๓.สู่เส้นทางสายไหม
ทะเลทรายโกบี ที่เมืองตุนฮวงเป็นโอเอซิสของทะเลทรายโกบี เรานั่งรถจากเจี่ยยู่กวงกันจนเมื่อยกว่าจะถึงเมืองตุนฮวง ผมมองรอบข้างผมหลับกันหมด เหลือแต่ผมกับคนขับรถ นั่งนึกในใจว่านี่ขนาดเราเดินทางด้วยรถ ความเร็วในปัจจุบันต้องเร็วกว่าอูฐในทะเลทรายหลายเท่าอยู่แล้ว ยังรู้สึกเหงา สองข้างทางต้นไม้ก็ไม่ค่อยมี มีแต่ภูเขากับทราย แล้วสมัยโบราณที่เขาเดินทางกันด้วยอูฐกว่าจะเดินทางไปเจอโอเอซิสสักแห่งหนึ่งเขาจะต้องใช้ความพยายามขนาดไหน แถมข้าราชการที่เป็นนายด่านแทบจะไม่ต้องพูดถึงเลย ผมเห็นในพิพิธภัณฑ์มีหุ่นขี้ผึ้งมีภรรยานายด่าน บุตรนายด่าน มีสาวใช้ อยู่ที่ด่านด้วย แสดงว่าเมื่อนายด่านได้รับคำสั่งให้มาเป็นนายด่านก็คือต้องย้ายภูมิลำเนากันเลย แถมยังได้ความรู้อีกว่าเมือนายด่านถึงแก่ความตาย ลูกนายด่านอาจได้รับราชการเป็นนายด่านต่อไปอีก เหมือนกับว่าชีวิตนี้ไม่ต้องไปดูอะไรอีกแล้ว แต่ที่พวกเราสนใจก็คือว่าหุ่นขี้ผึ้งที่ปั้นไว้ภรรยานายด่านสวยมาก มีลูกวัยสัก ๑๐ ขวบ แต่เตียงในห้องเล็กขนาดว่าถ้าภรรยานายด่านนอนกับลูก นายด่านก็ไม่มีที่นอน ผมตั้งข้อปุจฉาขึ้นมาว่าเอะนายด่านนอนตรงไหน ท่านอธิบดีเขต ๒ บอกว่าคุณลองสังเกตห้องคนใช้ซิ ที่นอนกว้างกว่าห้องภรรยายนายด่าน อะ อะ รู้นะคิดอะไรอยู่…..
จากตุนฮวงเราไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนก็มีแต่ทะเลทรายสุดลูกหูลูกตา เราได้เห็นธรรมชาติแปลกๆในทะเลทราย ลักษณะคล้ายแพะเมืองผีบ้านเรา มีรูปทรงของเขาดินทรายถูกลมพัดกัดกร่อนเป็นรูปต่างๆ จินตนาการเป็นรูปต่างๆ รูปนกยูงก็มี หรือมองไปเหมือนก้อนหินลอยอยู่ในทะเล น่าอัศจรรย์มาก
เขาทรายร้อง ที่เมืองตุนฮวงเราไปภูเขาหมิงซา คำว่า”หมิงซา” แปลว่าทรายร้อง ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า ดูน เป็นภูเขาทะเลทรายละเอียด มีความยาวจากด้านทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกถึง ๔๐ กิโลเมตร เวลามีลมพัดก็จะได้ยินเสียงทรายร้อง บ้างก็ว่าเป็นเสียงดนตรี บ้างก็ว่าเป็นเสียงร้องครวญครางของบรรดาเหล่าทหารที่เคยมาสู้รบบริเวณแถบนั้น นักท่องเที่ยวมานั่งไถจากภูเขาทรายลงมาข้างล่างกันอย่างสนุกสนาน ว่ากันว่าระหว่างไถลลงมาจะได้ยินเสียงดนตรีด้วยนะ เสียดายที่เราไม่มีโอกาสทดลอง นอกจากนี้ที่เขาทรายร้องยังมี “เยว่หยา” หรือจันทร์เสี้ยว