ปรับดุล “ไข้”
กลไกต่างๆในร่างกายทำงานเหมือนโรงงานที่ไม่มีวันหยุดเพื่อให้เซลล์มีชีวิตอยู่ได้ เซลล์อยู่ได้ดี อวัยวะซึ่งเป็นศูนย์รวมของเซลล์แต่ละชนิดก็จะมีชีวิตที่สดชื่น ดุลความร้อนภายในร่างกายอาศัยกลไกไม่ต่างจากการปรับดุลของความร้อนบนพื้นโลกเลยละ
นอกร่างกายความร้อนมาจากดวงอาทิตย์ส่งผ่านมาให้พื้นโลก ในร่างกายก็มาจากการเผาผลาญสารอาหารที่เซลล์ การจัดการต่างๆที่เล่าไว้ก็จัดการความร้อนที่เกิดขึ้นส่งผ่านมาที่ผิวหนังเพื่อปล่อยออก
ที่ส่งมาให้ผิวหนังทำงานชิ้นนี้ก็เพราะผิวหนังเป็นอวัยวะที่มีพื้นที่ผืนใหญ่ที่สุดของร่างกายที่เหมาะที่สุดกับการทำหน้าที่ระบายความร้อน
ร่างกายระบายความร้อนออกไปจากตัวได้โดยกลไกเหมือนกับที่โลกจัดการกับความร้อนในบรรยากาศของโลก คือ มีทั้งการแผ่รังสีความร้อน การนำความร้อน การพาความร้อน และการระเหยกลายเป็นไอ
การระเหยกลายเป็นไอก็พึ่งเหงื่อ น้ำลาย น้ำในลมหายใจ น้ำเสียที่ปล่อยออกจากร่างกาย
การแผ่รังสีความร้อนก็พึ่งอากาศรอบตัว การนำความร้อนก็พึ่งการสัมผัสของผิวกายกับสิ่งของบางอย่าง การพาความร้อนก็พึ่งอากาศหรือลมรอบตัว
กลไกการควบคุมระดับอุณหภูมิของร่างกายเพื่อให้ได้ดุลนั้นมีศูนย์กลางควบคุมอยู่ที่สมองของคน ศูนย์นี้จะพยายามอย่างยิ่งที่จะเชื่อมโยงผูกไมตรีกับกลไกต่างๆที่ช่วยกันเพิ่มความร้อนให้รับรู้กันและกัน ช่วยกันทำให้สมดุลความร้อนในร่างกายคงที่ อุณหภูมิในร่างกายจะได้คงที่อยู่ในเกณฑ์ปกติสม่ำเสมอ
กลไกทีี่ทำหน้าที่ถ่วงดุล ปรับดุลการผลิตความร้อนและการระบายความร้อนนี้อยู่ที่ผิวหนัง เส้นประสาทไขสันหลัง ช่องท้อง และเส้นเลือดดำใหญ่ของร่างกาย
ผิวหนังทำหน้าที่รับรู้ความร้อนภายนอกร่างกายและส่งข่าวไปให้ศูนย์กลางรับรู้ การรับรู้ความร้อนในร่างกายของศูนย์กลางนั้นมีส่วนอื่นๆอีก ๓ ส่วนที่บอกไว้ข้างบนเป็นผู้ส่งข่าวให้
การจัดช่องรับรู้ที่ศูนย์กลางนั้น ธรรมชาติก็จัดไว้ได้น่าทึ่งมากเลย จัดไว้เป็นสัดส่วนว่าจะส่งข่าวเรื่องภายในให้ไปเคาะบอกที่ส่วนหลังของศูนย์กลาง จะส่งข่าวเรื่องภายนอกร่างกายให้ไปเคาะบอกที่ส่วนหน้าของศูนย์กลาง
เวลาที่รับรู้ข่าวแล้ว ทั้งส่วนหลัังและส่วนหน้าของศูนย์ก็ลงมือทำงานกันทันที ทั้งสองส่วนเมื่อลงมือสั่งการก็ทำงานไม่ซ้ำซ้อนกันด้วยนะเออ
ส่วนหน้าทำหน้าที่สั่งการเรื่องของการระบายความร้อน ส่วนหลังทำหน้าที่สั่งการเรื่องของการผลิตความร้อน
ธรรมชาติได้สร้างตัวรับรู้ไว้ที่ผิวหนัง เส้นประสาทไขสันหลัง ช่องท้อง และเส้นเลือดดำใหญ่เกี่ยวกับความเย็นมากกว่าความร้อนถึง ๑๐ เท่า ตรงนี้ทำให้คนรับรู้ความเย็นได้ไวกว่าความร้อนถึง ๑๐ เท่าเชียวนา
ความไวของการรับรู้อย่างนี้นี่แหละที่ทำให้เมื่อผิวหนังเย็น จึงไม่มีเหงื่อ เวลาเย็นมากขึ้นจึงรู้สึกปากสั่น ตัวสั่น ผิวซีด คล้ำหรือเขียว ที่เกิดอย่างนี้เป็นเพราะร่างกายปรับดุล set อุณหภูมิภายในร่างกายเพื่อป้องกันภาวะอุณหภูมิต่ำนั่นเอง
เมื่อไรที่ปรับ set อุณหภูมิได้สมดุลแล้ว สิ่งที่ปรากฏขึ้นแทนที่คือ ผิวกายเปลี่ยนเป็นสีชมพู หน้าแดงขึ้น เริ่มมีเหงื่อ หายสั่น ผิวกายอุ่นขึ้น
สิ่งที่มีเอี่ยวกับการจัดการสมดุลความร้อนของร่างกายทั้งในตัวและนอกตัว ยังมีสิ่งเหล่านี้ด้วยนะ
