นอกคอกแต่ไม่นอกกรอบ

โดย withwit เมื่อ 2 March 2011 เวลา 1:06 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1954

ทำไมฝรั่งเจริญกว่าไทย (๒๑) (นอกกรอบ vs นอกคอก)

คนไทยส่วนใหญ่ ไม่เว้นแม้ตัวผมเอง(ในบางครั้งที่เผลอไผล) มักชอบคิดว่าการที่คนไทยไม่เจริญเท่าที่ควรนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่คิดแต่ในกรอบ ไม่รู้จักคิด “นอกกรอบ” กันบ้างเลย จนวันนี้ใครคิดนอกกรอบเราก็เทิดทูนกันหนักหนาไปแล้ว โดยเราไม่รู้จักแบ่งแยกระหว่างนอกกรอบ กับ นอกคอก เสียบ้างเลย

คนไทยเรามักมีนิสัย “พริ้ว” กว่าฝรั่ง ที่ค่อนข้าง “ตรง” (ทื่อ…ซื่อบื้อ) คนไทยเราชอบ “แซว” กัน ส่วนฝรั่งเรื่องแซวนั้นด้อยพัฒนามาก แต่ฝรั่งชอบเสียดสีลึกๆ ส่วนคนไทยชอบนินทาตื้นๆ มันก็ดี (และเลว) กันคนละอย่าง

ขอยกตัวอย่างเชิงรูปธรรม คือ การแต่งกาย ดนตรี และอาหารการกิน ซึ่งสามเรื่องนี้มันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของมนุษย์ “ปุถุชน” ก็ว่าได้

บทนี้คงมีหน้ากระดาษให้ได้เพียงเรื่องดนตรีเท่านั้น ซึ่งไทยเราก็ว่ากันไปแบบลูกทุ่ง ลูกกรุง เพื่อชีวิต (เพื่อชีวิตของนักร้องเป็นหลัก ) ไทยเดิม (โดย “เดิม” หมายถึง “น่ารังเกียจ” แต่ก็ต้องถนอมไว้เพื่อให้ได้งบประมาณมาบำรุงกายเพราะคนแก่ๆที่อนุมัติงบประมาณ มันก็คนเดิมๆ ที่ยังพอเห็นคุณค่าของของเดิมอยู่บ้าง)

ฝรั่งนั้นเขาให้ความสำคัญเรื่องดนตรีมาก โดยผมเชื่อว่ามันมีรากฐานมาตั้งแต่อริสโตเติ้ล นักปราชญ์เอกแห่งกรีกโบราณเมื่อสองพันกว่าปีก่อน ที่เป็นอาจารย์ของอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่เข้ามาสมาทานพุทธศาสนาในระดับหนึ่ง จากการที่บุกอินเดีย โดยอริสโตเติ้ลได้กล่าวไว้ทำนองว่า … ดนตรีอุปมาดังศาสนาที่จะหล่อหลอมจิตวิญญาณของมนุษย์ให้เป็นแบบใดก็ได้

ซึ่งผมเห็นด้วยร้อยปูเซ็ง (ถ้าว่ากันแบบโลกิยะที่ยังไม่ถึงระดับโลกุตระ)

และนี่แหละที่ผมเห็นว่าเป็นรากฐานนำมาสู่ว่าทำไม โบสถ์ฝรั่งจึงนิยมร้องเพลงกันหนักหนา ทะลักล้นมายังเพลงคริสต์มัสต่างๆ ที่คนไทยเราเห่อเลียนแบบจนร้องกันได้ทุกคน เช่น “โจงกระเบน ๆ เป็นของเก่ามานาน” แต่ถ้าให้สวดมนต์ที่บ่งถึงหลักศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติแห่งตน กลับร้องไม่เป็น …

