ผมยกแม่น้ำทั้งห้ามาขอให้ศาลยกฟ้อง

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2009 เวลา 23:31 ในหมวดหมู่ นักกฎหมายอย่างผม, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 3540

ผมแถลงการณ์ปิดคดีด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ยกแม่น้ำทั้งห้ามาแสดงเหตุผล จะลองอ่านบางช่วงบางตอนดูสักหน่อยไหมครับ

คดีนี้ ศาลมีคำสั่งงดชี้สองสถานเนื่องจากเห็นว่าคดีไม่มีข้อยุ่งยาก และเห็นว่าทุกสำนวนคดีมีประเด็นพิพาทว่า ที่ดินเป็นที่สาธารณะประโยชน์ประเภทที่ดินที่จะสงวนหรือหวงห้ามเพื่อให้ประชาชนใช้ร่วมกันหรือเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง จำเลยทั้งเจ็ดเห็นว่า นอกจากประเด็นที่ศาลกำหนดแล้วยังมีประเด็นที่จะนำมาวินิจฉัยประกอบประเด็นพิพาทดังนี้

๑.ที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธิครอบครองนั้น โจทก์ทั้งหกมีสิทธิครอบครองตามกฎหมายหรือไม่

๒.ที่ดินที่โจทก์ที่ ๔,๕,๖ อ้างการครอบครองเข้าหลักเกณฑ์ที่โจทก์ที่ ๔,๕,๖ สามารถนำไปขอออกโฉนดที่ดินตามคำขอของโจทก์ที่ ๔,๕,๖ หรือไม่

๓.ที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่าที่จะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามระเบียบจัดที่ดินแห่งชาติได้หรือไม่

พยานโจทก์ต่างอ้างว่าได้ครอบครองมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับแต่ไม่มีโจทก์คนใดที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง ส.ค.๑ หรือหลักฐานแสดงสิทธิอื่นใด เช่น ใบจอง ฯลฯ มาแสดงแม้แต่คนเดียว คงอ้างแต่พยานบุคคลที่ขัดต่อเหตุผล เช่น อ้างว่าครอบครองทำประโยชน์โดยปลูกต้นสน,ต้นรัก ซึ่งในสมัยก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ต้นไม้ที่อ้างหามีใครปลูกไม่ เพราะเป็นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถเห็นได้ง่ายทั่วไป ต้นสนที่นิยมปลูกในปัจจุบันเพื่อทำเสาเข็มมักจะเป็นแถวเป็นแนวเพื่อบังคับให้มีลำต้นตรงและสะดวกแก่การตัดทำประโยชน์ แต่ต้นสนในที่พิพาทเป็นต้นสนที่ขึ้นไปตามธรรมชาติไม่มีแถวหรือแนว ดังเช่นภาพถ่ายที่โจทก์อ้าง ส่วนต้นรักเป็นไม้ล้มลุกก็ไม่มีใครปลูกเป็นอาชีพเพราะคนที่อยู่ตามชายทะเลก็จะเป็นผู้มีอาชีพทำการประมงไม่ใช่ปลูกดอกรักขาย และตามสภาพความเป็นจริงไม่มีใครขายดอกรักในยุคสมัยก่อนปี ๒๔๙๗ ซึ่งอัตราประชากรมีไม่มากทั้งการปลูกไม้ดอกเป็นอาชีพก็ควรปลูกในที่ดินปกติมิใช่ชายทะเลซึ่งต้นไม้ไม่ค่อยให้ผล และที่ผิดปกติคือทำไมที่ดินโจทก์ทุกแปลงปลูกแต่ต้นรัก เหตุผลในเรื่องนี้ก็คือ ที่ดินเป็นทรายปลูกต้นไม้อะไรก็ไม่ได้ผลเว้นแต่เป็นไม้ตามธรรมชาติ

