ขอข้าวหน่อยครับ..

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 กรกฏาคม 2009 เวลา 11:07 ในหมวดหมู่ ชุมชนฅนฟื้นฟู, ชุมชนชนบท #
อ่าน: 2484

นรินทร์ เชื้อคำฮด เป็นลูกหลานชนเผ่ากะโซ่ ดงหลวง เขามีพี่น้องท้องเดียวกันถึง 13 คน ซื่อ คบง่าย ทำนาทำไร่เหมือนพี่น้องเพื่อนบ้าน จบการศึกษาแค่ ป. 4 เป็นอดีตทหารเกณฑ์ฝ่ายพลาธิการ ประจำที่จังหวัดนครปฐม เมื่อปลดประจำการก็กลับมาบ้าน สร้างเนื้อตัวด้วยวิถีกะโซ่ ก็คือทำนาทำไร่


เนื่องจากบ้านพังแดงตั้งอยู่ระหว่างภูเขาทั้งสี่ด้าน มีลำห้วยบางทรายไหลผ่าน อดีตก็เป็นชุมชนค่อนข้างปิด เพราะมีรถเข้าออกเพียงวันละเที่ยว และไม่แน่นอน เนื่องจากถนนยังไม่ได้ลาดยาง ทำเลลักษณะเช่นนี้จึงเป็นที่หมายปองของ พคท. ที่เข้ามายึดพื้นที่เป็นเขตปลดปล่อยในหลายหมู่บ้าน

กรรมการกลาง พคท.มาประจำที่นี่ พท.พโยม หรือสหายคำตัน บิดาของอดีตท่านนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์ ก็เข้าป่าที่นี่ นักการเมืองที่เห็นหน้าในจอทีวีบางคนก็เข้าป่าที่นี่ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนก็เข้าป่าที่นี่ ชาวบ้านกะโซ่เกือบทั้งหมดยกกันหนีภัยเข้าป่ากันเต็มยอดเขารอบทิศทาง สภาพเป็นบ้านแตกสาแหรกขาด


เมื่อทุกอย่างเข้าสู่ความสงบ ทุกคนลงมา กลับบ้านเกิด แต่ก็มาเผชิญความลำบากยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเท่ากับมานับหนึ่งเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ชุมชนกันใหม่หมด วัว ควายหายไปหมดสิ้น เครื่องมือทำนาทำไร่ก็ไม่มีต้องสะสม สร้างกันใหม่ เผชิญปัญหาข้าวไม่พอกินเพราะไม่มีเก็บกักไว้ ราชการก็ไม่สามารถแบกรับภาระได้ ปล่อยให้ กะโซ่กลับใจเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เผชิญกับความอดอยากอย่างรุนแรงนับแต่นั้นมา

ทุกครอบครัวต้องออกไปเอาของป่าไปแลกข้าว นรินทร์เล่าให้ฟังว่า…ตอนนั้นผมยังเล็กแค่ 4-5 ขวบ แต่เป็นความจำที่ฝังแน่น ไม่ลืม มันติดหูติดตาผมมาตลอด ครอบครัวเราต้องตระเวนไปขอข้าวกิน ผมเลือกไปที่ อ.กุดบาก ซึ่งเป็นจุดที่ไกลที่สุด แต่ที่นั่นอุดมสมบูรณ์กว่า เพื่อนบ้านย้ายกันไปที่อื่นๆเช่น อ.นาแก จ.สกลนคร แต่ก่อนขึ้นกับ จ.นครพนม บางสายไปที่ อ.นาคู หรือ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ บางสายก็ไปที่ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

เอาอะไรไปแลกล่ะ นรินทร์ ผมถาม.. อาจารย์..ผมพูดตรงๆว่า ผมไม่มีอะไรไปแลกเลยครับ.. นรินทร์น้ำตาซึมออกมา แต่อดกลั้นไว้… ผมใช้สองมือครับ ผมใช้สองมือไหว้ ขอความเมตตา สงสาร ขอข้าวตรงๆครับ เสียงนรินทร์สั่นนิดหน่อย.. ข้าวเปลือกก็เอา ข้าวสารก็เอา บางบ้านก็ไม่มีให้ ผมก็เข้าใจ เพราะเขาก็ยากจน หลายบ้านก็ใจดี บางบ้านใจประเสริฐแท้ เขาให้พักอาศัยด้วย ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะเดินทางต่อไปบ้านอื่น

ส่วนใหญ่พวกเราพักตามศาลาวัดกัน ก็ได้อาศัยข้าวก้นบาตรพระยามเช้าด้วย

มีอันตรายต่างๆไหม..ผมถามนรินทร์ เขาตอบว่า..มีครับ เพื่อนบ้านที่ไปส่วนใหญ่จะเป็นสาวจำนวนสามถึงสี่คนที่เพิ่งแต่งงาน ต่างก็มีลูกแล้วหนึ่งคน สองคน หน้าตายังผ่องใส นอกจากนี้ก็มีเด็กเล็กๆอย่างผม และมีผู้ชายสักสองคน ก็มักจะถูกนักเลงหมู่บ้านที่เราไปพักพยายามมาก่อกวนผู้หญิงของเรา บางครั้ง ผู้ชายไม่ได้นอนเลยทั้งคืน คอยอยู่ยามเฝ้า.. การมีเด็กเล็กๆไปอย่างผมนั้น ก็ให้ดูน่าสงสาร (เหมือนปัจจุบันเลย..) การไปขอข้าวแต่ละครั้งใช้เวลาสองคืนสามวัน ได้ข้าวเปลือกประมาณสอง สาม กระสอบ แล้วก็ขอเงินนั่งรถกลับดงหลวง เมื่อหมดข้าวก็ไปอีก แต่จะไม่ซ้ำหมู่บ้านกัน..

