ปิดคดีนี้ได้เสียที เฮ้อ…
(อย่างที่ผมเล่าให้ฟังว่าผมต้องเผชิญกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ดิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ทำงานเอื้อกับฝ่ายโจทก์มีพยานหลักฐานให้ฝ่ายโจทก์นำไปแสดง แล้วคนทำคดีมันจะเหนื่อยใจสักขนาดไหน ลองอ่านดูต่อแล้วกันครับ)
หากมองโดยภาพรวมของการที่โจทก์ในคดีนี้อ้างสิทธิครอบครอง จะเห็นได้ว่าต่างล้วนเพิ่งมาซื้อที่ดินตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๖ เป็นต้นมาทั้งสิ้น การได้มาซึ่งทะเบียนบ้านของบรรดาโจทก์ก็เรียงลำดับกันทั้งๆที่ต่างคนต่างอ้างพยานว่าได้สร้างบ้านอยู่ในที่พิพาทมาก่อนและต่างคนต่างสร้าง หากการออกเลขที่บ้านเป็นไปโดยถูกต้องตามลำดับ ทำไมเลขบ้านจึงต้องมีเลขทับ / เช่น ๓๑/๑,๓๑/๒,๓๑/๓ การที่ออกเลขบ้านมีทับ / ย่อมแสดงว่ามีการสร้างบ้านภายหลังจากบ้านเลขที่ดังกล่าวมีอยู่แล้ว เช่น มีบ้านเลขที่ ๓๑ อยู่แล้ว ต่อมาในบริเวณที่ดินเดียวกันมีการสร้างบ้านเพิ่ม จึงออกเลขที่ ๓๑/๑ ต่อไปเรื่อยๆ และเรื่องราวการขอออกเลขที่บ้านชุดของบรรดาโจทก์ก็ไม่มีอยู่ในแฟ้มทะเบียนของอำเภอถลาง โจทก์อ้างพยานหลักฐานเรื่องการขอออกทะเบียนบ้านแต่ไม่สามารถนำมาแสดงต่อศาลได้ (หมายความว่าทะเบียนบ้านเหล่านี้ทำขึ้นมาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่มันไม่ถูกต้องนะสิ..เหนื่อยไหมล่ะ)
พยานเอกสารในแฟ้มของเจ้าพนักงานที่ดินที่โจทก์และจำเลยอ้างส่งศาลมีพิรุธของปากคำพยานที่เกิดจากการปั้นแต่งเพื่อประโยชน์ในการขอรังวัดของโฉนดของโจทก์ที่ ๔,๕,๖ จึงจะเห็นการให้การกลับไปกลับมาของบรรดาพยาน เนื่องจากพยายามหาเหตุผลมาอ้างเพื่อให้สามารถออกโฉนดได้แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงที่อ้างไม่เป็นความจริงก็ทำให้ขัดกับเหตุผลจนต้องสร้างเอกสารขึ้นมาแก้ไขเหตุผลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเห็นการพยายามที่จัดทำเอกสารเพื่อให้สภาตำบลซึ่งไม่มีอำนาจใดๆที่จะยกที่ดินให้ชาวบ้าน มาประชุมยกที่ดินที่มีการบุกรุกให้เป็นของผู้บุกรุก และในการประชุมลงนามคัดค้านแต่ละครั้งจำนวนคนผู้มาคัดค้านก็มีจำนวนไม่เท่ากัน ซ้ำกันบ้างไม่ซ้ำกันบ้าง ทั้งพยานโจทก์ปากนายล. ซึ่งอ้างว่าขายที่ดินให้นายป. สามีของนางส. ก็เบิกความขัดต่อเหตุผล เช่น อ้างว่าขายที่ดินเพื่อไปจัดการงานศพบิดา แต่ทนายจำเลยซักค้านได้ความว่านายท. บิดาพยานปากนี้ได้ตายไปนานถึง ๑๐ ปีแล้วก่อนที่นายล.จะอ้างว่าขายที่ดินให้กับนายป.,นางส. เพราะความจริงแล้วหาได้มีการขายระหว่างบุคคลดังกล่าวกันจริงไม่ เมื่อโจทก์ที่ ๔,๕,๖ และผู้ที่อ้างการครอบครองที่ดินพิพาทก่อนโจทก์ที่ ๔,๕,๖ ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย โจทก์ที่ ๔,๕,๖ จึงไม่อาจขอออกโฉนดที่ดินได้ การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละท่านตั้งแต่นายยุวัฒน์ วุฒิเมธี ต่อเนื่องกันมาถึงนายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ไม่ยอมออกโฉนดที่ดินให้กับโจทก์ที่ ๔,๕,๖ ก็เพราะเป็นการออกโฉนดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั่นเอง หาใช่เพราะติดประกาศกฎกระทรวงฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ.๒๕๓๗)ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ ใช้บังคับ ดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่
โดยสรุป โจทก์และผู้อ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทก่อนขายให้โจทก์ทุกคนไม่ได้ครอบครองที่พิพาทก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ เมื่อมีการสำรวจทั้งตำบลก็ไม่มีผู้ที่อ้างว่าครอบครองผู้ใดนำสำรวจรังวัด ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๒๗ ตรี ดังนั้น ที่ดินที่โจทก์ที่ ๔,๕,๖ อ้างการครอบครองจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๕๙ ทวิ ที่จะออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายได้ จำเลยทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการรักษาที่ดินพิพาทเต็มความสามารถเพื่อประโยชน์ของประชาชน มิให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะจึงย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
