ทำอะไรได้เพื่อเติม “ปัญญาเด็ก” ก็ทำไป

อ่าน: 2199

อ่านประกาศฉุกเฉินของน้องเบิร์ดแล้ว ถอนหายใจเฮือก ก็เรื่องของ IQ เป็นเรื่องของปัญญา เวลาพูดถึง “ปัญญา” ในกลุ่มของผู้ใหญ่ก็มีเรื่องถกเถียงกันไม่จบ บ้างใช้อ้างถึง “ความคิด” บ้างใช้อ้างถึง “การรู้” บ้างใช้กับ “ผลการตัดสินใจที่ได้รับการยอมรับ” ฯลฯ

กว่าที่ผู้ใหญ่จะมี “ปัญญา” ชีวิตก็ได้ผ่านอะไรมามากมาย กว่าจะปิ๊งได้ปัญญา อารมณ์ก็ผ่านมรสุมมาหลายลูก

ส่วนตัวนั้นไม่สามารถวัด IQ แม้จะเป็นหมอก็วัดไม่เป็น จึงไม่ใคร่ใช้คำว่า IQ คุยกับพ่อแม่ ครู

รู้จักคำนี้ก็แต่ว่า เป็นมาตรวัด “ความฉลาด”   ความฉลาดนี้หมายถึง “ความสามารถในการทำงานของสมอง” ที่ใช้กันอยู่มาจาก การหามาตรเทียบการทำงานของสมองมาไว้มาตรหนึ่งเพื่อใช้ประโยชน์

มาตรนี้ได้จากการรวบรวมความสามารถของเด็กที่อายุหนึ่งๆ ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วลงมือทำอะไรเองได้บ้าง แล้วเรียกความสามารถนี้ว่า “อายุสมอง”

ความสามารถที่ว่านี้เป็นผลรวมของหลายอย่างๆ เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ผัสสะทั้ง 5 กับสมองประมวลร่วมกันออกมา เวลาประมวลผลมีทักษะที่ต้องนำไปใช้หลายด้าน ทั้งด้านการคิดวิเคราะห์ วิชาการ ความจำ อ่าน เขียน คำนวณ การใช้ภาษา  ความเร็วของการตอบสนอง ความเร็วของการคำนวณ

เวลาวัดก็นำความสามารถจริงไปเทียบกับมาตรวัดที่พูดถึงนี้ คำนวณออกมาเป็นตัวเลข เทียบสูตร เทียบอายุสมองกับอายุจริงตามปีปฏิทิน

มาตรวัดที่มีใช้กันอยู่เป็นตัวเลขจากฝรั่งทำไว้ เวลาได้คะแนนความฉลาดส่วนนี้มา จึงแปลความเทียบเด็กทั่วโลกได้เลย

เพื่อให้เข้าใจ ลองมาดูกันถึงวิธีวัดที่พอจะรู้ จากตัวอย่างอายุสมองเด็ก 7 ขวบ ซึ่งทั่วไปจะมีความสามารถในการใช้อวัยวะ การรับรู้ การสื่อสาร  และการคำนวณอยู่ดังนี้

” ยกมือขวา จับหูซ้าย ได้ถูกต้อง + อธิบายสิ่งที่เห็นในภาพได้ + ทำตามคำสั่งที่มี 3 คำสั่งได้ +  นับค่าเหรียญที่มีค่าต่าง ๆ 6 เหรียญรวมกันได้”   รวม 4 ความสามารถ

เด็กคนไหนที่อายุตามปฏิทินได้ 7 ขวบ ทำได้ครบทั้ง 4 ข้อไม่มีเกินเลย ก็ถือว่าเด็กคนนี้มีอายุสมองเท่าอายุจริง

เด็กคนไหนอายุจริงตามปฏิทิน 7 ขวบ แต่ความสามารถกลับเกินเลยไปเท่ากับเด็กที่มีอายุสมอง 12 ขวบ เด็กคนนั้นถือว่า ฉลาดกว่าอายุจริง หรือ หมายถึง มีความสามารถเกินอายุจริง  อย่างที่คนโบราณเรียกว่า “แก่แดด” นั่นแหละ

