ความร้อนกับสุขภาพ
ช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศในหลายภาคแปรปรวน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวเปียก ส่วนหนาวนะหายไปเลย
2 ครั้งล่าที่ไปสวนป่า ก็มีเรื่องให้นำกลับมาทบทวนเกี่ยวกับอากาศในอีกมุม
ในความเป็นของไหลที่เบาของอากาศ ก็มีอะไรที่ซ่อนไว้เกี่ยวกับสุขภาพอยู่หลายเรื่อง เรื่องของก๊าซให้โทษ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าก๊าซพิษก็หนึ่งละ ก๊าซใช้แล้วอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ก็หนึ่งละ ไอน้ำก็หนึ่งละ ที่อยู่ในอากาศแล้วมีผลต่อสุขภาพ
อีกหนึ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอากาศก็เป็นเรื่องของความร้อน ในความเป็นพลังงานรูปหนึ่งที่ให้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการยังชีพ การเคลื่อนที่ หรือการทำงาน ที่มนุษย์ให้ความสำคัญ ความสบายตัวกับความร้อนก็อิงแอบอยู่กับชีวิตประจำวันอย่างแนบแน่น
ถ้าเอ่ยถึงความร้อนก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรให้ต้องเข้าไปเกี่ยว แต่เมื่อรับรู้ลึกลงไปถึงภายในร่างกาย กลับเป็นว่าไม่ใช่ เพราะว่าทุกวันๆที่ร่างกายคนสัมผัสกับความร้อนได้นั้น มันเกิดขึ้นจากวัตถุใกล้ตัวมีความร้อนที่เก็บไว้ในรูปของพลังงาน เมื่อได้รับความร้อนเพิ่มขึ้น โมเลกุลของวัตถุนั้นก็เคลื่อนไหวเร็วขึ้น พลังงานก็เลยเปลี่ยนเป็นพลังงานรูปอื่น
การถ่ายเทความร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างคนและสิ่งแวดล้อม มีขึ้นในรูปต่างๆ การนำ การพา การแผ่รังสี ได้ทั้งนั้น
การระเหยและการเผาผลาญความร้อนในกระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ของตัวคนเป็นอีกหนึ่งความเกี่ยวข้องของความร้อนที่คนรับรู้ได้
ในสถานที่ที่คนทำงานอยู่ เมื่อเอ่ยถึงความร้อนนอกตัวคน เขาก็จะแบ่งไว้ 2 ประเภท คือ ความร้อนแห้ง และ ความร้อนชื้น
ความร้อนแห้งเล็ดลอดมาจากอุปกรณ์ในกรรมวิธีการผลิตที่ร้อน มักจะอยู่รอบๆ บริเวณที่ทำงาน
ความร้อนชื้น เป็นความร้อนที่มีไอน้ำอยู่เพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศ มาจากกรรมวิธีผลิตแบบเปียก
เตาหลอม เตาเผา เตาอบ หม้อไอน้ำ คือ แหล่งผลิตความร้อนหลักๆในชีวิตการทำงานของคน แถมด้วยความร้อนที่มาขบวนการผลิตอีกแหล่ง
ความร้อนนอกตัวคน ทั้ง 2 ประเภท จึงมีผลต่อสุขภาพของคนที่กำลังทำงาน หรือทำงานอยู่ในบริเวณใกล้เคียงโดยปริยาย
ความร้อนในร่างกายที่จะทำให้คนสบาย เป็นปกติ ไม่ป่วย ทางการแพทย์ใช้ค่าอุณหภูมิที่ 37 องศาเซลเซียส หรือ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์ เป็นจุดตัดสิน
