ปฏิรูปการศึกษาไทย (อีกแว้ว)

โดย withwit เมื่อ 20 February 2011 เวลา 8:56 am ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2188

สมองแห่งมลัยชาติไทยฤาเสื่อมถอย

วันนี้..มลัยไทยกำลังเสนอตัวเข้าไปช่วยปฏิรูปประเทศไทย [ผมขอเรียก “มหาวิทยาลัย” ว่า “มลัย” เพื่อความประหยัดและพอเพียง] ผมจึงใคร่ขอเสนอแนวคิดมาร่วมสนุกในรายการนี้ด้วย :

1) ก่อนที่มลัยจะทำอะไรก็ตาม (โดยเฉพาะปฏิรูปประเทศ..ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก) ก่อนอื่นต้องมีความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อน (สัมมาทิฐิ) ไม่เช่นนั้นแล้ว สิ่งที่จะทำตามมามันจะเฉโกไปหมด …ถ้าเช่นนั้นแล้วอย่าทำเสียเลยจะดีกว่า ..เพราะอาจเสี่ยงต่อการถูกพวกม็อบเขาเอาไปก่นด่ากลางเวทีริมถนนให้เสียหน้าเปล่าๆปลี้ๆ
2) มลัยไทยรู้บ้างไหมว่าปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศไทยเราขณะนี้คือ การไม่พึ่งตนเอง (อัตตาหิ อัตโนนาโถ) แต่ไปพึ่งแต่ต่างชาติ ทั้งด้านการลงทุน เทคโนโลยี และ วิชาการ..แม้แต่อ่านหลักศิลาจารึกที่เป็นภาษาท้องถิ่นโบราณ ยังต้องจ้างฝรั่งมาอ่านให้
3) ก่อนที่จะไปช่วยปฏิรูปประเทศ มลัยจะต้องปฏิรูปตนเองเสียก่อน ไม่งั้นจะกลายเป็น เตี้ยอุ้มค่อม
4) 100 กว่าปีที่ผ่านมาประเทศเสียเงินไปเท่าไร ส่งคนหัวกะทิไปเรียนนอกเพื่อหวังให้กลับมาเป็นเสาหลักเพื่อกอบกู้ประเทศให้เท่าเทียมอารยะ แต่วันนี้ช่องว่างระหว่างไทยและเทศที่ไม่กว้างนักในอดีตกลับยิ่งกว้างมากว่าเดิมร้อยเท่า เพราะนักวิชาการในมลัยไทยไม่ทำหน้าที่อันชอบมานานแล้ว เสวยสุขบนหอคอยงาช้างมาจนอ้วนพี จนตีกอล์ฟกับขุนทหารและนักการเมืองก็มาก ส่วนวิชาการก็เอาง่ายเข้าว่า ลอกฝรั่งมาหากินกันริมหลุมกอล์ฟนั่นเอง
5) ระหว่าง 100 ปีนั้น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ บราซิล มาเลย์ เขาไปกันถึงไหน บัดนี้ เวียตนาม อินโด ก็กำลังไล่กวด รวมถึง ภูฐาณ ที่มาแรงด้านจิตวิญญาณทั้งที่ก็ทฤษฎีพุทธเดิมๆที่เรารู้จักกันดีมานาน
6) ก่อนจะหาญไปช่วยประเทศปฏิรูป มลัยไทยต้องปฏิรูปตนเองเสียก่อนด้วยการรู้จัก “คิดเองทำเอง” ได้เสียทีแล้ว แทนการลอกเอาแต่ทฤษฎีฝรั่งมาใช้อย่างไม่ลืมหูตา อย่างน้อยต้องปรับทฤษฎีเขาให้สอดคล้องกับบริบทประเทศไทยเสียก่อน ตั้งแต่ระบบเศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง ยันการใส่ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง รวมถึงความมี “เสรีภาพ” (อย่าเห่อเสรีภาพจนเกินไปตามแนวคิดฝรั่งที่ไปลอกเขามา) โดยเฉพาะที่อ้างกันนักหนาว่า “เสรีภาพทางวิชาการ” ทั้งที่เป็นทาสวิชาการฝรั่งมานานกว่า 100 ปี บัดนี้น่าจะถึงเวลาประกาศอิสรเสรีภาพทางวิชาการได้แล้ว
