จปฐ.ทำให้รู้จักชุมชนได้อย่างไร

โดย สาวตา เมื่อ 9 กรกฏาคม 2011 เวลา 18:37 (เย็น) ในหมวดหมู่ การจัดการ, ความเป็นชุมชน, ชีวิต สุขภาพ, ดูแลสุขภาพ, สิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 3331

เรื่องราวที่บรรจุอยู่ในข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) มีที่มาจากความต้องการวัดคุณภาพชีวิตของคนไทยว่าเป็นอย่างไร ระดับใดบ้าง ในแต่ละช่วงเวลา

ในช่วงแรกของการพัฒนากรอบข้อมูลเพื่อนำมาใช้  คำฮิตที่คนสาธารณสุขใช้คุยกันเมื่อทำงาน คือ “สุขภาพดีถ้วนหน้า” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายในเชิงสังคม (รวมความสุขกาย สุขใจ และสุขทางสังคมเข้าด้วยกัน)

จปฐ.จึงเป็นเรื่อง “ขั้นต่ำที่จำเป็นต่อการยังชีพ” และเป็นการยังชีพภายใต้ความพอเพียงและเหมาะสมที่จะทำให้มนุษย์มีความสุขในสังคมของตน

เรื่องราวที่บรรจุภายในกรอบจึงมีทั้งเรื่องของ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย น้ำสะอาด การป้องกันและรักษาโรค สิ่งแวดล้อม เชื้อเพลิงหรือพลังงาน (ฟืน ถ่าน แก๊ส)  การสัญจรไปมา การศึกษา วัฒนธรรมและมนุษยธรรม

ด้วยเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ เมื่อทราบข้อมูล จปฐ. ก็เท่ากับทราบลักษณะขั้นต่ำของสังคมไทยว่ามีเรื่องไม่พึงประสงค์ในเรื่องใด   ระดับความเป็นอยู่ต่ำของคนไทยเป็นเรื่องใด รุนแรงในระดับไหนบ้าง

การช่วยกันจัดเก็บข้อมูล ทำให้ชาวบ้านทราบด้วยตนเองว่า ขณะนี้คุณภาพชีวิตของเขาเอง ครอบครัว และหมู่บ้านอยู่ในระดับใด มีปัญหาที่จะต้องแก้ไขในเรื่องใดบ้าง และสร้างความตื่นตัวในการลงมือแก้ไข

การลงมือสำรวจข้อมูลจปฐ. จึงเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และสังคม เป็นการช่วยพัฒนาประเทศไทยแบบร่วมด้วยช่วยกันทำทันที

ชุดข้อมูลในจปฐ. กลายเป็นเครื่องมือของกระบวนการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ร่วมกันไปกับประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดำเนินไปเพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ของตนเองและชุมชนว่า เป็นอย่างไร

เมื่อข้อมูลปรากฏแก่ตา ชาวบ้านก็รู้จักตนเอง รู้จักชุมชนของตน แล้วความอยากเปลี่ยนแปลงตนเองและชุมชนก็เกิดขึ้น เมื่อคนสาธารณสุขส่งเสริมให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการพัฒนา ตั้งแต่การกำหนดปัญหาความต้องการที่แท้จริงของตนเอง ของชุมชน ตลอดจนค้นหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหา การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการประสานระหว่างสาขาในด้านการปฏิบัติก็เกิดขึ้น

เมื่อกรอบของฐานคิดในการส่งเสริมและพัฒนาอิงและใช้ข้อมูล จปฐ. ในการเลือกสภาพปัญหาของชุมชน จนได้มาซึ่งแนวทางคัดเลือกโครงการต่างๆให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง

การอิงใช้ข้อมูล จปฐ. ตลอดทุกกระบวนการรวมไปถึงการประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านไป ก็ได้สอนการเรียนรู้ให้กับคนสาธารณสุขที่ทำงานในเรื่องนี้ไว้มากมาย

นับแต่ปี 2531 เรื่องจปฐ. ได้ถูกมอบไปให้กรมการพัฒนาชุมชนเป็นผู้ดูแล และ ณ วันนี้ การดูแลนี้กำลังจะถูกมอบต่อให้อปท.

