คิดไม่ถึง…

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 กรกฏาคม 2009 เวลา 22:10 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 2884

ยังเกาะติดปัญหาหลักของพี่น้องบ้านพังแดงที่เกริ่นไปหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องที่ประชาชนมีข้าวไม่พอกิน มาเอะใจก็ตอนที่มานั่งคุยกับนรินทร์ เชื้อคำฮด หนุ่มผู้ต่อสู้เพื่อการหนี้รอดความยากจนนี่แหละทำให้เกิดการทบทวนอย่างหนักในเรื่องนี้

  1. หลังจากที่พี่น้องกะโส้บ้านพังแดงและบ้านอื่นๆออกมาจากป่าแล้วต่างก็เผชิญการอดข้าวบริโภคครั้งใหญ่ ไม่กี่ปีต่อมาการขยายพื้นที่ปลูกข้าวก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง พร้อมๆกับการมีพืชไร่ชนิดใหม่เข้ามานั่นคือ มันสำปะหลัง….เพียงสามสี่ปี พืชมหัศจรรย์ชนิดนี้ก็ขยายเต็มพื้นที่ดงหลวง ในที่ที่ไม่ได้ทำนาลุ่ม ปัจจุบันก็เริ่มเอามันสำปะหลังลงไปปลูกในนาข้าวบ้างแล้ว..

    ก็ธรรมดานี่นา..ที่ไหนๆก็ปลูกมันสำปะหลัง ทั่วอีสาน ไม่เห็นจะเกี่ยวกับการที่ข้าวไม่พอกินเลย หรือจะเป็นเพราะพื้นที่ปลูกมันไปแย่งพื้นที่ปลูกข้าวไร่..? ก็มีบ้าง แต่ไม่ได้แทนที่ทั้งหมด..เพราะเรารู้มาแต่ไหนแต่ไรว่า ข้าวคือพืชหลักที่ชาวบ้านเอาไว้ก่อน อย่างอื่นเป็นเรื่องมาทีหลัง…

  2. ในพื้นที่งานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่มีเงื่อนไขที่ชาวบ้านจะต้องรับผิดชอบจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าเอง ในรูปของค่าน้ำที่ใช้นั้น เราแนะนำพืชที่ปลูกแล้วขายได้เพื่อมีรายได้และนำมาแบ่งจ่ายเป็นค่าน้ำซึ่งก็คือค่ากระแสไฟฟ้านั่นเอง ปีแรกๆ ขนาดพื้นที่และชนิดพืชที่ปลูกก็มากพอสมควร แต่ก็ไม่มากพอตามที่เราคาดหวัง ตรงข้ามในปีต่อๆมาพื้นที่กลับทรงตัวและลดลง นั่นหมายถึงว่า เกษตรกรไม่ค่อยรับกระบวนการผลิตพืชแบบพึ่งพิงตลาด ตรงข้ามในพื้นที่เดียวกันนั้นยามฤดูฝนเกษตรกรจะปลูกข้าวในที่ลุ่มทั้งหมด ในที่ดอนจะปลูกข้าวไร่ และมันสำปะหลัง ยางพาราเริ่มมีบ้างและพืชเศรษฐกิจที่เราสนับสนุน

    ยามช่วงทำนาหลังปักดำแล้วเกิดฝนทิ้งช่วง เกษตรกรก็จะร้องขอให้เปิดน้ำ เพื่อเอาเข้าแปลงนาเพื่อรักษาชีวิตต้นข้าว การเอาน้ำใส่ข้าวนั้นต้องใช้ปริมาณที่มาก ซึ่งเกษตรกรต้องจ่ายค่าใช้น้ำมาก โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามิได้ออกแบบมาเพื่อใช้น้ำทำนาข้าว แต่ออกแบบมาเพื่อให้ปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำน้อย เท่าที่พืชต้องการเท่านั้น การประหยัดน้ำก็คือประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำ เป็นการรักษาต้นทุนให้ต่ำที่สุด ขนาดนั้นยังบ่นว่าเสียค่าน้ำไปกับพืชเศรษฐกิจมาก อยากให้พิจารณาลดอัตราต่อหน่วยของการใช้น้ำน้ำลงมาอีก แต่แปลกก็คือ ทีค่าน้ำเพื่อนาข้าวนั้นเกษตรกรจ่ายมากหลายเท่าตัว โดยไม่บ่น และจ่ายครบหมดไม่มีใครเบี้ยวเลยแม้แต่คนเดียว..!!

