กินเค็มหรือเปล่า
เล่าไปแล้วว่าเวลาหมอๆพูดกันเรื่องเกลือ เรื่องเค็ม นั้น ใช้สื่อแทนปริมาณธาตุโซเดียมในร่างกาย
โซเดียมเป็นธาตุตัวหนึ่งซึ่งร่างกายใช้ปรับสมดุลเคมีภายในร่างกาย
โดยทั่วไปเวลาดูปร๊าดว่า กินเค็มหรือเปล่า ผู้คนก็มักจะมุ่งไปที่ของดอง ของเค็มตามความคุ้นชิน แล้วปรับลดมัน หรืองดกินไปเลยอยู่แล้ว ดีใจที่สัญชาตญาณเหล่านี้ถูกปลูกฝังอาไว้แน่นหนา ซึ่งทำให้นำมาปรับใช้ตามน้ำต่อได้ง่ายๆดี
ใช้สัญชาติญาณมาดูที่มื้ออาหารของอ้ายเปลี่ยนกันก่อนก็แล้วกันมีมื้อไหนที่มีของดองเข้ามาเป็นกับข้าวอยู่บ้าง
มื้อเช้า น้ำเต้าหู้ไม่ใส่น้ำตาล ข้าวสวยครึ่งทัพพี ผัดมันฝรั่งผงกระหรี่ครึ่งถ้วยเล็ก กาแฟดำ
มื้อกลางวัน ข้าวสวยครึ่งทัพพี หมากค้อดอง กาแฟดำ กล้วยน้ำว้า ๑ ลูก
บ่าย นมถั่วเหลืองชนิดหวานน้อย ๑กล่อง
เย็น แกงผักกาดใส่ขิง ข้าวสวยสองช้อนโต๊ะ
จับได้แล้ว มื้อกลางวันมีผักดองที่ไม่รู้จักหน้าตาอยู่ ไม่เป็นไร ลองใช้ความไม่ชัดให้เป็นประโยชน์คร่าวๆดูได้ ยกมาดูให้จะๆกันข้างล่างนี้ สะดวกกว่านะ
ข้าวสวยครึ่งทัพพี หมากค้อดอง กาแฟดำ กล้วยน้ำว้า ๑ ลูก
ดูๆแล้ว อ้ายเปลี่ยนน่าจะกินเป็นกับข้าวหลักเลยนะนี่นะ จำนวนกินเดาๆจากวิธีกินกับข้าวของตัวเองเทียบกับจำนวนทัพพีข้าวนะคะว่าอย่างน้อยก็กินเข้าไปราวๆ 2 ช้อนข้าวเห็นจะได้มั๊ง
บอกไว้แล้วที่ในบันทึกก่อนว่า ยังรู้สึกไม่พอใจว่าความรู้ที่บอกไว้ที่นี่ยังใช้งานทันทีไม่ได้
เช้าวันนี้ตื่นมาก็ไปกินข้าวเช้ากับลูก ได้ีกับข้าว เป็นแกงไก่่ใส่หยวกกล้วย 1 ถ้วย น้ำพริก+ผักเคียง (แตงกวา,ถั่วฝักยาว,ใบโหระพา,ยอดมันปู ) 1 ชุด ผัดบวบใส่ไข่ 1 จาน และ แกงจืดผักกาดดองกระดูกหมู 1 ถ้วย ระหว่างกินแวบนึกถึงโจทย์ที่ติดใจอยู่ขึ้นมาพลันทันที เออ จะรู้ได้ไงด้วยตาเปล่าๆเห็นปร๊าดว่ากินเข้าไปเิกินหรือยัง ไม่ทันคิดก็กินอิ่มซะก่อนแล้ว นี่ไงรู้แล้วยังทำไม่ได้ พิสูจน์กันให้เห็นจะๆด้วยตัวเอง นึกไปต่อทำยังไงจึงจะรู้ได้(หว่า)
แล้วคำตอบก็โผล่มาบอกว่า ไปตลาดสดหน่อยซิเธอจ๋า รู้แล้วนี่ว่าผักดองน้ำหนักเท่าไรจะให้โซเดียมเท่าไร ไปดูซิน้ำหนักที่ว่า รูปร่างหน้าตาที่ตาเห็นจริงๆนะเป็นยังไง จะทำไงให้นำมาใช้กับหลักการของธงโภชนาการได้ด้วยง่ายๆ
