ไดออกซิน มาได้ไง

อ่าน: 2184

เมื่อเราใช้พลาสติก จะรีไซเคิลหรือไม่ก็แล้วแต่ ในที่สุดแล้วปลายทางของมันก็คือขยะ

ในกระบวนการผลิตพลาสติกที่เริ่มต้นจาก monomer เป็น polymers มีการเติมสารเติมแต่งเข้าไปมากมายหลากชนิด แล้วแต่คุณสมบัติการใช้งานพลาสติก สูตรที่หลากหลายและมีการเติมสารเติมแต่งหลากชนิด เข้าไปในการผลิตพลาสติกกลุ่มพีวีซี ทำให้การนำพีวีซีกลับมาใช้ใหม่เป็นไปไม่ได้ทุกบรรจุภัณฑ์

วิธีกำจัดผลิตภัณฑ์ขยะพีวีซีส่วนใหญ่จึงลงเอยด้วยเผาหรือฝังกลบ

เพิ่งรู้นะว่าพลาสติกกลุ่มพีวิซี เกิดจากความต้องการกำจัดคลอรีนที่เกิดขึ้นในระบบผลิตอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้คนสุขภาพเสียจากคลอรีน

คนฝรั่งเศส ( พ.ศ. ๒๓๘๑ ตรงกับสมัย ร.๓ ) และคนเยอรมัน(พ.ศ. ๒๔๑๕ ตรงกับสมัย ร.๕) เป็นคนพบวิธีกำจัดนี้

คนอเมริกันเป็นผู้นำมาขยายผลเป็นอุตสาหกรรมในยุคยางแพง ( พ.ศ. ๒๔๕๖ ตรงกับสมัย ร.๖) นิยมกันอยู่ระยะหนึ่งแล้วฟุบไป

มาฟื้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ( ตรงกับสมัย ร.๙) จนเฟื่องฟูเป็น ๑ ใน ๓ สินค้าพลาสติกที่ขายสูงที่สุดในโลก ( ๒ ตัวแรกคือ PE PP )  กว่า ๒๐ ปีแล้วที่บ้านเรานำเข้ามันมาใช้งาน

ความที่พีวีซีเกิดจากสารเติมแต่งจำนวนมาก มีสาร Plasticisers ( ๖๐% โดยน้ำหนัก) สารทำให้คงตัว ( Stabilisers) สารหล่อลื่น สารทนไฟ ซึ่งรั่วออกมาด้วยฝีมือของจุลินทรีย์ หรือโดนกัดกร่อนโดยตรงจากของเหลวที่มีฤทธิ์กัดกร่อนในหลุมฝังกลบได้ การรั่วซึมนี้ทำให้ธาตุพิษที่อยู่ในสารเติมแต่งเหล่านี้ ออกมาปนในหลุมฝังกลบ  เมื่ออยู่ใกล้ต้นไม้ ต้นไม้ก็ดูดซึมธาตุพิษเหล่านี้เข้าไปในตัวมัน เมื่ออยู่ใกล้แหล่งน้ำดื่ม ก็ปนเปื้อนลงไปได้

สารปนเปื้อนที่เจอกันมาแล้วก็มีแบเรียม แคดเมียม เกิดอีท่าไหนไม่รู้ในเบลเยี่ยม กว่าจะจัดการได้ ก็คล้ายๆเรื่องนิวเคลียร์ปนเปื้อนในญี่ปุ่นตอนนี้นี่แหละ

เรื่องนี้สอนว่า ต่อให้สามารถจัดการ “ดีเยี่ยม” การฝังกลบพีวีซีก็ไม่ใช่วิธีปลอดภัยที่สุด

เปลี่ยนมาเป็นเผายิ่งไม่ดีใหญ่ แพร่กระจายพิษสู่อากาศตรงๆ พีวีซีมีส่วนผสมของคลอรีน เผาแล้วเกิดกรดที่มีฤทธิ์กัดกร่อน จะให้ปลอดภัย เวลาเผาก็ต้องมีกระบวนการแยกก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ออกไปก่อนที่ก๊าซจากเตาเผาจะถูกปล่อยออกไปสู่บรรยากาศ

แต่การลงทุนในการแยกนี้แพง อุตสาหกรรมพีวีซีและคลอรีนจึงไปตั้งเตาเผากลางมหาสมุทรซะ เพื่อจะได้ไม่ต้องติดตั้งเครื่องดักจับสารพิษ ปล่อยให้มันออกมาจับที่ผิวน้ำทะเลแทน เพราะคิดว่าแถวนั้นไม่มีคน

ก๊าซอีกตัวที่มีพีวีซีเป็นแม่ใหญ่ คือ ไดออกซิน ถูกทำคลอดโดยการเผา เหมือนกัน

พีวีซี ๑ กิโลกรัมจะปล่อยสารไดออกซินออกมาราว ๕๐ ไมโครกรัม ปริมาณขนาดนี้ทำให้สัตว์ทดลอง ๕๐,๐๐๐ ตัวเกิดมะเร็งได้ ระดับต่ำทำให้ครอบครัวของสัตว์ป่าเกิดปัญหาต่อระบบสืบพันธุ์ มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้เกิดความผิดปกติต่อโครโมโซมเพศ

