จปฐ.กับโครงการ 30 บาท

โดย สาวตา เมื่อ 9 กรกฏาคม 2011 เวลา 21:40 (เย็น) ในหมวดหมู่ การจัดการ, ความเป็นชุมชน, ชีวิต สุขภาพ, ดูแลสุขภาพ, วัคซีน, สิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2424

คุณภาพชีวิตขั้นต่ำที่สังคมนักวิชาการกำหนดขึ้นเพื่อชวนใช้วัดคุณภาพชีวิตคนไทย 6 ด้าน เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคนไทยตั้งแต่ก่อนเกิดจนใกล้ตาย

เรื่องราวของแต่ละวัยเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องการอยู่รอด และการอยู่รอดอย่างมีความหมายกับตนเองในการดำรงตนอยู่ร่วมในสังคม  เรื่องราวของการอยู่รอดจึงเริ่มต้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งถือกำเนิด และเจริญวัย

จปฐ. กำหนดคุณภาพชีวิต 6 ด้าน ที่มีความเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องเหล่านี้ไว้ : สุขภาพดี มีบ้านอาศัย ฝักใฝ่การศึกษา รายได้ก้าวหน้า ปลูกฝังค่านิยมไทย  ร่วมใจพัฒนา

ในเมื่อจปฐ.มุ่งหวังความสุขกาย สุขใจ และสังคมเป็นสุข จปฐ.จึงยังมีเรื่องราวที่เชื่อมโยงอยู่กับการสาธารณสุขในหลายแง่มุม ในขณะที่จปฐ.ในแต่ละด้านมีมุมเน้นต่างกันไป  การสาธารณสุขที่มาเกี่ยวข้องอยู่กับจปฐ.จึงเน้นที่มุมของ “การสาธารณสุขมูลฐาน” มากกว่ามุมอื่นใด

ขอชวนมาดูรายละเอียดของจปฐ.ว่ามันบรรจุเรื่องราวใดไว้บ้างกันหน่อยค่ะ

คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพดี ได้บรรจุเรื่องการเข้าถึงบริการป้องกันโรคและการเข้าถึงสิทธิของการได้รับบริการด้านรักษาพยาบาลไว้เป็นจุดเน้นสำคัญ โดยมีกรอบเน้นไปที่สตรีที่กำลังเป็นมารดา เด็กทารก ไปจนถึงผู้สูงอายุเข้าถึงบริการป้องกันโรค

คุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมเหมาะสม ได้บรรจุเรื่องการมีที่อยู่ที่มั่นคง น้ำดื่มบริโภคและอุปโภค ความสะอาดของครัวเรือน การถูกรบกวนจากมลพิษ ความปลอดภัยจากอุบัติภัย การได้รับการปกป้องคุ้มครอง และการอยู่ร่วมในครอบครัวที่สร้างความอบอุ่นให้กัน จุดเน้น คือ ความปลอดภัยที่เกิดจากปัญญาแห่งการปฏิบัติตนภายใต้กฎหมายไทย การเคารพสิทธิและดำรงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เมื่ออยู่ร่วมกัน

คุณภาพชีวิตด้านการศึกษา ได้บรรจุเรื่องของการเรียนรู้จากครอบครัว และการเรียนรู้จากสถานศึกษาในชุมชนเมื่อเจริญวัย  จุดเน้นสำคัญอยู่ที่ การอ่านออกเขียนได้  คิดเลขง่ายๆได้ มีความรู้เพียงพอสำหรับ การรับรู้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตในสังคม เพียงพอสำหรับการศึกษาต่อ หรือ ประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้ โดยมีกรอบเน้นที่การเข้าถึงการเรียนรู้และมีกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่ในบ้าน ไปจนถึงศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และในสังคม

คุณภาพชีวิตด้านการดำรงชีวิต ได้บรรจุเรื่องอาชีพและรายได้ไว้ จุดเน้นอยู่ที่ความเป็นไปได้ของการเข้าถึงการมีรายได้โดยเฉลี่ยคนละ 23,000 บาทต่อปี ( เดือนละประมาณ 2,000 บาท ) การมีวินัยในการบริหารรายได้ และการเก็บออม

