะมีจำนวน 1000-3000 ฟอง….!!!!! เมื่อออกเป็นตัวก็จะลงมาหาน้องหมาแล้วก็ฝังตัวดูดเลือดจนโต แล้วก็ลงจากตัวหมาไปแอบเช่นเคย และเขาอยู่โดยไม่ต้องดูดเลือดตั้ง 6-7 เดือน…!!

ความจริงเราอาบน้ำให้คุกกี้ทุกสามวัน เพราะขนเขายาวสวยนี่แหละจึงเป็นที่ซ่อนของเห็บอย่างดี
แม้จะอาบน้ำบ่อย ฉีดยากันด้วย แต่ก็ไม่พอ..
เราก็หาความรู้กันใหญ่ และปรึกษาสัตว์แพทย์ เราก็ได้วิธีการแก้ รักษาป้องกันมามากมาย…

เมื่อเย็นนี้ คนข้างกายเอารถ 4WD ไปธุระในเมือง ยังไม่ได้ไปไหนก็เอะอะ โวยวายดังลั่นมาว่า เร็วๆ…เห็บเต็มรถเลย…..?????

ผมก็วิ่งไปดู เธอก็ว่าเก็บเห็บเล็กๆได้ยี่สิบตัวแล้ว ผมมองไม่เห็นสักตัว เลยอาสาขับรถไปให้ เธอก็บ่นไปตลอดทางว่า เจ้าคุกกี้ทำพิษเราเสียแล้ว เห็บขึ้นบ้านไม่พอ ขึ้นรถอีก ตาย ตาย ตายแน่ๆ

ระหว่างทางผมลงไปทิ้งจดหมาย กลับมาที่รถเธอก็บอกว่า เห็บอะไรกระโดดได้ เห็นมันกระโดดเมื่อตะกี้.. .. หือ ผมงงๆ ขับไปสักพัก เธอก็บอกอีกว่า เห็นตัวหนึ่งบินได้….วุ้ย..เห็บที่ไหนบินได้ผมนึกในใจ…

ผมชักเอะใจว่าไม่ใช่เห็บแล้วหละ… เมื่อเธอลงรถไปทำภารกิจ ผมก็ลงมือเปิดเบาะโน่น ดูนี่ ตรวจสอบว่า น่าจะมีผลไม้ที่เรามักซื้อกลับบ้านหลงตกหล่นในรถแล้วเกิดเน่า จนมีแมลงเกิดขึ้น ซึ่งเคยเกิดขึ้น แต่ก็นึกในใจว่า หากผลไม้เน่าก็น่าจะได้กลิ่น แต่นี่ไม่ได้กลิ่นเลย..

พับเบาะรถด้านหลัง เปิดพรมปูรถ ผมเอามือล้วงไปใต้เบาะรถข้างซ้าย ไม่มีอะไร ล้วงไปข้างขวา เอ๊ะ..อะไร… ลากออกมา…..

นี่ไง นี่ไงพบแล้วเหตุของที่มาของ “เห็บบินได้” ของเธอ….

เป็นถุงเมล็ดถั่วแดงครับ ที่ซื้อมาจากเชียงรายสมัยเฮ 6 โน้น เราเอาออกจากรถไม่หมด แล้วมันขึ้นมอด… ตัวมอดคือแมลงชนิดหนึ่งที่จะเกิดขึ้นกับเมล็ดพืชผัก แม้ข้าว ข้าวโพด และอื่นๆ…

เธอกลับมาจากภารกิจ ร้องจ๊ากกกก….
มิน่าหาถุงถั่วไม่เจอ..ตั้งแต่กลับมาจากเชียงรายแล้ว..

เธอบอก โล่งใจไปทีที่ไม่ใช่เห็บน้องหมามาขึ้นรถ…

ผมก็โล่งใจที่ไม่ได้เผชิญเรื่องใหญ่ที่จะไปพบไข่เห็บ 3000 ฟองในรถ

เฮ่อ…. เห็บบิน อิอิ..อิอิ..


