แก้ภัยหนาววิถีพุทธ
วิธีแก้หนาวแบบชาวพุทธ
ปีนั้น (น่าจะพศ. ๒๕๔๓) มันเป็นปีที่หนาวมาก ปีก่อนนั้นผมบวชพระ และเดินธุดงค์เข้าป่าทับลานไปกับหลวงพ่อแคน (นามสมมติ) เป็นเวลาประมาณ ๑ เดือน มันสนุกมากๆ จนติดใจ (กิเลส) มาปีนั้น (๒๕๔๓) ผมสึกแล้ว พอออกพรรษาเข้าหน้าหนาว ก็นึกสนุกไปชวนหลวงพ่อออกธุดงค์กันอีก (ผมอายุ ๔๕ ท่าน ๖๒)
คราวนี้ง่ายหน่อยเพราะผมเป็นฆราวาสแล้ว ไม่ต้องถือศีล ๒๒๗ ข้อ ก็สามารถหุงหาอาหารได้ในกลางป่า หุงเสร็จก็ตักบาตรให้หลวงพ่อฉันวันละมื้อ
ธุดงค์คราวนี้เราหนึ่งรูปหนึ่งคนดั้นด้นตัดวนอุทยานปางสีดา โดยออกจากอ.ครบุรี โคราช เดินตัดป่าไปออกที่สระแก้ว ระยะทางสั้นเพียงประมาณ 100 กม. เท่านั้น โดยเดินบนถนน (ร้าง) ที่เคยตัดผ่านป่าแห่งนี้
คืนวันหนึ่ง เรามาปักกลดพักแรมบนยอดเขาสูง พอตกดึก มันหนาวเหน็บเอามากๆ ใส่เสื้อผ้าที่เตรียมมานับได้ ๕ ชั้นก็ยังไม่หายหนาว นอนขดอย่างไรก็หนาวทรมานเป็นที่สุด พลิกไปพลิกมาหลายรอบเป็นเวลานาน จนหมดหนทาง
แต่ในที่สุดก็คิดได้ว่า น่าจะแก้หนาวได้ด้วยการนั่งสมาธิ ว่าแล้วก็ขัดสมาธ แล้วเพ่งสมาธิ ทำใจให้สงบ เพ่งเอาความหนาวนั่นแหละให้เป็นอารมณ์สมาธิ
พอจิตนิ่งดิ่งลงลึก พลันความหนาวก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง อย่างเหลือเชื่อ …ทำอย่างนั้นจนรุ่งสาง จึงออกไปก่อกองไฟ เพื่อหุงต้มอาหารเพื่อถวายหลวงพ่อและตนเอง ได้เห็นกับตาว่าใบไม้โดยรอบมีน้ำค้างแข็งเกาะโดยรอบ
พอดีหลวงพ่อก็ออกมาจากกลดของท่าน ก็ถามท่านว่าหนาวมากไหมครับ คิดสงสารท่านในใจที่มีเพียงจีวรหนึ่งผืนและผ้าสังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า ที่พระพุทธเจ้ากำหนดมาให้เอาไว้ห่มกันหนาว แต่เมืองไทยเรามันร้อนก็เลยผันเอามาเป็นผ้าพาดบ่า) …ท่านว่าหนาวมากเลย แต่ก็แก้อาการหนาวด้วยการทำสมาธิ…อ้าว…ลูกศิษย์และอาจารย์ใช้วิธีแก้หนาวแบบเดียวกันโดยมิได้นัดหมาย
ประเด็นนี้ผมเชื่อว่ามันไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์พันลึกอะไรหรอก แต่เป็นหลักวิทยาศาสตร์ทางจิตที่คนไทยโบราณรู้มานานแล้ว แต่พวกฝรั่งยังไม่รู้เรื่องอะไรมากนัก (ฝรั่งเขาเก่งวิทยาศาสตร์ แต่จิตศาสตร์เขายังล้าหลังเรามาก) กล่าวคือ ผมเชื่อว่าเมื่อจิตนิ่งมันจะเกิดการ “ผ่อนคลาย” (ไม่เครียด) มันจะส่งผลให้เซลร่างกายผ่อนคลายไปด้วย
