สระในนาคือหลักประกันการมีข้าวกิน

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 กรกฏาคม 2009 เวลา 15:09 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู #
อ่าน: 9663

วิถีชีวิต: คำกล่าวที่ว่า “ข้าวคือชีวิต” คิดว่าเราเข้าใจ แต่ในแง่ความตระหนักและสัมผัสความหมายแท้จริง อาจจะแตกต่างกัน


รูปนี้อาจจะช่วยในการมองส่วนใหญ่ของวิถีชีวิตคนอีสานได้ โดยเฉพาะที่มุกดาหาร ที่ครอบครัวต้อง “ทำนาเอาไว้กิน” เหลือขาย หรือเก็บเอาไว้แบ่งให้ญาติพี่น้อง “มีมันสำปะหลังปลูกในที่ดอน เพื่อเป็นหลักประกันในการมีข้าวกิน” และเพื่อเป็นแหล่งรายได้ที่ง่ายที่สุด มีสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ คือ วัว เพื่อเป็นออมสินยามที่จะต้องใช้เงินก้อนแบบด่วนก็ขายไป

รายละเอียดแต่ละครอบครัวนั้นแตกต่างกันไปตามเงื่อนไข เรื่องแรงงาน และพัฒนาการของครอบครัวจากอดีต ไปจนถึงความสนใจตั้งใจการเลือกอาชีพ และ….

สระน้ำประจำไร่นา: สัมผัสมาตั้งแต่ทำงานโครงการของ สปก. ที่กลุ่มป่าห้วยขาแข้ง ก็ไม่ลึกซึ้ง เพียงรับรู้ เข้าใจ ตระหนักว่า ดี มีประโยชน์ หลายประการ ควรสนับสนุนให้เกษตรกรได้รับ ฯ… แต่มาซาบซึ้งเอาตอนที่มาอยู่มุกดาหารนี่แหละครับ เพราะโครงการไปสนับสนุนขุดสระน้ำประจำไร่นา แล้วไปกระตุ้นให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากสระ ให้ปลูกพืชผักรอบสระเพื่อเอาไว้บริโภคเหลือขาย

แต่เราก็พบว่า ชาวบ้านไม่ได้สนใจการปลูกผักรอบคันสระเท่าที่ควร ตรงข้ามเรากลับพบว่าเกษตรกรดงหลวง เอาน้ำในสระน้ำประจำไร่นาไปใส่นาทั้งช่วงหว่านกล้าข้าวและใส่แปลงนาในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงนานมากเกินไป เกษตรกรบางคนปลูกข้าวที่ริมคันสระนั้นเลย จะว่าไปแล้วเกษตรกรทำผิดวัตถุประสงค์ของหลักการขุดสระน้ำประจำไร่นาที่ต้องการใช่ใช้น้ำเพื่อพืชผัก เพื่อการเกษตรผสมผสาน…??

งานสูบน้ำเพื่อการชลประทานห้วยบางทราย: โครงการนี้ลงทุนไปมาก และคาดหวังว่าจะระดมความรู้ความสามารถ กระตุ้นให้เกษตรกรมาใช้ประโยชน์เต็มที่ ตลอดช่วงที่เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันนั้น พื้นที่ใช้ประโยชน์ไม่มากเท่าที่คาดหวัง เราส่งเสริมให้ปลูกพืชแบบมีสัญญา เพราะเป็นหลักประกันในการที่จะมีตลาดรองรับผลผลิต แต่แล้วเราพบว่า เกษตรกรกลับบ่นเรื่องค่าบริการน้ำ ว่าแพงไป สูงไป อัตราการเก็บเพียง 65 สตางค์ต่อ ลบ.ม. มีเกษตรกรบางคนที่ขัดขืนในการเสียค่าน้ำบ้าง แต่คณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำก็สามารถจัดการได้ แต่ที่เป็นที่แปลกใจมากๆคือ ยามตกกล้าข้าวน้ำฝนไม่เพียงพอ เกษตรกรมาเรียกร้องให้เปิดน้ำเพื่อเอาไปใช้ตกกล้าข้าว และเมื่อปลูกข้าวไปแล้วฝนเกิดทิ้งช่วง เกษตรกรก็มาร้องขอให้เปิดน้ำเพื่อเอาน้ำใส่นาข้าว และสามารถจ่ายค่าบริการน้ำได้ครบถ้วนโดยไม่มีติดขัด ทั้งที่แต่ละคนใช้น้ำในปริมาณมากกว่าหลายเท่าตัว จ่ายเงินได้หมด ครบ….????

พิลา: แม้จะมารับจ้างขับรถให้โครงการแต่ก็ทำนาด้วย และทำได้ดีมากเพราะเอาความรู้จากเราไปดัดแปลงใช้กับอาชีพของเขา ได้แลกเปลี่ยนเรื่องการทำนากับพิลาบ่อยๆ ซึ่งในที่สุดก็ยืนยันว่า “เกษตรกรต้องการหลักประกันการปลูกข้าวนาปีเพื่อการบริโภค เกษตรกรต้องการลดความเสี่ยงจากสภาพฝนธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะมีโอกาส” ให้การปลูกข้าวเพื่อการบริโภคนั้นเกิดขึ้นได้ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม หลักประกันของพิลาและชาวบ้านก็คือ ประการแรกคือ สระน้ำในแปลงนา ประการสอง ปลูกพืชไร่ คือ มันสำปะหลังในที่ดอน หรือ อ้อย


พิลาย้ำและชวนไปดูแปลงนาในหมู่บ้านเขาว่ามีสระน้ำกลางแปลงนามากมายแค่ไหน พิลากล่าวว่า …พี่..ที่นี่มีสระน้ำเกือบทุกหลังคาเรือนครับ เพราะเอาไว้ยามฉุกเฉิน ไม่เช่นนั้นไม่ได้ข้าวกิน..