..เพลง “หนักแผ่นดิน” (ร้องโดยสันติ ลุนเผ่) ก็ทำให้เลือดไทยเดือดพล่านต้านภัย “แดง” ได้เสมอมา รวมถึงเพลงชาติ (แนวคิดฝรั่ง), เพลง “รักกันไว้เถิด” ที่มีส่วนช่วยให้เราเป็นชาติเรามาได้จนทุกวันนี้ เพลงทั้งหลายนั้นแม้จะด้อยสักหน่อย ก็ยังดีกว่าสิ้นชาติแหละหวา

เพลงไทยเดิมโบราณ ที่คนไทย “รุ่นใหม่” ทุกวันนี้เบื่อกันหนักหนานั้น ถ้ามองแบบ “พุทธอายวิว” แล้ว เราน่าจะเห็นได้ว่า เป็นวิวัฒนาการตามระบบวัฒนธรรมไทย ที่เน้น “ระเบียบ” หรือ “กรอบ” ที่กำหนดจาก เบื้องบน (เช่น พระราชา พระยา หรือ ครูดนตรีก็ตามเถิด) พอกำหนดมาแล้ว ส่วนใหญ่เราก็เชื่อฟัง ไม่กล้า “นอกครู” จนนำมาสู่การใกล้จะสูญพันธุ์ของดนตรีไทยเดิมในที่สุด

ส่วนเพลงฝรั่งแต่งโดยปัจเจก ที่ต้องฟังกระแสสังคมว่าชอบอะไรอย่างไร่ มันก็เลยยืนยงมาได้ เพราะอารมณ์ดนตรีนั้นมันฝังรากลึก ไม่ได้เปลี่ยนกันได้ง่ายๆ เหมือน กกน. หรือ เปลี่ยนนาย ที่ย้ายจากนายคนโน้น ไปสู่นายคนนี้ แบบไทยเรา…ไม่ว่าคุณจะรักทักษิณ หรือ อภิสิทธิ์ หรือ ปรีดี คุณก็ยังกินเผ็ด เค็ม เปรี้ยวเหมือนเดิมใช่ไหม ??? ฟังเพลงก็เดิมๆ อีกต่างหาก

..ดนตรีไทยเดิมเรานี้จะเล่นให้แรง เร่งเร้า ถูกใจวัยโจ๋ อย่างไรก็ได้ หรือจะให้ช้ากว่านี้สักสองเท่า เพื่อให้ถูกใจวัย “กล้วยไม้” อย่างไรก็ได้ แต่เราก็ไม่คิด ไม่ทำกัน ขอลอกฝรั่งอย่างเดียวก็พอแล้ว จนวันนี้เรามีแบงค่อกฟิลฮาร์โมนิคออร์เครสต้าแบบฝรั่งที่กำลังโด่งดัง ออกอากาศเสมอ แต่วงดนตรีไทยเดิมแห่งชาติกลับไม่มี ถึงมีก็ไม่มีใครฟังหรือซื้อเทปไปฟังหรอก (รวมทั้งผมด้วย เพราะโคตรน่าเบื่อ ฟังกี่เพลงก็เหมือนกันหมด ไม่มีการ “นอกกรอบ” บ้างเลย มีแต่ “นอกคอก” เท่านั้นเอง )

เพลงเดียวกัน เช่น ลาวดวงเดือน เขมรไทรโยค พม่ารำขวาญ มอญอ้อยอิ่ง ไปจนถึง แสนคำนึง ราตรีประดับดาว ทยอยนอก ฯลฯ ถ้าเล่นด้วยวงดนตรีต่างๆ จะมีระเบียบเพลงไม่เหมือนกันเลย (ขลุ่ยไปทาง ซอไปทาง ระนาดก็ไปอีกทาง ตามอารมณ์ผู้เล่นขณะนั้น)

