หลักการของระบบบำบัดน้ำเสีย

โดย สาวตา เมื่อ 6 สิงหาคม 2011 เวลา 14:57 (เย็น) ในหมวดหมู่ การจัดการ, ความเป็นชุมชน, ชีวิต สุขภาพ, ดูแลสุขภาพ, สิ่งแวดล้อม, อุทกภัย #
อ่าน: 2419

ด้วยการเลือกระบบบำบัดน้ำเสียขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ซึ่งมีทั้งลักษณะของน้ำเสีย ระดับการบำบัดน้ำเสียที่ต้องการ สภาพทั่วไปของพื้นที่ ค่าลงทุนก่อสร้าง ความยากง่ายของการดูแลและบำรุงรักษา ต้นทุนการดูแลบำรุงรักษา ขนาดของที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้าง กำลังคนที่ต้องใช้ดูแลระบบ และข้อจำกัดที่มีอยู่เรื่องเวลา

ระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมจึงพึงพิจารณามุมความสอดคล้องกับบริบทเหล่านี้ไปด้วยจึงจะได้ระบบที่มีประสิทธิภาพดีพอ

คูน้ำ 2 แห่งที่ใช้ระบายน้ำทิ้งสอนให้รู้ว่า แต่ละจุดในพื้นที่ซึ่งมีสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน น้ำทิ้งที่ถูกปล่อยออกมาก็แตกต่างกัน วันนี้จึงถึงเวลาที่ต้องเรียนรู้ว่า กลไกที่ใช้ในการกำจัดสิ่งเจือปนในน้ำเสีย เขามีหลักอย่างไรอยู่บ้าง เรื่องราวที่นำมาบันทึกไว้นี้ได้มาจากกรมควบคุมมลพิษและเขียนขึ้นใหม่ตามความเข้าใจ

ถ้าดูตามต้นเหตุที่ทำให้น้ำกลายเป็นน้ำเสียเป็นหลัก สิ่งแรกที่กำจัดง่ายที่สุดก็เป็นของแข็งที่มีขนาดเห็นด้วยตา และไขฝ้าต่างๆ

วิธีการแยกของแข็งออกไปที่ง่ายที่สุดก็คือ การกรอง วิธีแยกไขฝ้าต่างๆออกไปที่ง่ายที่สุด ก็คือ การดักให้รวมตัวกันมากพอแล้วตักออกไป

ของแข็งที่อยู่ในน้ำที่เห็นด้วยตา มีทั้งลอยและจมน้ำ ส่วนที่ลอยกรองออกง่ายกว่า ส่วนที่จมตักออกง่ายกว่า เครื่องมือที่ใช้จัดการกับของแข็งที่ลงไปอยู่ในน้ำในระบบจึงควรมีอุปกรณ์ที่ใช้กรองและอุปกรณ์รองรับส่วนที่จมน้ำ

วิธีการจัดการสิ่งปนเปื้อนที่เป็นของแข็งเห็นด้วยตานี้ นักวิชาการเขาเรียกว่า “การบำบัดทางกายภาพ” วิธีนี้ช่วยจัดการสิ่งปนเปื้อนที่ทำให้น้ำขุ่นได้ราวร้อยละ 50 - 70 และกำจัดสารอินทรีย์ได้ราวๆร้อยละ 25 - 40

อุปกรณ์ในระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้สำหรับการนี้ก็มีตั้งแต่ ตะแกรงดักขยะ ถังดักกรวดทราย ถังดักไขมันและน้ำมัน และถังตกตะกอน

น้ำที่เห็นด้วยตาว่าขุ่นมีสิ่งปนเปื้อนในน้ำขนาดเล็กอยู่ด้วย วิธีการกรองจึงยังจำเป็นต้องใช้ต่อไป จะกรองให้ง่าย ก็ต้องเพิ่มขนาดมันให้ใหญ่ขึ้น กระบวนการทางเคมีคือทางเลือกที่นำเข้ามาใช้จัดการกับการเพิ่มขนาดและหาวิธีทำให้จม นักวิชาการเขาเรียกวิธีนี้ว่า “การบำบัดทางเคมี”

อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการนี้จึงมีทั้ง ถังกวนเร็ว ถังกวนช้า ถังตกตะกอน ถังกรอง และถังฆ่าเชื้อโรค

คุณภาพของน้ำที่เสียไปเกิดขึ้นจากสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ โดยมีจุลินทรีย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สารอินทรีย์มาจากส้วม เศษอาหาร เศษวัสดุที่แปรรูปมาจากส่วนของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ สารอนินทรีย์มาจากกระบวนงานและกิจกรรมที่อยู่ในมือมนุษย์

การจัดการน้ำจึงมีจุลินทรีย์เข้ามาพ่วงร่วมจัดการสารอินทรีย์ ขั้นตอนนี้เขาเรียกว่า “การบำบัดทางชีวภาพ”  คือ เลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ในระบบไว้ใช้ประโยชน์