Google earth: ตกใจว่าทำไมสระน้ำในแปลงนาของเกษตรกรที่หมู่บ้านพิลาถึงมากมายเกินกว่าที่จะนึก จึงกลับมาใช้ Google earth ส่องดู ก็พบว่า สระน้ำในแปลงนาของเกษตรกรที่หมู่บ้านพิลามากจริงๆอย่างที่พิลากล่าวว่า …พี่มีสระน้ำเกือบทุกหลังคาเรือน เพราะมันเป็นหลักประกันมีข้าวกิน..!!!!???


ภาพที่เห็นนี้เป็นเพียงด้านตะวันออกและทิศเหนือของชุมชนแห่งนี้ ด้านใต้และตะวันตกยังไม่ได้เอามาแสดง ลองเข้าไปดูตัวอย่างใกล้ๆทางมุมสูงดู


ชัดเจนครับ เต็มไปหมด พิลากล่าวว่า ชุมชนของเขามีผลผลิตข้าวมากที่สุดในตำบลหรืออาจทั้งอำเภอก็เป็นได้ เพราะเกษตรกรต่าง “ตื่นตัวและแข่งกันทำนา” ให้ได้ผลผลิตสูงๆกัน แล้วเอาไปคุยอวดกันในชุมชน..

ปลูกผักบนคันสระ: พิลาบอกว่ามีน้อยมากที่จะปลูกผักบนคันสระ ไม่ถึง ร้อยละห้า หากจะมีการปลูกผักเพื่อไว้กินในครัวเรือนเขาจะปลูกไว้ที่บ้าน ปลูกอย่างเล็กน้อยพอกินเท่านั้น ถามว่าทำไมไม่ปลูกเพื่อขายด้วยเล่า พิลาตอบว่า วงจรเวลาของชาวบ้านนั้น เสร็จนาก็ลงสวน เมื่อข้าวสุกก็ลงนา หมดนาก็ไปสวนอีก เวลาทั้งวันหมดไปกับงานในสวนและนา ยิ่งแรงงานมีน้อยๆเพราะเด็กรุ่นใหม่ เขาไม่ลงนา ไม่ไปสวนกัน เขาตั้งเป้าเข้าเมืองทั้งนั้น ไม่ได้คิดจะมาทำสวนทำนาเหมือนพ่อแม่ เด็กบางคนไม่อยากไปนาด้วยซ้ำเมื่อพ่อแม่ขอร้องให้ไปช่วยก็อิดออด….

การปรับที่นา: การทำนาให้ได้ผลดีนั้นมีรายละเอียดมากมายในทางปฏิบัติ เกษตรกรสันหลังของชาตินั้นรู้ดี และตัดสินใจทันทีที่จะลงทุนเพื่อให้ได้ผลผลิตมากและมีคุณภาพ การปรับที่นาก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ แปลงนานั้นเดิมทีจะไม่เรียบที่เมื่อเอาน้ำใส่เข้า น้ำจะไปกองอยู่ในที่ต่ำของแปลง ส่วนที่เป็นระดับสูงก็จะไม่ได้น้ำ แปลงนาที่มีลักษณะเช่นนี้ เกษตรกรจะไม่ชอบ เขาจะทำการจ้างปรับที่นาให้อยู่ในระดับเดียวกันทั้งแปลง ที่เราเรียกว่า Land Leveling ซึ่งเกษตรกรบอกว่าก็ได้อาศัยกองทุนของ ส.ป.ก. มาช่วยทางด้านนี้

พิลาบอกว่า บ้านผมมีคนขาดข้าวกินสองครอบครัวเพราะไม่มีที่นา.. แต่ญาติก็ช่วยๆกัน

สรุป

  • ต้องวิเคราะห์วิถีครอบครัวเกษตรกรใหม่เพื่อให้เห็นรายละเอียด เพื่อนำมาออกแบบโครงการต่อไป…??
  • สระน้ำในแปลงนาคือหลักประกันการทำนา การมีข้าวเพื่อการบริโภคเป็นอันดับหนึ่ง เรื่องอื่นเป็นเรื่องรองลงไป
  • การปรับที่นาเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้การผลิตได้ผลผลิตสูง ปริมาณมาก
  • รายละเอียดวิถีชีวิตแต่ละภูมินิเวศย่อมแตกต่างกัน การวิเคราะห์วิถีไม่ควรสรุปภาพรวมทั้งหมดว่าเหมือนกัน..!!
  • ในกรณีที่บ้านคำเขื่อง ต.คำอาฮวน อ.เมือง มุกดาหาร ซึ่งเป็นชุมชนของพิลานั้น สระน้ำประจำไร่นาเป็นหลักประกันการทำนามากกว่าการอิงหลักประกันที่มันสำปะหลัง เกษตรกรจึงทุ่มเทการขุดสระน้ำในแปลงนามากมาย
  • การคาดหวังให้เกษตรกรปลูกผักบนคันแปลงสระน้ำในเชิงปริมาณพื้นที่นั้นเป็นการฝืนวิถีของเขา
  • กิจกรรมสระน้ำประจำไร่นาในบางภูมินิเวศวัฒนธรรมต้องปรับวัตถุประสงค์หลักใหม่



Main: 0.052181005477905 sec
Sidebar: 0.034292936325073 sec