เรื่องเหล่านี้ยังสำคัญสำหรับชุมชน
เมื่อก่อนประเทศไทยมีข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน ที่ชาวบ้านช่วยกันเก็บรวบรวม สะท้อนปัญหาในครัวเรือนและหมู่บ้าน ให้รู้ว่าคุณภาพชีวิตของคนไทยเป็นอย่างไร
กว่าที่จะได้กรอบความจำเป็นพื้นฐานชุดแรกมาใช้ก็หมดเวลาไปกว่า 4 ปี เริ่มใช้ครั้งแรกปี 2528 ใช้ผ่านมาร่วม 20 ปี ปรับปรุงมาแล้ว 5 ครั้ง ชุดสุดท้ายปรับเมื่อปี 2549
ในช่วงที่มีข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานให้ใช้ ชุมชนที่อยู่ร่วมกันจะรู้ว่าครัวเรือนมีปัญหาอะไร หมู่บ้านมีปัญหาอะไร เมื่อรู้ก็มีการช่วยเหลือเกิดขึ้น วิธีช่วยมีตั้งแต่ครัวเรือนช่วยเหลือตัวเองบ้าง คนต่างครัวเรือนมาช่วยกันบ้าง ส่งเสียงบอกคนนอกให้มาร่วมด้วยช่วยบ้าง
ล่าสุดกรอบของความจำเป็นพื้นฐานนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว 8 แง่มุมคุณภาพชีวิต 32 เรื่องของการดำรงชีวิตในสังคมที่เริ่มต้นไว้ชุดแรก หดเหลือเป็น 6 แง่มุม ขยายเรื่องราวภายในที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตในสังคมเป็น 42 เรื่อง
เรื่องทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการอยู่รอดและอยู่ร่วม เพื่อให้ผู้คนดำรงตนอยู่อย่างมีความหมายในสังคม ตั้งแต่เกิดจนตาย ปัจจัย 4 เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวเหล่านั้น
เกณฑ์คุณภาพชีวิตตามกรอบปี 2549 มีแง่มุมต่างๆโดยย่อดังนี้ :
สุขภาพดี มี 13 เรื่อง (อาหาร ยา อยู่ในหมวดนี้)
ที่อยู่อาศัย มี 7 เรื่อง (ครอบครัวอบอุ่น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อยู่ในหมวดนี้)
การศึกษา มี 7 เรื่อง ( การเรียนรู้ของคนทุกวัยอยู่ในหมวดนี้)
รายได้ มี 3 เรื่อง ( อาชีพ รายได้ การเก็บออม อยู่ในหมวดนี้)
ปลูกฝังค่านิยมไทยมี 6 เรื่อง ( วัฒนธรรมการครองชีวิต การเสพสุรา บุหรี่ การมีน้ำใจต่อผู้สูงอายุ ผู้พิการอยู่ในหมวดนี้)
ร่วมใจพัฒนา มี 5 เรื่อง ( กองทุน การรวมกลุ่ม การได้สิทธิเลือกตั้ง การมีจิตสาธารณะ การร่วมพัฒนา อยู่ในหมวดนี้)
วันนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดอยู่ในสังคมไทย มีเรื่องอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ล้มเหลวของครอบครัว มาเกี่ยวข้อง เป็นมุมความเกี่ยวข้องที่ซับซ้อนและเกี่ยวพันกับคุณภาพชีวิตข้างบนแบบซ้อนทับ ความซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ในสังคมใหญ่ที่พัวพันกันไปมาจึงแทบจะหาก้นบึ้งไม่เจอ