เป็นบ่อน้ำใสกลางทะเลทรายที่ไม่เคยแห้ง ที่นี่เราได้ดูภาพถ่ายที่เขาแสดงไว้สวยมากเป็นทิวทัศน์ในเวลาต่างๆ เช่น ตอนเย็น ตอนเช้า ซึ่งเราไม่มีโอกาสมานั่งเฝ้าดู เสียดายมาก และผมเสียดายที่ไม่ได้ถ่ายภาพตามที่ตั้งใจเพราะเรามีโปรแกรมการเดินทาง ภาพที่ผมตั้งใจจะถ่ายแต่ไม่ได้ถ่ายคือภาพคลื่นทะเลทราย ไว้คราวหน้ามีโอกาสจะไปถ่ายให้ได้ คอยดูซิ…
ป้อมกำแพงเมืองจีน เราได้ดู ๓ แห่งคือป้อมกำแพงเมืองจีนที่เมืองเจี่ยยู่กวง ตุนฮวงและที่ปักกิ่ง ที่เมืองตุนฮวงตัวกำแพงแคบกว่าที่กรุงปักกิ่งแต่เราดูเพียงห่างๆ แต่ป้อมกำแพงที่เมืองเจี่ยยู่กวง อาคารป้อมยังดูสมบูรณ์อยู่ผมจำได้ว่าไกด์บอกว่า มีอิฐอยู่ก้อนหนึ่งซึ่งร่ำลือกันว่าหากใครเอาอิฐก้อนนั้นออกกำแพงจะพัง แต่จะเข้าไปหยิบอิฐก้อนนั้นก็ไม่ใช่ง่ายๆเพราะอิฐก้อนนั้นวางอยู่ที่ตรงกลางเหนือประตูป้อม จะเดินอ้อมขอบกำแพงก็มีหวังตกขอบกำแพงตายเพราะขอบๆวางอิฐไว้เฉยๆ ถ้าเหยียบอิฐแต่ละก้อนก็จะหลุดลงมา ผมยังสงสัยว่าจะจริงหรือเพราะอิฐก้อนนั้นวางไว้เฉยๆ ลองไปค้นหาหนังสือมาดูเขาบอกว่า นายช่างชื่อ ยี่คายจาน เป็นผู้ควบคุมการสร้างป้อมกำแพงนั้นกำหนดให้ใช้อิฐ ๙๙๙,๙๙๙ ก้อน พอสร้างเสร็จเหลืออิฐ ๑ ก้อน เหตุที่เหลือคงเป็นเพราะมีใครแกล้งทำลายชื่อเสียงของนายช่างผู้คำนวณ แอบเอาอิฐมาวางเพิ่มเพราะนายช่างผู้นี้เป็นคนเก่งมากคำนวณไม่เคยผิดพลาด โถพี่ผิดแค่ก้อนเดียวผมก็ถือว่าพี่สุดยอดแล้วพี่…..
ด่านเจี่ยยู่กวง
เราสงสัยกันว่าทำไมกำแพงเมืองจีนจึงกว้างไม่เท่ากัน ทั้งๆที่เมืองมีคำสั่งให้สร้างกำแพงเมืองจีน น่าจะมีการกำหนดขนาดกว้างยาว และแล้วเราก็ถึงบางอ้อเพราะกำแพงเมืองจีนไม่ได้สร้างขึ้นมาในยุคสมัยเดียว สมัยโบราณมีหลายราชวงศ์ ราชวงศ์ตั้งเมืองหลวงที่ใดก็จะมีการสร้างกำแพงเมืองที่นั่น ยุคราชวงศ์ใดกำหนดความกว้างของกำแพงขนาดใดก็สร้างกันขนาดนั้น จึงใหญ่บ้างเล็กบ้าง และเมื่อดูจากแผนภูมิที่แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ก็จะเห็นว่ากำแพงเมืองจีนไม่ได้สร้างให้ต่อกัน แต่จะดูเป็นเส้นๆเป็นทิศทางเดียวกัน ซ้อนกันบ้างแต่ระยะห่างระหว่างกำแพงก็จะไกลมาก ประสานกันบ้าง แต่ในยุคหลังจากจิ๋นซีฮ่องเต้รวบรวมประเทศได้เป็นผลสำเร็จก็ได้เชื่อมกำแพงเข้าด้วยกัน ได้ความรู้มาอีกว่ากำแพงเมืองจีนเมืองตุนฮวง สร้างสมัยราชวงศ์ฮั่น ที่กำแพงเมืองจีนกรุงปักกิ่งสร้างในสมัยราชวงศ์หมิง