ประเด็นสุดท้าย ที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่าที่จะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามระเบียบจัดที่ดินแห่งชาติได้หรือไม่
ข้อเท็จจริงปรากฏในทางนำสืบว่า ที่พิพาทได้มีการประกาศสงวนที่ดินมาตั้งแต่ ๒๕๒๗ ประกาศจะนำที่ดินไปจัดประโยชน์ ตามเอกสารหมาย ล.๓๒,ล.๓๕ จนต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๔ องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล ได้แจ้งความประสงค์ขอสงวนที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณหาดทรายชายทะเล หมู่ที่ ๔ และหมู่ที่ ๖ ซึ่งบางส่วนได้จัดทำเป็นสวนสาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน บางส่วนมีสภาพเป็นที่รกร้างว่างเปล่า เป็นที่สงวนหรือหวงห้ามเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งอำเภอถลางพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ดินดังกล่าวบางส่วนเป็นที่สาธารณะสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยสภาพ(หาดทราย)และบางส่วนเป็นที่รกร้างว่างเปล่าและเป็นที่ดินติดทะเลมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง หากไม่ดำเนินการโดยรีบด่วนอาจเกิดการบุกรุกเข้ายึดถือครอบครองเป็นเหตุให้อนุชนรุ่นหลังไม่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ จึงได้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเพื่อขอความเห็นชอบในการสงวนที่ดินเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และได้รับความเห็นชอบตามเอกสารหมายจ.๕๘,จ.๕๙,จ.๖๐ จำเลยที่ ๓ จึงได้ออกประกาศเรื่องที่ดินที่จะสงวนหวงห้ามเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตามประกาศอำเภอถลางลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๖ (เอกสารหมาย จ.๓..) บรรดาโจทก์และผู้มีชื่อจึงพากันคัดค้าน
จำเลยเห็นว่า จำเลยได้ดำเนินการตามขั้นตอนตรวจสอบความเป็นมาของที่ดินพิพาทได้ความว่า ผู้คัดค้านทุกราย มีเพียง ๑ รายที่มีโฉนดที่ดิน(ซึ่งไม่ใช่โจทก์ในคดีนี้ และอยู่ระหว่างการเพิกถอน)ส่วนผู้คัดค้านรายอื่น(ซึ่งรวมทั้งโจทก์ทุกคน)ได้ครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ไม่มีหลักฐานเอกสารสิทธิใดๆในที่ดินมาแสดง ที่ดินที่จำเลยที่ ๓ ประกาศสงวนหวงห้ามจึงเป็นที่ดินของรัฐ ทั้งจำเลยยังเห็นว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ กล่าวคือ
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๒๐ ได้บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
“มาตรา ๒๐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑)-(๓)……………………………………………………
(๔) สงวนหรือหวงห้ามที่ดินของรัฐซึ่งมิได้มีบุคคลใดมีสิทธิครอบครองเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน
(๕)-(๙)……………………………………………………
(๑๐)วางระเบียบหรือข้อบังคับกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดที่ดินหรือเพื่อกิจการอื่นตามประมวลกฎหมายนี้”
การดำเนินการสงวนที่ดินหรือหวงห้ามที่ดินต้องเป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ซึ่งจำเลยได้ปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติฉบับที่ ๙(พ.ศ.๒๕๒๙) แล้ว รายละเอียดของการดำเนินการปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๕๘ ถึง จ.๖๐และรายละเอียดระเบียบคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๔.