คุณภาพชีวิตด้านค่านิยมไทย ได้บรรจุเรื่องของการรับรู้คุณค่าของตนเอง แล้วละลดเลิกอบายมุขที่ทอนคุณภาพชีวิตของตน และการสืบสานวัฒนธรรมที่งดงามเพื่อเติมคุณค่าของการมีชีวิตที่อยู่รอด ให้อยู่ร่วมอย่างมีความหมายด้วยคุณค่าแห่งตน จุดเน้นสำคัญอยู่ที่การลดละบุหรี่ สุรา สืบสานมารยาทงามอย่างไทยๆและการดำรงชีวิตที่งดงามด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา และการดำรงอยู่ร่วมกันในครอบครัวของคนวัยต่าง ความสามารถต่าง โดยกรอบเน้นอยู่ที่การปฏิบัติต่อผู้สูงวัย ผู้พิการ และปัญญาปฏิบัติที่สืบทอดอยู่ในสังคม

คุณภาพชีวิตด้านการพัฒนา ได้บรรจุเรื่องของการมีจิตสำนึก การร่วมรักษาและดูแลสิทธิของตน และการมีจิตสาธารณะร่วมดูแลเรื่องของส่วนรวม จุดเน้นอยู่ที่การมีส่วนร่วม 5 ร่วมของสมาชิกในชุมชนเพื่อร่วมดูแลสังคมและถิ่นที่อยู่ ได้แก่ ร่วมให้ความเห็น ร่วมกลุ่ม ร่วมรักษาและดำรงทรัพยากรของชุมชนไว้ ร่วมทำ และร่วมดูแลสิทธิ

โครงการ 30 บาทเข้ามาเกี่ยวข้องกับจปฐ.ด้านสุขภาพดี และด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมเหมาะสมอย่างใกล้ชิด  ความใกล้ชิดนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ด้วยหลักการทำงานเพื่อแก้ปัญหาในด้านสาธารณสุข มีมูลฐานที่ต้องแก้อยู่เพียง  3 อย่าง คือ แก้คนผู้เป็นเจ้าของสุขภาพ แก้สิ่งแวดล้อม และแก้ที่ต้นตอ  เมื่อไรที่แก้แล้วสมดุลของ 3 ส่วนนี้เกิดขึ้นได้ เมื่อนั้นโรคก็ไม่มี

ส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพดีจึงเป็นงานสาธารณสุขที่คุ้นกันอยู่เดิมแล้ว นั่นคือ การลงมือแก้ที่คนด้วยการให้บริการวัคซีนต่างๆ และการแก้ที่ต้นตอ

มีบริการวัคซีนอยู่หลายตัวที่อยู่ภายใต้โครงการนี้  ได้แก่  วัคซีนป้องกันโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย (บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน วัณโรค) และวัคซีนป้องกันโรคที่เกิดจากไวรัส (ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสไข้สมองอักเสบสายพันธุ์ญี่ปุ่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม และไวรัสไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล )

คนไทยที่ไปขอรับวัคซีนกลุ่มนี้ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าวัคซีนเอง (แต่อาจจะต้องจ่ายค่าบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง)  มีตั้งแต่สตรีตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิดจนถึงนักเรียนวัยประถมศึกษาตอนปลาย และผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง

ขนาดและเวลาให้วัคซีนของวัคซีนแต่ละตัวมีความแตกต่างกันไป และมีหลักการให้ที่อิงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่วงการสาธารณสุขใช้กันทั่วโลก

เรื่องราวของ “เด็กไทยฉลาดเพราะไม่ขาดไอโอดีน” ที่เคยนำมาเล่าให้ฟังก็เป็นเรื่องหนึ่งของการจับเรื่องการแก้ที่ต้นตอมาเป็นหลักทำงานภายใต้โครงการ 30 บาท เพื่อให้จปฐ.ด้านคุณภาพชีวิตผ่านเกณฑ์ค่ะ