  3. เราเองก็รู้ว่าเมื่อชาวบ้านขาดแคลนข้าวในช่วงสถานการณ์ “ข้าวเก่าหมด ข้าวใหม่ยังไม่ออก” นั้น การขึ้นป่าขึ้นภูก็มีความถี่สูง และการรบกวนทรัพยากรธรรมชาติก็มากขึ้นด้วย เพื่อเอาผลผลิตจากป่าไปแลกข้าว แต่ปัจจุบันการทำเช่นนี้ลดลงมากแล้ว ซึ่งมิได้หมายความว่าข้าวมีบริโภคเพียงพอ มิใช่ ที่ลดเพราะเกษตรกรมีความ “ของป่าหายากมากขึ้น” “รู้สึกอายมากขึ้น”

    ผมตั้งคำถามนี้แก่นรินทร์ที่ว่า หากครอบครัวข้าวไม่พอกินแล้ว ทำอย่างไร ก็อย่างที่กล่าวไปหลายครั้งแล้ว แต่คำตอบที่มาสร้างความเอ๊ะใจแก่ผมมากก็คือคำตอบของที่ว่า “การผลิตข้าวแต่ละปีนั้น ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปีนั้น ผลผลิตที่ออกมาครอบครัวใครก็รู้แล้วว่า ปีนี้จะขาดแคลนข้าวกินหรือไม่ หากขาด ขาดโดยประมาณเท่าไหร่ จะคิดคร่าวๆได้ จากนี้ก็จะคิดอ่านวางแผนในสมองว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรตั้งแต่ต้นปี ใครจะลงไปทำงานกรุงเทพฯไหม.. ใครจะไปรับจ้างในเมืองไหม และจะปลูกมันสำปะหลังสักกี่ไร่ กี่แปลง เมื่อไหร่ เพื่อให้การเก็บเกี่ยวแล้วขายมันสำปะหลังตรง หรือก่อนการขาดแคลนข้าวจริงๆ…. ก็เอาเงินจากการขายมันสำปะหลังนั่นแหละมาซื้อข้าว”…!!??

    เรานึกไม่ถึงจริงๆ..ว่าชาวบ้านจะแก้ปัญหาข้าวไม่พอกินด้วยการปลูกมันสำปะหลัง.อย่างมีแบบแผน…


    ดังนั้น

  • มันสำปะหลังคือพืชไร่ที่เกษตรกรจะต้องปลูกเพื่อรายได้ประจำปี
  • “มันสำปะหลังคือหลักประกันการมีข้าวกิน” กรณีดงหลวง

นี่คือการถอดรหัส….จากการพุดคุยกับชาวบ้าน จากการใช้เอ๊ะศาสตร์เข้ามากระตุกต่อมคิด

ดังนั้นการคิดการแก้ปัญหาลดอัตราการขาดแคลนข้าวจึงเป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์รายครัวเรือนมิใช่ภาพรวมทั้งหมดของชุมชนเพราะแต่ละครอบครัวมีสถานการณ์และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

การสอบถามชาวบ้านจึงต้องถามละเอียดมากกว่าปกติ เช่น หากไปถามว่า ปีนี้ข้าวพอกินไหม ชาวบ้านอาจตอบว่า “มีพอกิน” แต่เบื้องหลังคือ “ไม่พอกิน” แต่ที่ตอบว่าพอกิน เพราะได้ขายมันสำปะหลังไปแล้วและไปซื้อข้าวมาตุนไว้บนบ้านให้มีเพียงพอกินครบตลอดปีแล้ว…

ผู้ถามอาจเข้าใจไปเลยว่า ครอบครัวนี้ไม่ได้ขาดแคลนข้าว หากสรุปเช่นนี้ก็จะพลาดข้อเท็จจริง หากใครไม่สัมผัสชุมชนมุมลึกแล้วก็จะเข้าใจผิดได้ง่ายมาก ตีโจทย์ไม่แตก ความผิดพลาดในการทำงานก็เกิดขึ้นได้…..


(วงจรหยาบๆเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนข้าวและแนวทางการแก้ไขของชาวบ้าน)

ประเด็นต่อเนื่องก็คือ

  • มีกี่ครัวเรือนที่ข้าวไม่พอกินในรายละเอียดของแต่ละครอบครัวในทุกเดือนตลอดปี..
  • มีกี่ครัวเรือนที่แก้ปัญหาในวิธีต่างๆ
  • มีกี่ครัวเรือนที่ใช้วิธีปลูกมันสำปะหลังเป็นหลักประกัน
  • ฯลฯ

แล้วทั้งหมดนี้ ทางออกคืออะไร..!!

เรากำหนดการจัดทำ “Community Dialogue” ในเรื่องนี้ขึ้นแล้วภายในเดือนนี้ แล้วมาดูกันว่า ความคิดเห็นชาวบ้านนั้น คิดอ่านอย่างไรบ้าง..


นิเวศวัฒนธรรม การพัฒนาชุมชนแบบสี่ประสาน ๒

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 กรกฏาคม 2009 เวลา 11:11 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 2269

บทเรียนจากงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่สูบน้ำห้วยบางทราย: โครงการได้สร้างระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าให้พี่น้องบ้านพังแดง เป็นระบบที่ทันสมัยมากมีอาคารติดตั้งเครื่องสูบน้ำสองเครื่อง ระบบควบคุมการปิดเปิดน้ำ แผงวงจรไฟฟ้า มีถังเก็บน้ำขนาดใหญ่มีท่อส่งน้ำฝังดินไปโผล่ที่แปลงที่ดินแต่ละแปลงพร้อมทั้งติดตั้งมิเตอร์จดปริมาณน้ำที่ใช้เพื่อนำมาคำนวณค่ากระแสไฟฟ้าพร้อม ในด้านการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเราได้ไปประชุมชี้แจงโครงการพร้อมทั้งทำแบบสอบถามพี่น้องเกษตรกรหลายต่อหลายครั้ง มีการประชุมฝึกอบรมเพื่อก่อตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำหลายต่อหลายหนแม้กระทั่งยามกลางค่ำกลางคืน นอกจากนั้นในระยะแรกเรายังรับภาระค่ากระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำ แล้วค่อยๆถ่ายภาระให้กับผู้ใช้น้ำทีละน้อยในปีถัดๆไป การก่อสร้างโครงการ ประสบความสำเร็จพอสมควร มีปัญหาอุปสรรคบ้างเช่นการออกแบบหัวกะโหลกสำหรับดูดน้ำเข้าอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นน้ำทำให้ดินโคลนทับถมหนาเกือบสองเมตรทำให้ต้องขุดลอกกันทุกปี ถึงฤดูน้ำหลากก็หวาดเสียวกับการที่น้ำจะท่วมเครื่องสูบน้ำเกือบทุกปี ส่วนการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำก็ได้ผลคุ้มค่ากับการที่พวกเราหมั่นไปประชุมกับคณะกรรมการแม้ยามกลางค่ำกลางคืน

แต่งานที่หนักหนาสาหัสที่สุดเห็นจะเป็นงานด้านการส่งเสริมการเพาะปลูกภายใต้ระบบชลประทาน อันเป็นความรับ ผิดชอบหลักของข้าพเจ้าเอง การที่จะทำให้พี่น้องที่คุ้นเคยกับการปลูกมันสำปะหลังทิ้งไว้แล้วเข้าไปหาอยู่หากินแบบผ่อนคลายในป่าที่อยู่รอบๆหมู่บ้าน ปรับเปลี่ยนอย่างทันทีทันใดมาปลูกพืชแบบเกษตรประณีตนั้น ทีมงานของเราทุกคนต้องทุ่มเทกันอย่างมาก เราทำตั้งแต่การเสาะหาแหล่งรับซื้อผลผลิต จัดงานวันผู้รับซื้อผลผลิตพบเกษตรกร ทำแปลงเพาะปลูกพืชไปพร้อมๆกับพี่น้องทั้งการปลูกมะเขือเทศ ถั่วฝักยาวผลิตเมล็ดพันธุ์ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ซึ่งงานทำแปลงปลูกพืชนี้ไม่ได้มีงบประมาณจากโครงการแต่อย่างใด ต้องควักกระเป๋าตนเอง น้องๆผู้ช่วยงาน แม้กระทั่งพนักงานขับรถก็มาช่วยลงแรงโดยไม่ได้ค่าตอบแทนเพิ่ม เมื่อขายผลผลิตได้ก็แบ่งปันกันเพียงคนละเล็กละน้อย เพราะแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรมือใหม่อย่างพวกเรามักจะได้ผลแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ที่พวกเราได้รับแน่ๆได้แก่ประสบการณ์ และเรา “ได้ใจ”จากพี่น้องชาวพังแดง นี่เป็นบทเรียนที่พวกเราผ่านการทดสอบ

