ไข้ขึ้น

อ่าน: 11735

เวลาพูดถึงอุณหภูมิ  เรามักจะนึกถึงความร้อน-เย็นของอากาศ มากกว่าจะนึกถึงอาการป่วยของร่างกายคนยกเว้นเมื่อไรรู้สึกเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว อ่อนแรงหรือเพลีย  แล้วจะนึกถึงไข้จริงๆก็ต่อเมื่อจับผิวกายตัวแล้วพบว่าร้อนกว่าปกติ จึงจะหวนมานึกเรื่องของการมีไข้

ได้ข้อคิดเรื่องของการมีไข้ของผู้คน ว่าอากาศมีเอี่ยวทำให้เพิ่มเสริมความแรงของไข้ โดยเฉพาะในภาวะที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคโลกร้อน เลยถือโอกาสเอาเรื่อง “ไข้” มาคุยให้ฟังซะหน่อย

คนทั่วไปจะเข้าใจกันว่า “มีไข้” หมายถึง “ติดเชื้อ”  ความเข้าใจนี้เป็นเป็นความจริงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

ความจริงแล้ว “ไข้” เป็นสภาพที่เตือนบอกให้คนรู้ว่า ณ เวลานั้น ความร้อนที่ร่างกายผลิตขึ้นเกินดุลเมื่อเทียบกับการปล่อยความร้อนออกจากร่างกาย

เมื่อความร้อนเกินดุล ความร้อนที่สะสมอยู่ทำให้เกิดภาวะที่คนรู้สึกอึดอัดกับตัวเองหรือที่เรียกว่า “ไม่สบาย” หรือบ่นว่า “ร้อน”

ในสภาพเกินดุลนั้น ถ้ากลไกปรับดุลความร้อนในร่างกายทำงานได้ทันที คนจะรู้สึกว่ามีเหงื่อ เมื่อเหงื่อออก ความร้อนก็ลดลง คนที่เดิมจับผิวแล้วรู้สึกว่าร้อนจี๋ เมื่อจับใหม่หลังเหงื่อออก ผิวจึงกลายเป็นอุ่นหรือเย็นลง

คนที่มีเหงื่อเยอะจึงควรพอใจตัวเองที่กลไกปรับสมดุลความร้อนของตัวเองทำงานไวดี

ใครที่กลไกปรับสมดุลด้วยเหงื่อทำงานช้า ความร้อนที่รุมๆตัวอยู่จะก่ออาการครั่นเนื้อครั่นตัวให้เกิดขึ้น เมื่อไรมีอาการเมื่อย ครั่นเนื้อ ครั่นตัว คนโบราณจึงช่วยสอนกันมาว่านั่นแปลว่า “ร่างกายเริ่มไม่สบาย”

เวลาครั่นเนื้อครั่นตัว หรือเมื่อย ให้รู้ไว้เถิดว่ามีความร้อนสะสมเกินในร่างกายแล้ว รู้แล้วก็ให้สังเกตตัวเองไว้ แล้วช่วยบรรเทาความร้อนโดยหาตัวพาความร้อนมาจัดการกับตัวเองซะ

เมื่อพูดถึงอุณหภูมิของร่างกาย คนจะนึกถึงอุณหภูมิผิวกาย การให้ความสำคัญกับอุณหภูมิที่ผิวกายอย่างมากมายเป็นที่มาของการผลิตคิดค้นเครื่องมือเพิ่มความสบายให้กับผิวกายที่มีหลากหลายไปหมดอย่างทุกวันนี้

ที่จริงอุณหภูมิผิวกายสำคัญกับการมีชีวิตตรงที่เป็นสัญญาณบอกเหตุเตือนเกี่ยวกับสมดุลของอุณหภูมิภายในร่างกาย

อุณหภูมิภายในของร่างกายสำคัญตรงที่เป็นอุณหภูมิหลักที่ทำให้อวัยวะต่างๆมีชีวิตอยู่ได้ อุณหภูมินี้เปลี่ยนแปลงไม่มากในผู้ใหญ่ แต่ในเด็กเปลี่ยนแปลงได้มาก อุณหภูมินี้เปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อไร คนวัยไหนๆก็จะเจ็บป่วย