7) ตีนต้องติดดิน ต้องตระหนักว่าขณะนี้ประเทศไทยเรายังจนอยู่มาก นักวิชาการไทยเคยรู้กันบ้างไหมว่าคนไทย 60 ล้านคนมีส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติเพียงไม่ถึง 5% ของรายได้มวลรวมประชาชาติ เพราะแม้รัฐบาลไทยยังไม่รู้เลย ผมกล้าท้า และที่ไม่รู้ก็เพราะนักวิชาการไม่คิดค้นวิจัยให้รู้จักตนเองนั่นเอง ….ที่เราไม่รู้เพราะเรารู้จัก “เมืองนอก” ดีกว่า “บ้านนอก” เราเสียอีก เนื่องเพราะนักวิชาการจำนวนมากเดินทางไป เมืองนอก มากกว่าไป บ้านนอก จึงไม่รู้ไม่เห็นเลยว่าชาวบ้านนอกส่วนใหญ่ ยังหุงหาอาหารด้วยฟืน (เพราะไม่มีเงินซื้อถ่าน ..อย่าว่าแต่แก๊ส)
8) อจ. และผู้บริหารมลัยไทยจำนวนหนึ่งมีมันสมองดีพอใช้ แต่จิตวิญญาณไม่ค่อยดีนัก เพราะมัวแต่ไปคิดทำอะไรที่เลิศลอยเกินกว่าที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันกาลต่อสังคมไทย หรืออีกนัยหนึ่งไปทำงานรับใช้สังคมฝรั่งเสียจนลืมนึกถึงสังคมตนเอง เห่อเหิมไปตามกระแส “ชนชั้นสูง” ในโลก แถมยังไปเหนี่ยวนำให้นักการเมืองขี้เห่อ โยนเงินมาให้ถลุงกันเพลินมืออีกด้วย ด้วยการขู่ทางวิชาการว่าถ้าไม่ทำแบบนั้นชาติไทยจะขายขี้หน้าชาวโลกเขา เพราะไม่มีผลงานตีพิมพ์ ดังนั้นมลัยควรต้องสังวรณ์และปรับทัศนคติเสียใหม่ ว่าควรยอม “ขายหน้าเพื่อเอาผ้ารอด” ไว้ก่อน อย่ามัวแต่หน้าบางจนคิดแต่ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” กันมานานแล้ว สักวันจะไม่มีผ้าใส่ ต้องลอยหน้าขาวๆไปขายตัวให้ต่างชาติแบบถูกๆ (วันนี้ก็ทำแบบนี้อยู่แล้วด้วย)
9) ถ้าหน้าบางจริง ต้องอาย ต้องเลิกทำตัวเป็น “ขอทานทางวิชาการ” เสียที ที่เดินถือกะลาไปขอวิชาเขาทั่วโลก ต้องหันมาผลิตความรู้ใช้เองในประเทศ ให้สอดคล้องกับบริบทของตัวเองให้มากที่สุด พอลืมตาอ้าปากแล้ว ค่อยคิดหาทางทำอะไรเล่นสนุกๆบ้าง อย่างนี้ก็พอไหว
10) อย่าหาว่ายกหางตัวเองเลย แต่ขอยกตัวอย่างสักหน่อย ว่าตัวข้าพเจ้าเองก็เคยทำงานอยู่กับองค์การวิจัยอวกาศในมหาประเทศตะวันตกมาประมาณ 11 ปี โดยทำงานวิจัยเพื่อหาทางออกแบบระบบการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ยานอวกาศแบบใหม่ด้วยการจำลองระบบการไหลและการเผาไหม้ด้วยวิธีการทางคอมพิวเตอร์ ที่ต้องมีคณิตศาสตร์ยึกยือเต็มกระดาน ตามมาด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลายหมื่นบรรทัด แต่ละปีผมต้องใช้งบวิจัยประมาณ 3-5 ร้อยล้านบาท เป็นค่าเวลาคอมพิวเตอร์ …. แต่พอกลับมาเมืองไทยผมก็ทิ้งงานวิจัยพวกนั้นหมดสิ้น ทั้งที่จะทำต่อก็คงหลอกขอเงินรัฐบาลไทยได้มหาศาล (เพียงอ้างว่าจะตีพิมพ์ได้ในวารสารต่างประเทศก็ได้เงินแล้ว) แต่ผมหันมาทำงานวิจัยที่”ตีนติดดิน” ที่เห็นว่าเหมาะสมกับบริบทประเทศไทย (และบริบทโลกด้วย) หลายโครงการ เช่น