เด็กคนไหนที่อายุจริง 7 ขวบ แต่ความสามารถทำได้ไม่ครบ 4 ข้อข้างบน เด็กคนนี้ถือว่ามีสมองที่พัฒนาช้ากว่าเด็กอายุเดียวกัน

ในส่วนตัว จึงสรุปเรื่อง IQ ไว้ใช้ว่า ในแง่ความสามารถ เด็กคนไหนโตกว่าอายุ  เด็กคนไหนพร่อง

แล้วค้นต่อหาต้นเหตุเพื่อร่วมแก้และเติมความสามารถที่พร่องไปนั้น

เท่าที่สามารถทำให้ก่อนเกิดความพร่องด้านความสามารถในงานที่ทำๆอยู่ ก็ทำเรื่องไม่ให้ขาดสารอาหารจำเป็นนี่แหละน่า เพื่อให้กายภาพของสมองออกมาดี และนั่นเป็นที่มาของการเสริมไอโอดีน ธาตุเหล็ก อย่างที่เคยเล่าให้ฟังกัน

« « Prev : สภาพโรงพยาบาลสนามในพื้นที่เกิดแผ่นดินไหว

Next : สิ่งแวดล้อมบั่นทอน IQ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 เวลา 20:33 (เย็น)

    ใช่เลยค่ะพี่ตา ทำอะไรได้ทำเถอะ อย่าเกี่ยงว่าไม่ใช่หน้าที่ เพราะที่ผ่านมาเวลาเกิดปัญหาทีไรต่างฝ่ายต่างก็ชี้ที่คนอื่น พ่อแม่ชี้ครู ครูชี้พ่อแม่ เจ้าตัวเล็กอยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่ายสวนหมัด ก็เมาหมัดเป๋ไปเลย

    ที่พี่ตาพูดนั้นถูกเลยค่ะ ไอโอดีน รวมทั้งพัฒนาการเด็ก ไม่ว่าจะใช้อะไรในการดูแล ตั้งแต่การสังเกต คำถามง่ายๆ หรือแบบประเมินเช่นอนามัย 49 ก็ทำเถอะ อย่างน้อยพัฒนาการสมวัยก็เป็นการคัดกรองได้อย่างหนึ่งว่าเด็กคนนี้น่าจะพอไหว IQ EQ ไม่น่าจะแย่มาก เพราะพัฒนาการแต่ละช่วงวัยคือหลักกิโล ของ IQ EQ เลยล่ะค่ะ

    ไม่ทราบว่ากระบี่เจอปัญหาเหมือนชร.มั้ยน่ะค่ะพี่ตา คือคลินิก Well baby ไม่สามารถคัดกรองพัฒนาการเด็กที่มารับบริการได้ 100% เพราะพ่อแม่ไม่พาเข้าตรวจ เน้นที่ฉีดวัคซีนแล้วกลับมากกว่า ทำให้ยอดจริงๆน่าจะไม่ตรงกับรายงาน ที่ผ่านมาเบิร์ดลงตรวจเองด้วย(ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่นี่แหละ) พบว่า เด็กมาฉีดวัคซีน 80-100 ราย ได้ตรวจพัฒนาการแค่ 20-30 ราย เท่านั้น เรียกว่าไม่เกิน 30 % ของเด็กที่มารับวัคซีนน่ะค่ะพี่ตา ไม่ต้องถามถึงจุดที่เหลือเช่นโภชนาการเลย ไม่ครบเช่นกันค่ะ

