จัดการบ้านหลังน้ำลด…แบบว่า…ช่วยลดน้ำเสียไปด้วย

อ่าน: 2574

ทุกๆวัน เมื่อมีการใช้น้ำก็มีน้ำระบายทิ้ง มีการดำรงชีวิตก็มีของระบายทิ้งในรูปน้ำและสารอินทรีย์เหลือใช้ ที่เรียกกันว่า “ของเสีย” แต่จะไม่ใคร่รู้ว่า การย่อยของเสียที่ว่านั้นเปลืองออกซิเจนไปเท่าไร

ก็ไปได้คำตอบจากผู้รู้เรื่องของเสียมาว่า การย่อยสลายของผลผลิตเหลือใช้ของคนหนึ่งคนในวันหนึ่ง เปลืองออกซิเจนรวมๆแล้ว 54 กรัม เป็นการใช้ย่อยสลายของเสีย 12 กรัม ซักล้างและอาบน้ำ 18 กรัม น้ำจากครัว 24 กรัม

ลองคำนวณดูแล้วกันว่า ความสกปรกทั้งหมดนี้จะเป็นเท่าไรเมื่อมีคนจำนวนหนึ่ง และความสกปรกที่ไปรวมกันอยู่ที่แหล่งน้ำเดียวกันจะมีก้อนขนาดไหน

ถ้ามีระบบบำบัดของเสียง่ายๆอย่างเช่นบ่อเกรอะอยู่ก่อน บ่อเกรอะจะช่วยย่อยสลายไปได้ราวครึ่งหนึ่ง เหลือประมาณ 6 กรัม นี่คือข้อมูลแค่วันเดียว แล้วยังมีแหล่งน้ำพร้อมน้ำจากส่วนอื่นๆมารวมอีก จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมายแค่ไหน ยากต่อการบำบัดรักษาน้ำนั้นให้กลับสะอาดดังเดิมแค่ไหน

จะทำให้น้ำกลับมาสะอาดดังเดิมก็คงต้องช่วยกัน จัดการกับน้ำต้นน้ำที่แต่ละคนเกี่ยวข้อง และต้นน้ำสำคัญรายใหญ่ไม่ได้อยู่ไกลที่ไหนหรอก ก็อยู่ในแต่ละบ้านนั่นแหละ

ภายใต้ความเจริญด้านการผลิต สินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลายที่ครองตลาดอยู่ ไม่มีเหตุผลที่มาค้านได้เลยว่าไม่มีการเติมสารเคมีต่างๆลงไป  สารเคมีที่คุ้นเคยที่สุดก็มี สารปรุงแต่งรสและกลิ่น สารกันบูดและสีสันต่างในอาหารสำเร็จรูปต่างๆ

เมื่อบริโภคสินค้าเหล่านี้เข้าไปแล้ว ยังไงๆก็ต้องขับถ่ายหรือชำระล้างออกมา น้ำทิ้งที่ออกมาจึงไม่พ้นที่จะปนเปื้อนสารเคมี น้ำนี้ก็จะไหลไปตามท่อที่ต่อออกมาจากบ้านลงสู่แม่น้ำลำคลอง ทะเล และอ่าวใหญ่ๆ

น้ำจากครัวเรือนจึงเป็นน้ำที่ยากต่อการฟื้นคืนสภาพให้เป็นน้ำดีใหม่ และไม่สามารถบำบัดได้ทันกับปริมาณการถ่ายเทน้ำเสีย ที่ทะลักล้นออกมาจากทุกบ้าน ทุกช่อง ทุกเรือน น้ำในแม่น้ำลำคลองจึงเป็นสีคล้ำ

น้ำจากครัวเป็นน้ำที่ปนเปื้อนสำคัญ เป็นน้ำที่มีทั้งสารพิษฆ่าแมลงจากการล้างพืชผัก คราบไขมัน และเศษอาหารจากการล้างจานหรือล้างเนื้อสัตว์ คราบไขมันที่จับตัวกันเป็นแผ่นลอยอยู่เหนือผิวน้ำ ปิดกั้นมิให้ออกซิเจนในอากาศผ่านลงไปสู่แหล่งน้ำ ทำให้น้ำเน่าได้ในที่สุด