10.1 เตาถ่านหุงต้ม: ทำอยู่นานสิบปี ได้พัฒนาเตาถ่านจากประสิทธิเภาพเดิม 20% ขึ้นได้ถึง 55% ซึ่งหมายความว่าถ้านำเตานี้ไปใช้ทั้งประเทศจะช่วยประเทศประหยัดเงินค่าพลังงานได้ถึงปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าอีกปีละประมาณ 1 ล้านไร่ (แล้วถ้าเอาไปใช้ทั่วโลกล่ะ ?) ….ปล..เตานี้ราคา 200 บาท ถ้ามลัยไทยลงขันกันซื้อแจกปชช. 5 ล้านครัวเรือนจะใช้เงินประมาณ 1000 พันล้านบาทเท่านั้นเอง หรือประมาณงบเดินทางดูงานตปท. ของผู้บริหารมลัยไทยในแต่ละปี !!!
10.2 เครื่องอบแห้งข้าวเปลือก: ทำอยู่นานสิบปี ได้พัฒนาเครื่องอบแห้งที่ราคาถูกมาก รวดเร็วกว่าปกติ 5 เท่า ลดการใช้พลังงาน 5 เท่า ซึ่งหมายความว่าถ้านำไปใช้ทั้งประเทศจะทำให้ชาวนาไทยมีรายได้มากขึ้น 25% ทันที (คิดเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท) (อย่างนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้มากทีเดียว เป็นการปฏิรูปประเทศทางหนึ่ง)
10.3 เครื่องอบแห้งเอนกประสงค์พลังแสงแดด (เช่นพริก กล้วย ผลไม้ มันเส้น) : ที่อบแห้งได้เร็วกว่าวิธีของชาวบ้าน 4 เท่า ซึ่งถ้านำไปใช้ก็จะช่วยเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตชาวชนบทได้มาก แถมผู้บริโภคทั้งประเทศจะได้ทานอาหารที่สะอาดขึ้นเพราะไม่มีฝุ่นหรือแมลงเข้าไปปนเปื้อนอาหารได้ในขณะอบแห้ง
10.4 เครื่องปิ้งไก่ ไส้กรอก ที่รวดเร็วกว่า ประหยัดพลังงานกว่า ประหยัดแรงงานกว่าในการปิ้ง 100 เท่า และไร้ควัน (สารก่อมะเร็ง) : ซึ่งนอกจากจะช่วยผู้ประกอบการรายย่อยได้มากแล้ว ยังช่วยผู้บริโภคให้เป็นมะเร็งน้อยลงด้วย
10.5 เครื่องขุดหัวมันสำปะหลังที่มีการแตกหักน้อยกว่าปกติ
10.6 กังหันลมเสื่อใบลานเพื่อวิดน้ำเข้านาให้ได้ปสภ.สูงกว่าเดิม 2 เท่า และราคาถูกกว่าเดิม 2 เท่า
10.7 ยังมีอีกนับร้อยเรื่อง รวมทั้งสองสามเรื่องที่อาจปฏิวัติโลกได้ในด้าน พลังงานแดด และ ลม (ที่บริษัทฝรั่งรุมโทรเข้ามาหา จนผมต้องปิดโทรศัพท์หนี) แต่ยกมาเพียงแค่นี้พอให้เห็นแนวทางว่า นักวิชาการไทยสามารถทำอะไรช่วยสังคมไทยและโลกได้มหาศาลหากมีแก่ใจคิดที่จะทำ มิใช่เพียงแต่คิดหาเรื่องวิจัยเพื่อตีพิมพ์วารสารวิชาการต่างประเทศที่มี impact factor สูงๆ เพื่อขอตำแหน่งวิชาการ (ที่ทำให้ได้ทั้งเงินและกล่องแต่สังคมไทยไม่ได้อะไรเลย..