    การหลุดจากตรงนี้ทำให้ไปเจออีกทีก็ในศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งตอนนั้นเด็กมักจะมีปัญหาเรื่อง Expressive language(การพูด) - Receptive language(ความเข้าใจภาษา) กล้ามเนื้อมัดเ็ล็ก และ การช่วยเหลือตัวเองและสังคม ถ้าเราสามารถเชื่อมข้อมูลพัฒนาการเด็ก กับศูนย์เด็กเล็กได้ จะเห็นภาพรวมชัดขึ้นค่ะ ตอนนี้ชร.กำลังหาทางเชื่อมข้อมูล 2 สถานที่นี้อยู่ เพื่อให้เด็กๆได้รับการติดตามอย่างชัดเจนขึ้นน่ะค่ะ ซึ่งหวังให้เด็กเข้าสู่วัยเรียนได้ดีกว่าการไม่ได้เตรียมอะไรเลย รวมทั้งคุณครูในระดับประถมฯก็สามารถทราบพัฒนาการของเด็กคนนี้ได้ เพื่อส่งต่อกันอย่างเป็นระบบจนกว่าเด็กจะออกจากการศึกษา

    “กิน”(โภชนาการที่ถูกต้อง) “กอด”เค้าเยอะๆ “เล่น” กับเค้า ให้เค้ามีเวลาเล่นอย่างมีความสุขกับชีวิต และ “เล่า”นิทาน เรื่องราวต่างๆให้ลูกฟัง เป็นคำสั้นๆที่เราชวนให้ผู้ปกครองมาเริ่มกันเถอะเนาะคะพี่ตา

    ขอบคุณสำหรับการมองเห็นความสำคัญค่ะ ^ ^

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 เวลา 23:44 (เย็น)

    รพ.พี่ทำงานเรื่องพัฒนาการเด็กมากว่า 20 ปีแล้ว หมอเด็กเข้ามา take role ตั้งแต่เริ่มมีกุมารแพทย์คนแรกโน่นเลย แต่เราไม่เล่นเรื่อง IQ รู้ไปก็แปะเอี่ย ต้องทำเรื่องกระตุ้นพัฒนาการอยู่ดี

    การประเมินพัฒนาการที่ใช้ก็ใช้ Danver มากว่า 10 ปีแล้ว เพราะว่าละเอียดดี ช้าเล็กๆรู้เลย รู้เร็ว แก้เร็ว ก็ดีเร็ว กระบวนตรวจพัฒนาการของรพ.พี่ ใส่เข้าไปก่อนสั่งฉีดวัคซีน ช่วยกันทำทั้งหมอและพยาบาลค่ะ ไม่หลุด ทำแล้วพ่อแม่ชอบ

    วันนี้ forward มาถึงให้พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็กวัดตัว ชั่งน้ำหนัก แล้วแปลเองได้ด้วย โภชนาการเลยไม่หลุดประเมิน

    ที่หลุดตอนนี้น่าจะเป็น เรื่องน้ำหนักเกินมั๊ง (ไม่ได้เข้าไปรับรู้กระบวนการนานแล้ว) ที่ไม่ได้ผ่องถ่ายความรู้ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเด็ก

    ที่ศูนย์เด็กเล็กก็ไปดักไว้ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีทีี่่แล้ว โชคดีได้ภาคีดีมั๊ง ครูในรร.สนใจ วันนี้เลยได้ทางศูนย์ช่วยส่งต่อเด็กกลับมาได้เร็ว

    มี connection ตั้งแต่แรกเกิดไปที่โรงเรียนเด็กพิเศษด้วย รับลูกกัน ช่วยกันในเรื่องเด็กพัฒนาการช้าแต่เกิด วันนี้มีครูตามมาสอนเด็กที่ป่วยให้ด้วยทั้งเด็กพิเศษและเด็กทั่วไป (มาสอนในหอผ้ป่วยของรพ.)

    เล่านิทานไปได้มั่งแล้ว ยังไม่วิ่งฉิว เหลือแต่เปิดโอกาสให้ “กอด” นี่แหละที่ยังลุ้นพยาบาลไม่ขึ้น ลุ้นมา 2 ปีแล้วยังเฉยๆกัน ไม่รู้ทำไม


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.055817127227783 sec
Sidebar: 0.10033679008484 sec