บทที่ 11 การแสดงความเห็น

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 มีนาคม 2009 เวลา 16:03 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 1823

การแสดงความเห็น ได้ย้ายบันทึกนี้ไปอยู่ที่ http://lanpanya.com/jogger1/archives/114#respond


เอ๊ะ…ของนายพล

16 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กุมภาพันธ 2009 เวลา 1:08 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 5413

วันนี้พวกเราได้เข้าร่วมการสรุปบทเรียนการทำนาโดยใช้ปุ๋ยน้ำหมักของพี่น้องชาวไทบรูดงหลวง ทั้งนี้เป็นการพยายามแก้ปัญหาข้าวไม่พอกิน และการพยายามลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างองค์ประกอบการพึ่งตนเอง…

มันเกี่ยวอะไรกับชื่อบันทึก…หา. พลเป็นชื่อเกษตรกรไทบรู เป็นผู้ชายก็ใส่นายเข้าไป ก็เป็น นายพล ส่วน เอ๊ะนั้นคือเอ๊ะศาสตร์ ขอใช้ชื่อนี้ ก็คือการฉุกคิด การตั้งคำถาม การตั้งข้อสังเกต แล้วหาคำตอบต่อเรื่องนั้นๆ..

ในเวทีสรุปบทเรียนวันนี้(จะบันทึกทีหลัง) นายพลคนนี้เฝ้าเข้ามาใกล้ชิดผมแล้วในที่สุดก็มาเอ่ยปากว่า เมื่อเสร็จที่นี่แล้วอาจารย์ไปเยี่ยมผมที่บ้านสวนหน่อย อยู่ไม่ไกลจากที่นี่ ผมคิดว่าคนทำงานพัฒนานั้นต้องตอบรับเพราะนั่นหมายความว่าชาวบ้านเขามีอะไรสักอย่างจะคุยกับเรา จึงออกปากมาอย่างนั้น..


เมื่อเวทีสรุปบทเรียนเสร็จสิ้น เราก็เดินทางไปบ้านสวนของนายพล.. เมื่อเลี้ยวรถเข้าบ้านสวนทุกคนก็ร้อง จ๊ากกสสส์ เพราะเห็นหัวมันสำปะหลังที่วางอยู่บนรถสาลี่นั่นมันใหญ่โตอะไรปานนั้น..?? เราเข้าใจทันทีเลยว่านายพลชวนเรามาทำไม ทีมงานยิงคำถามจนนายพลตอบแทบไม่ทันว่าทำอย่างไรหัวมันถึงใหญ่เช่นนี้ พันธุ์อะไร อายุหัวมันเท่าไหร่ ทำกี่ไร่ ใส่ปุ๋ยอะไร….

นายพลบอกว่า ผมใช่ปุ๋ยชีวภาพครับ… หาาาาา ปุ๋ยชีวภาพ.. ความจริงเรามีความรู้มาก่อนแล้วว่าการใช้ปุ๋ยชีวภาพนั้นสามารถเพิ่มน้ำหนักและปริมาณหัวมันสำปะหลังได้มากถึงสองหรือสามเท่าจากปกติทั่วไป…

แล้วกระบวนการซักถามเป็นระบบก็ไหลหลั่งมาสรุปได้ว่า

· นายพลมีอาชีพเหมือนกับชาวบ้านทั่วไปคือปลูกข้าวเอาไว้กินแล้วก็ปลูกมันเอาไว้ขาย ภรรยาเป็นคนอำนาจเจริญ มีลูกสี่คน ที่นายังไม่ได้รับการแบ่งแยกมาจากพ่อแม่ แม้ว่านายพลจะมีอายุถึง 53 ปีแล้วก็ตาม


· วันหนึ่งไปกู้มัน(กู้มันคือเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง) สังเกตเห็นว่ามันต้นไหนที่มีลักษณะใหญ่โต หัวใหญ่โต เมื่อขุดดินลงไปจะพบร่องรอยของการเน่า สลายของหัวมันเดิมที่ตกค้างอยู่ นายพลคิดว่าน่าจะเป็นเพราะหัวมันเน่าสลายนี้เองที่กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีให้หัวมันใหม่เจริญเติบโตดีมากกว่าต้นมันอื่นๆที่ไม่มี