นอกจากหน้าตานิดหน่อย แถมถูกฝรั่งหลอกใช้อย่างแยบยลอีกต่างหาก ผ่านวีธีการจัดอันดับมลัยโลก..หรือการล่าอาณานิคายุคใหม่) …ขนาดผมตีพิมพ์เป็นภาษาไทยแท้ๆ ฝรั่งมันยังเอาไปแปลเป็นอังกฤษ แล้วมาตามหาข้อมูลกับผม แต่ผมปิดโทรศัพท์หนี ..ก็หวงโว้ย..อยากเอาไว้ให้เป็นของคนไทยมากกว่า แต่พอเอาไปเสนอคนไทย ก็มีแต่คนเมินหน้าหนี ต่างไม่เห็นความสำคัญ ..มันน่าน้อยใจ แต่ไม่เป็นไร จะอดทนต่อไป สักวันพระสยามเทวาธิราชเจ้าคงช่วย
11) เวลาอจ.มลัยไทยขอทุนวิจัยนั้น ขอทีเถอะไอ้โครงการประเภท technology demonstration ที่ไปเอาความรู้ต่างชาติมาสร้างโรงงานต้นแบบเพื่อสาธิตให้ดูน่ะ หรือที่กระทั่งไปยกโรงงานต้นแบบต่างชาติที่เขาโละทิ้งแล้วมาโชว์ก็ยิ่งไปกันใหญ่ …นิสัยแบบนี้ขอให้เลิกซะที เพราะมันเปลืองเงินมาก, ไม่ได้ความรู้อะไรใหม่ และไม่ใช่หน้าที่ของมลัยด้วยซ้ำไป แต่หน้าที่เราคือทำโครงการเล็ก ๆ ที่ใช้งบน้อยๆ แต่ได้ปัญญาความรู้มากๆ ถ้าทำแบบนี้สำเร็จแล้วจะสร้าง pilot plant ราคาแพงสักหน่อยเพื่อมาพิสูจน์เทคโนฯที่คิดได้ด้วยสมองตัวเอง เออ..อย่างนี้ต้องรีบทำ ยังไงก็ช่วยกันประหยัดเงินหน่อยนะ เพราะชาติเรายังยากจนอยู่มาก และก้อช่วยกันประหยัดเวลาด้วย อย่าขอเวลาทำวิจัยเกินจริง มันคอรัปชั่นนะ (ปีเดียวก็พอแล้ว แต่ขอซะสามปีห้าปี)
12) นักวิชาการและผู้บริหารมลัยไทย นักการเมืองด้วย ต้องกล้าที่จะสร้างความรู้เองได้แล้ว ต้องลดละเลิกเลื่อน การส่งคนไปเรียนเมืองนอก (ส่งไปแต่น้อยที่สุดเพียงเพื่อเป็นทูตทางวิชาการเท่านั้น) และเลิกไปดูงาน ไปหา “ความร่วมมือ” กับต่างชาติเสียที ..ถ้าเรายังไม่สร้างความรู้ใช้เอง มัวแต่ไปเสพความรู้จากเมืองนอก ผมว่า ประเทศไทยไม่มีวันตั้งตัวได้ เพราะได้แต่ส่งมันสมอง (นศ.ทุนปริญญาเอก) ไปช่วยต่างชาติวิจัย ในขณะที่นักวิชาการไทยเราเองกลับมีแต่กากเดนเหลือทิ้งมาเป็นผู้ช่วยวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมไทย ..เรื่องนี้ยาวเพราะมันมีผลกระทบทางอ้อมตามมาเป็นพรวน
13) ถ้ายังเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไปชาติไทยเราจะมีผลงานตีพิมพ์วารสารต่างชาติเพียบ แต่ประเทศไทยกลับยิ่งจนลงกว่าเดิม เพราะตีพิมพ์มันเสียเงินมาก แต่เอามาใช้หาเงินไม่ค่อยได้ เนื่องเพราะไปตีพิมพ์แต่เรื่องไกลตัวเองและใกล้ตัวต่างชาติ…. พึงตระหนักว่าอารยประเทศนั้นเขารวยก่อนแล้วเขาถึงตีพิมพ์ (เพื่อทำให้รวยยิ่งขึ้น) หาใช่ว่าตีพิมพ์แล้วทำให้เขารวย ..มันปัญหาเอาเกวียนไว้หลังวัวหรือหน้าวัว