โดยทั่วไปจะใช้ค่าอยู่ระหว่าง ๓๖.๗ - ๓๗ องศาเซลเซียสเป็นฐานบอกระดับอุณหภูมิภายในของร่างกายที่ถือว่าปกติ ระดับอุณหภูมิที่นำมาบอกนี้เป็นภาพรวม ที่ใช้กันจริงๆในวงการแพทย์ยังแยกช่วงใช้กับวัยต่างๆละเอียดลงไปอีก

อุณหภูมิผิวกายมาจากความร้อนที่รุมๆอยู่ใต้ผิวหนัง โดยมีผิวหนังเป็นด่านสุดท้ายในการถ่ายเทความร้อน ไขมันใต้ผิวหนัง ต่อมเหงื่อ เนื้อพังผืดที่อยู่ใต้หนังเป็นตัวหลักในการรับความร้อนจากภายในร่างกายออกมาเก็บบ่ม และใช้กลไกป้องกันตัวเองระบายความร้อนที่รุมๆนี้ให้ไม่บ่มจนตัวเองก็สุกพอง  กระบวนการรับความร้อนมาบ่มและระบายนั้นเป็นอะไรที่เกิดตลอดเวลา

แต่ละระลอกของความร้อนจากภายในร่างกายส่งผ่านออกมาไม่เท่ากัน อุณหภูมิผิวหนังจึงเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ ขึ้นๆลงๆ แต่ละเวลาอุณหภูมินี้จึงไม่เท่ากัน

แน่นอนว่าความร้อนภายในร่างกายมาจากการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย (Metabolism) จากถ่าน ๓ ชนิดเพื่อให้เกิดพลังงานที่เคยเล่าให้ฟังแล้ว (ถ่านกลูโคส กรดไขมัน และกรดอะมิโน)   ความร้อนที่ผลิตจากการเผาผลาญสารอาหารในคนทั่วไปจะมีค่าอยู่ราว ๔๐ แคลอรี่/ชม./ พท.ผิวของร่างกาย ๑ ตร.ม.ขึ้นไป

จะเชื่อหรือไม่ถ้าจะบอกว่ากระบวนการสร้างเซลล์ใหม่ในร่างกาย หรือการซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอก็ทำให้เกิดความร้อนด้วย

จะเชื่อหรือไม่ว่าการใช้พลังงานของร่างกายเพื่อดำรงกิจกรรมที่จำเป็น เช่น การหายใจ (breathing) ก็มีความร้อนเกิดขึ้น เรียกการใช้พลังงานนี้ว่า BMR (Basal metabolic rate) อัตรานี้ลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น

เวลาที่ร่างกายมีความร้อนเกินดุลมากมาย กล้ามเนื้อก็ทำงานด้วย เมื่อไรที่ร่างกายต้องการความร้อนเยอะๆเร็วๆ กล้ามเนื้อจะลงมือทำงาน การทำงานในเวลาแบบนี้ทำให้เกิดอาการร่างกายทั้งตัวสั่นเทิ้ม แต่ละครั้งของการสั่นผลิตความร้อนให้เพิ่มขึ้นได้ถึง ๔-๕ เท่าของการปล่อยให้ความร้อนขึ้นไปเองตามเพลง

เมื่อความร้อนในร่างกายเสียดุล มีความเย็นภายในมากกว่าภายนอก จะมีการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มอัตราการเผาผลาญภายในเซลล์ให้มากขึ้น

หรือในยามที่ร่างกายอยู่ในภาวะเครียดจัด ก็จะมีการเพิ่มความร้อนให้เร็วมากๆ โดยมีการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต ๒ ตัวเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มอัตราการเผาผลาญภายในเซลล์ เพื่อผลิตความร้อนให้มากขึ้นทันเวลา คนไข้หนักที่บ่นว่าร้อนแต่จับตัวแล้วกลับรู้สึกว่าเย็นบอกได้เลยว่ากำลังเกิดกลไกนี้ขึ้นภายในร่างกาย