จปฐ.ที่เกิดขึ้น ช่วยให้ภาพข้อมูลพื้นฐานระดับ หมู่บ้าน/ชุมชน และทำให้เข้าใจสถานการณ์ของชุมชนชัดขึ้น ข้อมูลชุดหลังนี้ เรียกว่า กชช. 2ค

กชช2ค บรรจุข้อมูลที่มีการจัดเก็บเป็นประจำทุก 2 ปี  เดิมนั้นวิเคราะห์สภาพปัญหาของหมู่บ้านไว้ 6 ด้าน 31 เรื่อง มีการจัดระดับความรุนแรงของปัญหาแลระดับการพัฒนาของหมู่บ้านด้วย ล่าสุดปี 2552 การวิเคราะห์ปัญหาได้เพิ่มเป็น 8 ด้าน 72 เรื่อง แต่การจัดระดับความรุนแรงดูเหมือนจะหายไป

ใครต้องการทราบลำดับความสำคัญของปัญหาและพื้นที่เป้าหมายที่ควรได้รับการพัฒนาเป็นพิเศษของจังหวัดตน สามารถไปค้นหาข้อมูลได้ที่ศูนย์ข้อมูลเพื่อการพัฒนาชนบทของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

ในข้อมูลจปฐ. ปี 2550 ซึ่งได้สรุปปัญหาที่ควรแก้ไขในภาพรวมระดับประเทศ ไว้ 5 เรื่อง ได้แก่ การกีฬา การเรียนรู้ของชุมชน การเข้าถึงแหล่งทุนของชุมชน  การติดต่อสื่อสาร และคุณภาพของดิน   ไม่สามารถช่วยให้เข้าใจว่าการเข้าไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำนี้ เกี่ยวข้องอย่างไรกับปัญหาความรุนแรงในสังคม แต่ข้อมูลของกชช2ค สามารถเพิ่มความเข้าใจให้ได้ในบางแง่มุม

วันนี้จึงมาบอกกันว่า ในเครื่องมือทั้งหมด 8 ชิ้น ของกชช2ค เป็นเรื่องราวเหล่านี้ : โครงสร้างพื้นฐาน  สภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจ  สุขภาพอนามัย  ความรู้และการศึกษา  การมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งของชุมชน สภาพแรงงาน ยาเสพติด  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อยากจะรู้ภาพรวมของชุมชนละก็ให้เข้าไปเรียนรู้จากมันให้มากไว้ มันจะช่วยให้การค้นหาปัญหาและประสานระหว่างสาขาในการปฏิบัติ หรือการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาตรงกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชนได้มากขึ้นค่ะ

« « Prev : เรื่องเหล่านี้ยังสำคัญสำหรับชุมชน

Next : จปฐ.กับโครงการ 30 บาท » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

8 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 กรกฏาคม 2011 เวลา 18:55 (เย็น)

    ผมเดาว่า นี่เป็นแผน หลอก (ดอสระแอก) อีกแล้ว เป็นแผนสองมาตรฐาน ที่คนวางแผนมีนิยามความสุขอย่างหนึ่ง แล้วไปยัดเยียดนิยาม ความสุข อีกระดับหนึ่งให้ปชช. รากหญ้า

    ความสุขสองมาตรฐานที่ “กล่อมได้”

    คนเกิดจันทร์ชื่อใต้ไปอยู่เหนือรู้เรื่องนี้ดีที่สุด

    พวกหมอ นักวางแผน เขาฉลาด เพราะถ้าออกแผนหรูๆ ไป เขารู้ว่า พวกนักการเมืองมันคงไม่อนุมัติงบประมาณให้ไปวางแผนสร้างสุข (สสส) กันต่อที่รรร (โรงแรมหรู) ริมทะเลหรอก

    จนป่านนี้ ผมเอาความคิด การทดลอง สิบปีของผม เรื่องปิ้งไก่ไร้มะเร็ง ไปยกให้แมร่งมันฟรีๆ มันยังไม่ตอบเลย แม้นเพียงว่า “ได้รับแล้ว กำลังคิดอยูว่าจะได้หัวคิวเท่าไหร่ ถ้าคิดออกแล้วจะตอบ”

    ความสุขของไอ้หัวฟายพวกนี้มันช่างแตกต่างได้ใจจริงๆ

  • #2 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 กรกฏาคม 2011 เวลา 18:58 (เย็น)

    ความสุขของนักวางแผนความสุขคือ

    ได้แสดงวิสัยทัศน์กันสนุก จากนั้นไปร้องคาราฯกันต่อ

    “สุขกันเถอะเรา เศร้าไปทำไม…

  • #3 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 กรกฏาคม 2011 เวลา 21:58 (เย็น)

    เมื่อเข้าไปดูข้อมูลสรุปในกชช 2 ค ก็เห็นมุมเดียวกับอาจารย์ค่ะว่า คนที่อาจารย์เอ่ยถึงรู้เรื่องนี้ดีที่สุด และด้วยความเป็นนักการตลาดและนักหารายได้ ทั้ง 5 เรื่องที่เป็นปัญหาจึงกลายเป็นนโยบายของพรรคเขาไปทันที