กำแพงเมืองจีนเริ่มต้นที่ริมทะเลมณฑลเหอเป่ย ชื่อด่านว่า “หัวมังกร” ภาษาจีนเขาเรียก “ซานห่าย”มาสิ้นสุดที่หางมังกรที่เจี่ยยู่กวง ยาว ๖,๗๐๐ กิโลเมตร
แม่น้ำฮวงโห เราตื่นเต้นกันมากที่ได้มาเห็นแม่น้ำฮวงโห เพราะรู้จักแม่น้ำนี้มาตั้งแต่เด็ก รู้จักจากในหนังสือเรียน เราได้เมื่อเรามาที่หลานโจว ที่แม่น้ำแห่งนี้มีความหมายเป็นแม่ของแผ่นดิน จึงมีรูปหินแกะสลักเป็นแม่อุ้มลูก และที่ริมแม่น้ำก็มีพิพิธภัณฑ์ให้เราเห็นกังหันน้ำขนาดใหญ่แสดงให้เห็นความสามารถของมนุษย์ที่พยายามเอาชนะธรรมชาติใช้พลังของน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เขาใช้ความแรงของน้ำมาหมุนกังหัน การหมุนของกังหันก็จะไปหมุนโม่สีข้าว ทำให้เกิดประโยชน์ ดูขนาดของกังหันที่ทำด้วยไม้จากภาพ แม่น้ำเหลืองหรือแม่น้ำหวงโหแห่งนี้ ยังมีอีกชื่อหนึ่งคือ แม่น้ำวิปโยค แต่ละปีกลืนกินชีวิตผู้คนไปนักต่อนัก
และที่แม่น้ำฮวงโห เขาพาเราไปพบอาจารย์ท่านหนึ่ง สมัยก่อนเป็นครู แต่ชอบใช้เวลาวันหยุดไปเก็บสะสมก้อนหินรูปร่างแปลกๆตามจินตนาการ เก็บไปเก็บมาถึงเวลาต้องไปสอนหนังสือ แต่ท่านเห็นว่าท่านชอบเก็บสะสมก้อนหินามากกว่าก็เลยลาออกจากการเป็นครูเก็บสะสมก้อนหินดีกว่า แถมยังขายได้ด้วย ตอนนี้มีพิพิธภัณฑ์ก้อนหินรูปร่างแปลกตา บางก้อนมีคล้ายภาพเงาของท่านประธานเหมาก็มี
พิพิธภัณฑ์ ไปพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง แต่ละแห่งเราใช้เวลามากเพราะท่านอัยการสูงสุดและคณะให้ความสนใจด้านประวัติศาสตร์ บางเรื่องท่านอัยการสูงสุดได้ศึกษามาก่อน การชมพิพิธภัณฑ์จึงได้รสชาติเพราะเมื่อท่านถามนอกเหนือจากที่เขาบรรยายและเขาตอบให้เราได้ เราก็ได้ความรู้เพิ่มยิ่งทำให้สนุกในการเรียนรู้ แต่เล่นเอาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย,ฝ่ายจัดเลี้ยง,และเจ้าหน้าที่ของสถานที่ที่เราจะไปต้องกระวนกระวายใจเพราะการชมพิพิธภัณฑ์หรือสถานที่ที่น่าสนใจเราดูกันเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่มาเที่ยวดูเล่นเฉยๆ เขาก็คงไม่นึกว่าเราจะให้ความสนใจขนาดนั้นแต่เจ้าของสถานที่ที่เราเข้าไปกับไกด์ที่เขามาอธิบายให้เราดูจะมีความสุขทุกแห่งที่เราสนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเขา พิพิธภัณฑ์ที่น่าประทับใจที่สุดก็คือพิพิธภัณฑ์สุสานจิ๋นซี