จุลินทรีย์ที่เข้ามาเกี่ยว มีชีวิตอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ คือ ก๊าซ บางชนิดอยู่ได้เมื่อมีออกซิเจนมาก บางชนิดอยู่ได้เมื่อมีคาร์บอนไดออกไซด์มาก  เข้าใจชีวิตของมันก็ใช้ประโยชน์ได้ลงตัวกับผลที่ต้องการ

สารคาร์บอนอินทรีย์ ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส  คือ สิ่งสำคัญในน้ำเสียที่ต้องให้ความสำคัญและจัดการให้เกิดสมดุล  ธาตุเหล่านี้เป็นธาตุหลักที่เกี่ยวกับพลังงานที่เลี้ยงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด

ในระบบบำบัดน้ำเสียมีส่วนที่เติมอากาศ ไร้อากาศ และส่วนเติมอาหารให้จุลินทรีย์อยู่ด้วย ตรงนี้มีเรื่องเบื้องลึกที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของจุลินทรีย์อยู่ 3 พวก สารอินทรีย์ในน้ำเสียเป็นอาหารของมัน

พวกแรกใช้ออกซิเจนยังชีพ กินอาหารแล้วคายกากออกมาเป็นน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และพลังงาน ยิ่งมีกากจากพวกนี้มากเท่าไร น้ำก็ยิ่งมีความเป็นกรดมากขึ้นจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายน้ำ ออกซิเจนในน้ำลดลงเพราะมีการใช้ไปเยอะ คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศสูงขึ้นเมื่อน้ำเพิ่มอุณหภูมิ

พวกที่ 2 ไม่ใช้ออกซิเจนยังชีพ กินอาหารแล้วกากที่คายออกมามีพวกกรดด้วย ยิ่งมีกากกรดมากเท่าไร pH น้ำยิ่งต่ำลงๆ

พวกที่ 3 ไม่ใช้ออกซิเจนยังชีพ กินอาหารแล้วกากที่คายออกมามีพวกมีเทนด้วย ยิ่งมีกากพวกกรดจากพวกที่ 2 มากเท่าไร เจ้าพวกนี้ยิ่งมีลดจำนวนลงเรื่อยๆ เพราะแย่งอาหารพวกที่ 2 ไม่ทัน ยิ่งมีพวกนี้มากเท่าไร มีเทนในอากาศก็ยิ่งสูงขึ้น

ศัพท์แสงที่มักจะเห็น เช่น แผ่นจานหมุนชีวภาพ คลองวนเวียน บ่อเติมอากาศ แบบกรองไร้อากาศ เหล่านี้เป็นตัวอย่างของระบบเลี้ยงจุลินทรีย์ไว้ใช้ประโยชน์ในระบบบำบัดน้ำเสีย

ขั้นตอนการบำบัดที่มีจุลินทรีย์เข้ามาเกี่ยวนี้ นักวิชาการเขาถือเป็น “การบำบัดขั้นที่สอง” ขั้นตอนนี้ช่วยจัดการของแข็งแขวนลอยและสารอินทรีย์ได้มากกว่าร้อยละ 80

ผ่านขั้นตอนที่สองมาแล้ว ก็ยังส่วนปนเปื้อนที่ต้องกำจัดต่อ ถ้าจะนำมาใช้ต่อก็ต้องจัดการให้หมดลง ขั้นตอนนี้นักวิชาการเขาเรียกว่า “การบำบัดขั้นสูง”

ส่วนปนเปื้อนที่ยังเหลือก็มี ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส สี สารแขวนลอยที่ตกตะกอนยาก และอื่นๆ

ขั้นตอนนี้จำเป็นสำหรับการควบคุมสาหร่ายไม่ให้เติบโตเกินสมดุล แล้วกลายมาเป็นต้นเหตุให้น้ำที่ดีแล้วกลับเป็นน้ำเน่าอีก

ถ้าจะใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค จึงมีขั้นตอนของการเติมคลอรีนเพื่อจัดการเชื้อทั้งหมด ขั้นตอนนี้มาจากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งตัดสินใจบนฐานที่ที่มองเรื่องได้-เสียเกี่ยวกับสุขภาพแล้ว

เหตุผลของการตัดสินใจให้คำแนะนำ คือ แม้ว่าในระหว่างกระบวนการทางเคมีของคลอรีนจะมีสารก่อมะเร็งเกิดขึ้น แต่ความร้ายแรงของเชื้อที่ติดต่อได้และทำให้เกิดโรคกับคนรุนแรงกว่า ทำร้ายคนได้ในจำนวนที่มากกว่าและเร็วกว่า

« « Prev : ฺไนไตรท์กับโรคเบาหวาน

Next : รู้วิธีจัดการน้ำดิบเพื่อใช้สอยไว้หน่อยเหอะ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "หลักการของระบบบำบัดน้ำเสีย"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.056056022644043 sec
Sidebar: 0.11053204536438 sec