นิเวศวัฒนธรรม นำการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม : เราได้พบทางออกในการพัฒนาในรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีชาวโส้ นั่นคือการทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่น “เครือข่ายอินแปง” ซึ่งเป็นตัวแทนของมูลนิธิหมู่บ้านที่เข้ามาร่วมรับงานในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร นอกจากนั้นเรายังเข้าไปศึกษาวิถีชาวโส้อย่างแท้จริง โดยการทดลองไปจัดเวทีชุมชนที่บ้านโพนไฮ ใช้เวลาจัดเวทีหลายครั้งหลายหนในเวลาสามทุ่มถึงราวๆเที่ยงคืน ทำให้ได้ภาพของชุมชนชัดเจนว่าพี่น้องได้ผ่านการหล่อหลอมมาอย่างไร ทั้งจากขนบประเพณีประจำเผ่า และจากเหตุการณ์การเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ในส่วนตัวแล้ว ผมยังได้ศึกษาขนบประเพณีของชาวโส้ จากการร่วมในประเพณีต่างๆ จากการพูดคุยกับเจ้าจ้ำ กับผู้อาวุโส รวมถึงการหัดเรียนรู้ภาษาโส้จนถึงขั้นชาวบ้านบอกว่า “นินทาหัวหน้าเปลี่ยนไม่ได้แล้ว” “กวยดังภาษาโส้ เขาฟังภาษาเราออก” ทั้งนี้เพราะก่อนเข้ามาทำงานในดงหลวงเคยมีคนบอกไว้ว่า “ถ้าจะทำงานกับชาวโส้ได้คุณต้องเป็นเจ้าจ้ำของเขาให้ได้ก่อน” ซึ่งถึงแม้ผมยังเป็นเจ้าจ้ำไม่ได้ แต่ก็มีคนพูดหยอกอยู่เสมอว่าเป็น “หัวหน้าเผ่า”

เราทำงานร่วมกับอินแปงในการส่งเสริมการเกษตรแบบ “พออยู่พอกิน” “ยกป่าภูพานมาไว้ในสวน” “ปลูกทุกอย่างที่กิน” มาเผยแพร่มีการทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักชีวภาพ แล้วจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในหมู่ผู้นำเกษตรกรที่ได้ทดลองใช้ปุ๋ยดังกล่าวจนในที่สุดเราได้ปุ๋ยสูตรต่างๆมาหลายสูตร และเรามีเกษตรกรที่ทำนาแบบปลอดสารเคมีหลายร้อยแปลง แล้วเรายังได้ผลักดันให้พี่น้องได้เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการปลูกและการขยายพันธุ์ผักหวานป่า ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาชั้นเซียนของพี่น้องชาวโส้ดงหลวง ผมกล้ายืนยันว่าการตอนกิ่งผักหวานป่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่นี่ที่ดงหลวง และยังพบอีกว่าคุณป้าวัยใกล้หกสิบแม่บ้านของพ่อลุงแสน ปีหนึ่งๆตอนกิ่งผักหวานป่าได้มากกว่าสามีท่านเสียอีก แต่กว่าจะโน้มน้าวให้มีการเปิดเผยองค์ความรู้เรื่องผักหวานป่านี่ก็ต้อง “ซื้อใจ”กันหลายขั้นตอนเฉพาะตัวผมเองต้องไปคลุกคลีกับพ่อๆ ต้องนั่งกระบะท้ายรถปิกอัพกับพ่อๆข้ามจังหวัดไปนอนตามบ้านปราชญ์ผักหวานป่าที่สกลนครสองสามคืนเพื่อสังเคราะห์และสร้างเครือข่ายผักหวานป่า