เพราะนอกจากดูสุสานที่นักท่องเที่ยวทั่วไปได้ดูแล้ว เรายังได้ดูผ้าไหมที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศจีนที่มีอายุนับพันปี แต่สีสันยังสดใส และเส้นทองที่ใช้ถักทอกับผ้าไหมดังกล่าวนั้น เส้นทองเล็กมากไกด์อธิบายว่าเล็กกว่าเส้นทองที่ประเทศญี่ปุ่นใช้เครื่องจักรทำเส้นทองเสียอีก เมื่อเข้าไปอยู่ชั้นใต้ดิน ผ้าไหมที่ว่าอยู่ในตู้ มีผ้าดำคลุมไว้ พอเราจะดูเขาเปิดไฟ เปิดผ้า จึงเห็นและห้ามถ่ายรูปด้วย
เราได้เห็นอีกครั้งที่ด้านนอก(อยู่ในพิพิธภัณฑ์)ตอนแรกผมก็นึกว่าในพิพิธภัณฑ์ก็มีผ้าไหมที่เราได้เห็นที่ชั้นใต้ดินและแม้สีสันจะจืดไปบ้างแต่ก็ยังดูได้และเหมือนกัน ตอนแรกนึกว่าเขาทำจำลองขึ้นมา แต่พอดูละเอียดจึงรู้ว่าเขาใช้ภาพถ่ายแล้วตัดภาพเสื้อผ้าไหมเท่าขนาดของจริงมาวางไว้ (ยังมีต่อ)
3 ความคิดเห็น
โห น่าสนใจมากค่ะพี่ฑูร ชอบหินที่คล้ายนกยูงหมอบนั่นจัง แต่ภาพที่ชอบที่สุดคือภาพท่านเปาฯนั่นแหละค่ะ อิอิอิ และชอบเรื่องอิฐนั่นจัง คนอะไรเก่งสุด ๆ แหม ถ้าเป็นคนไข้เบิร์ด มีหวังเดินนับอิฐเพื่อคลายความกังขาแน่ ๆ เลย แถมนับแล้วนับอีกอีกต่างหาก 555555555
จำได้เลา ๆ ว่าสมัยก่อนนู้น เจ้าเมืองหรือผู้ชายที่มียศมักจะนอนแยกห้องกับภรรยา บางที่ถึงขนาดมีเรือนต่างหากเพราะท่านมีอนุฯหลายคน แต่ละคนก็จะมี “เวร” เข้าปรนนิบัติ ยกเว้นแต่ภรรยาหลวงที่ท่านจะ “มาหา”เอง (ถ้าว่าง) สาวใช้ที่ติดตามนายหญิงก็มีหน้าที่ปรนนิบัติเช่นเดียวกัน เพราะชีวิตจิตใจมอบให้ผู้เป็นนายทั้งหมด
ว่าแต่ขนาดให้เห็นถึงห้องนอนสาวใช้นี่ไม่ทำมะดาเลยนะคะเนี่ย คนที่ทำพิพิธภัณฑ์นี่ ^ ^
น้องเบิร์ด
ภาพหินทรายที่ถูกธรรมชาติสลัก งดงามมากมีรูปต่างๆกัน ถ้าดูรูปกลางขวาจะเห็นด้านหลังท่านอธิบดีเป็นเหมือนก้อนหินอยู่ในน้ำ
เสียดายตอนที่ไปยังไม่ได้หันเขียนบันทึกไม่งั้นก็จะโคลสอัฟให้ดูว่าก้อนหินวางเรียงกันอย่างไร เพราะไม่ได้วางชิดกันวางห่างๆใครปีนก็ตก แต่ที่สำคัญคือคำนวณยังไงที่ผิดพลาดเพียงก้อนเดียว แถมก้อนเดียวนั้นวางอยู่อย่างไรก็วางอย่างนั้นไม่มีใครกล้าเอาออกเพราะเชื่อกันว่าเอาออกเมื่อไหร่ก็พังเมื่อนั้น
เขาจำลองให้เห็นว่าในด่านนั้นอยู่อย่างไร มีห้องครัว ห้องนอน จำลองห้องทำงาน จำลองการแต่งกายของนายด่าน ใครไปอยู่ที่นั่นก็คงเฉาตายหากไม่พาครอบครัวไปอยู่ด้วย
Grade A stuff. I’m untansqioeubly in your debt.