ผลนี้ถูกทำนายว่าเกิดกับมนุษย์ด้วย

ขี้เถ้าจากการเผาต้องดูแลด้วย นำไปฝังกลบให้ถูกวิธี  ต้นทุนการบำบัดขี้เถ้าอย่างปลอดภัย สูงกว่าต้นทุนผลิตพีวีซีใหม่ทำให้ยาก

เผาพีวีซี ๑ ตัน มีขี้เถ้าเกลือเกิดขึ้นมากถึง ๐.๙ ตัน ขี้เถ้านี้มาจาก ส่วนผสมของโลหะหนักและสารเติมแต่งที่เป็นส่วนประกอบในพีวีซี

ไปๆมาๆการเผาก็ไม่ช่วยลดกากของเสียที่เกิดขึ้นเลย  จึงมีเพียงทางออกเดียวสำหรับการแก้ปัญหาการกำจัดขยะพีวีซี คือ หยุดผลิตซะตั้งแต่แรก

ไดออกซินเกิดจากคลอรีน กับเบนซิน และออกซิเจนมารวมตัวกัน เป็นสารก่อมะเร็ง

คงตัวในดิน น้ำ ความร้อน สลายเร็วเมื่อโดนแสง อาจพบตกค้างในสารกำจัดวัชพืช และสารฆ่าเชื้อโรค

ถ้ารับเข้าไปไม่เกิน ๐.๐๐๑ กรัมต่อน้ำหนัก ๑ กก. ต่อวัน ยังถือว่าปลอดภัย ( น้ำหนัก ๖๐ กก. ไม่ควรได้รับเกิน ๐.๐๖ กรัม)

พิษทำให้เกิดอาการเฉียบพลันเหล่านี้ได้ :  เบื่ออาหาร น้ำหนักลด แผลในกระเพาะอาหาร ตับอักเสบ เสียชีวิต  ทำให้อวัยวะทารกพิการ หญิงมีครรภ์แท้งบุตรได้ ทำให้อสุจิลดลง  ทำลายระบบส่วนกลาง ทำให้เกิดโรคเบาหวานและระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมง่ายขึ้น

มะเร็งที่เกิดจากไดออกซินก็มี มะเร็งทางเดินหายใจ ตับ ท่อน้ำดี ต่อมลูกหมาก ทรวงอก

« « Prev : อย่าเผาพลาสติกเลยนะ

Next : จะป้องกันมะเร็งจากไดออกซินได้มั๊ย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 ป้าหวาน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2011 เวลา 19:54 (เย็น)

    เราน่าจะมีการงดผลิตใหม่ สำหรับ PVCในสิ่งที่ใช้ PE หรือ PPได้ แล้วมาประยุกต์ ทบทวนการผลิต ปรับปรุงเส้นทางเดินของวงการ PVC เช่น primary ที่จำเป็นคืออะไร แล้วต่อจากนั้น secondary น่าจะเป็นอะไร จนจบกระบวนการ PVC จะถูกหมุนวนไปใช้ไม่ต้องเข้าสู่การกำจัด จะเป็นไปได้หรือไม่ เช่นสุดท้ายอาจนำไปเพิ่มสารบางอย่างแล้วนำไปเป็นส่วนผสมเลียนแบบยางมะตอยใช้ราดถนน หรือ ผสม เลียนแบบ fiber ใช้ในด้านวัสดุก่อสร้าง ไปเป็นส่วนประกอบของงานที่ต้องการใช้ไปนานๆ(จะได้ใช้สมใจที่ไม่ย่อยได้สะอาดหมดจด ได้ใช้ไปไม่มีเหลือใช้ ไม่เป็นขยะ )

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2011 เวลา 20:36 (เย็น)

    ทำอย่างป้าหวานว่าก็เป็นเรื่องดี ถ้าดินตรงนั้นไม่เกี่ยวกับห่วงโซ่อาหารและแหล่งน้ำ

    เรื่องใช้พลาสติกผสมยางมะตอยทำถนน ดูเหมือนที่อินเดียเขาลองทำอยู่ ผลดีนะมีอยู่ แต่ผลเรื่องสิ่งแวดล้อม คือ ดินกับการเกษตรของเขา ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรเหมือนกัน

    ความเป็นเมืองร้อนและมีฝันเป็น “ครัวโลก” มีความจำเป็นต้องรอบคอบก่อนลงมือทำในสิ่งที่รู้ไม่หมด จะดีกว่าค่ะป้าหวาน

    ตอนนี้ที่ควรทำเลยก็คือ สร้างนิสัยใช้พลาสติกเท่าที่จำเป็น ไม่ลงมือเผา ไม่ใช้ได้เลยยิ่งเยี่ยม


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.03459906578064 sec
Sidebar: 0.085708856582642 sec