การผ่อนคลายในระดับ”ไมโคร”ของเซลนี้ส่งผลให้มีความต้องการความร้อนเพื่อเอามาเป็นพลังงานน้อยลงกว่าปกติ (ซึ่งผมอธิบายตามหลักการทางเทอร์โมไดนามิกส์ที่ฝรั่งคิดค้นไว้นั่นเอง คือหลักการอนุรักษ์พลังงานนี่เอง) ซึ่งทำให้เซล “คายความร้อน” ออกน้อยกว่าปกติอีกด้วย จึงทำให้ร่างกายอบอุ่น เพราะ “ความรู้สึกหนาว” นั้นแท้จริงแล้วก็สัมพันธ์กับอัตราการคายความร้อนของร่างกายนั่นเอง กล่าวคือ ถ้าคายความร้อนมากกว่าปกติก็จะรู้สึกหนาว ตรงกันข้ามถ้าคายความร้อนได้น้อยกว่าปกติก็จะรู้สึกร้อน
สัตว์เดรัจฉานบางจำพวกมีสัญชาตญาณรู้ความลับนี้ได้ด้วยตนเอง จึงทำการจำศีลในฤดูหนาว เช่น หมี กบ ปลาไหล เพราะฤดูหนาวหาอาหารกินยาก ต้องใช้พลังงานมาก ดังนั้น จำศีลดีกว่า เพระการจำศีลนั้นอัตราการเต้นหัวใจ และอัตราการเผาผลาญพลังงาน (metabolic rate) ลดลงมาก ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายลดลงด้วย
พระธิเบตจำนวนมากฝึกสมาธิแบบเข้าเงียบจนเก่งกาจ มีการบันทึกโดยนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งว่า พระเหล่านี้สามารถนั่งสมาธิเปลือยกายได้ตลอดคืนบนหิมะที่แสนหนาวเย็นของฤดูหนาว
หนาวนี้ พศ. ๒๕๕๔ ก็ทำท่าว่าจะรุนแรงพอควร นอกจากจะใส่เสื้อกันหนาว หรือ เอาตะเกียงมาเผาหินในกระถางน้ำใจแก้ภัยหนาวแล้ว (ที่ผมได้นำเสนอไว้) หรืออยู่ใกล้ไออุ่นของคนที่รู้ใจกัน แล้ว ถ้านึกสนุกก็ควรลองทำสมาธิภาวนาดูบ้างนะครับ
ฟลุกๆได้นิพพานเป็นของแถมก็ขอนิมนต์ไว้ล่วงหน้าให้มาเทศน์โปรดกันบ้างนะครับ
…คนถางทาง (๑๘ ธค. ๒๕๕๔)
« « Prev : การทำความสะอาดร่างกายในฤดูหนาวอย่างประหยัด
Next : เมืองไทยใหม่เอี่ยม (๔ ปชต.ใหม่เอี่ยม) » »
2 ความคิดเห็น
ป้าหวานก็คิดเรื่องอุณหภูมิและอีอกซิเจน เขียนไว้ที่ http://lanpanya.com/skk222a1/2010/10/01/temperature-and-oxygen-in-the-changer-role/
มาอ่านเรื่องนี้ ก็เลยคิดถึงเรื่องนั้น กายและใจ เรามีขบวนการที่เป็นธรรมชาติ น่าทึ่งที่เรามองข้ามและหาแต่สิ่งภายนอกมากระทำ
อนุโมทนาคะ
มันเป็นเหตุผลของจิตแยกกายด้วยไหมคะ เพราะเวลาดิ่งเราจะเห็นแต่จิต
คิดเอาเองคะไม่ค่อยมีความรู้หรอก