ในด้านแหล่งเงินทุนเราที่ปรึกษา และอินแปง ได้พยายามหาแหล่งเงินทุนจากภายนอกมาให้พี่น้องได้ทำกิจกรรม เพราะงบประมาณจากโครงการนั้นโดยปกติต้องเบิกผ่านระบบราชการซึ่งบางอย่างมักจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้อง อินแปงได้ของบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกมาให้พี่น้องช่วยกันบริหาร และใช้สอยในกิจกรรมวนเกษตร เกษตรปลอดสารเคมี ป่าหัวไร่ปลายนา และป่าชุมชน ซึ่งนับว่าได้ช่วยเกื้อกูลงานพัฒนาของเราอยู่ไม่น้อย ในส่วนของที่ปรึกษาก็ไปช่วยพี่น้องขอรับงบประมาณจากหน่วยงานอื่น เช่นวิสาหกิจชุมชนจากสำนักงานเกษตรอำเภอ มาช่วยกลุ่มแม่บ้านพัฒนาการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ พร้อมทั้งช่วยในการด้านการปรับปรุงคุณภาพ และการตลาดโดยการประสานงานกับมหาวิทยาลัยที่มีกิจกรรมด้านนี้

เราได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันวิจัยและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการจัดกระบวนการเพื่อให้เกิดตลาดชุมชนขึ้น โดยเล็งเห็นประโยชน์ที่หาตลาดให้พี่น้องที่ปลูกผักแบบปลอดสารกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ชาวบ้านได้ซื้อพืชผักที่ปลอดสารเคมี และให้เงินหมุนเวียนในชุมชน ซึ่งผลที่เราพบนอกเหนือจากนี้เรายังได้เห็น โอกาสที่ผู้เฒ่าจะเก็บผักตามรั้วสามสี่มัดมานั่งขายหาเงินไปซื้อหมากซื้อพลู เห็นเด็กน้อยมาหัดขายของ เห็นการปฏิสัมพันธ์ในชุมชนแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย มีการแจกการแถม มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างแม่ค้า และหากไปแวะเยี่ยมตลาดชุมชนคราวใดเราจะได้ซื้อขนม และอาหารพื้นบ้านอร่อยๆมากินได้อย่างที่ไม่ต้องกลัวสารพิษ

อินแปง และสำนักงานที่ปรึกษายังได้เชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรแต่ละหมู่บ้านเป็นเครือข่ายระดับตำบล และในสี่ตำบลเชื่อมเป็นเครือข่ายระดับอำเภอ ชื่อว่า “เครือข่ายไทบรูดงหลวง” ซึ่งเรายังพาไปเชื่อมกับเครืออินแปง ที่เป็นข่ายใหญ่มีสมาชิกครอบคลุมสี่จังหวัด การมีเครือข่ายประชาชนเช่นนี้ช่วยให้เกิดการเกื้อกูล แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพึ่งพาตนเอง นับว่าสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชน ในส่วนของเครือข่ายไทบรูดงหลวงแล้ว เรามีการจัดเวทีในระดับตำบลทุกเดือนโดยผู้นำจัดกันเอง ถือได้ว่าเป็นองค์กรที่ “เดินได้เองแล้ว” พวกเราได้ชวนพี่น้องจัดงาน “วันไทบรู” ขึ้นปีละหนึ่งครั้ง

ทั้งหมดนี้สามารถถอดบทเรียนได้ว่ายัง มีรูปแบบการทำงานพัฒนาอีกหลายรูปแบบที่สามารถทำงานได้ การร่วมมือไม่แบ่งเขาแยกเราช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น และท้ายที่สุดแนวทางการทำงานต้องสอดคล้องกับวิถีท้องถิ่น ให้ชุมชนช่วยคิดเพื่อชุมชนของเขาเอง

