คิดถึงเตี่ย (๔)
การคิดค้นและผลิตกระจกโค้งสีเขียวแดงที่ใช้ในการทำสัญญาณไฟให้กับรถไฟที่กำลังเข้าหรือออกจากชานชาลา ทำให้ห้างที่พ่อทำงานอยู่ด้วยได้รับสัมปทานการผลิตกระจกโค้งให้กับการรถไฟ แม้คุณพ่อจะยังเป็นเด็กวัยรุ่น แต่ก็ได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากนายห้างให้เป็นผู้คุมงานการผลิต และยังต้องเป็นผู้ประสานงานกับทางราชการเกี่ยวกับการประมูลต่างๆอีกด้วย
แต่แล้วชะตาชีวิตของคุณพ่อก็ต้องพลิกผลันไปอีกรูปแบบ ด้วยพี่สาวผู้มีพระคุณ (คุณป้าทองอยู่ เทียนทอง) เรียกตัวให้กลับไปช่วยดำเนินธุรกิจ เนื่องด้วยคุณลุงกำนันสามีของท่านเสียชีวิตลง
คุณพ่อต้องมาปฎิบัติงานโดยที่ไม่ได้รับการฝึกหรือถ่ายทอดวิชาอะไรมากมายนักเพราะคุณลุงแสวงไม่มีเวลาที่จะถ่ายทอดวิชาให้ งานที่ทำก็เป็นงานที่ต้องมีการคำนวณมากเสียด้วย คือต้องคำนวณคิดหาปริมาตรของไม้และหาราคาต่างๆให้ถูกต้อง ซงไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยสำหรับเด็กที่จบ ป๔ มาแบบเรียนบ้างไม่เรียนบ้าง
แต่พ่อก็สามารถเรียนการคิดหน้าไม้ได้อย่างรวดเร็ว พ่อบันทึกไว้ด้วยว่า ตอนไปทำงานอยู่กรุงเทพ แม้จะใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายก็ยังเก็บเงินได้ถึงสองหมื่นกว่าบาท ทั้งนี้เพราะได้เงินเดือนสูงมาก (หมื่นบาทในสมัยโน้นคงมากโขเพราะก๋วยเตี๋ยวราคาเพียงชามละ ๑ สลึง) แต่พ่อเก็บไว้เป็นความลับไม่บอกให้ใครรู้ ในระหว่างนี้นายห้างจากกรุงเทพก็เดินทางมาตามตัวให้กลับไปทำงานอีกถึง ๓ ครั้ง แต่พ่อก็ปฎิเสธเพราะมีหน้าที่รับผิดชอบมากเกินกว่าจะละทิ้งไปได้
(ผมเคย ถามพ่อว่าคำนวณหน้าไม้ยังไง ฟังเสร็จผมหัวร่อก้าก มันสูตรง่ายๆ แต่ตรงกับเราขาคณิตที่เราเรียนเลย ค่า ไพหารสี่ นั้นพ่อแทนด้วย 3 ก็นับว่าถูกต้องใช้ได้เลย แถมได้กำไรอีกด้วย ทำให้ได้กำไรมากขึ้น แต่เป็นการโกงคนขายโดยปริยาย ..เล็กน้อย ขอกันกินมากกว่านี้ ดังนั้นหน้าไม้สูตรของพ่อก็คือ 3 คูณด้วยความยาวหน้าตัดสองครั้ง แล้วคูณด้วยความยาว หรือ ไพส่วนสี่ D sqaureed L นั่นเอง )
ภาระหน้าที่ทำให้คุณพ่อกลายเป็นคนขี่ม้าเก่งคนหนึ่งเพราะต้องขี่ม้าเข้าไปตรวจงานตัดและชักลากไม้อยู่ตลอดเวลา พ่อคุยว่าท่านสามารถขี่ม้าโดยไม่ต้องมีบังเหียนได้ โดยใช้วิธีดึงหูม้าเอาไว้ จะบังคับให้เลี้ยวซ้ายขวาได้ดังใจ พ่อเล่าไว้ด้วยว่าคุณป้าทองอยู่เองก็เป็นคนที่ขี่ม้าเก่งมาก
ในระยะหลังๆ คุณพ่อก็มาชอบพออยู่กับคุณแม่แล้ว ท่านเล่าว่าบางครั้งก็ต้องทำไม้จนดึกดื่น ควบม้ากลับมาถึงหมู่บ้านเอารุ่งสางมองเห็นควันไฟลอยผ่านหลังคาบ้านของคุณแม่ก็ใจชื้น (คุณแม่ทำข้าวแกงและขนมขายแต่เช้าตรู่)
คุณพ่อมาชอบคุณแม่ได้ก็จากการชักชวนของคุณพี่สนุ่น ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับคุณแม่ (เพราะเหตุที่คุณพ่อของคุณพ่อของเรามีลูกตอนแก่มากนี่เอง เราจึงมีลูกพี่ลูกน้องอย่างพี่สนุ่น ซึ่งอายุรุ่นราวคราวเดียวกับคุณแม่ของเรา)
