รู้วิธีจัดการน้ำดิบเพื่อใช้สอยไว้หน่อยเหอะ
เมื่อคิดจะใช้น้ำบาดาลก็ต้องเข้าใจบริบทของน้ำบาดาลว่า มีสารต่างๆแขวนลอยได้มากมายแค่ไหน ที่แน่ๆซึ่งรู้แล้วก็เป็นเรื่องของคุณภาพน้ำที่เกิดจากสนิมเหล็กที่ปนอยู่ และสิ่งปนเปื้อนจากน้ำผิวดิน
เทคโนโลยีการจัดการกับสนิมเหล็กในน้ำ และการผลิตเครื่องกรองอย่างง่ายๆได้เล่าไว้แล้ว ที่ต้องคั่วทรายคลุกด่างทับทิมก็เพื่อเผาด่างทับทิมให้สลายตัว กลายเป็นแมงกานีสไดออกไซด์ แล้วเกาะตัวติดเม็ดทราย
ความขุ่นของน้ำซึ่งเกิดจากสารแขวนลอยอยู่ในน้ำ ทั้งดินโคลน ทรายละเอียด และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก สี กลิ่นที่จัดการไปแล้ว ถ้าจะนำมาใช้ต่อก็ควรทำความเข้าใจกับหลักการบำบัดน้ำเสียไว้ด้วยว่ายังมีสารแขวนลอยที่มองไม่เห็นด้วยตาแต่ทำให้น้ำขุ่นอยู่ด้วย
กลิ่นน้ำเป็นตัวบอกให้รู้ว่า สารแขวนลอยเหล่านี้ มีต้นแหล่งมาจากของเสีย ซากสัตว์ ซากพืชที่ตายไป จำเป็นต้องหาน้ำไว้อุปโภคในสถานการณ์จำเป็นหรือไม่พร้อม ก็ลงมือจัดการกับสารแขวนลอยเหล่านี้ด้วยปูนขาวและลูกบอลน้ำหมักไว้ก่อน
ฤทธิ์ของปูนขาวและลูกบอลน้ำหมักช่วยจัดการความเป็นด่างของน้ำให้เพิ่มขึ้น และทำให้สารแขวนลอยตกตะกอน น้ำที่ได้มาเป็นน้ำใช้สอยที่ปลอดภัยขึ้นจากสารพิษในน้ำ
สารที่ใช้ทำให้เกิดการตกตะกอนได้อีกตัวคือ สารส้ม ฤทธิ์ของมันทำให้สารแขวนลอยตกตะกอนเป็นหินปูน
ต้องการน้ำเพื่อบริโภคที่ปลอดเชื้อก็ทำได้โดยการใส่คลอรีนฆ่าเชื้อ ซึ่งต้องเข้าใจเรื่องคลอรีน ไม่ยังงั้นน้ำนั้นก็ยังไม่ปลอดเชื้ออยู่ดี ขอนำเรื่องคลอรีนมาเล่าสู่กันฟังเผื่อการใช้งาน
ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคของผงปูนคลอรีน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ หัวใจสำคัญอยู่ที่ ความเข้มข้นของคลอรีนอิสระ (Free chlorine residual) ที่เหลืออยู่ในน้ำหลังเติม 30 นาที
เติมคลอรีนน้อยเกินไป จะไม่ทำให้เกิดคลอรีนอิสระขึ้น และอาจจะทำลายเชื้อโรคในน้ำได้ไม่ทั้งหมด เติมมากเกินไปก็ทำให้น้ำมีกลิ่นฉุน รสชาติน้ำไม่ดีไปด้วย และสิ้นเปลือง
ปริมาณคลอรีนที่พอเหมาะที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้หมดและเกิดคลอรีนอิสระ คือ ปริมาณที่เติมไปแล้วหลังเติม 30 นาที วัดคลอรีนอิสระได้ระหว่าง 0.2-0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร
ฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคของคลอรีนอยู่นาน คลอรีนอิสระที่อยู่นานกว่า 30 นาที จึงมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคมากขึ้น และยิ่งทิ้งไว้นานกลิ่นจะลดลง
คลอรีนมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคลดลง ที่อุณหภูมิสูง เวลาเติมคลอรีนที่เหมาะสมจึงเป็นเวลาที่น้ำมีอุณหภูมิต่ำ เวลาเย็นหรือพลบค่ำจึงเป็นเวลาที่มักใช้กัน
น้ำที่บำบัดแล้วต้องมีความขุ่นน้อยกว่า 10 NTU (Nephelometric Turbidity Units) คลอรีนจึงสามารถเข้าไปสัมผัสและฆ่าเชื้อโรคได้
สารส้มช่วยจัดการให้ความขุ่นกลายเป็นความใสในระดับนี้ได้ แกว่งสารส้มแล้วให้กรอง ก่อนเติมคลอรีน
สภาพทางเคมีของน้ำมีผลต่อการออกฤทธิ์ของคลอรีนด้วย คลอรีนที่ฆ่าเชื้อโรคได้ดีจะอยู่ในรูปของไฮโปคลอรัส (Hypochlorus : HOCl ) สารตัวนี้ทำงานได้ดีเมื่อน้ำเป็นกรดอ่อนๆ ถ้า pH สูงกว่า 7.5 คลอรีนจะอยู่ในรูปของ OCl- มากขึ้น ตัวนี้ฆ่าเชื้อโรคได้ไม่ดีเท่า HOCl ทำให้เปลืองคลอรีนมากขึ้น pH ที่สูงถึง 9.5 จะเกิด OCl- ถึง 100%
สิ่งมีชีวิตก่อโรคให้คนแต่ละชนิดมีความทนต่อความเข้มข้นของคลอรีนและเวลาสัมผัสกับคลอรีนต่างกันไป ส่วนของสิ่งมีชีวิตก่อโรคที่คลอรีนทำอะไรไม่ได้ คือ สปอร์ของแบคทีเรีย
สิ่งมีชีวิตก่อโรคที่คลอรีนจัดการได้มีหลายตัว ที่สำคัญๆก็มี HIV เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อรา เชื้อแบคทีเรียก่อโรค วัณโรค
สารละลายคลอรีนฆ่าเชื้อ แบคทีเรีย เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อ HIV ตายภายใน 10 นาที เมื่อเชื้อเหล่านี้สัมผัสกับมัน ต่างกันที่ความเข้มข้น จะฆ่าเชื้อ HIV ต้องใช้คลอรีนที่ความเข้มข้น 50 มก./ลิตร และ จะฆ่าเชื้อไวรัสตับอักเสบบีต้องใช้ความเข้มข้นที่ 500 มก./ลิตร
เชื้อวัณโรคจะตายหลังสัมผัสคลอรีนเข้มข้น 125 มก./ลิตร ในเวลา 3-10 นาที
คลอรีนเข้มข้น 100 มก./ลิตร ฆ่าแบคทีเรียได้ใน 10 นาที แต่ถ้าจะฆ่าเชื้อราต้องใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง
« « Prev : หลักการของระบบบำบัดน้ำเสีย
Next : รู้จักคลอรีนอีกหน่อย » »
ความคิดเห็นสำหรับ "รู้วิธีจัดการน้ำดิบเพื่อใช้สอยไว้หน่อยเหอะ"