ในส่วนของโจทก์ที่เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาท โดยไม่ชอบกฎหมายไม่มีเจตนารมย์ให้ราษฎรบุกรุกแย่งเอาที่ดินของรัฐไปโดยพลการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระเบียบดังกล่าวข้อ ๖ ได้ระบุถึงกรณีการอ้างการครอบครองหรือทำประโยชน์อยู่แล้ว ว่า
“(ข) ที่ดินนั้นมีผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์อยู่แล้ว ให้บันทึกด้วยว่าผู้ครอบครองทำประโยชน์มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน หรือเอกสารหลักฐานแสดงว่าได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์หรือไม่ และให้นายอำเภอแสดงอาณาเขต และจำนวนเนื้อที่ของที่ดินที่มีการครอบครองหรือทำประโยชน์ลงในแผนผังที่สังเขปและรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ”
การที่ระเบียบกำหนดดังกล่าวก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าราษฎรได้เข้ามาครอบครองที่ดินโดยชอบหรือไม่ เมื่อได้ความว่าบรรดาโจทก์ทุกคนรวมทั้งผู้อ้างการครอบครองที่ดินพิพาทก่อนโจทก์มิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย เข้าครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบ และกรณีเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะขอสงวนที่รกร้างว่างเปล่าเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโจทก์ทุกคนจึงไม่มีสิทธิโต้แย้งคัดค้านการประกาศสงวนหรือหวงห้ามที่ดินเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเพิกถอนคำสั่งของจังหวัดภูเก็ตและนายอำเภอถลาง ในเรื่องที่จะสงวนหวงห้ามให้ที่ดินแปลงพิพาทของโจทก์เป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกันและไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งห้ามจังหวัดภูเก็ต,นายอำเภอถลางและองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเลนำที่ดินแปลงพิพาทตามฟ้องไปออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง
ผมเขียนคำแถลงการณ์ปิดคดีเสร็จแล้วส่งศาล กลับมานั่งรอลุ้นคำพิพากษาด้วยในระทึก เพราะมีอีกคดีที่น้องเขาไปว่าความเอง ใช้พยานอ่านภาพถ่ายทางอากาศคนเดียวกัน วิธีการเดียวกัน ฉายภาพขึ้นจอเหมือนกันแต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง อ้าว….ถามว่าคดีนี้เป็นไง…เสียวแฮะ..อิอิ
ในที่สุดวันฟังคำพิพากษามาถึง ผมไม่ได้ไปฟังคำพิพากษาหรอกครับให้น้องอัยการเขาไปฟัง ผลออกมาศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์และขับไล่โจทก์ออกไปจากที่ดิน แต่เรื่องยังไม่จบครับพี่น้อง ยังต้องรอลุ้นกันต่อในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเพราะใครจะยอมกันง่ายๆมูลค่าที่ดินไม่ใช่น้อยๆ
