ข้อคิดวันครู ๒๕๕๔
แนวคิดเพื่อปรับใหญ่การศึกษาไทย
เราถกเรื่องการศึกษากันมามาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่มักไม่นึกถึงกัน คือการสร้างวัฒนธรรมที่ทำให้คนไทยทุกคนรักและสนุกกับการเรียนรู้
ถ้าทำได้เพียงแค่นี้ก็จบ ไม่ต้องมีครู โรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัยยังได้ เพราะทุกคนจะขวนขวายหาความรู้ตลอดเวลาด้วยตนเอง ด้วยความสนุกสนาน ยิ่งถ้ามีโรงเรียน มีครูที่รักการเรียนรู้เป็นตัวช่วยด้วย ก็ยิ่งดีไปใหญ่
นักปราชญ์ นักวิชาการที่มีชื่อเสียงจำนวนมากไม่เคยเข้าโรงเรียนด้วยซ้ำไป เช่น ท่าน กรีน (ชาวอังกฤษ) เมื่อเป็นเด็กไม่ได้เข้าโรงเรียน แต่ทำงานในโรงปิ้งขนมปัง โตแล้วก็ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ด้วยใจรักจึงไปหาอ่านเอาเองในห้องสมุดของหมู่บ้าน ตอนตายแล้วจึงไปค้นพบบันทึกด้านคณิตศาสตร์ของท่าน ที่แม้ในขณะนี้สองร้อยปีผ่านมานักศึกษาปริญญาเอกด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ วิศว ยังเรียนเรื่องกรีนฟังก์ชั่นของท่านกันหัวผุ นี่แหละผลของการรักการเรียนรู้ ที่หากทำให้เกิดขึ้นในจิตวิญญาณของคนไทยทุกคนได้ ชาติไทยคงเจริญยิ่งในไม่นาน
นิสัยรักการเรียนรู้นี้ควรบ่มเพาะในวัยเด็กระดับอนุบาลและประถมศึกษา แต่ที่ผ่านมาเห็นว่าการศึกษาในระดับนี้ของเราเน้นการการอัดยัดความรู้มากเกินไป จนทำให้เด็กเครียดและน่าเบื่อ ควรตระหนักว่าวัยนี้เป็นวัยที่ใสสะอาด ที่เหมาะต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ความรักในศิลปะ ความกล้าคิด กล้าแสดงออก เป็นที่สุด โดยพัฒนาควบคู่ไปกับวิชาการอย่างสมดุล ต้องทำการเรียนการสอนให้เป็นสิ่งสนุก ไม่น่าเบื่อแบบการอัดความรู้ดังที่ผ่านมา อย่าลืมด้วยว่านิสัยคนไทยเรานั้น รักสนุก…ไม่ได้มีวินัย อดทน แบบญี่ปุ่น เกาหลี จีน สักเท่าใดนัก ถ้าจะอดทนอะไรได้ก็ต้องมีสนุกปนด้วย เช่น ในการลงแขกเกี่ยวข้าวก็ต้องมีการร้องรำทำเพลงประกอบด้วย
ไม่จำเป็นต้องไปเห่อการสอนแบบ “เด็กเป็นศูนย์กลาง” หรอก เพราะมันสิ้นเปลืองมาก เอาครูเป็นศูนย์กลางนี่แหละ ถ้าครูเก่ง มีเมตตาต่อเด็ก และมีกลเม็ดการสอนดี มันก็สนุกได้ แถมเร็วกว่าได้ผลดีกว่าการสอนแบบเด็กศูนย์กลางเสียอีก
ส่วนจริยธรรมและวินัยซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการพัฒนาสังคมนั้นควรสอนด้วยการสอดแทรกทางอ้อม (เพราะหากสอนอย่างเป็นระบบจะเกิดความเครียดและเกิดแรงต้านได้มาก) ถ้ารอการสอนสิ่งเหล่านี้ไว้จนถึงระดับมัธยมจะสายเกินไปเสียแล้ว เพราะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ที่สารเคมีในสมองเริ่มเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อที่จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (ปราชญ์อเมริกัน) กล่าวว่า “ทุกสิ่งเกี่ยวกับจริยธรรมผมเรียนรู้เมื่อก่อนอายุ 12″
สิ่งดีๆที่หยั่งรากลึกในจิตใจของเด็กในวัยนี้จะส่งผลดีต่อสังคมอีกยาวนาน ดังนั้นจึงไม่ควรให้เด็กในวัยนี้มีการสอบไล่เพื่อจัดอันดับแข่งขันกันเหมือนที่ผ่านมา เพราะการแข่งขันกันแต่เยาว์วัยจะทำให้เด็กเครียด..ซึ่งมีผลลบต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความสนุกในการเรียนรู้
