รู้จักคลอรีนอีกหน่อย

อ่าน: 6210

คลอรีนมีข้อด้อยอยู่ตรงที่ทำปฏิกริยากับกลุ่มของกรดอินทรีย์ คือ กรดฮิวมิค (Humic acid) ได้ แล้วทำให้เกิดไตรฮาโลมีเทน (Trihalomethanes : THMs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

ในอีกด้านการใช้มันจึงมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ องค์การอนามัยโลกจึงกำหนดระดับความเข้มข้นของ THMs ในน้ำดื่มไว้ที่ไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm.) ( อเมริกากำหนดไว้ที่ 0.08 มิลลิกรัมต่อลิตร)

จะใช้คลอรีนก็ต้องเข้าใจมัน รู้จักมันไว้ คลอรีนจะปรากฏตัวใน 3 รูป ของเหลว แก๊ส และผง ขึ้นกับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

ที่อุณหภูมิและ ความดันปกติ จะมีสภาพเป็นแก๊สสีเขียวตองอ่อน กลิ่นฉุน เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด จึงถูกเปลี่ยนรูปให้เป็นของเหลว หรือผง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์มันได้

ก๊าซคลอรีนหนักกว่าอากาศ 2.5 เท่า ละลายน้ำได้น้อย เมื่อไรที่รั่วออกจากภาชนะที่เก็บ จึงแผ่คลุมบริเวณพื้นผิวดินหรือบนพื้นน้ำ และบริเวณที่ต่ำๆ

เมื่อมีความชื้นอยู่ด้วย คลอรีนจะทำปฏิกิริยาเคมีกับโลหะแทบทุกชนิด เกิดการกัดกร่อนได้ทั้งนั้น ไม่ว่า เหล็ก ทองแดง เหล็กไร้สนิม ตะกั่ว  มันเป็นสารที่ไม่ก่อการระเบิดและไม่ติดไฟด้วยตนเอง แต่ช่วยในการสันดาปของออกซิเจน

สีคลอรีนเหลวจะเป็นสีอำพัน หนักกว่าน้ำประมาณ 1.5 เท่า มีจุดเดือด -34 องศาเซลเซียสที่ความดันปกติ ขยายตัวเป็นแก๊สได้ประมาณ 460 เท่า การป้องกันไม่ให้รั่วในสภาพเป็นของเหลวจึงเป็นหัวใจของการดูแลที่สำคัญถ้าจะเลือกใช้คลอรีนเหลว

คลอรีนทั้งก๊าซและของเหลว ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบหายใจ เยื่อบุจมูก และผิวหนัง เป็นอันตรายต่อปอดและเนื้อเยื่อต่างๆ ผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการสัมผัสกับก๊าซคลอรีนจะเริ่มเห็นได้ชัดเจนที่ความเข้มข้นประมาณ 5 ppm. ขึ้นไป

ความเข้มข้น 5-10 ppm. ทำให้การหายใจติดขัด น้ำตาไหล ระคายเคืองผิวหนัง ระคายเคืองปอดได้ ความเข้มข้นสูงขึ้น เช่น 1,000 ppm. จะทำให้เสียชีวิตได้

ก๊าซคลอรีนทำปฏิกิริยารุนแรงกับไขมัน แอมโมเนีย เทอร์เพนไทน์ และไฮโดรคาร์บอน ไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า ไม่กัดกร่อน(Corrosive) เมื่อแห้ง

คลอรีนแห้ง (หมายถึงมีความชื้นน้อยกว่า 150 ส่วนในล้านส่วน) เป็นคลอรีนเหลวที่ถูกเก็บในภาชนะภายใต้ความดันสูงที่เปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิ โดยความดันจะสูงขึ้นตามอุณหภูมิ ที่เก็บภาชนะบรรจุคลอรีนเหลวจึงควรเป็นที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

คลอรีนที่นิยมใช้ในการทำลายเชื้อโรคในน้ำ เป็นสีขาว มีกลิ่นเหม็นเล็กน้อย  คลอรีนน้ำที่ใช้กันเป็นคลอรีนในรูปของไฮโปคลอรัส เป็นสารละลายใส สีเหลืองอมเขียวมีสูตรทางเคมี คือ โซเดียมไฮโปรคลอไรต์ (Sodium hypochlorite , NaOCl)  ความเข้มข้นประมาณ 16% โดยน้ำหนัก มีความเสถียรน้อยกว่าแคลเซียมไฮโปรคลอไรต์ ทำให้เสื่อมสภาพได้เร็ว ควรเก็บไว้ในที่มืดและอุณหภูมิไม่สูงกว่า 30 องศาเซลเซียส เพื่อชะลออัตราการเสื่อมคุณภาพ  อายุในการเก็บไม่ควรเกิน 60-90 วัน ถ้าอยู่ในสภาวะ pH ต่ำ จะระเหยเป็นหมอกคลอรีนสามารถระเบิดได้

คลอรีนผง ที่รู้จักกันในนามของ “ผงปูนคลอรีน” มีอยู่หลายชนิด คือ ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด คือ ผงสีขาว ซึ่งเป็น แคลเซียมไฮโปรคลอไรต์ (Calcium hypochlorite) ละลายน้ำได้ดีมีสูตรทางเคมี คือ Ca(OCl)2 มักจะผลิตให้มีความเข้มข้นระหว่าง 60-70% โดยน้ำหนัก คลอรีนผงชนิดนี้หาได้ง่าย ราคาไม่แพง ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยงอย่างรุนแรง ไม่ทำให้เสียรสชาติ ฆ่าเชื้อโรคในเวลาไม่นานเกินไป และยังคงมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคต่อไปได้อีก สะดวกต่อการใช้งาน และสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพได้ง่าย

อีกตัวเป็นผงฟอกสี หรือ ปูนคลอไรด์ (Chlorinated Lime or Chloride of Lime or Bleaching Powder) มีสูตรทางเคมี คือ CaOCl2 ผลิตได้จากปฏิกิริยาเคมีระหว่างคลอรีนและปูนขาว มีความเข้มข้นประมาณ 35% โดยน้ำหนัก

ไฮเตอร์ที่ใช้ซักผ้าเป็นรูปแบบหนึ่งของคลอรีนที่ใช้เป็นตัวฟอกสี

« « Prev : รู้วิธีจัดการน้ำดิบเพื่อใช้สอยไว้หน่อยเหอะ

Next : ล้างผักให้ปลอดสารทำได้แค่ไหน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "รู้จักคลอรีนอีกหน่อย"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.014001131057739 sec
Sidebar: 0.06093692779541 sec