รัฐสวัสดิการด้านสุขภาพ V.S. สุขภาพดีถ้วนหน้า

อ่าน: 4246

คำว่า “สุขภาพดีถ้วนหน้า ( Health for All = HFA )” ปรากฏขึ้นในสังคมไทยเมื่อราวๆปี 2524  ในตอนนั้นคนก็ฮือฮาว่ากระทรวงสาธารณสุขจะทำได้ยังไง  เพราะเมื่อได้ยินถ้อยคำที่ใช้ก็จินตนาการกันไปตามความเข้าใจ  ตอนนั้นมีคำประกาศว่าจะทำให้สำเร็จภายในปี 2543 ด้วยนะ

เมื่อครบกำหนดปี 2543 กระทรวงสาธารณสุขก็ประกาศผลของการดำเนินการให้โลกรู้ ซึ่งปรากฏว่าปรากฏการณ์ที่ดำเนินอยู่เป็นรูปแบบหนึ่งของการวิจัยเพื่อพัฒนา ซึ่งผลของการวิจัยนั้นได้ถูกหยิบแต่ละมุม มาพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้ประเทศไทยเรื่อยมา และ ณ ปัจจุบันนี้ ก็ยังมีการหยิบมุมของงานบางอย่างมาสานต่อภายใต้โครงการ 30 บาท

วันนี้จึงมาชวนย้อนดูว่า ผู้คนที่ทำงานตอนนั้น กำหนดกรอบของมันไว้เป็นเรื่องอะไร และในวันนี้มีอะไรที่ยังดำเนินการอยู่

นิยามของ “สุขภาพดีถ้วนหน้า” คือ การที่ทุกคนเกิดมามีชีวิตยืนยาวและมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ ไม่เจ็บป่วยด้วยสาเหตุที่ไม่จำเป็น และสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม สามารถดำรงชีวิตอยู่ และสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างมีคุณภาพ และตายอย่างมีศักดิ์ศรี

เห็นความหมายทั้งหมด ก็เห็นคุณภาพชีวิตที่คนต้องการ อย่างนี้นี่เล่าการดำเนินการในช่วงกำหนดกรอบจปฐ.จึงเป็นเรื่องราวเหล่านี้

หลายท่านคงยังไม่ทราบว่า งานสาธารณสุขในวันนี้ มิได้มีกระทรวงสาธารณสุขเพียงหนึ่งเดียวเป็นผู้กำหนดทิศ แต่มีภาคีด้านนโยบายเข้ามากำหนดกรอบให้ด้วย  ภาคีที่ว่านั้นเข้ามาเอี่ยวในการชี้ทิศผ่านโครงการสวัสดิการภาครัฐ ซึ่งในวันนี้ดำเนินการในรูปของกองทุนสวัสดิการ

กองทุนที่ว่านี้มีทั้งหมด 5 กองทุนแล้ว กองทุนหนึ่งที่รู้จักกันมานานแล้ว ก็คือ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและลูกจ้างประจำ   กองทุนอีก 4 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคม  กองทุนเงินทดแทน กองทุนโครงการ 30 บาท และกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ

จะว่าไปแล้วการถือกำเนิดขึ้นของกองทุนก็มาจากเจตนารมย์ “สุขภาพดีถ้วนหน้า” นี่แหละ

วันนี้ขอบอกว่า เจตนารมย์นี้ถูกนำมาปฏิบัติกันโดยคนทำงานด้านสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนกันทั่วทุกระดับแล้ว

กลไกสำคัญที่ช่วยประสานให้ทุกภาคส่วนในงานสาธารณสุขนำเจตนารมย์นี้แทรกไว้เป็นทิศทางของการทำงาน คือ มาตรฐานสถานบริการ ซึ่งมีคำใช้คำเรียกต่างไปแล้วแต่เป็นถ้อยคำที่ค่ายใดใช้  ตัวอย่างของมาตรฐานที่กล่าวถึงอยู่นี้มีคำคุ้นๆที่ชื่อว่า “HA” นั่นแหละค่ะ