ไม่รอช้ากินอิ่มก็เข้าไปตลาดสดทันที เมียงมองหาผักกาดดองที่กินเข้าไปในตอนเช้า กะไว้ว่าจะซื้อเป็นน้ำหนักเอามาหั่น เอามาลองดูที่บ้านสักหน่อย โชคดีจริง ไปพบแผงที่เขาหั่นผักกาดดองพร้อมกินได้เลยเข้าพอดี เป็นอันว่าวันนี้มีเฉลยที่ตั้งใจจะมาเขียนบันทึกเอาไว้ได้แล้ว
ได้มาว่า ผักกาดดอง 100 กรัมนั้นมีจำนวนมากกว่า 1 กำมืออยู่นิดหน่อย หรือราวๆ 6-7 ช้อนข้าว (ช้อนส้อม) เห็นจะได้ ได้การละ มีเรื่องนำมาบอกกล่าวกันแล้ว ตั้งใจว่าจะเอาจำนวนผักกาดดองที่กินเมื่อเช้านี่แหละมาลองเป็นบทเรียนใช้กะๆดู แล้วปรับเป็นจำนวนของโซเดียมดูว่าเป็นยังไง
กลับมาแล้ว ก็เช็คดูอีเมลตอนเช้าตามปกติ แล้วก็เจอเมนูที่อ้ายเปลี่ยนนำมาบอกเล่าไว้ อืม พอดี ได้ของเล่นมาใช้ร่วมแล้ว ลองเล่นดู เรียนรู้ด้วยกันไปก็แล้วกัน
ว่าแล้วลองเทียบบัญญัติไตรยางค์ทันทีว่า เมนูอ้ายเปลี่ยนมื้อเดียวนั้น ได้โซเดียมไปเท่าไร 2 ช้อนข้าวก็อยู่ในราวๆ 1 ใน 3 ของวันใช่ไหม 1/3 ของ 2000 มก. ก็เป็นโซเดียมราวๆ 650 มก.
ข้าว ผัก ผลไม้ที่ตามเมนู ก็กินไม่มากเท่าไร แล้วเป็นแหล่งที่ไม่ให้โซเดียมมากสักเท่าไร ให้ผ่านไปแล้วกันว่า ไม่ทำให้สูงปรี๊ด
ที่ต้องดูก็ยังมี น้ำนมถั่วเหลืองน้ำตาลน้อยนี่ซิ ไม่รู้มีโซเดียมเท่าไร เดาไว้ในใจก่อนละกัน
ดูเผินๆจากเมนู ข้าว ผัก ผลไม้ + ผักดองแล้ว โซเดียมตามเมนูอ้ายเปลี่ยนนะอยู่ใกล้ 500 มก.เข้าไปแล้ว เทียบกับเพดานที่กินได้ต่อวัน ดูเหมือนจะอุ่นใจไม่น้อยใช่ไหม
ยังๆค่ะ อย่าเพิ่งอุ่นใจ เจ้าตัวปอบยัังไม่โผล่ออกมาให้เห็นตัวกันเลยนะคะ ปอบที่ว่า คือ พวกเครื่องปรุงรสทั้งหลายไงละคะ มีแต่อ้ายเปลี่ยนที่จะเป็นหมอผีจับตัวมันได้ค่ะ
เดาไว้ก่อนว่าถ้าให้ปอบมันสิงในเมนูได้ทุกมื้อละก็ วันนี้อ้ายเปลี่ยนได้โซเดียมเกินเกณฑ์ไปแล้วค่ะ ไม่ต้องรู้ว่าในน้ำนมถั่วเหลืองมีโซเดียมเท่าไรก็ยังได้เลยค่ะ
วิธีปรับ มีหลักให้เลือกตามชอบใจง่ายๆ 2 เรื่องค่ะ คือ
1. เลือกปรับสัดส่วนของอะไรใน 2 อย่างนี้ให้ลดลงทีละนิดๆในแต่ละมื้ออย่างที่คุยกับพี่บู๊ดไว้ อย่างแรกคือ การปรับจำนวนของเครื่องปรุงรสทั้งหลาย อย่างหลังคือ การปรับลดจำนวนของอาหารดองๆทั้งหลาย
2. เวลาปรับก็ใช้หลักเดียว กินแบบดูดีหรือเปล่า เหมือนการกินข้าวกับแหล่งที่ให้แป้ง เมื่อเมนูมันเกิดไปอยู่่ในมื้อเดียวกันค่ะ
« « Prev : มาดูกันหน่อยว่าเบาหวานจะลดได้หรือเปล่า
Next : นมถั่วเหลือง-น้ำเต้าหู้มีเกลือหรือเปล่า » »
ความคิดเห็นสำหรับ "กินเค็มหรือเปล่า"