แต่พอไปฟังเพลงคลาสสิคฝรั่งที่แสนสลับซับซ้อน ทุกวงกลับเล่นเหมือนกันหมด (ตั้งแต่เยอรมันถึงสหรัฐ) ต่างกันแต่ว่าวงไหนใหญ่เล็ก มีอุปกรณ์ต่างกันอย่างไรเท่านั้นเอง แต่ตัวโน๊ต ระดับจังหวะ 1/32 ที่จะต้องแทรกตรงช่วงเวลาไหนอย่างไร มันต้องเป๊ะๆ เสมอแหมือนกันหมด

ส่วนของเรา โน้ตเพลงง่ายๆ ..แอ้อี๋แอ ๆ … ปี่ไปทาง ขลุ่ยไปทาง ซอไปอีกทาง ผู้เล่นคนไหนจะแซกตรงไหน ตอดตรงไหนก็ได้ …เอาอารมณ์คนเล่นเข้าว่า (ยกเว้นกลอง ฉิ่ง ที่เหมือนเดิมทุกเพลง ฟังแล้วแสนน่าเบื่อ ไม่มีนอกกรอบบ้างเลย …โจ๊ติงๆทั่งติ๊งทั่ง ทั่งติงทั่งติงโจ๊ะจ๊ะ อยู่นั่นแหละ)

ยิ่งถ้าคนร้อง คนเป่า คนสี มีอันดับ ก็ยิ่งต้องสะกดให้เราฟังให้เพราะเสียอีกด้วย ดังนั้นเราจะเห็น รมต. นักการเมือง เศรษฐี ไทย มาร้องเพลงออกอากาศหน้าจอโทรทัศน์ระดับชาติบ่อยๆ แต่ฝรั่งไม่มีเลย เพราะคนมีอำนาจนั้น คนไทยเรายอมให้ “ผิด” และ “เสล่อ” ได้เสมอ กลายเป็นความน่ารัก น่าเอ็นดูไปอีกแบบ ซึ่งฝรั่งไม่มีแนวคิดแบบนี้ ที่คนรวยคนจนถ้าผิดก็ “ฟัน” ตามกฎหมาย เท่ากัน

เรื่องดนตรีนี้ ไม่มีในตำรารัฐศาสตร์ แต่มันแสดงให้เห็นว่า ฝรั่งนั้นเขาเคารพกฎกติกา ส่วนไทยเราเอาอารมณ์ตนเองเป็นหลัก ดังนั้นถ้าลอกเอากฎหมายฝรั่งมาใช้กับสังคมไทย ตามที่นักนิติรัฐศาสตร์ไทยเรา “ลอกข้อสอบ” เสมอมา มันก็คงบรรลัยในที่สุด

เรื่องดนตรีนี้ อ๊ะ …ฟังดูเหมือนว่าไทยเรามี “ปัจเจก” สูงกว่าฝรั่งเสียอีกนะ เล่นดนตรีแบบปัจเจก ยิ่งกว่าฝรั่งเสียอีกไปโน่น

เรื่องนี้ผมเคยเถียงกับฝรั่งบางคนมาก่อน ที่เป็นผู้รู้ด้านชาติพันธุ์วิทยา (anthropology) คือเพื่อนฝรั่งเขาหาว่าคนไทยมี ปัจเจกสูงมากกว่าฝรั่งเสียอีก เช่น การแต่งตัวฉูดฉาด มีสีสัน ลายดอกเป็นแบบเฉพาะตัว ในขณะที่ฝรั่งแต่งกายสีเทา สูตสามชิ้นเหมือนกันหมด ซึ่งผมเห็นด้วยในวิธีการ แต่ไม่เห็นด้วยในหลักการ ทำให้ผมเถียงกลับไปว่า ไม่ใช่หรอก คุณกำลังสับสนระหว่างคำว่า individualism กับ individuality ต่างหาก

ผมเห็นว่าคนไทยเรามี individualism (ความเป็นปัจเจกแห่งตน) ต่ำกว่าฝรั่งมาก แต่มี individuality (การแสดงออกเฉพาะตน) สูงกว่าฝรั่ง สองประเด็นนี้มันต่างกันมากยังฟ้ากะเหวก็ว่าได้