คุณพ่อแต่งงานกับคุณแม่ (อุทัย พวงธนสาร) เมื่อคุณพ่ออายุได้ ๒๕ ปี ส่วนคุณแม่ ๒๒ ปี (นับว่าเป็นสาวแก่ทีเดียวในสมัยโน้นที่ผู้หญิงนิยมแต่งงานเมื่ออายุ ๑๘-๒๐)
เมื่อแต่งงานแล้วคุณแม่ก็มาเปิดร้านขายอาหารอยู่ในตลาดอำเภอวัฒนานคร เงินเก็บสองหมื่นกว่าบาทที่เหลือมาแต่ตอนทำงานในกรุงเทพก็เอามาลงทุนด้วย คุณพ่อไม่เล่นไพ่และไม่ดื่มเหล้า แต่ท่านเล่าว่าสมัยหนุ่มๆท่านแทงบิลเลียร์ดเก่ง เคยต่อให้คู่แข่งขันด้วยการแทงมือเดียวอีกมือหนึ่งอุ้มลูกมาแล้ว
หลังจากแต่งงานแล้ว พ่อก็ยังช่วยกิจการทำไม้กระดานของคุณป้าทองอยู่ดังเดิม เพียงแต่ในคราวนี้พ่อเข้าไปคุมการตัดและทำกระดานไม่ได้ ก็เลยใช้วิธีให้พวกชาวบ้านทำกันเองแล้วเอาเข้ามาให้พ่อคำนวณหน้าไม้และราคาให้ก่อนที่จะเอาไปส่งและขึ้นเงินกับคุณป้า
พวกชาวบ้านจะเดินทางออกจากป่ากันมาเป็นคาราวาน เอาไม้กระดานบรรทุกเกวียนมาเป็นสิบๆเล่ม เสร็จแล้วพวกเขาก็จะซื้อข้าวของจำเป็นต่างๆเช่น เกลือ กะปิ น้ำปลา เพื่อเอาไปเจือจุนครอบครัวของพวกเขาในป่าดง
ต่อมาคุณพ่อก็เข้าหุ้นกับเพื่อนๆของท่านมาจับอาชีพทำฟืนหลา และไม้ซุง (ฟืนหลาคือท่อนฟืนที่มีความยาวขนาด ๑หลา ใช้สำหรับ เป็นเชื้อเพลิงให้กับรถจักรไอน้ำ ที่มาจอดเติมฟืนที่สถานีรถไฟ)
ในสมัยบุกเบิกนั้นอำเภอวัฒนานครยังไม่มีถนน มีแต่ทางเกวียน ท่านเป็นคนแรกที่นำรถลากซุงแบบพ่วงสาลี่มาใช้ ไปออกรถเงินผ่อนมาโดยที่ขับรถก็ยังขับไม่เป็น ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงว่ารถลากสาลี่นั้นยิ่งขับยากเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนถอยหลัง แต่ความเป็นนักบุกเบิกของท่านก็ทำให้ท่านปราบพยศรถลากซุงได้ด้วยการทดลองขับมันไปเรื่อยๆจนเก่งและยังเป็นอาจารย์สอนคนอื่นขับรถลากซุงมาอีกมาก
นอกจากจะขับรถเก่งแล้วท่านยังซ่อมรถเก่งอีกด้วย ฝีมือในการซ่อมรถของท่านเป็นที่ยอมรับกันดีในวงการนังเลงรถสมัยโน้น จนถึงกับว่าท่านหันมาทำกิจการเปิดอู่ซ่อมรถอยู่ระยะหนึ่ง
การทำไม้ซุงในสมัยโน้นก็ไม่ง่ายนัก เพราะไม่มีถนนหนทางและเครื่องทุ่นแรงอันทันสมัย บ่อยครั้งที่รถต้องติดหล่มอยู่กลางป่าดงดิบเป็นเวลาหลายๆวัน ต้องกินข้าวลิง (สำนวนชาวรถสมัยก่อน หมายความว่าหาของป่ากินไปตามยถากรรม) แต่บางครั้งก็โชคดีที่รถไปตายใกล้ๆบ้านชาวไร่ในป่า
พ่อเล่าว่าคนป่าคนดงในสมัยโน้นเป็นคนที่มีวัฒนธรรมสูงมาก เขาเห็นรถลากซุงติดหล่มก็ต้องมาช่วยอย่างสุดความสามารถ แถมยังเอาข้าวปลามาให้กินทุกมื้อ ผิดกับในสมัยนี้ หากรถใครไปจอดตายริมทางต้องรีบทิ้งรถไปอยู่ที่อื่นไว้ก่อนเพราะกลัวถูกปล้น
« « Prev : คิดถึงเตี่ย (๓)…นักอ่านตัวยง
Next : คิดถึงเตี่ย (๕)…ลูกไม้ใกล้โคน » »
1 ความคิดเห็น
หัวเราะก๊ากออกมาคนเดียว ตอนที่อ่านพบว่าคุณพ่อขีม้า โดยเอามือจับหูม้า แล้วบิดให้หันซ้ายหันขวาได้ คิดได้ไงนะ คุณพ่อ นับถือจริงๆ