เวลาที่คนป่วย ร่างกายที่มีความร้อนเกินดุลอยู่แล้ว ยิ่งมีความร้อนเพิ่มขึ้นตั้งหลักและเริ่มซ่อมแซมร่างกายอย่างใดอย่างหนึ่ง คนป่วยที่มีอุณหภูมิกายสูง จึงมีอุณหภูมิภายในร่างกายที่สูงกว่า เพราะการเพิ่มอัตราการเผาผลาญภายในเซลล์ เมื่อเผาผลาญแล้ว ความร้อนจะถูกถ่ายเทมาระบายที่ผิวหนัง จึงไม่แปลกเลยนะที่ยิ่งไข้สูง อุณหภูมิร่างกายยิ่งสูงเพิ่มขึ้นตาม

อุณหภูมิร่างกายที่ปกติแต่ละวัยวัดที่ผิวกาย ใช้ค่าในการแยกความปกติของอุณหภูมิร่างกายคนอยู่ดังนี้

๑. ทารกแรกคลอด - อายุ ๑ เดือน  ๓๖.๑ - ๓๗.๗ องศาเซลเซียส ( ๙๗ - ๑๐๐ องศาฟาเรนไฮด์ )

๒. เด็กตั้งแต่อายุเดือนแรกขึ้นไป ๓๗-๓๗.๖ องศาเซลเซียส ( ๙๘.๖- ๙๙.๖ องศาฟาเรนไฮด์ )

๓. ผู้ใหญ่ ๓๖.๕-๓๗.๕ องศาเซนติเกรด (๙๗.๗- ๙๙.๕ องศาฟาเรนไฮด์ )

๔. ผู้สูงอายุ ๓๖-๓๖.๙ องศาเซนติเกรด (๙๖.๙ - ๙๘.๓ องศาฟาเรนไฮด์ )

เมื่ออุณหภูมิในร่างกายเสียดุล สิ่งที่ปรากฏกับผิวกายก็คือ อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไป

ถ้าสูงกว่าปกติโดยมีการป่วยที่คนรับรู้ตัวเอง ซึ่งจะรู้ก่อนหรือหลังอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงก็แล้วแต่นี่แหละ ที่เรียกกันว่า “ไข้ขึ้น” ภาษาในทางการแพทย์จะใช้คำแทนว่า “fever หรือ pyrexia”  เมื่อไรที่ใช้คำนี้ รู้กันไว้เหอะว่า หมอให้น้ำหนักต้นเหตุที่ทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องเชื้อโรคมากกว่าอย่างอื่น

แต่ถ้าเมื่อไรคนยังไม่รับรู้ว่าป่วย หรือยังหาสาเหตุการป่วยไม่เจอและไม่สงสัยเรื่องเชื้อโรค ภาษาหมอก็เรียกว่า “ภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ” หรือ “Hyperthermia”  ไว้ก่อน

ตอนที่อุณหภูมิผิวกายสูงในระดับเกินปกตินั้น อุณหภูมิภายในร่างกาย (core body temperature) ได้ปรับค่าใหม่ให้ตัวเองด้วยเพื่อจัดสมดุล  ระหว่างที่มีการปรับค่าใหม่นี้ มีสิ่งเหล่านี้เหล่านี้เกิดขึ้นกับร่างกายได้ คือ สั่น หนาว สั่นเทิ้ม ชัก

เวลาที่ตัวเองรู้สึกไม่สบายหรือมีความไม่สบายติดตัวตลอดอยู่แล้ว อย่าลืมวัดอุณหภูมิผิวกายเป็นระยะและสังเกตความรู้สึกร้อนง่ายของตัวเองไว้บ้าง จะได้จัดการตัวเองให้สบายขึ้นได้ทันนะคะ

« « Prev : เบรคแตกระหว่างขับรถ ทำอะไรได้บ้างให้ปลอดภัย

Next : ปรับดุล “ไข้” » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ไข้ขึ้น"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.030355930328369 sec
Sidebar: 0.068002223968506 sec