ความเป็นปัจเจกทำให้ต้องคิดยาวไกลเกินตัวไปถึงว่า …การกระทำของตนจะไปรบกวนความเป็นปัจเจกของผู้อื่นด้วยหรือไม่ เพราะคนอื่นเขาก็มีปัจเจกเหมือนกัน ถ้าไปละเมิดสิทธิแห่งปัจเจกเขา ก็มีหวังถูกสวนกลับ เช่นการแซงคิว ฝรั่งไม่กล้าทำหรอก ใครขืนทำก็จะถูกประชาทัณฑ์แน่นอน

ส่วนไทยเราไม่สนในเรื่องนี้ ใครแซงคิวเพราะคิดว่าตัวเองกล้ามใหญ่กว่าก็ไม่มีใครว่า (…คิดแต่นินทาในใจ ) ส่วนผมเองเคยด่าคนมาหลายครั้ง รวมทั้งด่าพนักงานคิดเงินด้วยว่าทำไมคุณไม่ด่าไอ้คนที่แซงคิว ทำไมต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ผมด้วย …รอดชีวิตมาเขียนจนบัดนี้ได้ สงสัยว่าชาติก่อนคงทำบุญมาพอควร …เอ้า เชื่อบุญกรรมตามประสาไทยอีกแล้วนะเนี่ย

นั่นว่าเพียงการแซงคิวในร้านค้า แต่ในราชการ การเมือง ธุรกิจ วิชาการ มันก็แซงคิวกันเสมอมา ส่งผลให้คนชั่ว คนแซงคิว มันมากุมอำนาจในทุกระดับจนบัดนี้ และนั่นคือคำตอบว่าทำไมประเทศเราจึงยังเป็นแบบนี้จนทุกวันนี้

ความเป็น individuality นั้นผมเห็นว่ามันเพียงต้องการแสดงออกให้ตนเด่นโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่นเสียมากกว่า …เป็นการคิดแบบ “อำนาจนิยม” ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม คนรากหญ้าชอบแซงคิวมากที่สุด นี่แสดงว่าเขามีอำนาจทางอ้อม ทั้งที่ยากจน ไม่มีอำนาจทางการเงินแต่ประการใด

ส่วนนิยามคำว่า “อำนาจ” นั้นต้องว่ากันอีกที มันยากมากทีเดียว เพระมันมีอำนาจหลายรูปแบบมาก เช่น พระ จะเทศน์ให้สำเนียงผิดเพี้ยนก็ได้ คนนิยมเสียอีก แต่ต้องเป็นพระที่ “เก๋า” สักหน่อย คือต้องมีอำนาจเชิงสังคมนั่นเอง ..ไม่ใช่ว่าพระจะมีกองกำลังหลายกองพลที่สามารถประกาศกฎอัยการศึกได้ก็เปล่า

สังคมไทยเรานั้นมันไม่อิงตน แต่อิงนาย อิงกลุ่ม ก็คืออิงอำนาจนั่นเอง แต่ถ้าอำนาจนั้นบังเอิญมากองรวมอยู่ที่ตนเอง ก็ไม่ต้องอิงใคร ก็อิงตนเองนั่นแหละ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ทำให้ “ลุแก่อำนาจ” อยู่เนืองๆ เพราะคนพวกนี้มันคิดว่า เห็นว่า ไม่มีอำนาจแห่งปัจเจกในสังคม มาคาน “อำนาจ” มันได้นั่นเอง

คนไทยบางคน มันมีเงินและหรืออำนาจแบบฟลุคๆ แบบอิงอำนาจคนอื่น ที่ไม่ได้ไต่เต้ามาด้วยความสามารถแห่งปัจเจกชนของตนเอง มันก็ไม่เข้าใจ ไม่ซาบซึ้งในคุณค่าของหยาดเหงื่อ มันก็เลยใช้เงินไปต่ออำนาจ อำนาจไปต่อเงิน แบบวงจรอุบาทว์ จนมันมีทั้งเงินมาก และอำนาจมากล้นประเทศ

….ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๖ พย. ๕๓)

« « Prev : ไทยเวียตนาม..ใครจะถึงเส้นชัยก่อนกัน

Next : สามคนดีที่ช่วยโลก » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 March 2011 เวลา 3:15 am

    แถมท้ายก่อนไปนอน (ไม่รู้จะนอนเป็นคืนสุดท้ายในชีวิตหรือเปล่า) คือ

    พรมแดนกับเขตแดน มันต่างกันมาก

    วันนี้เราถูกฝรั่งหลอกว่าเป็นโลกไร้พรมแดน ทั้งที่เราเป็นโลกไร้พรมแดนก่อนฝรั่งนมนาน
    ส่วนพวกมันต่างหาก เข้ามาแบ่งพรมแดนเรา ทั้งโลก ตั้งแต่เมกา อัฟริกา อินเดีย อินโด จีน และ อินโดจีน

    มันบอกเราว่าไร้พรมแดน ดังนั้นให้เราลดเลิกภาษีให้มัน (สิทธิสภาพนอกอาณาเขต) และแถมอะไรอีกหลายอย่าง รวมทั้งพวกมันเข้ามา “เที่ยว” เมืองไทยได้แบบ วีซ่าออนอะไรวอล

    แต่พอเราจะไปเมืองมัน ต้องไปกราบแทบเท้าขอวีซ่า (และมาสเตอร์คาร์ดด้วย) มัน เสียเวลาและอารมณ์ชีวิตไปแสนมาก (แต่ก็ยังอยากไปกันอยู่นั่นแหละ)

    ไอ้ขี้ตะรีนหลายคนมันเอาภาษีไป “เที่ยว” กันปีละ 5 ครั้ง ส่วนผมไม่อยากไปเลย แต่มัน “บังคับ” ว่าต้องไป ก็เลยไปมัน 5 ปีครั้ง พอได้ดูได้เห็นเชิงประจักษ์บ้าง ทั้งที่รู้มันหมดแล้วแหละ ขอสละสิทธิ์ไม่อยากไปเพราะเสียดายภาษี มันบอกว่าไม่ได้ ต้องไป ไม่งั้นถูดตัดหัว ไอ้ขี้ข้าเขาเอ๊ย

    คนรวยนั้นตื้น เรียนรู้ไม่ยาก คนจนนั้นลึก เรียนรู้ยากกว่ามากนัก

  • #2 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 March 2011 เวลา 7:26 pm

    หุหุหุ นึกถึงการแยกแยะคำค่ะ ตอนเด็กๆ จะถูกคุณครูให้ออกไปร้องเพลงหน้าห้องบ่อยๆเพราะออกเสียงภาษาไทยชัด(ไม่รู้เกี่ยวกันตรงไหน) แต่ส่วนตัวไม่ชอบการออกไปหน้าห้อง ก็จะโดนคุณครูคะยั้นคะยอว่าต้องกล้าแสดงออกสิ !

    ซึ่งเถียงคุณครูทุกครั้งไปว่าหนูกล้าแสดงออก แต่หนูไม่กล้าออกไปแสดง …คุณครูแยกแยะไม่ออก ;)

  • #3 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 March 2011 เวลา 7:33 pm

    เล่นคำได้ดีมากครับ
    นิสัยเรื่องการแสดงออก กับการออกแสดงนี้ เราเหมือนกัน
    คนไทยจำนวนมากมันตรงข้ามเลย คือไม่แสดงออก แต่ออกแสดงเสมอ โดยเฉพาะหลังฉาก หลังบ้าน เอาเงินไปยัด

    ขนาดนักวิชาการ มันหาทุนวิจัย กรรมมารอ กันร้อยล้านด้วยการพาเจ้านายไปเลี้ยงเหล้า มันแสดงออกกันเก่งจริงๆ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.099608182907104 sec
Sidebar: 0.018476009368896 sec