ถ้าไม่มีหลักฐานการครอบครองก่อนปี ๒๔๙๗ จะออกโฉนดได้ไหม
(ผมเขียนแถลงการณ์ปิดคดีในช่วงนี้โดยอ้างข้อกฎหมายในการขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายว่าจะต้องทำอย่างไร แต่เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ออกโฉนดไม่ได้ ลองอ่านดูนะครับจะเข้าใจกฎหมายที่ดิน….)
การที่โจทก์ที่ ๔,๕,๖ ขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย โจทก์ที่ ๔,๕,๖ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดินด้วย กล่าวคือ เนื่องจากโจทก์ที่ ๔,๕,๖ อ้างว่าได้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครอง จึงจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๕๙ ทวิ ซึ่งบัญญัติว่า
“ผู้ซึ่งครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ แต่ไม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ ตรี ถ้ามีความจำเป็นจะขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็น สมควรให้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประมวลกฎหมายนี้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”
ซึ่งตามกฎหมาย หากพื้นที่นั้นมีการสำรวจทั้งตำบลโจทก์ที่ ๔,๕,๖ จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๒๗ ตรี ซึ่งบัญญัติว่า
“เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสำรวจตามมาตรา ๕๘ วรรคสอง ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้ แจ้งการครอบครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือผู้ซึ่งรอคำสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา ๒๗ ทวิ แต่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทำการสำรวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวนถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ได้มานำหรือส่งตัวแทนมานำพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนด ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”
แต่ปรากฏข้อเท็จจริงจากเอกสารที่จำเลยอ้างส่งศาล ตามเอกสารหมาย ล.๒ และ ล.๖๔ ในช่วงระยะเวลาที่มีการเดินสำรวจทั้งตำบล บุคคลที่อ้างว่าได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาททุกคนทุกแปลงหามีใครนำสำรวจรังวัดแต่อย่างใดไม่พยาน หลักฐานที่โจทก์อ้าง ตามเอกสารหมาย จ.๒๓,จ.๒๔,จ.๖๗,จ.๘๙,จ.๙๐,จ.๑๑๓,จ.๑๔๕ ก็อ้างว่า เช่น นายลำดวน สงคราม อ้างว่าไม่อยู่ในระหว่างการเดินสำรวจบ้าง การเดินสำรวจรังวัดมาไม่ถึงที่พิพาทบ้าง แต่จำเลยมีพยานหลักฐานยืนยัน(หมาย ล.๒,ล.๖๔)ได้ว่ามีการเดินสำรวจผ่านที่พิพาทแล้ว และมีบุคคลอื่นนำรังวัดเพียงแต่ทางราชการอ้างว่าผู้นำรังวัดได้นำรังวัดโดยไม่ชอบทับที่ดินของผู้อื่น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานแล้วเป็นการนำรังวัดทับที่ดินที่ได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่ของบริษัทว. ซึ่งต่อมาในวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๖ ทางราชการ และ ผู้ปกครองท้องที่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔ ได้ทำตามข้อเสนอแนะของบริษัท ว. จำกัด ให้ทางราชการอนุรักษ์ที่ดินพิพาทไว้เพื่อชนรุ่นหลัง จากการตรวจสอบพบว่า มีลักษณะของพื้นที่ เป็นแนวยาวตลอดชายฝั่งอ่าวรายัน เกิดจากการตื้นเขินของทะเลตามธรรมชาติ ถือเป็นที่งอก ฯลฯ มีราษฎรบุกรุก ประมาณ ๕๐ ราย โดยได้บุกรุกมาประมาณ ๒ ปีแล้ว รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๓๐ ซึ่งแสดงว่าราษฎรเพิ่งบุกรุกหาใช่ได้เข้าไปยึดถือครอบครองก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแต่อย่างใดไม่
หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ จำเลยที่ ๓ ได้ออกประกาศ ห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินพร้อมแผนที่แนบท้ายประกาศ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๓๑ ถึง ล. ๓๕ จากการตรวจสอบที่ดินก่อนประกาศไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดปลูกผลอาสินในที่ดินพิพาท คงมีแต่เพียงผู้บุกรุกจำนวน ๕๐ ราย ซึ่งเป็นการบุกรุกหลังจากที่ มีการเพิกถอน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ดังกล่าวแล้ว และที่น่าสังเกตอย่างยิ่งก็คือ การที่นายข. นายป. และนายน. ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในที่พิพาทคดีนี้ ซึ่งได้ความต่อมาภายหลังว่าเป็นการนำสำรวจรังวัดโดยไม่ชอบ จำเลยเห็นว่า การที่บุคคลทั้งสามได้แจ้งการครอบครองและได้ให้การกับทางราชการว่าการที่กระทำดังกล่าวเพราะนายฮ. บอกว่ามีที่ว่าง จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยว่าในขณะที่มีการรังวัดสำรวจเพื่อออกน.ส.๓ ทั้งตำบล ในขณะนั้นยังไม่มีบุคคลใดเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเลย จึงเป็นช่องว่างให้คนที่รู้ว่าที่ดินดังกล่าวว่างอยู่เข้าแสวงหาประโยชน์
ระหว่างที่ โจทก์ที่ ๔ ที่ ๕ และโจทก์ที่ ๖ ยื่นคำเรื่องราวขอออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาทนั้น มีบุคคลผู้มีชื่อจำนวนหลายรายร้องเรียนการขอออกโฉนดดังกล่าว ขณะเดียวกัน บริษัท ว. จำกัด เจ้าของประทานบัตรซึ่งยังไม่สิ้นอายุ ได้ขอถอนประทานบัตรเพื่อเปิดทางให้ผู้ขอออกโฉนดสามารถออกโฉนดได้ ทั้งที่ได้ทำการตรวจสอบแล้วว่า ที่ดินที่ขอออกโฉนด อยู่ในเขตประทานบัตร รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๗ ,ล ๕๑ และ ล. ๕๒ จนในที่สุด มีการตรวจสอบความเป็นมาของที่ดินพิพาทอีกครั้งจากเอกสารการยื่นเรื่องราวขอออกโฉนด (ไหนๆก็ไหนๆแล้วขอจบตอนหน้าก็แล้วกัน อิอิ)
« « Prev : ผมยกแม่น้ำทั้งห้ามาขอให้ศาลยกฟ้อง
Next : ปิดคดีนี้ได้เสียที เฮ้อ… » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ถ้าไม่มีหลักฐานการครอบครองก่อนปี ๒๔๙๗ จะออกโฉนดได้ไหม"