สารลดแรงตึงผิวกับสุขภาพ

โดย สาวตา เมื่อ 11 กันยายน 2011 เวลา 20:24 (เย็น) ในหมวดหมู่ การจัดการ, ความเป็นชุมชน, ชีวิต สุขภาพ, ดูแลสุขภาพ, พลังงาน, สิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 4306

ผลิตภัณฑ์ซักล้างโดยทั่วไปมีสารลดแรงตึงผิวทำหน้าที่จับตัวกับสิ่งสกปรก  สารตัวที่ใช้กันมากมี 2 ชนิด คือ linear alkyl benzene sulfonate (LAS) และ sodium lauryl ether sulfate (SLES) และมีตัวอื่นอีก

ผลเสียของสารเหล่านี้ต่อผู้ซักผ้า ผู้สวมใส่เสื้อผ้า มีไม่มาก หรือไม่รุนแรงมาก เท่าผลเสียด้านสิ่งแวดล้อม

ฤทธิ์ระคายเคืองเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนสมผัสป่วย อาการป่วยที่พบบ่อยก็มีอาการแพ้ ผื่น คัน

สารที่ทำให้ระคายเคืองได้ มีทั้ง สารเพิ่มความสดใส กลิ่น สารปรับผ้านุ่ม

ทารกเป็นวัยสำคัญที่ไวต่อฤทธิ์ระคายเคือง จึงไม่ควรซักเสื้อผ้าทารกด้วยผงซักฟอก โดยเฉพาะชนิดที่มีกรด Trichloroisocyanuric acid (TCCA) อยู่

TCCA มีความเสถียรภายใต้อุณหภูมิและความดันปกติ เป็นส่วนประกอบในสารฟอกขาว, น้ำยาล้างจาน, ผงซักฟอก, น้ำยาทำความสะอาดเสื้อผ้า, สารฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำ, ฆ่าแบคทีเรีย, สารกำจัดกลิ่น

เข้ากันไม่ได้กับสารรีดิวซ์รุนแรง, เบสแก่, ความชื้นหรือน้ำ เมื่อมันสลายตัวจะให้สารเคมีอันตราย ได้แก่ กรดเกลือ, ไนโตรเจนออกไซด์, คาร์บอนมอนนอกไซด์, ก๊าซ/ฟูมพิษที่ทำให้เกิดการระคายเคือง  มีปฏิกิริยารุนแรงเมื่ออยู่กับแคลเซียมไฮโปคลอไรด์

การสูดมันเข้าไปทางการหายใจจะก่อให้เกิดอาการเจ็บคอ ไอ และคลื่นไส้   สัมผัสทางผิวหนังก่อผื่นแดงบริเวณที่สัมผัส

จะตั้งใจหรือบังเอิญกินหรือกลืนเข้าไป จะก่อให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้และอ่อนเพลีย

เปื้อนเข้าตาก็ทำให้เกิดตาแดง ปวดตา และทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน

LAS มีค่าความเป็นพิษในหนู (LD50) >5,000 มก./กก. เมื่อกลืนลงท้อง และในกระต่ายก็เท่ากันเมื่อสัมผัสทางผิวหนัง  ส่วน SLES  มีค่า LD50 (หนู) 1,600 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีพิษปานกลาง

กรณีที่มีข่าวว่า SLES ก่อมะเร็ง เกิดจากในกระบวนการผลิต SLES ปนเปื้อนด้วย 1,4-dioxane  เจ้าตัวหลังนี้แหละที่สงสัยอยู่ว่าอาจเป็นสารก่อมะเร็ง  ซึ่งวันนี้ในต่างประเทศได้ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารและยาไปแล้ว แม้จะไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าสารนี้ก่อ มะเร็ง

มีสารลดแรงตึงผิวอีกตัว ชื่อ sodium dodecyl benzene sulfonate ที่ควรรู้จักไว้บ้าง  สารนี้มีค่า LD50 (หนู) 1,260 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีพิษปานกลาง เป็นของแข็งคล้ายทรายมีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนๆ

สารนี้มีอันตรายถ้ากินหรือหายใจเข้าไปในปริมาณมาก ระคายเคืองจมูก คอ และปอด ทำให้ไอ หายใจมีเสียงดัง และหายใจถี่ ก่อความระคายเคืองต่อผิวหนังเล็กน้อย

สารลดแรงตึงผิวจัดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 ที่อยู่ในความดูแลของอย. ใครสนใจว่ามีตัวไหนบ้าง ตามไปดูได้ที่นี่

พูดถึงวัตถุอันตราย บ้านเรามีกฎหมายกำหนด มีหน่วยราชการทำหน้าที่กำกับร่วมกัน กระทรวงหลักที่ทำหน้าที่กำกับ คือ กระทรวงอุตสาหกรรม

กระบวนงานที่ใช้สารลดแรงตึงผิวนั้นมีมากมาย ผื่น คัน แพ้ที่ผิวหนัง จึงอาจมีต้นเหตุมาจากทำงานเหล่านี้ได้ เช่น การย้อมผ้า การเคลือบสีไม้หรือโลหะ การผลิตพลาสติก การทำหนังสัตว์ การผลิตเนยเทียม เค้กและไอศกรีม การสกัดแยกแร่ การแยกน้ำมัน ออกจากน้ำ การบำบัดน้ำเสีย การกำจัดมลพิษทางดิน การดูดซับของเสีย เทคโนโลยีชีวภาพ งานพิมพ์อิเล็คทรอนิกส์  เครื่องบันทึกแถบแม่เหล็ก นาโนเทคโนโลยี

เพราะใช้กันเยอะ ถ้าใช้แล้วเกิดอาการหลังการใช้ ควรหยุดใช้ทันที  วันนี้สบายใจได้เปลาะหนึ่ง เพราะยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าสารพวกนี้เป็นสารก่อมะเร็ง

« « Prev : สีน้ำตาลในพืชส่งสัญญาณถึงสารเคมีบางตัวที่มีฤทธิ์กรด

Next : สิ่งมีชีวิตที่ก่อโรคทางเดินอาหารให้คนได้อีกกลุ่มหนึ่ง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "สารลดแรงตึงผิวกับสุขภาพ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.013383150100708 sec
Sidebar: 0.082015037536621 sec