๑. อายุ ศูนย์กลางที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายของเด็กยังทำงานไม่เต็มที่ อุณหภูมิกายเด็กจึงเปลี่ยนแปลง ไม่มั่นคง กว่าจะถึงวัยผู้ใหญ่ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงจึงมีผลต่ออุณหภูมิร่างกายเด็ก วัยผู้ใหญ่ในช่วงอายุใดตามที่มีเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและไขมันมีน้อย มีหลอดเลือดแก่ก่อนวัยหรือตามวัยสูงอายุ เลือดจะมาเลี้ยงผิวหนังลดลง อุณหภูมิร่างกายจะต่ำง่าย เสี่ยงต่อภาวะอุณหภูมิกายต่ำ (Hypothermia) ได้ง่าย
๒. อุณหภูมิร่ายกาย ซึ่งปกติจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งวัน เปลี่ยนได้มากถึง ๑.๐ องศาเซลเซียส ( ๑.๘ องศาฟาเรนไฮด์ ) เวลาระหว่างช่วงเช้าและช่วงบ่ายๆ อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ระหว่าง ๒ ทุ่มถึงเที่ยงคืนและต่ำสุดช่วงที่นอนหลับตี ๔ ถึง ๖ โมงเช้า
๓. ฮอร์โมน สตรีมีอุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าชาย ช่วงของรอบประจำเดือนที่เป็นระยะตกไข่ อุณหภูมิในร่างกายสตรีจะเพิ่มขึ้น ๐.๓-๐.๕ องศาเซลเซียส (๐.๖-๑.๐ องศาฟาเรนไฮด์) จากการเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนเพศชาย (ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน)
๔. ภาวะเครียด เมื่อมีความเครียด ระบบประสาทอัตโนมัติ (ซิมพาธิติก , Sympathetic nervous system) จะถูกกระตุ้น ต่อมหมวกไตจะหลั่งฮอร์โมน ๒ ตัวออกมาเพิ่ม ซึ่งจะเพิ่มอัตราการเผาผลาญภายในเซลล์ (BMR) ทำให้มีการผลิตความร้อนเพิ่มมากขึ้น
๕. สภาพแวดล้อม ถ้าร่างกายสัมผัสอุณหภูมิแวดล้อมที่เย็น, ร้อนเป็นเวลานาน อุณหภูมิมากสุดของสภาพแวดล้อมสามารถเพิ่มหรือลดอุณหภูมิของร่างกายได้
๖. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างหนักเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อ (Muscular activity) อัตราการเผาผลาญภายในเซลล์ (Metabolic rate) กล้ามเนื้อมีผลทำให้มีการผลิตความร้อนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลง
๗. การติดเชื้อ เชื้อโรคต่างๆไม่ว่าจะเป็นจุลชีพกลุ่มไหนก็ตาม เมื่อเข้าไปในร่างกายจะกระตุ้นให้มีการหลั่งสารกระตุ้นการเพิ่มอุณหภูมิ (endogenous pyrogens) ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
๘. ภาวะโภชนาการ (nutrition) คนที่มีเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังน้อย ไขมัน (fat) น้อย อุณหภูมิร่างกายต่ำได้
๙. เครื่องดื่ม อุณหภูมิภายในช่องปากเปลี่ยนแปลงได้ ( ๐.๒ - ๑.๖ องศาฟาเรนไฮด์ ) เมื่อดื่มเครื่องดื่มร้อน, เย็น
เวลาที่จับตัวแล้วรู้สึกตัวเองไปว่า “ไม่สบาย” อย่าเพิ่งคว้ายาพาราเซตามอลมาใส่ปากกลืนเลยนะคะ
ลองทบทวนข้อมูลและกลไกการจัดการความร้อนส่วนตัวดูก่อนว่า มีอะไรใน ๙ ข้อที่เข้ามาเอี่ยวอยู่บ้างไหมตอนที่รู้สึกว่า “ตัวร้อน” มีอะไรไหมที่หยิบจับจากภายนอกที่ช่วยระบายความร้อนได้ ให้หยิบจับมาสัมผัสกํบผิวกายไว้ก่อนเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังรู้สติ ยังทำอะไรได้อยู่
ลองทำดูสัก ๔๘ ชั่วโมงหลังพบอุณหภูมิเกินดุล (ตัวร้อน) ปรับดุลไม่ได้จริงๆแล้วจึงค่อยไปหาหมอก็ยังไม่สายไป
ลองทำดูสัก ๒ ชั่วโมงหลังพบอุณหภูมิเสียดุล (ตัวเย็น) ถ้าปรับดุลไม่ได้จริงๆ แถมยังมีอาการไม่สบายเพิ่มมากขึ้นๆ กินอะไรไม่ได้ แม้แต่น้ำก็ดื่มไม่ได้มาก ก็ต้องรีบไปหาหมอแล้ว อย่ารอช้าอยู่เลย
เวลาไปหาหมอ พยาบาล อย่าลืมเล่าสิ่งที่เอี่ยวกับอุณหภูมิกายที่หมอ พยาบาลรู้เองไม่ได้ให้ด้วยนะคะ เวลาวัดอุณหภูมิท่านแล้ว เขาจะได้ไม่แปลผลผิด ไม่หลงทางให้ยาผิดตัว ผิดโรค ช่วยกันนะคะ
« « Prev : ไข้ขึ้น
Next : อย่าเผาพลาสติกเลยนะ » »
1 ความคิดเห็น
อ่านแล้วไข้ลง