« « Prev : จปฐ.ทำให้รู้จักชุมชนได้อย่างไร

Next : รัฐสวัสดิการด้านสุขภาพ V.S. สุขภาพดีถ้วนหน้า » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2011 เวลา 2:32 (เช้า)

    เมืองไทยเราเรื่องวางแผน ข้อกำหนดดีกว่าใครในโลกเสมอ เพราะไอ้พวก…มันไปเรียนจบกันมาทั่วโลก

    แล้วมาสุมหัวร่างแผนสุขภาพ

    ธ่อ.ไอ้ผู้ใหญ่แว้น ..น่าเอาไปนอนกลางถนนให้เด็กแว้นมันเอามอไซค์แล่นผ่าน ส่งวิญญาณ ไปไกลๆ เสียให้หมด

    เพราะไอ้…พวกเนี้ย มันทำไรมั่ง

    นอกจากนั่งๆ นอนๆ ถุยน้ำลาย รับเบี้ยประชุมไปวันๆ

    เวลาที่เหลือคือตีกอล์ฟ เหนื่อยล้า ทำนหน้าป๋อหลอ และ …..

    พอคนชั่วครองเมือง ไอ้….พวกนี้หัวหด ..ไม่เห็นมันกล้ามาเสี่ยงภัยท้วงทักสักคน (แต่แต่งตัวใส่สายสะพายติดฝาบ้านกันหมดคน)

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 กรกฏาคม 2011 เวลา 21:23 (เย็น)

    ขออนุญาตเปลี่ยนแปลงคำบางคำในบันทึกที่ตรงเกินไปนะคะอาจารย์ แอดมินเขาจะได้สบายใจหน่อย…อิอิ

    เคยไปประชุมร่วมกับหน่วยงานอื่นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ได้ิยินคำชมเรื่องของงานวางแผนว่า ยกมือซูฮกให้คนสาธารณสุขว่าเจ๋งกว่าหน่วยงานรัฐอื่นๆ ตอนนั้นก็งงกับคำชมนั้นเหมือนกัน แค่ทำงานง่ายๆแบบที่เราทำ ไหงคนอื่นบอกว่าเจ๋ง

    ผ่านมาจนถึงวันนี้ ก็ได้รู้จักคนอีกหลายกระทรวงเพิ่มขึ้น รวมทั้งคนภาคธุรกิจ ทำให้เกิดความเข้าใจในจุดบอดภาครัฐขึ้นอีกโข ที่จริงการวางแผนของบ้านเรายังเป็นแบบฝันกลางอากาศอยู่มากมาย บางเรื่องหรูเริดจนเป็นไปได้ยาก มันก็เลยกลายเป็น “แผนนิ่ง” ซะเป็นส่วนใหญ่

    ในเรื่องของสาธารณสุข ความที่เป็นกระทรวงที่ใหญ่มากกกก แต่ก่อนทำงานแบบแยกส่วนมากกกก แต่ส่งงานลงไปรวมศูนย์ที่ภูมิภาค แล้วก็มาถึงจุดหนึ่งที่ได้รับบทเรียนบางอย่าง (ขอไม่บอก ไม่งั้นเดี๋ยวจะโดนข้อหา นำความลับของราชการมาเปิดเผย….อิอิ) ทางกระทรวงฯจึงได้ตาสว่าง เริ่มหันมาทำแผนบนฐานความจริง และเริ่มมีการบูรณาการงานร่วมกันระหว่างส่วนงานภายใน และส่วนภูมิภาค วางเป้าในสิ่งที่เป็นไปได้ในระดับท้าทายเล็กน้อย