น้ำจากห้องน้ำปนเปื้อนผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ในห้องน้ำ ซึ่งมีจิปาถะ สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ครีมนวดผม ครีมโกนหนวด โฟมล้างหน้า ซึ่งแต่งสี กลิ่น ไว้ ยิ่งใช้ผลิตภัณฑ์สารพัด น้ำเสียก็ยิ่งเป็นภาระหนักกับการบำบัด

ยังมีน้ำยาทำความสะอาดสุขภัณฑ์และพื้นผิวพวกกระเบื้องเคลือบในห้องน้ำอีก ซึ่งเป็นอันตรายต่อน้ำมากกว่ากลุ่มข้างต้น

น้ำยาขัดพื้นซึ่งมีส่วนผสมของสารโซเดียมออกไซเลต ซึ่งขณะใช้จะส่งผลทำลายเยื่อจมูกของผู้ที่สูดดมเข้าไป เมื่อไหลลงสู่แหล่งน้ำยังทำให้สัตว์น้ำต่างๆตาย และลดจำนวนลงเนื่องจากไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ตามธรรมชาติ

ยังมีสารกำจัดมด แมลงสาบ หนู หรือสัตว์อื่นที่มารบกวน น้ำยาทำความสะอาดกระจก น้ำยาขัดเงา น้ำยาล้างท่อน้ำ ที่เป็นสารเคมีใกล้ตัวและใช้กันในบ้าน  สารเหล่านี้เมื่อถูกระบายด้วยน้ำลงสู่แหล่งน้ำ ก็มีผลปนเปื้อนน้ำเช่นกัน

สนามหญ้า สวน แปลงปลูกพืชผักสวนครัว พืชพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งมีการให้อาหารหรือปุ๋ยเคมี เมื่อให้น้ำรดไหลผ่าน ก็จะชะเอาสารเคมีที่อยู่ในปุ๋ยปนเปื้อนมากับน้ำ เพิ่มปริมาณน้ำเสียมากขึ้นด้วย

ลานอเนกประสงค์ที่ใช้ซักผ้า ล้างจาน เมื่อปล่อยน้ำทิ้งที่มีฟอสเฟตจากผงซักฟอกลงไปในน้ำ ก็ทำให้พืชน้ำจำพวกผักตบชวา สามารถแพร่พันธุ์เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เมื่อพืชน้ำเหล่านี้ตายลง ต้องใช้แบคทีเรียที่ใช้ออกซิเจนจำนวนมากย่อยสลาย  ออกซิเจนในน้ำจะถูกดึงไปใช้หมด ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียได้มากขึ้นทุกขณะ พืชและสัตว์อื่นๆในน้ำก็เริ่มขาดออกซิเจนไปด้วย

ในยามที่วันนี้ ต้องทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยกันยกใหญ่ จึงมีแนวโน้มที่จะมีน้ำเสียเพิ่มปริมาณขึ้นในพื้นที่ ที่ไหนเป็นแก้มลิงรับน้ำหรือมีน้ำท่วมขังอยู่นานก็มีโอกาสคลุกคลีกับน้ำเสียมากขึ้น

จะทำอย่างไรเพื่อไม่เพิ่มปริมาณน้ำเสีย จึงเป็นเรื่องต้องช่วยกันเตรียมการ “ลดน้ำเสีย” และลงมือทำทันทีเมื่อมีกิจกรรมเหล่านี้แล้วคิดจะใช้สารเคมีที่คุ้นเคย

การล้างห้องน้ำ : ใช้น้ำส้มสายชูผสมกับเกลือและน้ำในสัดส่วนที่เท่ากัน ชะล้างอ่างอาบน้ำพื้นกระเบื้องในห้องน้ำ หรือ ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู) ผสมกับน้ำ ชะล้างก็ได้