ความอยากอาย(สำนวนอีสาน) ทำให้ในระยะเวลาต่อมาพยายามบุกเบิกป่าเพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ปลูกข้าวไร่ พันธุ์พื้นบ้านชื่ออีดำอีแดง เมล็ดโต สั้น กลมใหญ่ เวลานึ่งใช้เวลานาน และเหนียวติดมือ เนื่องจากดินบนภูเขาสมบูรณ์มาก ข้าวอีดำอีแดงงามมาก กอใหญ่ พวกเราจึงไปขอข้าวกินลดลง แต่การปลูกข้าวไร่บนภูนั้นขึ้นกับธรรมชาติ บางปีฝนแล้งก็ไม่ได้ผล การตระเวนไปแลกข้าว ขอข้าวก็ยังมีอยู่

หลายปีต่อมาพวกเราบุกเบิกพื้นที่รอบๆหมู่บ้านที่ค่อนข้างราบมากขึ้น เพื่อใช้ปลูกข้าว บ้านเมืองพัฒนาไป เทคโนโลยี่ใหม่ๆเริ่มเข้ามาคือรถไถนายี่ห้อฟอร์ด มาจากอุทัยธานี รับจ้างไถ บุกเบิกที่นาที่ไร่ใหม่

พวกเราออกจากป่ามาได้ 4-5 ปี มันสำปะหลังก็เริ่มเข้ามา และใช้เวลาอีกสัก 4-5 ปี ก็เต็มพื้นที่บ้านพังแดงและบ้านอื่นๆด้วย เพราะปลูกง่าย สมัยนั้นอาคารบ้านเรือนทั้งหมดเป็นกระต๊อบไม้ไผ่ หลังย่อมๆ มุงด้วยใบไม้ ไม่มีเรือนไม้อย่างดีแบบปัจจุบัน เพราะพวกเราไม่มีเครื่องมือและไม่มีประสบการณ์ เมื่อชุมชนเริ่มเปิด เทคโนโลยี่ต่างๆก็เข้ามา ขายมันสำปะหลังได้สามปีก็สามารถปลูกบ้านด้วยไม้จริงหลังใหญ่ได้แล้ว

แม้ว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ชุมชนเราตั้งอยู่ในหุบเขา มีพื้นที่จำกัด ขยายออกไปก็ไม่ได้เพราะเป็นเขตป่าสงวน ชีวิตเราจึงปลูกข้าวกับมันสำปะหลัง เพราะครอบครัวพวกเราไม่ได้คุมกำเนิดประชากรก็เพิ่มขึ้น การขาดแคลนข้าวกินก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน ที่กำลังมาถึงนี่แหละ บางปีมีครอบครัวที่ไม่มีข้าวกินมากถึงร้อยละ 70

นรินทร์บอกว่า มีอยู่สองสามทางที่ชาวบ้านแก้ไขคือ ปลูกมันสำปะหลังเพื่อขายเอาเงินมาซื้อข้าวกิน หรือส่งลูกไปทำงานในเมืองส่งเงินมาซื้อข้าว และหนทางสุดท้ายคือ หาของป่าไปแลกข้าวหรือไปขอข้าวตรงๆ..


นรินทร์เล่าให้ฟังประสบการณ์ฝังลึกอีกเรื่องหนึ่งคือ มีอยู่ปีหนึ่งเราไม่มีข้าวกินเลย นรินทร์ยังเด็ก หิวข้าวมาก ก็ร้องให้ พี่ชายไม่รู้จะทำอย่างไรก็ไปขุดหัวมันสำปะหลัง จำได้ว่าเป็นพันธุ์ระยอง 3 เอามาต้มกิน…

นรินทร์เป็นกะโซ่ไม่กี่คนที่ดิ้นรนหนีความทุกข์ยากจนพอลืมตาอ้าปากได้ เงินที่เขาเก็บออมไว้นำมาลงทุนเปิดสถานที่ขายน้ำมันเล็กๆในชุมชนบ้านพังแดง กิจการของเขาไปได้ดี กำลังขยายกิจการไปขายปัจจัยการผลิตการเกษตรอื่นๆอีก…


นรินทร์ดิ้นหลุดบ่วงนี้ไปแล้วจะไปพบบ่วงอื่นอย่างไรอีก..?

เพื่อนบ้านอีกจำนวนไม่น้อย ยังวนเวียนอยู่ในวงจรเดิมๆ…?

“งานพัฒนาชนบทเป็นงานที่ยาก คิดง่าย แต่ทำยาก” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ



Main: 0.039456129074097 sec
Sidebar: 0.042274951934814 sec