ความร้อนในตัวคน มีกลไกควบคุมอยู่ เป็นการทำงานแบบทีมของสมอง ต่อมเหงื่อ และผิวหนัง โดยผิวหนังทำหน้าที่ตรวจจับและแจ้งข่าวความร้อนนอกตัว สมองทำหน้าที่ reset อุณหภูมิร่างกายให้มีระดับพอดี ต่อมเหงื่อทำหน้าที่ระบายความร้อนส่วนเกินทิ้งออกทางรูขุมขน ทำงานอย่างนี้แบบไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าหลับหรือตื่น
กระบวนการถ่ายเทความร้อนของร่างกาย จึงมีทั้งนำ ทั้งพา ทั้งแผ่รังสีความร้อน งานนี้จะดำเนินไปได้ดีมากหรือน้อยต้องการตัวช่วยหลายอย่าง เช่น มีกระแสลมมาช่วยพาความร้อน มีความชื้นน้อยซึ่งช่วยให้เหงื่อจากร่างกายระเหยได้มาก อุณหภูมิต่ำระบายความร้อนเข้าสู่บรรยากาศได้มากกว่าพาเข้าร่างกาย
อุณหภูมินอกตัวที่สูง ทำให้มีการพาความร้อนจากบรรยากาศเข้าสู่ร่างกายคนได้มากกว่าพาออก ก่อผลกระทบต่อสภาพร่างกาย สิ่งที่มีอิทธิพลหลักต่อความร้อนนอกตัวคน 4 อย่าง : ความชื้นของอากาศ ความเร็วลม การแผ่รังสีความร้อน และสิ่งที่คนใช้ห่อหุ้มร่างกาย จึงเป็นสิ่งแวดล้อมตัวคนที่มีผลต่อสุขภาพของคนด้วย
ความเป็นชาย-หญิง โรคประจำตัว รูปร่างอ้วน-ผอม แก่-หนุ่ม ทำงานหนัก-เบา และการปรับตัวให้เข้ากับความร้อน เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลสัมพันธ์กับความร้อนในตัวคน
ที่อากาศทางภาคเหนือเต็มไปด้วยฝุ่น ควัน และไอร้อน ก็เป็นผลมาจากความร้อนแห้ง จึงไม่ต้องเอ่ยให้มากความว่า กระทบสุขภาพของคนทางเหนือที่มีสภาพร่างกายต่างกันได้ยังไง
ความร้อนในตัวคนจากการเผาผลาญความร้อนในกระบวนการเมตาบอลิซึมสูง แล้วมีฝนตก ความชื้นในอากาศมาก เหงื่อระบายได้น้อย ระบายความร้อนจากร่างกายได้น้อย ก็มีผลของความร้อนชื้นกระทบต่อสุขภาพของคนเช่นเดียวกัน
ความร้อนในอากาศกับในตัวคนเชื่อมกันอยู่ จึงมีมุมที่ชวนให้อึ้ง ทึ่ง เสียว กับประเด็นความร้อนแห้ง ร้อนชื้น และสุขภาพขึ้นมาอย่างนี้แล
« « Prev : จัดการบ้านหลังน้ำลด…แบบว่า…ช่วยลดน้ำเสียไปด้วย
Next : สุขภาพแปรปรวนที่มีความร้อนเป็นเหตุได้ » »
4 ความคิดเห็น
ผมมีเคล็ดในการถ่ายความร้อน คือ อาบน้ำห้ามใช้สบู่ และถูขี้ไครแรงๆ ซึ่งสองอย่างนี้จะไปด้วยกัน
ถ้าเราใช้สบู่ผิวจะลื่นและจะถูไครไม่ออกได้มาก (มันไม่ฝืด) อีกทั้งยากที่จะล้างสบู่ออกได้หมด ฟิล์มบางๆ ของสบู่จะแห้งติด หรือ อุดรูขุมขนไว้ ทำให้ถ่ายเทความร้อนออกจากผิวลำบาก
การใช้สบู่เลยถูกอุดสองต่อ คือ ขี้ไครที่ถูไม่ออก และ ฟิล์มสบู่
การถูผิวแรงๆ ด้วยน้ำเปล่ายังได้ประโยชน์อีกต่อ คือ เป็นการออกกำลังกายผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแข็งแรง (รับรองหน้าไม่ด้าน แต่จะดูอ่อนกว่าวัย เอ้า..คุณสาวๆ ควังว้าย)
