คิดถึงเตี่ย (๓)…นักอ่านตัวยง
คุณพ่อมีลักษณะแปลกอยู่อย่างคือเป็นคนหัวสูงทางการศึกษา แม้ตัวท่านเองจะจบการศึกษาเพียงชั้นประถม ๔ มาอย่างกระท่อนกระแท่นเพราะสภาพเศรษฐกิจทางครอบครัวไม่เอื้ออำนวย แต่พอมีโอกาสท่านก็ทำการศึกษาด้วยตัวเองด้วยการอ่านหนังสือ เมื่อตอนวัยรุ่นทำงานอยู่กรุงเทพท่านมีเงินเดือนมาก ท่านก็ทุ่มเงินซื้อหนังสือมาอ่านอย่างไม่อั้น เช่น นิยายอิงพงศาวดารจีนหลายๆเรื่อง เช่น ขงเบ้ง ซิยิ่นกุ้ย และหนังสือของหลวงวิจิตรวาทการ
ท่านบันทึกไว้ว่าหนังสือของหลวงวิจิตรฯ นั้นท่านมีครบชุดหมดทุกเล่ม (คงจะมากกว่า ๕๐ เล่ม) บางครั้งท่านก็หนีงานไปเป็นสัปดาห์เพื่อนอนอ่านหนังสือเล่น นายห้างก็ไม่ว่าเพราะต้องง้อท่าน จึงไม่น่าเป็นการแปลกใจว่า คุณพ่อเป็นคนใช้ภาษาได้สละสลวยยิ่งคนหนึ่งเสมือนดั่งว่าเป็นผู้มีการศึกษาสูง
ในช่วงกลางคน คุณพ่อก็จะยังคงมีรสนิยมสูงในการอ่าน เข้ากรุงเทพแต่ละครั้งท่านจะต้องซื้อวารสาร”ชาวกรุง”มานั่งอ่านฆ่าเวลาบนรถไฟ วารสารนี้ถือกันว่าเป็นวารสารอ่านเบาสมองของผู้มีการศึกษาในสมัยโน้น
เมื่อพูดเก่งก็ต้องเล่าเก่งโดยอัตโนมัติ คุณพ่อชอบเล่านิทานให้ลูกๆฟังเสมอ เนื่องจากว่าคุณพ่อเป็นคนสามวัฒนธรรม (คือ จีน ไทย และ ลาว) และท่านสนใจศึกษาขนบธรรมเนียมของทั้งสามวัฒนธรรม จึงเป็นผลพลอยได้ของลูกๆที่ได้ฟังนิทานของทั้งสามวัฒนธรรมจากท่าน
ท่านชอบเล่าเรื่อง”ขงเบ้ง”มากที่สุด พร้อมกับตั้งคำถามให้ลูกๆคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรถ้าต้องเผชิญสถานการณ์คับขันอย่างตัวละครในท้องเรื่องบ้าง บางครั้งท่านก็เล่า “ซิยิ่นกุ้ย” สำหรับนิทานไทยท่านชอบเล่า “ไอ้เจ็ดทะนน” “นางสิบสอง” “พระรถเมรี” “นางผมหอม” ส่วนนิทานลาว ท่านชอบเล่า “บักเซียงเมี่ยง” “ท้าวแสนปม” นอกจากนั้นท่านยังชอบเล่าเรื่อง”เมาคลีลูกหมาป่า”
มาก นิทานเมาคลีนั้น ในสมัยโน้นเฉพาะคนชั้นสูงที่มีการศึกษาเท่านั้นจึงจะรู้จัก แต่คุณพ่อก็รู้ (จากการอ่าน) เพราะท่านเป็นคนใฝ่รู้
พ่อยังชอบสรรหาปัญหาต่างๆมาลองเชาว์ลูกๆ(อายุ ๕-๑๐ขวบ) เช่นปัญหานกซึ่งมีอยู่ว่า มีนกอยู่ฝูงหนึ่งบินลงมาจับใบบัวในสระน้ำ ในตอนแรกนกเกาะใบบัวอยู่ใบละหนึ่งตัว ปรากฎว่ามีนกเหลืออยู่หนึ่งตัวไม่มีใบบัวจะเกาะ นกก็เลยบินขึ้นใหม่ คราวนี้เกาะใบบัวละ ๒ ตัว ปรากฎว่ามีใบบัวเหลืออยู่หนึ่งใบ ถามว่ามีนกกี่ตัว และมีใบบัวกี่ใบ
ท่านจะมีปัญหาทางคณิตศาสตร์ทำนองนี้มากมายมาถามลูก นอกจากนี้ยังมีคำถามทางการใช้ภาษา เช่น ถามว่าอย่างดีชนิดเลว กับอย่างเลวชนิดดี อย่างไหนจะดีกว่ากัน หรือ หมูกินขี้กา กับ กากินขี้หมู อย่างไหนจะดีกว่ากัน