หมายเหตุ บันทึกนี้เปลี่ยนเป็นผู้เขียนผมเห็นว่าน่าจะเอามาลงในบันทึกลานฅนฟื้นฟูนี้ครับ


นิเวศวัฒนธรรม การพัฒนาชุมชนแบบสี่ประสาน ๑

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 กรกฏาคม 2009 เวลา 10:46 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 6438

เกริ่นนำ: โครงการ “ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ในเขตปฏิรูปที่ดิน ด้วยการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสาน”(คฟป.) ได้ดำเนินงานที่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหารผ่านมาเกือบสิบปีแล้ว เมื่อมองย้อนคืนกลับไปตั้งแต่เริ่มโครงการ สามารถถอดบทเรียนได้หลายบท หลายแง่มุม ดังนี้

แนะนำลักษณะของโครงการโดยสังเขปดังนี้ คฟป. มีเป้าหมายหลักที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการ และรูปแบบการใช้ที่ดิน ให้มีลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน เช่น ลดพื้นที่ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ในขณะเดียวกันก็มีการสร้างกลุ่มองค์กรชาวบ้านให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ลักษณะของงานประกอบด้วย สามภาคส่วนหลักๆคือกลุ่มงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาถนน และแหล่งน้ำ กลุ่มงานพัฒนาการเกษตร คือ การส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสาน และกลุ่มงานพัฒนาองค์กรชุมชน คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรเกษตรกรให้สามารถประสานกันเป็นเครือข่ายประชาชน ต่อมาภายหลังได้มีการเพิ่มงานในด้านตลาดชุมชนขึ้นอีกด้านหนึ่ง ในแต่ละกลุ่มงานมีกิจกรรมย่อยๆมากมาย ตามความสนใจของเกษตรกรและจากผลการวิเคราะห์ชุมชน

เจ้าของงานได้แก่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ส่วนเจ้าของเงิน(กู้) ได้แก่ JABIC (Japan Bank for International Cooperation) เจ้าหนี้รายใหญ่ของเรานี่เอง ซึ่งมีเงื่อนไขในการใช้จ่ายเงินต้องมีที่ปรึกษาไปช่วยดูแล งานก็เลยมาเข้ามือที่ปรึกษาเราด้วยประการฉะนี้

กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัทจากประเทศเจ้าของเงิน และจากเจ้าของบ้านรวม ๔ บริษัท ทำสัญญากับเจ้าของงานในนามบริษัทร่วมค้า นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีผู้ร่วมงานในส่วนของเอ็นจีโอ ได้แก่ มูลนิธิหมู่บ้านซึ่งชักนำให้โครงการฯได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายอินแปง และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกในเวลาต่อมา แน่นอนที่ต้องมีฝ่ายข้าราชการจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มาทำงานร่วมด้วย ในระยะต่อมาเรายังมีทีมงานจากสถาบันวิจัยและพัฒนาสังคมมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาช่วยทำงานอีกหน่วยงานหนึ่ง

พื้นที่และการบริหารองค์กร : พื้นที่โครงการตั้งอยู่ในเขต ส.ป.ก. ของจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร และมุกดาหาร การบริหารงานในส่วนของที่ปรึกษา ในระยะเริ่มโครงการ การทำงานจะได้รับการวางกรอบจากสำนักงานที่ปรึกษาส่วนกลางซึ่งประกอบ ด้วยผู้เชี่ยวชาญมากๆทั้งจากญี่ปุ่นและคนบ้านเราเอง ในแต่ละจังหวัดมีสำนักงานที่ปรึกษาซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กร ด้านเกษตร และด้านวิศวกรรมอยู่ประจำ เพื่อคอยทำงานในส่วนรายละเอียด แต่การจัดองค์กรรูปแบบนี้ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผล เพราะคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ย่อมรู้สภาพจริงได้ดีกว่าผู้ที่วางแผนอยู่ที่ส่วนกลาง จึงมีการปรับองค์กรของที่ปรึกษาให้เหมาะสม ตัวผมเองได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการเกษตรประจำจังหวัดมุกดาหาร ดังนั้นบทเรียนที่จะถอดออกมานำเสนอในต่อไปนี้ จะมาจากประสบประการณ์ที่ได้พบเจอในพื้นที่ทำงานจังหวัดมุกดาหารเป็นหลัก