มนุษย์จะอยู่รอดต้องพึ่งพาปัจจัย 4 (อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค) ครัวเรือนจะมีสุขเมื่อเข้าถึงปัจจัยเหล่านี้ได้ครบถ้วน การเข้าไม่ถึงปัจจัยหนึ่งๆ จึงเป็นเงาสะท้อนความล้มเหลวบางอย่างที่ซ่อนลึกอยู่ในครอบครัวด้วย
วันนี้มาชวนให้สนใจวัดผลลัพธ์คุณภาพชีวิตตามเกณฑ์กรอบปี 2549 กันดูสักตั้ง ถึงแม้รัฐบาลจะไม่สนใจใช้มันก็ตาม
« « Prev : เมื่อรู้จักอารมณ์พื้นฐาน….ก็จะช่วยปลูกทักษะ LOVE ให้ผู้คนได้
Next : จปฐ.ทำให้รู้จักชุมชนได้อย่างไร » »
2 ความคิดเห็น
ผมมีส่วนใกล้ชิดมาบ้าง สมัยหมอแหยง(หมอสำเริง แหยงกระโทก)ทำเรื่องนี้ที่โคราชสมัยโน้น ต่อมาผมก็ไปทำ กชช. 2 ค. โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องแหล่งน้ำในชุมชน สมัยนั้นศสช. เป็นเจ้าของเรื่อง ร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน กรมอนามัย และอีกทุกกรมที่ทำงานเกี่ยวกับแหล่งน้ำ แล้วผมก็ท่างหายไปเรื่องอื่น
การมีกรอบและก้าวใสนานพอสมควร ปรับปรุงพัฒนามาจนถึงจุดนี้ได้ เชื่อว่า คิดมาถ้วนถี่แล้ว ผมเชื่อมั่นบุคลากรทางด้านนี้มากกว่าด้านอื่น อย่างไรก็ตามการที่ผมทำงานกับชุมชนนั้น มีกรอบแบบนี้หรือแบบอื่นมันเป็นการเอาวิชาการมาผสมผสานในการสร้างแนวทางเดินใหม่ของสุขอนามัยของคนในชาติ แต่ชุมชนมีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกหลายประการที่ทั้งสนับสนุนกรอบนี้และขวางกรอบนี้ ส่วนที่ขวางก็คือ วัฒนธรรม ประเพณี บางเรื่อง ที่สำคัญที่สุดคือวัฒนธรรมความเชื่อ วัฒนธรรมการบริโภค วัฒนธรรมความเป็นอยู่ คนในเมืองปรับตัวไปมากแล้วสำหับการเข้าใกล้กรอบเหล่านี้ แต่ชุมชนชนบท ยังต้องใช้กระบวนการพัฒนาเข้าไปปรับซึ่งต้องใช้เวลาอีก
ดังนั้นการวัดหรือการประเมินตามกรอบนี้หากจะเพิ่มอีกประเด็นหนึ่งที่ว่า ….สมมุติชุมชนนี้ได้ข้อสรุปทุกประเด็นออกมาแล้ว ทั้งเป็นตัวเลข เชิงปริมาณ และคำอธิบายเชิงคุณภาพ ผมยังคิดว่า ในกระบวนการประเมินครั้งนั้นๆหากจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า ชุมชนนี้หากจะเดินเข้าสู่ความสมบูรณ์มากที่สุดตามกรอบนี้ ปัจจับคืออะไร คำตอบนี้มิใช่ผู้ประเมินวิเคราะห์เองจากข้อมูลทั้งหมด หากแต่ขอความคิดเห็นจากชุมชนช่วงที่ไปเก็บข้อมูลก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อกระบวนการพัฒนา ที่มีอีกหลายหน่วยงานมีหน้าที่ร่วมกันในการเข้าไปส่งเสริม พัฒนาให้ชุมชนก้าวเดินต่อไปให้เข้าใกล้เกณฑ์มาตรฐานมากที่สุด ครับ
ขอบคุณค่ะพี่ จะเป็นเพราะการทำงานแบบแยกส่วน ต่างคนต่างทำ หรือเพราะหน่วยงานด้านสาธารณสุขอ่อนแอลงก็ไม่รู้ซิพี่ จึงดูเหมือนว่าเด็กยุคหลังที่ก้าวเข้ามาทำงานสาธารณสุข จะไม่รู้จักจปฐ.กันแล้วค่ะ ยิ่งกชช2ค ยิ่งแล้วใหญ่