เห็นได้ว่าคนตะวันออก (แม้แต่ญี่ปุ่น) จะขาดความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนตะวันตกเป็นอย่างมาก ซึ่งน่าจะเป็นเพราะสังคมตะวันออกได้อัดความรู้ให้เด็กประถมมากเกินไป และบรรยากาศการเรียนที่ตึงเครียดเกินไป อีกทั้งครูดุ (วางอำนาจ) จนเด็กไม่กล้าแสดงออกเป็นนิสัยติดตัวไปตลอดชีวิต
ดังนั้นครูที่สอนชั้นประถมนั้นควรคัดเอาเฉพาะคนใจดี มีเมตตาต่อเด็กเป็นหลัก มากกว่าครูที่เก่งด้านวิชาการ ในการคัดเลือกครูระดับนี้จึงต้องพิถีพิถัน เช่นต้องสอบสัมภาษณ์มากกว่าการสอบความรู้ มีการทดลองงาน ที่น่าทำคือเอาคนแก่เกษียณอายุที่มีคุณภาพมาฝึกให้เป็นครูสอนเด็กประถม จะเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างดีอีกด้วย คนแก่ก็มีงานที่เป็นประโยชน์ทำ ไม่เหงา และคนแก่นั้นมันรักเด็กอยู่แล้วด้วย ทำให้ได้ประโยชน์สังคมหลายต่อ
สำหรับในระดับมัธยมสายสามัญนั้น เราเน้นวิชาการที่จะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย ทั้งที่ส่วนใหญ่ 70% จบออกไปทำงานวิชาชีพ จึงนับเป็นการสูญเสียทางการศึกษาอย่างมหาศาล ควรปรับให้มีวิชาเลือกที่เป็นวิชาชีพด้วย..ที่ผู้ที่เน้นจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยไม่ต้องเรียน โดยเฉพาะวิชาช่วยบริหารจัดการธุรกิจขนาดย่อม จริงอยู่ได้มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เน้นด้านวิชาชีพอยู่แล้ว แต่เนื่องจากนักเรียนที่จบ ม.ต้นนั้นส่วนใหญ่ยังเด็กเกินกว่าที่จะตัดสินใจเลือกเรียนได้ รวมทั้งการบีบคั้นจากครอบครัว ส่วนใหญ่จึงตัดสินใจเรียนม.ปลายสายสามัญไปพลางก่อน
ในขณะนี้มีสถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรีมากกว่า 100 สถาบันแล้ว ส่งผลให้มีปริมาณบัณฑิตจบออกมามากเกินความต้องการของสังคม ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่บุคคลมีวุฒิการศึกษาสูงกว่างานที่ทำ เช่น เลขานุการส่วนใหญ่จะจบปริญญาตรี หลายคนจบโทด้วยซ้ำ
ข้อเสียที่วุฒิสูงเกินไปคือ เป็นการใช้ทรัพยากรบุคคลของชาติโดยไม่คุ้มค่า เพราะบุคคลเหล่านี้ต้องเสียเวลาเรียนและเวลา”ทำมาหากิน”เพิ่มขึ้นอีก 4 ปี เพื่อศึกษาในระดับปริญญาตรี (เสียเงินแทนที่จะได้เงิน ซึ่งเสียสองต่อ) เพียงเพื่อที่จะจบมาทำงานที่ต้องการวุฒิระดับมัธยม 6 เท่านั้น ถือเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจชาติอีกทางหนึ่ง ในสหรัฐอเมริกาบุคลากรระดับนี้จะจบเพียง ม. 6 เป็นส่วนใหญ่
การศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท เอก) ถือเป็นขุมปัญญาที่สำคัญของชาติ เห็นว่าที่ผ่านมากว่า 100 ปี เราได้ส่งนักศึกษาไปเรียนต่างประเทศมามากแล้ว จนมีปริมาณและคุณภาพของนักวิชาการในทุกแขนงวิชาการเกินพอในระดับมวลวิกฤตแล้ว
จากนี้ไปเราน่าจะ”สร้าง” วิชาการขึ้นใช้เองในประเทศแทนการไป “เสพ” วิชาการจากต่างประเทศเหมือนเช่นที่ผ่านมา เพราะยิ่งเสพมากเท่าใดวิชาการภายในของเราก็จะยิ่งอ่อนลงมากเท่านั้น ไม่สามารถยืนอยู่บนขาตัวเองได้สักที (แถมยังเสียดุลการชำระเงินอีกปีละหลายหมื่นล้านบาทอีกด้วย)
ประเทศรัสเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลี นั้นได้สร้างชาติด้วยการส่งนักศึกษาไปเสพวิชาการจากต่างประเทศเป็นระยะเวลาสัก 30 ปีเท่านั้น จากนั้นก็ลดจำนวนลงมาก แล้วหันไปพัฒนาวิชาการขึ้นใช้เองในประเทศ ทำให้ประเทศเจริญได้อย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศไทยส่งไปเรียนตปท.กันมากว่าร้อยปีแล้วก็ยังตั้งตัวไม่ได้สักที และมีแนวโน้มว่าเราจะเสียเงินส่งนศ.ไปเรียนเมืองนอกมากยิ่งขึ้นทุกปีไปอีกแสนนาน
รัฐบาลจึงควรมีนโยบายพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของชาติอย่างจริงจังเสียที เช่นสนับสนุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พร้อมกับมีนโยบายเปลี่ยนค่านิยมนักศึกษาไทยให้หันมาเรียนในประเทศให้มากที่สุด พร้อมนี้ต้องเสริมด้วยนโยบายการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทยให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรที่ต้องเพิ่มมูลค่าให้ได้สัก 10 เท่าก่อนส่งออกขายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่เราขายเป็นสินค้าดิบที่ราคาถูกมาก
ในระดับอาชีวศึกษา ถือเป็นระดับที่น่าเป็นห่วงเพราะจำนวนสถาบันลดลงมากจากการยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยของสถาบันอาชีวะต่างๆ(ทั้งของรัฐและเอกชน) จึงสามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีบัณฑิตวุฒิปริญญาตรีมากเกินไป แต่ขาดแคลนช่างฝีมือ โดยเฉพาะถ้าประเทศจะพัฒนาอุตสาหกรรมได้นั้น จะต้องการช่างฝีมือระดับปฏิบัติงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยขาดแคลนช่างฝีมือที่มีคุณภาพเป็นอย่างมากในทุกวิชาชีพ (แต่กลับมีผู้จบปริญญาตรีล้นประเทศ) ดังนั้นประเทศจึงต้องการสถาบันอาชีวศึกษาทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
อีกทั้งการศึกษาของพระเณรนั้นน่าเป็นห่วงยิ่ง มีจำนวนมากหลายแสนคนทั่วประเทศ แต่รัฐไม่ค่อยสนใจ ทั้งที่พระเณรเป็นผู้ที่ต้องสอนประชาชนให้เป็นคนดี ยิ่งต้องฉลาดรอบรู้กว่าประชาชนทั่วไปเสียอีก ไม่ควรปล่อยให้มีการศึกษากันไปตามยถากรรมตามแต่มหาเถรสมาคมเห็นสมควร
การศึกษานอกหลักสูตร ตามอัธยาศัย และตลอดชีพ นั้นว่าไปแล้วสำคัญมาก รัฐควรทุ่มงบสร้างโปรแกรมดีๆ ในไทยทีวี ให้คนไทยได้ดู รวมทั้งควรมีวิทยุสาธารณะและโรงเรียนดิจิตอลได้แล้ว ผนวกกับมีนโยบายกระตุ้นให้คนรักการศึกษา การอ่านอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
ครูเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อระบบการศึกษา แต่ในขณะนี้ครูอาจารย์ส่วนใหญ่ (ตั้งแต่ระดับประถมถึงมหาวิทยาลัย) มีปัญหาเรื่องการครองชีพมากจนกระทบต่อคุณภาพการศึกษา ครูอาจารย์ส่วนใหญ่มักทำอาชีพเสริมอย่างหนักหน่วง จนอาจกล่าวได้ว่าอาชีพเสริมกลายเป็นอาชีพหลักและการสอนกลายเป็นอาชีพเสริมไปแล้ว ทำให้ครูไม่มีเวลาอุทิศให้กับการสอนและการวิจัยมากเท่าที่ควร ปัญหานี้มีสาเหตุจาก 1. เงินเดือนครูน้อยเกินไป และหรือ 2. ครูมีทัศนคติในการครองชีพในระดับสูงเกินไป
รัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืนนอกเหนือไปจากการคิดทำกันแต่เพียงการปลดหนี้ครู (ให้พ้นตัว) จากนั้นสร้างครูให้เป็นคนที่รักการเรียนรู้เป็นกลุ่มแรก ไม่ใช่รักแต่การสร้างรายได้เสริมตลอดชีพเช่นทุกวันนี้
..ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๑๖ สค. ๕๓)
« « Prev : เจ๊กกระโดด..ไทยกระแดะ(กินแต่ข้าวนุ่ม)
Next : นอนกลางดิน กินกลางทราย ตายกลางนา (ตอนที่ ๑) » »
1 ความคิดเห็น
ข้อคิดดี ๆ เยอะ แต่จะทำยังไง….อิอิ