การขับเคลื่อนโดย HA ทำให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นในระบบงานของรพ.  และมีการพัฒนาระบบงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ที่ตั้งใจให้เกิดนั้นวัดได้

กองทุน 5 กองทุน เป็นภาคีกำหนดทิศงานสาธารณสุขด้วยผลผลิตบริการที่กองทุนต้องการขับเคลื่อน  การเข้ามาเอี่ยวกับการดำเนินงานภายใต้เจตนารมย์ของสุขภาพดีถ้วนหน้าจึงมีความแตกต่างกัน  ความแตกต่างนี้ทำให้งานสาธารณสุขแยกส่วนจนทำให้ในช่วงหนึ่งประสิทธิภาพการทำงานโหลยโท่ยลง

มาเรียนรู้กันว่ากองทุนไหน มีเอี่ยวกับเจตนารมย์ใดกันค่ะ

1. ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้

เดิมมีแต่กองทุนโครงการ 30 บาท เท่านั้นที่ใช้เจตนารมย์นี้ดูแลคนไทย ตัวอย่างผลผลิตบริการก็เช่นเรื่องวัคซีนที่เคยเล่าแล้ว

วันนี้เริ่มมีเสียงจากกองทุนข้าราชการและลูกจ้างประจำเกี่ยวกับเจตนารมย์นี้บ้าง ในระดับความเห็นส่วนบุคคล แต่เจตนารมย์ระดับกองทุนยังไม่ชัด

2. เมื่อเจ็บป่วย สามารถเข้าถึงและใช้สถานบริการได้อย่างเหมาะสมและทัดเทียมกัน

ทั้ง 5 กองทุนใช้เจตนารมย์นี้ดูแลภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนดให้ทำได้ ตัวอย่างผลผลิตบริการก็เช่น

ค่าห้องพิเศษ รักษารพ.ไหนก็ใข้สิทธิได้สำหรับกลุ่มเบิกราชการได้

ถ้าใช้บริการฉุกเฉิน ค่ารักษาพยาบาลภายในเวลาที่เริ่มป่วยจนครบ 72 ชั่วโมงเบิกจากกองทุนได้สำหรับกลุ่มสิทธิประกันสังคมและบัตรทอง

บาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ขอค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นได้ทุกคน ไม่ว่าจะมีประกันรถหรือไม่มีจากกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ

บาดเจ็บจากการทำงาน ขอค่ารักษาพยาบาลได้จากกองทุนเงินทดแทน

3. มีชีวิตยืนยาว มีคุณค่าและสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคม

วันนี้ที่ชัดเจนก็มีแต่กองทุนโครงการ 30 บาท เท่านั้นใช้เจตนารมย์นี้ดูแลคนไทย ตัวอย่างผลผลิตบริการเช่น การให้ยาต้านโรคเอดส์แก่ผู้ติดเชื้อ ที่ฮือฮาไปทั้งโลกกับเรื่องของต้านลิขสิทธิ์ยา ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของชาติตะวันตก

4. ตายอย่างมีศักดิ์ศรี

ที่ชัดเจนมีแต่กองทุนบางกองทุน ตัวอย่างผลผลิตบริการเช่น

การดูแลแบบใกล้บ้านใกล้ใจ ในโครงการ 30 บาท   การให้สวัสดิการจากกองทุนในกรณีเสียชีวิตจากกองทุนประกันสังคม กองทุนทดแทน

ทั้งหมดนี้คือผลลัพธ์ที่ดำเนินการมาตลอดภายใต้แผนพัฒนาด้านสาธารณสุขในเชิงระบบ ที่กำลังคนภาคสาธารณสุขภาครัฐที่มีอยู่ราวๆ 3 แสนคน ผลัดเปลี่ยนกันไปนั่งห้องแอร์ สุมหัวช่วยกันคิด ช่วยกันพัฒนา ช่วยกันขับเคลื่อน  ซึ่งกว่าจะได้ผลงานมาในระดับนี้ก็มีเรื่องราวที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งมากมายด้วยนะ