คำถามอันสุดท้ายนี้ได้กลายมาเป็นชนวนให้ลูกๆเล่นคำผวนกันอย่างสนุกสนาน จนถึงขนาดว่าพวกเด็กๆสร้างภาษาคำผวนพิเศษขึ้นมาใช้กันเองภายในครอบครัว จนสามารถนินทาคนอื่นได้ต่อหน้าเขาโดยเขาไม่รู้ตัว เช่น เมื่อเข้าไปทานอาหารในร้านอาหารเราจะถามกันว่า “ออยไหม” อีกคนก็จะตอบว่า “ม่อย” หรือ ถ้ามันแย่มากๆเราก็อาจจะตอบว่า “เเอ้ก”
พวกเราลูกๆจะผวนคำต่างๆโดยจะผวนเฉพาะสระแต่ไม่ผวนวรรณยุกต์ เสร็จแล้วก็จะตัดคำทั้งคำทิ้งเหลือไว้แต่พยางค์แรกพยางค์เดียว เช่น อร่อย ก็จะกลายเป็น ออย(หร่า) ไม่อร่อย ก็จะกลายเป็น ม่อย(อะไหร่) อ้วกจะแตก ก็จะกลายเป็น แอ้ก(จะตวก) เราจะจดจำโค้ดลับภาษาผวนของพวกเราได้หลายร้อยคำ
พ่อและแม่ก็เลยได้พลอยเรียนภาษาที่พวกเราคิดค้นกันขึ้นมาด้วย ตัวพ่อเองก็มีส่วนร่วมในการตั้งคำไหม่ๆที่ฮิตติดตลาดได้หลายคำ เช่น แจ่ว(ลบ) = จบแล้ว แหม่ว(ลด) = หมดแล้ว
มีอยู่ครั้งหนึ่งพ่อจะต้องเดินทางเข้ากรุงเทพ ในขณะที่กำลังขายอาหารอยู่ มีแขกอยู่เต็มร้าน พ่อไม่อยากให้แขก(ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนรู้จักกัน)รู้ว่ากำลังจะเดินทางเข้ากรุงเทพ พ่อก็เลยตะโกนสั่งลูกที่กำลังช่วยทำหน้าที่เป็นแคชเชียร์อยู่ว่า “กั่งให้พ่อสืนเด๊อ พ่อจะไปเกบ”
…ลูกก็พยักหน้าหงึกๆ บอกว่าเข้าใจการสื่อสาร ซึ่งแปลออกมาเป็นภาษาปกติได้ว่า “เก็บสตางค์ให้พ่อสองหมื่นเด๊อ พ่อจะไปกรุงเทพ”
« « Prev : ทำไมฝรั่งเจริญกว่าไทย (๒๒) (ไม่มีอดีตก็ไม่มีอนาคต)
4 ความคิดเห็น
คำถามคณิตศาสตร์ที่พ่อเอามาถามพวกเรา เด็กๆ เท่าที่จำได้ คือ หมูตัวละ 4 บาท เป็ดต้วละ 1 บาท ไก่ตัวละสลึง มีเงินอยู่ 20 บาท จะซื้อหมูเป็ดไก่ได้อย่างละกี่ตัว โดยที่ต้องซื้อทุกชนิดสัตว์ และจำนวนสัตว์ที่ซื้อต้องได้ 20 ตัวด้วยนะ
มีเด็กคนหนึ่ง ฉลาดมาก ตอบได้ภายใน 3 นาที (ซึ่งไม่ใช่ผมหรอกนะ)
โอ๊ย! คุณพ่อคิดได้ไง เป็นคำผวนชั้นครูจริงๆ อาจารย์น่าจะเก็บรวบรวมไว้เป็นเล่ม ทั้งคำผวนและปัญหาคณิตศาสตร์ ให้เด็กๆสมัยนี้เอามาเล่นกัน ได้ใช้ความคิดดีจริงๆ แต่เท่าที่อาจารย์ปล่อยออกมานี่ ก็เจ๋งมากๆแล้ว เดี๋ยวขออนุญาตลอกเอาไปให้ครูที่โรงเรียนไปเล่นกับเด็กหน่อยนะคะ
ตาม..ตาม..ตาม..
อ่าน..อ่าน..อ่า่น..
ชอบ..ชอบ..ชอบ..
ขอบคุณค่า..^^
แม่ทัพ ซิยิ่นกุ้ย
พ่อลูกชาวบ้านแม่แตง เคยฟังละครวิทยุคณะเกษทิพย์ เวลาหนึ่งทุ่มถึงทุ่มครึ่ง (โดยมีเสียงจ่มของแม่ประกอบเป็นระยะๆ)วิทยุทรานซิสเตอร์ใส่ถ่านหกก้อน จบแล้วพ่อก็ฟังข่าววิทยุประเทศไทยต่อ
คิดถึงพ่อคือกันครับ
ดีใจแฮง…เจอคนที่มีอดีตร่วมกัน (อ. ท่านเป็นคนแรกที่เอ่ยถึงซิยิ่นกุ้ย…ที่ผมแทบจะหลงลืม)