การทำคดีเหล่านี้อยู่ที่สำนึกของนักกฎหมาย อยู่ที่การแสวงหาพยานหลักฐาน อยู่ที่การค้นคว้าหาความจริง อยู่ที่ความเอาใจใส่ในการทำงาน อยู่ที่จิตใจที่เข้มแข็งไม่อ่อนไหวกับสิ่งที่เสนอมา คดีนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของการทำงานของอัยการไทย ที่ไม่เก่งในงานประชาสัมพันธ์ มีเรื่องให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์แต่ไม่ยอมตอบโต้ จนกระทั่งดำเนินการจนแล้วเสร็จชาวบ้านลืมไปแล้วถึงค่อยมาอ้อมแอ้มแถลงข่าว อัยการดีๆเก่งๆมีเยอะครับแต่ไม่โชว์ตัวครับทำแต่งาน…ผมจึงมาฝากในที่นี้ว่ามีข่าวเรื่องอัยการก็ขอให้ฟังหูไว้หูก่อน หาข้อมูลให้ดีก่อนจึงวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าผิดจริงก็ซัดให้เต็มที่ แต่ถ้ายังไม่มีข้อมูลอย่าเพิ่งตัดสินว่าอัยการชั่วนะขอรับ…อิอิอิ
« « Prev : ถ้าไม่มีหลักฐานการครอบครองก่อนปี ๒๔๙๗ จะออกโฉนดได้ไหม
Next : รับแขก » »
6 ความคิดเห็น
แล้วคดีต่อไปเรื่องอะไร ครับ
กำลังขอให้ลูกน้องเก่าค้นหาสำนวน ๖ ลังแม่โขงที่ฝ่ายจำเลยมาวิ่งอัยการจังหวัดขออย่าให้จ่ายสำนวนให้ผมไปว่าความ แต่อัยการจังหวัดเรียกผมไปถามว่าอยากว่าไหมเอกสารมี ๖ ลังแม่โขง ผมตอบว่าอยากทำคดีนี้ที่สุด ผมว่าความคดีนี้คนเดียวสมัยเป็นอัยการจังหวัดประจำกรมที่ทำความเห็นควรสั่งฟ้องแล้วถูกอธิบดีแย้งสั่งไม่ฟ้องแต่เนื่องจากมีการร้องขอความเป็นธรรมและผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้ง จึงต้องส่งไปให้อัยการสูงสุดชี้ขาด ในที่สุดอัยการสูงสุดชี้ขาดให้ฟ้องเหมือนความเห็นผม และต่อมาสู้จนถึงชั้นฎีกาศาลฎีกาก็ตัดสินว่าจำเลยผิดจริงและเป็นคำพิพากษาฎีกาตัวอย่างที่เอาไปสอนนักกฎหมายรุ้นใหม่เกี่ยวกับอำนาจของอัยการสูงสุดที่จะทำคำสั่งโดยที่ผู้ว่าไม่ได้แย้งในบางประเด็น และมันเป็นรสชาติของชีวิตที่จำเลยซึ่งเป็นอาจารย์สอนกฎหมายตอบคำถามผมแบบตะคอก มันเข้าทางโจรขอรับ เพราะผมกวนบาทาไปด้วยเสียงสุภาพเรียบร้อยว่า ผมถามคุณด้วยความสุภาพ ถามความไม่เอาเปรียบ ถามความแบบผู้ดีกรุณาตอบคำถามผมให้ศาลฟังแบบผู้ดีด้วยครับ ฮา….ศาลเล่นด้วยครับ ศาลบอกจำเลยว่าตอบคำถามโจทก์ดีๆ เขาถามคุณดีๆก็ตอบเขาดีๆ ฮา…โปรดติดตามตอนต่อไป
ดูข่าวทีวีมีข่าวเกี่ยวกับที่ดินที่ภูเก็ต และหลายจังหวัดภาคใต้หลายเรื่อง น่าจะมากนะครับเพราะราคาแพง ใครๆก็หาทางมีไว้ในมือเพื่อทำกำไร หนักใจกับกระบวนทางยุติธรรมนี่แหละที่มีงานเพิ่มขึ้นมากกว่าดำเนินการให้เวร็จสิ้นไป เพราะแต่ละเรื่องต้องใช้เวลาสืบค้นข้อมูลมาก ทำแบบขอไปทีไม่ได้ ต้องละเอียด จะละเอียดก็ต้องใช้เวลา ใช้พลังงานมากนะครับ
คดีพวกนี้เริ่มมากขึ้นครับ แต่บางทีเราทำคดีกันง่ายๆ มันก็เลยเป็นการเปิดช่องให้พวกทุจริตอาศัยข้อมูลคำพิพากษาไปดำเนินการให้ได้มาซึ่งที่ดิน
ใช้พลังงานมากก็กินมากครับพี่ อิอิ
น้องลูกหว้า
เดี๋ยวนี้ที่บ้านใสยวน ภูเก็ต ผมขับรถเข้าไปยังหลงเลย มีแต่ฝรั่งมากว้านซื้อที่ดินทั้งตำบลก็ว่าได้ แล้วคนที่ขายที่ดินได้ถ้ารู้จักคิดหน่อยก็จะออกไปกว้านซื้อที่ดินจังหวัดอื่น จะได้มีที่ดินมากขึ้นเพราะราคาที่ดินแตกต่างกัน คนใต้ถนัดปลูกยางพาราก็พยายามขยายพื้นที่ปลูกยางพาราออกไปเรื่อยๆ แต่ผลกระทบในอนาคตเป็นยังไงก็ยังไม่รู้เลย เพราะไปเมืองจีนแถบสิบสองปันนา เห็นเขาปลูกยางพารากันบนเขาเป็นลูกๆไกลสุดลูกหูลูกตา อนาคตยางพาราจะมีราคากี่บาทก็ไม่รู้ แต่เดาเอาว่าราคาจะตกลงมาเรื่อยๆเมื่อผลผลิตจากจีนกรีดน้ำยางใช้ในประเทศได้เอง..เหนื่อยนะครับ