ทำความสะอาดกระจก : ใช้สบู่เหลว 1/4-1/2 ช้อนชา ผสมกับหัวน้ำส้มสายชู 3 ช้อนโต๊ะ และน้ำ 2 ถ้วย เช็ดแทนน้ำยาเช็ดกระจกที่มีแอมโมเนียจำนวนมาก

ถ้ากระจกนั้นมีไขมันเกาะติดอยู่มาก ให้ผสมโซดาไฟเพิ่มลงไป 1/4 ช้อนชา ผสมให้เข้ากันดีแล้วนำไปเช็ด กระจกจะแวววาวดี

ขัดเงา (พื้น) : ใช้น้ำมันละหุ่ง 3 ถ้วย ผสมกับขี้ผึ้งบีแวกซ์ 6 ช้อนโต๊ะ กวนให้เข้ากันด้วยความร้อน ใส่ขวดเก็บไว้ใช้ได้นานๆ

ล้างท่อน้ำ : ผสมน้ำส้มสายชู 1 ขวด โซดาไฟ 1 ช้อนโต๊ะ และน้ำ 20 ลิตร ราดลงในท่อน้ำที่อุดตันด้วยเศษอาหารหรือสิ่งสกปรก แช่ทิ้งไว้สักพัก ถ้าน้ำยังไหลลงช้า อาจใช้น้ำร้อนจัดเทตามลงไป กลิ่นอับในท่อจะหายไปด้วย

ดับกลิ่น : ผสมอีเอ็ม 1 ส่วน กับน้ำ 20 ส่วน ใส่ลงในถังชักโครก ทิ้งไว้ ข้ามคืน ราดน้ำตาม กลิ่นไม่สะอาดจะหมดลงไป  ถ้าไม่มีอีเอ็มก็อาจจะใช้สารบอแรกซ์ (น้ำประสานทอง) 2 ช้อนโต๊ะโรยใส่ในโถส้วม ทิ้งไว้ข้ามคืน รุ่งเช้าราดน้ำตาม

ฆ่าเชื้อรา : ใช้ผ้าขาวบางห่อสารบอแรกซ์ ชุบน้ำอุ่นเช็ดตามขอบตู้เย็น ทิ้งค้างคืนไว้ รุ่งขึ้นใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดเชื้อราที่ติดอยู่อีกครั้ง

ผงซักฟอก : เลือกใช้ผงซักฟอกที่มีส่วนผสม ของซีโอไลต์มาก หรือผสมฟอสเฟตน้อย ( ดูได้จากเปอร์เซ็นต์ของฟอสฟอรัสที่ระบุแล้วคูณ 3)  ผงซักฟอกที่มีการควบคุมปริมาณฟอสเฟตจะมีไม่เกินร้อยละ 0.5

กรองน้ำเสียก่อนทิ้งออกจากบ้าน : ใช้ปลอกคอนกรีตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8-1 เมตร ขอบสูง 50 เซนติเมตร วางซ้อนกันทำบ่อเกรอะ-ถังกรองไร้อากาศ ซึ่งสามารถกำจัดความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ (บีโอดี) ได้ถึงร้อยละ 75

ให้น้ำเสียผ่านการกรองเศษขยะและเศษอาหารก่อนผ่านเข้าสู่บ่อดักไขมัน ซึ่งจะมี 1 หรือ 2 บ่อก็ได้ ขึ้นกับปริมาณน้ำเสีย

ผ่านจากบ่อดักไขมันก็จะเป็นบ่อเกรอะและถังกรองไร้อากาศ  ในถังกรองไร้อากาศใส่หินบดไว้ทำหน้าที่เป็นตัวกรองและลดความสกปรก หลังจากนั้นน้ำผ่านไปสู่บ่อซึม หรือระบายสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะได้เลย

ขอบคุณผู้รู้จากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่แบ่งปันความรู้มาให้

« « Prev : วิธีบำบัดน้ำในบ่อน้ำตื้นเพื่อเพิ่มคุณภาพน้ำ

Next : ความร้อนกับสุขภาพ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "จัดการบ้านหลังน้ำลด…แบบว่า…ช่วยลดน้ำเสียไปด้วย"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.57759618759155 sec
Sidebar: 0.09118390083313 sec