พื้นที่ทำงาน พื้นเพของเกษตรกร : พื้นที่ทำงานของผมตั้งอยู่ติดกับเทือกเขาภูพาน สภาพพื้นที่มีที่ราบแคบๆริมลำน้ำห้วยบางทรายใช้เป็นที่นา และที่อยู่อาศัย พี่น้องชาวบ้านมีเชื้อสาย “โส้ หรือ กระโส้ หรือ ข่าโซ่” ที่ยังรักษาขนบประเพณีประจำเผ่าไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะภาษาพูดประจำเผ่าซึ่งอยู่ในตระกูลภาษามอญ-ขแมร์ ชาวโส้เรียกตัวเองว่า “กวย” แปลว่าคน พี่น้องชาวโส้ก็คือเผ่าเดียวกับชายกูยที่มีช้างเลี้ยงมากๆที่สุรินทร์นั่นเอง วิถีชีวิตของพี่น้องที่ดงหลวงยังคงพึ่งพิงป่าเป็นอย่างมาก ปัญหาข้าวไม่พอกินยังพบปรากฏอยู่ทั่วไป เนื่องจากพื้นที่ทำนามีน้อย พื้นที่ที่เคยปลูกข้าวไร่ก็ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานฯ พี่น้องที่ขาดข้าวต้องหาเก็บของป่าเช่นหน่อไม้ ยอดหวาย นก หนู กระรอก บ่าง นำไปขอแลกเอาข้าวมากิน พี่น้องชาวโส้ดงหลวงเคยผ่านประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมือง เคยทิ้งหมู่บ้านให้ร้างหนีเข้าไปเคลื่อนไหวอยู่ในป่าหลายปีก่อนที่จะกลับเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง มีผู้นำชุมชนหลายร้อยคนที่เคยไปศึกษาด้านการเมือง การทหาร การแพทย์จากเวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เรื่องอุดมการณ์แนวคิดจึงกว้างไกลกว่าชาวบ้านทั่วไปอยู่มาก

แรกๆก็ทำงานดุ่มๆไปตามแผน : โจทย์ที่ได้รับเมื่อแรกเริ่มเดิมที สำหรับงานหลักๆด้านพัฒนาการเกษตรตามที่วางแผนไว้ในระยะวางโครงการ ได้แก่การขุดสระเก็บน้ำในไร่นา แล้วไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักกาด ผักชี ผักนานาชนิดอยู่ที่ขอบสระ แต่ผลการทำงานสำหรับในพื้นที่มุกดาหารแล้วถือว่าประสบผลสำเร็จน้อยถึงน้อยที่สุด เพราะ

  • มีเกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการ คือสมัครขอรับสระประจำไร่นาจำนวนน้อยมากไม่ถึงสามร้อยสระ(จากที่ตั้งเป้าไว้ ๑,๒๐๐ สระ อันนี้ก็ไม่ทราบว่าท่านใดเป็นผู้ตั้งเป้าและใช้เกณฑ์ใดมาตั้ง) พี่น้องชาวบ้านได้บอกเหตุ ผล ที่ไม่ยอมให้ขุดสระเนื่องจากพี่น้องมีพื้นที่นาเพียงแปลงเล็กๆ ไม่อยากเสียที่นาไปกับการขุดสระ พี่น้องอยากได้บ่อบาดาลมากกว่า
  • เกษตรกรที่ได้รับสระไม่ได้ปลูกผักบริเวณขอบสระตามแผนที่ได้วาดฝันกันไว้ ทั้งนี้พี่น้องได้บอกถึงสาเหตุที่ไม่ปลูกผักว่า “อยากปลูกผักอยู่แต่ดินขอบสระคุณภาพไม่ดีช่างขุดไม่ได้เอาหน้าดินมาใส่ข้างบนคืนให้” “พี่น้องไม่ได้ต้องการขุดสระไว้ปลูกผักแต่จะเอาน้ำไว้ทำนา” “ผักสามารถหาเก็บได้ตามป่าตามธรรมชาติมากมาย” “ปลูกแล้ววัวควายที่เขายังเลี้ยงกันแบบปล่อยทุ่งก็มากัดกินมาเหยียบย่ำ” ถอดบทเรียนได้ว่าในระบบนิเวศน์เชิงเทือกเขาภูพานที่ชาวบ้านมีที่ดินขนาดเล็ก มีอาหารตามธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เช่นนี้ การขุดสระประจำไร่นาแล้วให้ปลูกผักกินนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากเกษตรกร

บทเรียนอันเนื่องมาจากการก่อสร้างถนน : พลาดไปเพียงคำเดียว สาเหตุมาจากมีงานก่อสร้างถนนเข้าหมู่บ้านสายหนึ่งที่ทางโครงการได้เปิดประมูลไปแล้ว และกำลังจะเริ่มการก่อสร้าง ประจวบกับว่าเส้นทางดังกล่าวได้รับงบประมาณจากโครงการ“พิเศษ” ซึ่งจะสร้างถนนให้ใหญ่กว่าพร้อมทั้งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำให้ด้วย เมื่อเกิดการแย่งงานกันระหว่างผู้รับเหมาสองเจ้าขึ้นมาพี่น้องชาวบ้านก็ต้องเลือกอยู่ข้างที่มาสร้างของที่ดีกว่าให้แน่นอน เรื่องนี้งานเข้าตัวผมอย่างไม่นึกว่าจะพาตัวเองเข้าไปพัวพันด้วย เรื่องของเรื่องคือเผอิญเป็นคนรับโทรศัพท์จากท่านสมาชิกอบต.ประจำหมู่บ้าน ว่าพี่น้องจะรวมตัวประท้วงขับไล่ผู้รับเหมาของส.ป.ก.ไม่ให้สร้างถนน ความจริงเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับนักพัฒนาการเกษตรอย่างผมที่จะไปรับรู้ แต่ในเมื่อต้องดูแลสำนักงานที่ปรึกษาแทนผู้จัดการฯ ก็พูดคุยสอบถามให้ได้ความ พร้อมทั้งรับปากว่าจะประสานฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ไปพบท่านภายในวันนี้ และสุดท้ายก็หลุดคำพูดออกไปว่า “ขอให้พี่น้องใจเย็นๆนะครับ ให้หน่วยงานเขาเจรจากันเอง ให้ผู้รับเหมาเขาหาข้อตกลงกันก่อน หากเราออกหน้าประท้วงกันอาจเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” ปรากฏว่าคำ “เครื่องมือ”ของผมกลายเป็นประเด็นขึ้นมากลบกระแสต่อต้านส.ป.ก.ไปเสีย เมื่อนักการเมืองประจำหมู่บ้านหยิบยกเอาคำพูดของผมไปแปลงเป็นว่า “อาจารย์เปลี่ยนหาว่าพวกเราตกเป็นเครื่องมือของคนอื่น” พร้อมทั้งประกาศตัวเป็นแกนนำในการต่อต้าน “อาจารย์เปลี่ยน” จะพากันไป “ฟ้องหมิ่นประมาท” ช่วงนั้นผมต้องใช้ “ความสงบสยบกระแส” ปล่อยให้ผู้จัดการสนง.ที่ปรึกษาผู้มีความเป็นเลิศในการไกล่เกลี่ยประนีประนอม ออกหน้าไปเจรจายุติปัญหาเรื่องการสร้างถนน ผ่านการช่วยเจรจาของท่านผู้จัดการ และการรับรองของกลุ่มผู้นำเครือข่ายไทบรู ปัญหาทั้งมวลก็แก้ไขได้ลุล่วง พ่อแม่พี่น้องชาวบ้านก็กลับมาต้อนรับขับสู้ผมเหมือนเก่า (ในขณะท่านผู้นำเหตุการณ์ในครั้งนั้นลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วสอบตก) เรื่องนี้ถอดบทเรียนได้ว่า คำพูดเพียงคำเดียวอาจเป็นเรื่องได้หากถึงคราวเคราะห์

หมายเหตุ บันทึกนี้เปลี่ยนเป็นผู้เขียน ผมเห็นว่าน่าจะเอามาลงในบันทึก “ลานฅนฟื้นฟู” นี้ครับ



Main: 0.11475992202759 sec
Sidebar: 0.019217967987061 sec