    เรื่องของจปฐ.และ กชช 2 ค นั้นเป็นงานที่หลุดออกจากมือของภาคสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2531 แล้ว ข้อมูลที่เห็นนั้นเป็นผลงานของกรมการพัฒนาชุมชนและอปท.เขาช่วยกันค่ะ ล่า่สุดเท่าที่รู้มาเขาอาศัยครูช่วยสำรวจให้ แล้วกรมนี้ก็นำไปวิเคราะห์ต่อ ได้แล้วก็นำมาเผยแพร่ไว้ค่ะ

    เรื่องราวของเครื่องปิ้งไก่ไร้ควันที่ยังไม่มีใครตอบรับมานั้น น่าจะเป็นช่องว่างของการสื่อสารนะคะ อาจารย์

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2011 เวลา 0:28 (เช้า)

    ปัจจุบันไม่ว่าเราจะทำวิจัยอะไร ทำโครงการอะไรในชนบท ข้อมูลที่เราหยิบได้ทันทีคือ กชช 2 ค ที่เราเรียกข้อมูลมือสอง หรือ ทุติยภูมิ หรือ secondary data หยิบมาครั้งแรกสุดเราก็พอทราบว่าชุมชนนั้นๆ ท้องถิ่นนั้นๆเป็นเช่นไร แล้วนักวิจัย นักพัฒนาก็วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นว่า เราจะ update ข้อมูลส่วนที่เราสนใจมากๆได้อย่างไร แน่นอนก็ตั้งเป็นประเด็นเอาไปทำ แบบสอบถามเฉพาะเรื่องลึกลงไปแล้งลงสนาม ผ่านจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และครอบครัว หา key informant จะทำ focus group interview หรือ แบบอื่นๆ ก็ออกแบบกันไปแล้วถกกันในทีมงานเพื่อหาข้อสรุปว่ากระบวนวิธีไหนเหมาะสมที่สุด…..

    การที่มี กชช 2 ค มี จปฐ. นั้น ทำหใ้งานด้านอื่นๆเราก้าวไปข้างหน้ามาก แม้ว่าความน่าเชื่อถือของ กชช 2 ค บางแห่ง บางหมู่บ้านก็บกพร่องมาก แต่ระยะัหลังๆมานี้ ดีขึ้นมาก เพราะมีประสบการณ์ และให้ความสำคัญ มีผู้มีความรู้เข้าไปช่วยมาก

    ในลาว ไม่มีข้อมูลพื้นฐานพวกนี้เลย เขามาเร่งทำข้อมูลหมู่บ้านเมื่อไม่นานมานี้ โดยเอาเราเป็นตัวอย่าง

    ข้อมูลหมู่บ้านนั้น เรามีมากพอสมควร นอกจาก จปฐ และ กชช 2 ค. ที่เป็นเหมือนสำรวจสำมะโน.. หน่วยงานราชการอื่นๆยังทำข้อมูลเฉพาะด้านอย่างละเอียดลงไปอีก เช่น กรมส่งเสริมการเกษตรทำเอกสารที่เรียก การวิเคราะระบบนิเวศเกษตรระดับตำบล Agro-Ecosystem Analysis (AEA) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมาสมัยนั้นผมทำงานกับ USAID ที่ท่าพระขอนแก่น ร่วมมือกับ Farming System Research and Extension (FSRE) ของคณะเกษตรศาตร์ มข.ท่าน ดร.เทอด เจริญวัฒนา อดีตอธิการบดี…ม.สุรนารี สมัยนั้นท่านเป็นคณะบดีคณะเกษตร มข. ร่วมกับมูลนิธิฟอร์ดและอื่นนำร่องเรื่องการทำ AEA ในทุกจังหวัดภาคอีสาน กรมส่งเสริมการเกษตรเห็นดีจึงทำทั่วประเทศ AEA นั้นสมับนั้นผมเป็นลูกมือให้ ดร.ณรงค์ หุตานุวัตร แห่ง ม.อุบล และ ดร.อรรถชัย จินตเวช .แห่งคณะเกษตรศาสตร มช.ที่ท่านไปจบเอกทางด้าน simulation ที่ฮาวาย

    กองน้ำบาดาล กรมทรัพยากรธรณี ก็ทำแผนที่น้ำใต้ดินทั่วประเทศ ระบุความลึกของการได้น้ำ ปริมาณนี้ คุณภาพน้ำ ชนิดของหินใต้ดิน ผมก็มีส่วนร่วม กรมพัฒฯาที่ดินก็ทำแผนที่ดินทั่วประเทศ จำแนก ชนิดดิน ฯลฯ ไม่ต้องพูดกรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข ข้อมูลเพียบ

    ปัจจุบันหลายหน่วยงานเล่นถึงระบบ GIS และอื่นๆมากมาย โครงการผมที่จบลงไปที่ดงหลวงก็ทำ

    ข้อมูลเหล่านี้เป็น Data Bank ที่คนทำงานพัฒนาชนบทอย่างผมต้องสนใจและใขว่คว้าเอามาศึกษา วิเคราะห์ อ่านก่อนที่จะลงไป update ในพื้นที่แล้วร่าวมกับชาวบ้านประชุมตามกระบวนการทำแผนงานแบบมีส่วนร่วม…..