อีกต่อ คือ ประหยัด
สบู่มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิว เมื่อใช้จะทำให้น้ำกับน้ำมันเข้ากันได้มากขึ้น เวลาถูสบู่จึงมีผลกับน้ำมันที่เคลือบผิวหนังให้ชุ่มชื้น ถูสบู่มากๆ ความชุ่มชื้นของผิวหนังจะลดลง เพราะไขมันที่เคลือบไว้กันน้ำหดหายบางลง
รูขุมขนเป็นช่องออกของทั้งไขมันและเหงื่อ ไขมันที่เคลือบผิวหนังผลิตจากต่อมไขมันใต้หนัง ที่มีรูท่อโผล่ิออกมาที่ใกล้รูที่ขนงอก เหงื่อผลิตมาจากต่อมเหงื่อที่อยู่ใต้ผิวหนัง ต่อมเหงื่อก็มีรูท่อโผล่ออกมาใหล้รูที่ขนงอก
ผลสัมพัทธ์ของการใช้สบู่กับการขับเหงื่อและขับไขมัน น่าจะเพิ่มการถ่ายเทความร้อนออกมาจากตัวคนง่ายขึ้นมากกว่ามั๊ยค่ะ
ขี้ไคล เป็นผิวหนังที่หมดอายุ สะสมอยู่ที่ผิวนอกของร่างกายเตรียมหลุดออกไป เหมือนเปลือกไม้ทิ้งตัวจากต้น เวลาไปถูมัน มันเลยลอกออกมาให้เห็น ที่ผิวหนังมีไขมันเคลือบไว้ มีเหงื่อซึม ขี้ไคลจึงมีทั้งผิวหนังที่หมดอายุแล้วที่มีไขมันคลุกอยู่ แล้วดูดเหงื่อไว้ แถมด้วยถ้าไปคลุกฝุ่น คลุกดินมาขณะมีเหงื่อ ก็ได้แถมฝุ่นละอองมาผสมอีกต่อ ถ้ามีฟิล์มสบู่ก็ผสมอย่างอาจารย์ว่า
ใครที่แต่ละวัน อาบน้ำแล้วถูขี้ไคลออกเยอะได้ทุกวัน แปลว่า มีผิวหนังที่หมดอายุลอกตัวทิ้งทุกวันเยอะ เป็นต้นทุนอยู่ก่อนแล้ว อย่างนี้เป็นสัญญาณที่บอกว่าสุขภาพไม่โอเคได้เหมือนกันค่ะอาจารย์
ได้ถูตัวแรงๆทุกวันนี่เห็นด้วยกับอาจารย์ว่า ทำให้ผิวหนังแข็งแรง การถูแรงๆช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลมาเลี้ยงผิวหนังแบบซู่ซ่าขึ้น เลือดไหลมาก็พาความร้อนมาด้วย ช่วยให้ปล่อยความร้อนได้เยอะ
สบู่ทำให้ลื่นตัว ถูยากเพราะการลดแรงตึงผิว ถูยากจะถูแรงๆยังไงขี้ไคลก็ไม่หลุด ถูแล้วลื่น คนถูก็ไม่จำเป็นต้องถูแรงๆ ไม่ถูแรง ก็ไม่กระตุ้นให้เลือดไหลซู่ซ่า การถ่ายเทความร้อนก็เพิ่มได้ไม่มาก
สรุปแบบสัมพัทธ์อีกรอบ ก็โอค่ะอาจารย์ว่า ไม่ถูสบู่ ช่วยถ่ายเทความร้อนได้มากกว่าถูสบู่
สำหรับคนสูงอายุ หรือเริ่มมีผิวหนังบาง หรือมีไขมันใต้ผิวหนังน้อย หมอก็ไม่แนะนำให้ใช้สบู่เวลาอาบน้ำค่ะ ด้วยเหตุผลไม่ต้องการไม่ให้ผิวหนังแห้งกว่าที่เป็นค่ะ เจอบ่อยที่คนสูงอายุมาปรึกษาว่า อยู่ๆก็คัน ไม่ได้ทำอะไรหรอก แค่เปลี่ยนสบู่ ดูๆไปก็ไม่เห็นมีโรคอะไร ให้หยุดใช้สบู่ ก็หาย ไม่ต้องให้ยา เจอเยอะเลยค่ะ
เรื่องที่อาจารย์ชวนให้คนสวย (สาววัยสูงอายุ) งดใช้สบู่ถูตัว เห็นจะยากค่ะ เพราะว่าส่วนใหญ่กลัวเรื่อง “กลิ่น” ที่จะไปทำให้คนข้างกายรำคาญ แล้วหนีห่าง…..อิอิ