ชาติเปรียบร่างกาย มลัยเปรียบสมอง …เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวิส กายเขานิดเดียว แต่สมองเขาใหญ่ ก็ทำอะไรได้มากมหาศาล แม้จีนที่แสนใหญ่ยังเกรงใจ เช่น นอร์เวย์คนห้าล้านคน กล้ารับท่านดาไลลามะเข้าประเทศ มิใยจีนประท้วงคอโป่ง ส่วนไทยมี 65 ล้าน เป็นเมืองพุทธอีกต่างหาก แต่ไม่กล้ารับท่านดาไลลามะเข้ามาเทศน์

ไทยเราวันนี้ใหญ่กว่าหลายมหาประเทศในยุโรปหลายประเทศ แต่แม้ชาติเล็กๆจนๆเช่นเขมร ที่ทั้งประเทศคงไม่มีผลงานตีพิมพ์วารสารวิชาการอิมแพคแฟคเตอร์สูงๆสักเรื่องเดียว ยังกล้าลบหลู่เราหมดรูปเช่นดังที่ปรากฎในขณะนี้

..ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๑๓ กพ. ๒๕๕๔)

« « Prev : วิจารณ์.. “แผนที่คนไทย” ของหมอประเวศ

Next : สนามฆ่าในสวนแตงหวาน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 February 2011 เวลา 9:24 am

    โอยดีใจ
    นึกว่าท่านจอหงวนหายไปไหน
    ที่แท้ก็ไปแอบแก้ปมการศึกษาไทยนี่เอง
    เห็นด้วยที่จะเปิดวิชาแบกะดิน ตีนติดดิน
    ทำให้คนไทยตาโต หัวโต หูโต ปากโต จะได้เปิดรับอะไรได้มากขึ้น
    เรื่องการศึกษาบ่นไปก็แค่นั้น ในเมื่อการศึกษาไทยเป็นพลาสติก
    อาจารย์คิดอะไรได้ หาชาวบ้านมาช่วยกันคิดกันทำดีไหมครับ
    ใช้วิชาอิงระบบ เอาวิชาการมาร่วมกับวิชาเกิน
    เดินไปด้วยกัน คิดไปทำไปแก้ไป
    ขืนรอระบบมหาลัยให้ตื่นเต้นตื่นตูมลุกขึ้นทำอะไรจริงจังคงจะยาก
    คนง่อย จะทำอะไรได้ มหาลัยง่อยก็เป็นอย่างนั้นแหละ

    มหาลัยถูกมัดมือชกมานาน นานมากๆ จนตายอย่างเขียดไปแล้ว
    อย่าไปหวัง ไปรอ เรื่องที่ยากจะเป็นจริง
    หันมาทำแค่ไหน เอาแค่นั้นก่อนดีไหมครับ
    ช่วงนี้อาจจะใช้วิชาทำใจ ต่อไปใช้้วิชาทำจริง
    สิ่งประดิษฐ์ของอาจารย์ชาวบ้านอย่างผมสนใจมากเลยละครับ
    อิ อิ

  • #2 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 February 2011 เวลา 10:14 am

    อาจารย์หายไปหลายวันนะคะ

    ขอต่อยอดประเด็นเรื่องตีพิมพ์ในวารสารที่มีอิมแพคแฟกเตอร์นะคะ เพราะไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
    มันเป็นจุดเล็กๆ ที่พวกยักษ์ใหญ่ทางข้อมูลสิ่งพิมพ์เอามาขาย
    แล้วคนที่ไม่เข้าใจวิธีการให้ได้มาซึ่งค่าอิมแพค ดั้นเอาความคิดว่าการตีพิมพ์ในวารสารพวกนั้นไปใช้วัดให้ความดีความชอบกับคนทำงาน

    เคยคุยกับตัวแทนบริษัทที่ขาย databased เขายังบอกว่าอยากให้วารสารของเรามีอิมแพคไม่ยาก มีเงื่อนไขทำไม่เท่าไหร่ จากนั้น พอมันเข้าไปอยู่ในฐานพวกนั้นแล้ว มันจะขึ้นตัวเลขเอง