    ขออภัยที่เอามะพร้าวห้าวมาขายสวนนะครับ ทุกท่านทราบดี ทราบดีกว่าผมอีก และทำมามากกว่าผม
    ผมเห็นว่าระบบข้อมูลบ้านเรามีมาก ดีดีทั้งนั้น เอามาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร นั่นคือประเด็นใหญ่

  • #5 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2011 เวลา 1:23 (เช้า)

    ท่านอ.เทอด เจริญวัฒนา ไม่ได้เป็น อธก ครับพี่บางทราย แต่เป็นคณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ที่มทส.

    ท่านเอ็นดูผมมากทีเดียว เพราะเห็นผมเป็นวิดวะนาซ่ารุ่นกระเตาะ แต่ทำไหมบ้าเกษตร เหมือนท่านก็ไม่รู้ ผมไปหาไปคุยกับท่านบ่อยมาก ทั้งที่ทำงาน และที่บ้านพัก

    ตอนผมเป็น “นายท่าน” ผมไปจับมือท่านให้ร่วมเซ็นเอกสารเสนอโครงการ “ปลูกข้าวชีวภาพ” มาแล้ว ทั้งที่ตอนนั้นนักวิชาการเกษตรไทยเขาหาว่ามันง่าวจ๊าดปราสาทแด็กซ์ (โดยเฉพาะนักวิชาการเกษตรแห่งม.ของผมเอง) แต่ตอนนี้ทำจี๋จ๋ากันใหญ่ เพราะเงินมันไหลพรั่งพรู ก็กรูกันเข้าไปจิกกิน

    หลังท่านเสียชีวิต ผมไปเอาแมวกำพร้าท่านมาเลี้ยง (ท่านรักมันมาก) แต่แล้วมันก็หนีหายไป ยังเหลือแต่ว่านงาช้าง ที่ท่านขุดให้ผมมากับมือ ท่านเล่าว่ามันแก้มะเร็งได้นะ ..นักวิจัยมข. เขาทำวิจัยกันไว้แล้ว

  • #6 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2011 เวลา 1:25 (เช้า)

    พี่บางทรายครับ ลืมเล่าไปว่า ..ท่านอ.เทอด ยกหนังสือเรื่องประเมินชนบท ทั้งไทยและเทศให้ผมเป็นตั้งๆ นับยี่สิบเล่มเห็นจะได้

    ผมมีเวลาพอพลิกกลับอ่านแบบผ่านๆ เท่านั้น

    พอท่านเสีย ผมยกกลับ ให้ห้องสมุด

  • #7 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2011 เวลา 1:32 (เช้า)

    ขออภัยที่ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนครับ อ.เทอดนั้น ถือว่าเป็นอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากและรักใคร่ท่านมากคนหนึ่ง แม้ว่าผมไม่ใช่ลูกศิษย์โดยตรงกับท่าน แต่ผมมีโอกาสทำงานกับลูกน้องท่าน และท่านก็เข้ามาร่วมเป็นประจำ แลกเปลี่ยนวิชาการกัน และนั้นคือผมได้เรียนรู้ความรู้จากท่าน จากทีมงานท่าน มากมายทีเดียว เอาความรู้นั้นมาใช้งานจนปัจจุบันนี้

    ขอบคุณครับ อ.วิทย์

  • #8 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 กรกฏาคม 2011 เวลา 8:17 (เช้า)

    #4 เห็นเหมือนพี่ค่ะในเรื่องการนำข้อมูลไปใช้ และ ความน่าเชื่อถือของข้อมูล

    การมีข้อมูลที่พอให้ใช้เปรียบเทียบดีกว่าไม่มีอะไรเลย แล้ววาดภาพเอง

    อย่างหลังนี้ถ้าเข้าข้างกันเอง ไม่ไปโฟกัสเชิงลึกกับชาวบ้านก่อน บางทีก็ทำให้งานที่ลงมือผิดทิศผิดทาง เสียเวลา เสียโอกาส เสียทรัพย์ไปได้

    การลงมือแต่ละครั้ง ข้อมูลที่มีในมือก็แสดงบทบาทไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็ใช้เป็นเครื่องมือชวนใครๆ.มาร่วมมือบ้าง เป็นเข็มทิศชี้ชวนว่าควรลงมือทำเรื่องอะไรก่อนบ้าง ใช้เป็นมาตรวัดประสิทธิภาพการทำงานบ้างค่ะ

    ขอบคุณนะคะพี่ที่กระตุกให้ไม่ลืมเรื่อง กชช 2 ค


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.11248707771301 sec
Sidebar: 0.073792934417725 sec