อาหารและน้ำดื่มกับโลหะหนัก

อ่าน: 2826

นับแต่โลกเจริญด้วยวิทยาศาสตร์ โลหะก็เป็นสารที่พบอยู่ทั่วไปทุกแห่งหน แถมมาด้วยมีการปนเปื้อน อยู่ในแหล่งอาหารและน้ำอุปโภค บริโภค

เหตุที่มาของการปนเปื้อนโลหะในอาหาร มีสาเหตุสำคัญอยู่  3 เรื่อง คือ วงจรธรรมชาติในห่วงโซ่อาหาร วงจรของเสียทางอุตสาหกรรม และวงจรในกระบวนการผลิตอาหาร

ธรรมชาติที่มีโลหะปนเปื้อน เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวต้นเหตุ ดิน น้ำ อากาศ พืชและสัตว์ ตามวงจรธรรมชาติที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารเป็นแหล่งซึ่งนำพาต่อๆกันมา

โรงงานผลิตสารเคมี ถลุงโลหะ หล่อหรือผสมโลหะ และโลหะที่ถูกส่งออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งเป็นก๊าซ ของเหลว และของแข็ง เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สร้างปัญหา

อาหารที่ปนเปื้อนโลหะมาจากกระบวนการที่ไปสัมผัสกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ระหว่างผลิต ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ที่มีโลหะผสม เป็นเหตุซ่อนที่ผู้คนมักนึกไม่ถึง

เมื่อร่างกายคนรับโลหะเข้าไป บางชนิดแม้รับจำนวนน้อยก็เป็นพิษต่อคน บางชนิดก็มีประโยชน์ต่อการสร้างความเจริญเติบโตให้ แต่หากรับจำนวนมากเกินควรก็ทำให้เกิดพิษได้เช่นกัน

โลหะบางชนิดสะสมในร่างกายได้นาน บางชนิดขับถ่ายทิ้งไปได้เร็ว วันนี้ในบ้านเรายังไม่มีหน่วยงานที่จัดข้อมูลระบุประเภทไว้ให้คนไทยได้ใช้งานว่าโลหะชนิดใดเป็นสารปนเปื้อนอาหาร ชนิดใดไม่ใช่

มีก็แต่ในทางการแพทย์ที่ได้ให้ข้อมูลของโลหะที่เป็นพิษไว้เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ควรจะเฝ้าระวัง หรือค้นหาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนเจ็บป่วยหรือไม่แก่สังคม

โลหะเหล่านี้ ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ดีบุก สารหนู ทองแดง สังกะสี และเหล็ก

ตะกั่ว การปนเปื้อนของตะกั่วนั้นมีเส้นทางผ่านมาทางอากาศเป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90)

ไอเสียรถยนต์เป็นตัวแพร่กระจายที่สำคัญ น้ำมันรถยนต์ที่ใส่สารประกอบตะกั่ว (lead tetraethylene) เพื่อกันเครื่องยนต์น็อคคือต้นแหล่งให้ตะกั่วออกมา

พืชผักที่ปลูกใกล้ถนนก็เป็นแหล่งแพร่ได้ เพราะมีโอกาสปนเปื้อนตะกั่วสูง ดินบางแห่งเช่น บริเวณใกล้โรงงานถลุงแร่ หรือโรงงานอุตสาหกรรมก็เป็นแหล่งแพร่ตะกั่วได้

ตะเข็บรอยต่อของกระป่องบรรจุอาหารที่มีแผ่นเหล็กเคลือบดีบุกมาเชื่อมต่อกันก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งแพร่ของโลหะหนัก

ที่ใดที่มีการผลิตอาหารบรรจุกระป๋องจึงพึงระวังการบรรจุผลิตภัณฑ์ให้มากไว้  เพราะว่ามีโอกาสที่ตะกั่วบริเวณตะเข็บกระป๋องด้านในจะละลายลงในอาหารได้

ในช่วงที่กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเรื่องอาหารปลอดภัย ก็ได้สุ่มตรวจเรื่องการปนเปื้อนของตะกั่วในอาหารไว้ด้วย และพบตะกั่วในอาหารเกือบทุกประเภท