    การศึกษาคือการค้าน่ะค่ะอาจารย์

  • #3 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 February 2011 เวลา 3:14 pm

    อิอิ บาท่านและคุณสร้อย ผมว่านะจริงๆแล้ว หอคอยงาช้างนั้นมันไม่เลวนักหรอก เพราะถ้าขึ้นไปอยู่ที่สูงจริง แล้วมองเห็นวิวได้ไกลจริงๆ ก็น่าจะคุ้มทุนอยู่ แต่ท่านผ่านๆมาผมไม่เห็นมองเห็นอะไรกันสักเท่าไรเลย ได้แต่เดินตามฝรั่งเซื่องๆ แบบบอดจูงบอร์ด (บอดหลังมีรอการันด้วยนะครับ โปรดสังเกต)

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 February 2011 เวลา 5:29 pm

    ผมคิดว่าเราบังคับให้เรียนกันมากเกินไป ลึกเกินไป เกินกว่าชีวิตปกติจะใช้ได้นะครับ… เรื่องนี้ผมไม่ได้ต่อต้านการเรียนแคบและลึกหรอกครับ เพียงแต่คิดว่าการบังคับเรียนตาม “มาตรฐานการศึกษา” นั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการสร้างคุณภาพของผู้เรียนเลย ที่จริงแล้วเละเทะไปหมดต่างหาก ผู้เรียนเป็นทุกข์ ผู้ปกครองเป็นทุกข์ ผู้สอนก็เป็นทุกข์

    จะบอกว่าชอบก็พูดไม่ได้เพราะไม่มีประสบการณ์ แต่ผมเห็นว่าลักษณะตลาดวิชาอย่างสำนักตักษิลา ที่ผู้เรียนขวนขวายแสวงหากราบไหว้ครูบาอาจารย์ ไม่มีการบังคับกัน น่าจะได้เรียนอย่างเป็นสุขกันมากกว่าครับ

    ส่วนตลาดวิชาในเมืองไทยเป็นเพียงชื่อทางการตลาดของโรงงานปั๊มปริญญา

  • #5 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 February 2011 เวลา 7:51 pm

    ของไทยเราวันนี้ เท่าที่ผมพบเห็นมา ม้น …ลึกแต่ตื้น

    ฟังดูอาจขัดหู แต่มันเป็นแบบนั้นจริงๆ ครับ

  • #6 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 February 2011 เวลา 7:21 am

    คนส่วนใหญ่เมื่อขึ้นไปอยู่บนหอคอยงาช้างสูงๆ จะกลัวโดนถีบตกจากหอคอยก็เลยระวังตัวแจ ไม่กล้ามองลงมาข้างล่าง มองไกลก็ไม่เห็นอะไรเพราะไม่ได้ตั้งใจมอง
    มองใกล้ก็ยิ่งแล้วใหญ่ ยิ่งมองยิ่งกลัว ถอยห่างดีกว่า ยิ่งมองยิ่งคิดเรื่องตัวเองเยอะ มองแล้วก็ยิ่งไม่เห็นเรื่องรอบตัว
    ธรรมชาติมันบังคับคนอยู่แล้วในทำนองนี้ ก็เลยต้องใช้วิธีเดินตามคนมาก่อนจะได้ปลอดภัย มันก็เลยเกิดเรื่องบอดจูงบอร์ดอย่างอาจารย์ว่าขึ้นด้วย

    อยากเห็นเครื่องอบแห้งเอนกประสงค์พลังแสงแดดบ้างแล้ว มีโอกาสได้เห็นบ้างมั๊ยค่ะอาจารย์

  • #7 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 February 2011 เวลา 5:50 pm

    ยินดีครับ ถ้าจะมาเยียมชม นศ.เขาทำไว้ดูดีมากทีเดียว ผมเลยให้ A ไป (ใครได้ A จากผมเนี่ยมันแทบจะเอาไปติดกรอบ โชว์ฝาบ้านกันทุกคนแหละครับ)


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.14432406425476 sec
Sidebar: 0.0084171295166016 sec