ส่วนพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยได้นำสืบประวัติความเป็นมาของที่ดินโดยอาศัยภาพถ่ายทางอากาศ ระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ รางานการอ่านตีความภาพถ่ายทางอากาศตามเอกสารหมาย ล.๑,ล.๒ และ ล.๗๐ ประกอบ จ.๑๘๕ โดยให้นางสาวรุจิรา ฉิมดี นักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศระดับชำนาญการ พยานผู้เชี่ยวชาญ ขึ้นทะเบียน ผู้เชี่ยวชาญประจำศาลยุติธรรม เป็นผู้อ่านแปลตีความภาพถ่ายทางอากาศและจัดทำรายงานการอ่านแปลและตีความไว้ โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศจำนวน ปี พ.ศ. ต่างๆ กัน จำนวน ๓ ปี พ.ศ. มาอ่านแปลและวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบสภาพพื้นที่พิพาทในแต่ละปีรวมตลอดถึงประวัติความเป็นมาของที่ดิน ประกอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชื่อโปรแกรมเออร์ดาสอิเมจิ้น ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลกและมีราคาแพง และจำเลยได้นำเสนอให้ศาลเห็นความน่าเชื่อถือและการทำงานของโปรแกรมดังกล่าวอย่างละเอียด ซึ่งโจทก์ไม่โต้แย้งคัดค้าน ได้ความว่าในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ที่ดินพิพาทยังคงเป็นทะเลบางส่วนมีเพียงส่วนเล็กน้อยที่เป็นที่ชายหาดน้ำทะเลท่วมถึง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๘/๒๕๑๙ จะเห็นมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมมีพื้นที่เป็นแผ่นดินมากขึ้น จนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เริ่มมีกิจกรรมอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์เกิดขึ้นในบริเวณที่ดินพิพาท จึงรับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยได้ว่า ก่อนปี พ.ศ.๒๕๑๐ ไม่มีบุคคลใดครอบครองที่ดินบริเวณพิพาทและการเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทเกิดขึ้นภายหลังปี ๒๕๑๙อย่างแน่นอน การที่พยานโจทก์กล่าวอ้างมีการครอบครองมาตั้งแต่ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับจึงเป็นการขัดต่อเหตุผลและพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ทั้งยังสอดคล้องกับคำขอประทานบัตรทำเหมืองตามเอกสารหมาย ล.๓ ถึง ล.๖ ที่ระบุคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ในทะเล นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๒ ยังบัญญัติให้

“ที่ดินซึ่งมิได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้ถือว่าเป็นของรัฐ” และตามมาตรา ๙ ยังบัญญัติไว้อีกว่า
“ภายใต้ข้อบังคับกฎหมายว่าด้วยการเหมืองแร่และป่าไม้ที่ดินของรัฐนั้นถ้ามิได้มีสิทธิครอบครองหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วห้ามมิให้บุคคลใด
(๑)เข้าไปยึดถือครอบครองรวมตลอดถึงการก่อสร้างหรือเผาป่า……”

พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยจึงพิสูจน์ยืนยันได้ว่าไม่มีบุคคลเข้าครอบครองที่พิพาทก่อนปี๒๕๑๐ ถึง ๒๕๑๘ อย่างแน่นอน การเข้าครอบครองที่ดินของรัฐโดยพลการโดยไม่มีระเบียบกฎหมายใดรับรองจึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นที่ที่ไม่มีผู้ครอบครองได้โดยชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นที่รกร้างว่างเปล่าที่ควรจะสงวนหวงห้ามไว้ให้ประชาชนใช้ร่วมกันอันเป็นการรักษาทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่เป็นมรดกให้กับอนุชนรุ่นหลังต่อไป

สมมุติว่าท่านเป็นผู้พิพากษาเหตุผลเหล่านี้พอที่จะให้ท่านตัดสินให้ฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นฝ่ายชนะคดีได้ไหมขอผมอีกตอนเถอะนะ ผมจะชี้ข้อกฎหมายให้ดูด้วย ว่าทำไมที่ดินแปลงนี้ออกโฉนดให้ไม่ได้ (โปรดติดตามอย่ากระพริบตา อิอิ)

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : ชนะได้ไง คดีที่ดินมูลค่า ๗,๐๐๐ ล้าน(๓)

Next : ถ้าไม่มีหลักฐานการครอบครองก่อนปี ๒๔๙๗ จะออกโฉนดได้ไหม » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

73 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.24737095832825 sec
Sidebar: 2.0238540172577 sec