วันนี้ถ้าไปที่ไหนก็มีคนชวนให้ตรวจสุขภาพ และแปลผลเป็นเรื่องอ้วน เบาหวาน ความดันเลือดสูง ก็ไม่ต้องแปลกใจนะคะ เพราะว่านั่นคือผลผลิตบริการส่วนหนึ่งตามเจตนารมย์ของสุขภาพดีถ้วนหน้า

« « Prev : จปฐ.กับโครงการ 30 บาท

Next : เรื่องยุ่งๆของยุง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2011 เวลา 17:40 (เย็น)

    โห..หมอเจ๊ ผมเพิ่งตาสว่าง มันสามแสนคนแล้วหรือ พอๆ กับตำรวจเลยนะเนี่ย และ พอๆ กับครูด้วย สามกลุ่มนี้รวมกันแล้วได้ล้านคนพอดี

    ยังงี้นี่เล่า เลือกตั้งคราวที่ผ่านมา ได้ข่าวว่า อสม. คือแกนนำในการแจกเงินซื้อเสียง ไปแล้ว ได้ประโยชน์หลายต่อจริงเลยนิ

    ยูอาร์ว๊อตยูอี๊ด กระทรวงสาธาฯ และกองทุนต่างๆ ก็ทำกันไปตามประสา ส่วนกระทรวงเกษตรก็เร่งผลิตยาพิษ ฉีดพ่นลงไปในอาหาร กระทรวงสาธาก็แก้ด้วยการผลิตยามาให้คนกิน เพื่อต้านโรค ส่วนกระทรวงคมนาคมก็ผลิตฝุ่นไว้ริมถนนให้คนสูดจนเป็นโรคทางเดินหายใจ พูลมานอรี่แทรคดีซีส ตายกันระนาว รองจากมะเร็ง

    นี่มันฆาตกรฆ่าไทยเชิงนโยบายแบบบูรณาการเลยนะเนี่ย

    วันนี้ถ้าผมเป็นผบ.ทบ. ไม่ต้องถามว่าผมจะทำอะไรในวันพรุ่งนี้

  • #2 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2011 เวลา 17:43 (เย็น)

    ลืมไปได้ พระก็มีอีกสามแสน ทหารอีกสามแสน มหาดไทยอีกสามแสน อื่นๆรวมกันอีก 1 ล้าน

    สุขภาพคนไทยทั้งกาย ใจ จิต มันเลยวิปริตไปหมด

    เกษียณเมือไหร่ ผมไปอยู่ป่าแน่ๆ ..หนี …คือหนทางเดียว ต้องใช้วิถีของคนขี้ขลาด

  • #3 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2011 เวลา 21:02 (เย็น)

    ถ้าไม่นับครู กสธ.ก็เป็นหน่วยราชการที่ใหญ่ที่สุดที่ยังขึ้นกับกพ.มังค่ะ ทั้งหมดที่นับนั่นนะ รวมหมดทุกระดับ ทั้งข้าราชการและลูกจ้างค่ะ

    สาธารณสุขเป็นถังขยะที่รองรับคนป่วยมาเนิ่นนานแล้วละคะอาจารย์ ไม่งั้นเขาจะเรียกว่ากระทรวงหมอยาฤา

    เดี๋ยวนี้อสม. เขามีองค์กรของตัวเองแล้วนะคะ เป็นองค์กรที่สามารถบริหารจัดการตนเองและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้แล้ว

    ฐานะของอสม.วันนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของ “เพื่อน” ที่ร่วมทำงานด้านสาธารณสุข ความเป็นตัวของตัวเองที่มีอยู่แล้ว ทำให้ตัดสินใจได้เองค่ะ อสม.ที่เป็นฐานเสียงนั้น ส่วนใหญ่ขึ้นกับเทศบาลค่ะ อาจารย์

    วันนี้ก็เตรียมพื้นที่ไว้อยู่หลังเกษียนเหมือนอาจารย์ ตั้งใจจะไม่อยู่ในเมือง หลังเกษียนเช่นกันค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.11177897453308 sec
Sidebar: 0.06519603729248 sec