· จากข้อสังเกตนั้นจึงลองเอามันสำปะหลังที่เหลือๆอยู่หลังจากการเก็บขายเอามาหมักกับกากน้ำตาล โดยหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ หมักไว้ 1-3 เดือนก็คั้นเอาน้ำไปเก็บไว้..ในภาชนะใหม่เช่นถัง (ซึ่งไม่ขอลงรายละเอียดทั้งหมด)

· แล้วเอาไปผสมกับน้ำเอาไปราดลงโคนต้นมันสำปะหลัง และพ่นลงทางใบมันสำปะหลัง ทำจนมันสำปะหลัวมีอายุประมาณ 4 เดือน

· เมื่อได้อายุ 10-12 เดือน เก็บก็จะได้มันที่มีราก หรือหัวที่ใหญ่โตเช่นนั้น เฉลี่ยที่ใหญ่ที่สุดประมาณ ต้นละ 16 กิโลกรัม ทำให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 8-10 ตัน

· ทำมาสองปีแล้วแบบเงียบๆ เพื่อทดลองดู เมื่อได้ผลก็อยากเผยแพร่ให้เพื่อนเกษตรกรเอาไปใช้ แต่ยังไม่มีใครมาสอบถาม

· เมื่อปีที่แล้วนายพลลองเอาน้ำหมักชีวภาพนี้ไปใส่นาปี พบว่าได้ผลดีมาก ต้นข้าวใหญ่ ออกรวงดี ข้าวมีน้ำหนักและได้ปริมาณมากขึ้น…

· วันนี้นายพลสรุปแล้วว่า เขามั่นใจคุณภาพน้ำหมักชีวภาพสูตรของเขาว่าใช้ได้ผลจริง จึงต้องการขยายการผลิตน้ำหมัก และต้องการเอาไปใช้กับนาข้าวเป็นหลัก เพราะต้องการเลิกใช้ปุ๋ยเคมี และต้องการเพิ่มผลผลิตข้าว และลดต้นทุนการผลิต…


· การใช้ปุ๋ยของนายพลมิใช่เฉพาะน้ำหมักชีวภาพเท่านั้น เขามีวัว 5 ตัว ก็ได้ใช้มูลวัวทำปุ๋ย และที่ช่วยได้มากอีกคือ ปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ที่มีในสวนนี้ เก็บรวบรวมมาใส่ในหลุมดังภาพเมื่อมากพอก็เอามูลวัวใส่ เอากากน้ำตาลใส่ลงไปคลุกให้เข้ากันดี รดน้ำให้เปียกแล้วเอาเศษผ้ามาคลุมปิดให้มิดชิด…. ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือนขึ้นไปก็เอาไปใช้รองพื้นก่อนปลูกมันสำปะหลัง และช่วงทำนาก็เอาไปใส่นาด้วย

· ผลที่ได้ ดินดีขึ้น ผลผลิตดีขึ้นจึงพอใจมากและจะเพิ่มการผลิตปุ๋ยหมักให้มากขึ้น

แม้ทั้งโลกนี้จะยอมรับกันว่าก้าวหน้าจากยุคดิจิตอลเข้าสู่ยุคนาโน แต่ก็เป็นโลกทุนที่ก้าวไปอย่างสุ่มเสี่ยง

แล้ววันหนึ่งเกษตรกรก็หันหลังให้กับปุ๋ยเคมีและสารเคมี มาใช้ความรู้พื้นฐานเดิมๆที่พัฒนาขึ้นมาในสภาพใหม่คือปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยหมัก นายพล วงษ์กะโซ่ คืออีกตัวอย่างที่ชาวบ้านต่อสู่กับการอยู่รอดในสังคมด้วยการพึ่งตนเอง ยึดความพอเพียง และความเป็นคนที่มีเอ๊ะศาสตร์ ช่างสังเกต ทดลองทำ และดัดแปลงตามสภาพบนฐานเงื่อนไขของตนเอง

แล้วนายพลก็มีกำลังใจเพิ่มทวีคูณเมื่อ สิ่งที่เขาใช้วันเวลาเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนั้นปรากฏเป็นจริงขึ้นมา…

นายพล..คนดงหลวง



Main: 0.064343214035034 sec
Sidebar: 0.020571947097778 sec