1 ใน 3 ของอาหารที่มีตะกั่วปนเปื้อนเป็นอาหารกระป๋อง เพื่อลดปัญหานี้ จึงต้องพัฒนาวิธีเชื่อมกระป๋องบรรจุอาหารที่ปลอดภัยกว่าวิธีเดิม

วันนี้การดำเนินงานอาหารปลอดภัย ยังคงต่อเนื่องอยู่ในรูปแบบของการตามรอย สุ่มหาต้นตอ ซึ่งก็พบว่า หม้อก๋วยเตี๋ยว คูลเลอร์น้ำ เครื่องมือทำน้ำเย็นที่มีรอยเชื่อมด้วยตะกั่ว ล้วนแต่สามารถเป็นแหล่งแพร่ให้น้ำที่บรรจุปนเปื้อนตะกั่วได้

ปรอท แหล่งแพร่กระจายของปรอทพบในของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น โรงงานผลิตคลอรีน เครื่องใช้ไฟฟ้า สีทาบ้าน และอื่น ๆ เมื่อปรอทลงไปสู่สิ่งแวดล้อม จะไปสะสมในแพลงตอนและเข้าสู่วงจรอาหาร ทั้งพื้นที่น้ำจืด น้ำเค็มชายฝั่ง พบปรอทในสัตว์น้ำมากกว่าอาหารอื่น

มีบัคเตรีในน้ำบางชนิดเปลี่ยนปรอทในรูปอนินทรีย์ซึ่งมีพิษไม่มากให้เป็นสารอินทรีย์ เช่น เมทิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ซึ่งมีพิษสูงได้

แคดเมียม ในพื้นที่ที่มีการถลุงแร่สังกะสี ตรงนั้นจะมีแคดเมียมฟุ้งกระจายในอากาศและลงสู่แหล่งน้ำ แคดเมียมมักอยู่รวมกับสังกะสีในดิน อุตสาหกรรมการเคลือบโลหะ การผลิตสีผสมพลาสติกและสีทาบ้าน ก็ปล่อยโลหะนี้ออกมาสู่สิ่งแวดล้อมด้วย

แคดเมียมอยู่ในร่างกายได้นานเป็นสิบปี สะสมอยู่ในตับและไต พิษจากอาหารที่ปนเปื้อนแคดเมียมยังพบไม่มาก

ดีบุก ไทยเป็นแหล่งแร่ดีบุกใหญ่แห่งหนึ่งในโลก ดีบุกสะสมอยู่ในพืชได้น้อยกว่าตะกั่ว  ที่กระป๋องบรรจุอาหารทำจากแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก ก็เพื่อป้องกันการกัดกร่อนของเหล็ก มีการเคลือบทับด้วยสารสังเคราะห์บางประเภทอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันดีบุกละลายผ่านออกมา

การนำกระป๋องแบบนี้ไปบรรจุอาหารที่มีสารบางชนิดปนอยู่ หรือเก็บอาหารกระป๋องในที่ร้อน ทำให้ ดีบุกละลายมาอยู่ในอาหารได้

ออกซิเจนจากอากาศเป็นตัวเร่งให้ดีบุกละลายมากขึ้น อาหารกระป๋องที่เปิดแล้วจึงมีดีบุกละลายปนได้

เคยมีรายงานการป่วยเนื่องจากพิษเฉียบพลันจากการดื่มน้ำผลไม้กระป๋องซึ่งมีดีบุกปนเปื้อนมากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อลิตรมาแล้วในต่างประเทศ  อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินและมีไข้ เป็นอาการป่วยที่เขาเจอ

สารหนู ธาตุกึ่งโลหะอย่างสารหนู  ในธรรมชาติมักพบเป็นสินแร่ เป็นสารประกอบกับธาตุอื่น ๆ เช่น เหล็ก ทองแดง นิเกิล ในรูปอาร์เซไนด์ หรือ ซัลไฟด์ หรือ ออกไซด์ ใน ประเทศไทยพบในรูปอาเซโนไพไรต์ หรือที่เรียกว่า เพชรหน้าแท่น มากกว่ารูปอื่น

แร่นี้เป็นสารประกอบของธาตุเหล็ก สารหนู และกำมะถัน มักพบร่วมกับดีบุก พลวง และวุลแฟรม เป็นแร่ที่ผุพังสลายตัวละลายน้ำได้ง่ายจึงละลายอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไป

โรงงานอุตสาหกรรม ที่ผลิตสารกำจัดหนู แมลง เชื้อรา และวัชพืช  อุตสาหกรรมผลิตแก้ว เซรามิก กระจก กระจกสีและสีย้อม ยารักษาสัตว์ อาหารเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์  ยาสมุนไพรไทยและจีนบางตำรับ คือแหล่งแพร่กระจายสารหนูที่สำคัญ

วันนี้ในอาหารทั่วไป ยังพบสารหนูปนเปื้อนอยู่ ปริมาณที่พบต่ำกว่าค่ากำหนด ( 2 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม) และพบสูงในแหล่งน้ำธรรมชาติของท้องถิ่นที่มีการทำเหมืองแร่  การนำน้ำจากบ่อหรือห้วยมาดื่มโดยตรงจึงไม่ควรกระทำ

ที่ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวักนครศรีธรรมราช เคยมีผู้มีอาการผิวหนังดำที่เรียกว่า ไข้ดำจำนวนมาก ซึ่งเป็นอาการพิษของสารหนูนี้เกิดขึ้นมาแล้ว และวันนี้ก็มีปรากฏการณ์ของโรคพิษสารหนูเรื้อรังที่ก่อการให้กลายเป็นมะเร็งผิวหนังของคนที่เคยทำงานนั่นสูงด้วย

หากจำเป็นต้องใช้น้ำจากแหล่งที่มีการขุดแต่งแร่ดีบุก พลวง และวุลแฟรม หรือแหล่งอุตสาหกรรม ควรตกตะกอนด้วยปูนขาวหรือกรองผ่านผงถ่านก่อน จะช่วยให้ปริมาณสารหนูลดลงได้อย่างมาก

ธาตุจำเป็นของร่างกาย สังกะสี ทองแดง และเหล็ก เป็นธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ต้องได้รับเป็นประจำ ไม่งั้นการเจริญเติบโตของร่างกายจะผิดปกติ แต่ได้รับมากเกินไปก็ก่ออันตรายได้  เนื้อสัตว์ ปลา ธัญพืช และนม เป็นแหล่งสำคัญของสังกะสี ส่วนทองแดงและเหล็กพบในอาหารทั่วไป

« « Prev : ล้างผักให้ปลอดสารทำได้แค่ไหน

Next : น้ำส้มควันไม้กับน้ำส้มสายชู » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 สิงหาคม 2011 เวลา 2:27 (เช้า)

    พวกฝรั่งเขาทำวิจัยกันไว้มาก ออกกฎหมาย ส่วนไทยเราเรียนตามเขา กว่าจะตามทันก็ 20 ปี ในช่วง 20 ปี บริษัทต่างชาติเก็เข้ามาลงทุน ทำกำไรมหาศาล (เพราะทำในประเทศตนไม่ได้..เนื่องจากกฎหมายกำหนดห้าม)

    ในช่วง 20 ปีนี้..คนไทย ตายตรง และผ่อนส่งไปกี่ล้านคน …ไม่เคยมีใครศึกษา ทั้งที่ได้รับ ดีกรี ดร. มาติดฝาบ้านกันมากหลาย อิอิ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 กันยายน 2011 เวลา 23:35 (เย็น)

    เรื่องของสารเคมีกับสุขภาพนี่มีเบื้องหลังมากมายเลยค่ะอาจารย์ บรรดาหมอๆที่ออกมามีบทบาทพากันดังแล้วดับเพราะทำงานแล้วไปสะดุดตาปลาขัดผลประโยชน์นายทุนมาหลายคนแล้ว

    มีการเมืองระหว่างประเทศก็เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยค่ะอาจารย์ มีประเทศหนึ่งที่มีสัมพันธภาพยาวนานมาแต่ยุคประวัติศาสตร์ก็กำลังฮึ่มๆขู่เรื่องหนึ่งอยู่ว่า แตะเมื่อไรสัมพันธภาพระหว่างประเทศจะเปราะบางเมื่อนั้น

    งานในแวดวงนี้จึงไม่เกิดซะที ทั้งๆที่ชาวบ้านต้องการพึ่งพา การพัฒนาที่ช้ากว่าทำให้วันนี้กฎหมายของเราอ่อนแอ ตามไม่ทันโลกด้วยค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.049931049346924 sec
Sidebar: 0.23469400405884 sec