    วันนี้การทำแผนแบบแยกส่วนยังมีอยู่ แต่ดีขึ้นในแง่แยกส่วนแบบคิดนอกกรอบมาทำเรื่องราวที่ตรงกับพื้นที่มากขึ้น ไม่เอาแต่ “เห็นด้วยครับนาย” เพียงอย่างเดียว สิ่งที่แตกต่างอีกเรื่องหนึ่งคือ ส่วนใหญ่แผนของสาธารณสุขจะมีเงื่อนเวลาของการยุติงานแต่ละเฟสไว้ชัดพอสำหรับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และการวัดผลงานมีอยู่เรื่อยๆตลอดปี ตามดูเรื่องการจัดการจุดอ่อนที่เคยมีอยู่เรื่อยๆและจี้บอก ไม่ใช่แค่ตามดูเรื่องการใช้งบประมาณ

    ในส่วนตัวที่หมอรับรู้ หมอว่าต้องขอบคุณ 3 จังหวัดภาคใต้ที่มอบบทเรียนหนึ่งให้ส่วนกลางแล้วทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในบางส่วนไป ยอมให้พื้นที่คิดเองทำเองมากขึ้น และรอช่วยในสิ่งที่พื้นที่ทำไม่ไหว แบบแบ่งงานกันทำ ทำงานเป็นทีมมากขึ้น

    ยุคปัจจุบันในกระทรวงสาธารณสุขเป็นเรื่องของการเปลี่ยนน้ำใหม่ค่ะ มีอะไรภายในที่กำลังหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน มีหลายคนที่มีความสามารถฝังตัวอยู่ในพื้นที่ระดับปฏิบัติเพื่อเป็นเสาหลักให้ระบบ ไม่พาตัวไต่เต้าขึ้นมาเป็นใหญ่ คนพวกนี้เป็นคนคิดนอกกรอบ ที่ทำงานช่วยบ้านเมืองแบบปิดทองหลังพระอยู่เงียบๆ และมีอยู่ในทุกจังหวัดค่ะอาจารย์ ส่วนใหญ่ก็เป็นวัยใกล้เคียงกับอาจารย์ก็มี เด็กกว่าบ้างก็มี วันนี้คนเหล่านี้รอสร้างทายาทสืบทอดค่ะ

    อาจารย์ว่าแผนอย่างนี้โหลยโท่ยไปมั๊ยค่ะ ที่ปล่อยให้คนอยากมีอำนาจออกหน้าไปเหอะ คนที่อยากทำ ทำอะไรต่อไปเงียบๆ ทำแล้วดี คนมีอำนาจก็เกรงใจ แถมบางเรื่องรับไปเป็นไอเดียซะด้วย ไม่ต่อปากต่อคำ จะคิดอย่างไรก็ปล่อยผู้มีอำนาจไป ไม่ทำตัวเป็นหนามรอให้ตาปลามาเหยียบให้ขึ้งขุ่น เพราะสิ่งที่ทำทำเพื่อส่วนรวม และดำรงตนซื่อสัตย์ โปร่งใส ทำให้ไม่ต้องวางตัวเป็น “เด็กตามนาย” ก็อยู่ได้

    หมอเป็นคนที่โชคดี ที่โอกาสมักส่งมอบให้ได้พบเจอคนอย่างนี้อยู่เรื่อยๆในหลายๆที่ ที่ได้ไปเยือน ได้พบแล้วรู้สึกมีกำลังใจกลับมาทำงานของตัวเองต่อ การเดินทางเหมือนการเรียนรู้ที่ดีมากๆเลย นี่คือมุมหนึ่งที่หมอได้กำไรมา

    นอกจากคนในวงการสาธารณสุข ครูบา พี่บู๊ด คอนดักเตอร์ อ้ายเปลี่ยน พี่ๆและน้องๆในกลุ่มเฮฮาศาสตร์ รวมถึงอาจารย์ก็เป็นคนกลุ่มข้างบนที่หมอมีโอกาสได้เจอ ที่มอบกำไรชีวิตแบบนี้ให้หมอ ตรงนี้เป็นอะไรที่ถือโอกาสขอบคุณทุกท่านเนื่องในเดือนเกิดซะเลยค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.061772108078003 sec
Sidebar: 0.064841032028198 sec