ด้นไปในแผ่นดิน (๒)…ปลาน้ำมูนหลากหลายกว่าน้ำโขง
ด้นไปในแผ่นดิน (๒)
คืนแรกผมไปนอนที่อุบลราชธานี เมืองดอกบัว (แต่มองหาดอกบัวไม่เจอสักดอก)
เมืองนี้มาเป็นครั้งที่สี่เห็นจะได้ เมืองที่หลวงพ่อชามาตั้งรกรากประกาศศาสนาที่แพร่ไปทั่วโลก มาครั้งแรกก็เพื่อกราบหลวงพ่อเมื่อสักนานมากแล้ว ที่ได้พบคือหลวงพ่อในสภาพที่หมดสภาพ ลูกศิษย์เข็นรถเข็นที่ท่านนั่งคอพับมาให้กราบ เสมือนหนึ่งท่านจะมาสอนอย่างเป็นรูปธรรมว่า “สังขารไม่เที่ยง ขนาดอาตมายังเดี้ยงได้แบบนี้ แล้วสูเจ้ากิเลสหนาเป็นปื้นจะเหลืออะไร ดังนั้น จงดำรงชีวิตต่อไปด้วยความไม่ประมาทเถิด”
อ.วารินชำราบ และ อ.เมืองอุบล เป็นเมืองแฝด ที่กั้นไว้ด้วยสะพานข้ามแม่น้ำมูน ดูเหมือนว่าวารินจะใหญ่กว่าเมืองอุบลเสียอีก โดยเฉพาะตลาดเช้าที่ตัวเราชื่นชอบ ตลาดสดวารินใหญ่สะอาดกว่าอุบลประมาณ 3 เท่าเห็นจะได้ ส่วนความหลากหลายทางอาหารการกินนั้นวารินกินขาด มาคราวนี้เลยบายพาสตลาดเช้าอุบลไปทีวารินดีกว่า
ไม่ผิดหวังครับ…มีปลาจากแม่น้ำมูนมาวางขายให้ยลโฉมและถ่ายรูปมากมายหลายพันธุ์ เช่น ปลาเบี้ยว (กลางเรียกคางเบือน) น้ำเงิน เนื้ออ่อน (สามพี่น้องท้องเดียวกัน) คัง แข้ โจก (ตะโกก) แปบ หมู สร้อยนกเขา กด กระสูบขีด กระสูบจุด ขะแหยง ถ่ายรูปติดแฟลตแสงกระจายวูบวาบเสียจนเรียกคนดูได้เป็นฝูง แม่ค้าก็แสนใจดี ยกปลาขึ้นชูให้เราถ่ายแบบยิ้มแย้มแจ่มใส นี่ถ้าเป็นในกทม. เราคงโดนด่าหาว่าไปแย่งเวลาค้าขายไปแล้วสิ
สำหรับปลาขนาดยาว (แต่ไม่ใหญ่) ก็มีให้น่าพิศวงคือ กราย ตองลาย สลาด (สามพี่น้องตระกูลทอดมัน) ยาวเป็นสองศอก น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก นับว่าปลามูนเราหลากหลายกว่าปลาแม้น้ำโขงเสียอีก ที่ร้านอาหารตามแพริมโขงมักเอามาหลอกขายให้นักท่องเที่ยวจากกทม. ในบริบทของต้มยำ ผัดฉ่า ลวกจิ้มรูปแบบต่างๆ ซึ่งโดยแท้แล้วกลายเป็นปลาเลี้ยงในกระชังจากแถวปทุมธานีนี่เอง
นอกจากนี้ยังมีเขียดเป็นๆ กระโดดหยองแหยงอยู่ริมขอบกระด้ง ที่จับมาจากนา คนซื้อรายหนึ่งยืนยันด้วยความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมวิจารณ์ว่าเป็นเขียดนาจริงๆ …ฮ่วย ใครมันจะแหวกแนวขนาดเลี้ยงเขียดต้วเล็กๆเท่าหัวนิ้วก้อยขายก็คงต้องให้รางวัลนวัตกรรมการทำบาปกันบ้างหละ เพราะกินแต่ละมื้อต้องทำบาปต้มเขียดเป็นๆกันหลายสิบต้ว สู้กินสันในวัวสักชิ้นยังฆ่าชีวิตไปเพียง 0.01 ตัวเท่านั้นเอง บาปน้อยกว่ากันเยอะเลยนะ
ส่วนผักพื้นบ้านก็ตามฟอร์มอีสานยุคโลกาวิบัติ หาได้แสนยาก แม้แต่พื้นๆอีสาน เช่น สายบัว กระจอง สันตะวา ผักหนาม หน่อโจด กูด ก็ไม่โผล่มาให้เห็น
สำหรับโปรตีนคนยากพื้นบ้านมาตรฐานอีสานก็พอมีให้เห็น เช่น ไข่มดแดง ไข่แม่เป้ง แมลงแมงต่างๆ ทั้งที่ทอดมาแล้วและที่กำลังไต่ขอบกระด้งยั้วเยี้ย
อนิจจังวัตตะสังขารา ชาติหน้าขอท่านสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่ไหลได้ ว่ายได้ และเลื้อยคลานได้ จงชาญฉลาด อย่าได้เกิดมาเป็นคนเลยนะท่าน โดยเฉพาะเกิดเป็นคนไทยภายใต้รัฐบาลสิงสาราสัตว์ที่ไร้จิตสำนึกยิ่งกว่าผักพื้นบ้านเสียอีก
Next : ด้นไปในแผ่นดิน (๓)..อาหารญวณ » »
1 ความคิดเห็น
ลืมไปเสียได้ คือ ปลายอน (ออกเสียงขึ้นจมูกด้วยนะ) ตัวเล็ก ดำๆ เป็นปลาที่ไม่เคยเห็นที่อื่น นอกจากอุบล ถ้าเป็นเมืองนอก นี่คือจุดขายสำคัญ ของการท่องเที่ยว แต่ของไทย ไม่มี
นอกจากนี้ยังมี เห็ดตาโล่ ที่เหมือนลักษณะเหมือนเงาะแกะเปลือกออก มากกว่าเห็ด (อุบลพอมี แต่ที่สกล มากที่สุด) นี่ก็สามารถสร้างชื่อเสียงได้มาก แต่ไม่มีใครสนใจโปรโมท
เห็ดหนวด ก็น่ากินมาก หาดูที่ไหนไม่ค่อยได้ (อุบลพอมี แต่สกล มากกว่าอีกแล้ว)