อะไรบ้างที่ควรสงสัยว่ามีสารไนเตรทปนเปื้อน

อ่าน: 2653

สารไนเตรทในวงจรของธาตุไนโตรเจนมีประโยชน์ต่อพืช แต่ก็สามารถก่อผลกับสุขภาพคนได้ ไม่อยากได้สารก่อมะเร็งเข้าไปสะสมในตัว สารไนเตรทมาถึงตัวได้ยังไง ก็ควรรู้ไว้

บันทึกนี้ขอนำเรื่องประสบการณ์ตรวจอาหารในท้องตลาดโดยทีมงานสาธารณสุขในระดับประเทศมาเล่าให้ฟัง

อาหาร ที่ไปตรวจมาก็มี เนื้อเค็ม เนื้อสวรรค์ ไตปลาดิบ ไส้กรอก เนื้อเค็มพบไนเตรทสูงที่สุด (30,003 มก./กก.) และพบไนไตรท์อยู่ในราว 6% ของไนเตรท (1,799 มก./กก.)

ลำดับการพบไนเตรทสูงของอาหารทั้งหมดเมื่อเทียบกันเป็นจำนวน มก./กก. เป็นอย่างนี้ ไส้กรอกพบน้อยที่สุด (790) ไตปลาดิบพบในราว 4 เท่าของไส้กรอก ( 2,986) เนื้อสวรรค์พบในราว 20 เท่าของไส้กรอก (15,940) เนื้อเค็มพบมากที่สุด คือ 38 เท่าของไส้กรอก

เมื่อตามไปดูก็พบว่าในกระบวนการอาหารตากแห้งมักมีการเติมไนเตรทหรือดินประสิวลงไป เพื่อป้องกันการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเกินกว่าที่อย.กำหนด

ทั้งกุนเชียง ไส้กรอก หมูยอ ปลาเค็ม แฮม เบคอน จะมีการเติมดินประสิวเพื่อให้มีสีน่ารับประทานหรือปกปิดสภาพเนื้อสัตว์ที่ดูมีสีแดง หรือมีสภาพผ่านมาหลายวันให้มีสีใกล้ธรรมชาติ

ไนเตรท,ไนไตรท์จากดินประสิว ออกมาแล้วจะสลายเป็นไนตริคออกไซด์ ไนตริคออกไซด์จะทำปฏิกิริยากับสีของเม็ดเลือดแดงของเนื้อสัตว์ ให้สารไนโตรโซไมโอโกลบินที่มีสีแดง และแถมไนโตรซามีนมาให้ สารตัวหลังนี้เป็นสารก่อมะเร็งของทางเดินอาหาร (ตับ กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร)

อย. ถือเอาโซเดียมไนเตรทเป็นตัวแทนของไนเตรทที่ผสมในเนื้อสัตว์กำหนดเกณฑ์ที่ยอมรับได้

เมื่อใช้ดินประสิว (โปตัสเซียมไนเตรท) หรือโซเดียมไนเตรทในเนื้อสัตว์เพื่อถนอมอาหารไม่ให้บูดเน่า จึงต้องจำเกณฑ์ปริมาณโซเดียมไนเตรทไว้พิจารณา ค่าที่กำหนดไว้อยู่ที่ 500 มก./กก. สำหรับโซเดียมไนเตรท และ 200 มก./กก. สำหรับโซเดียมไนไตรท์ ถ้าใช้ทั้งคู่ก็อยู่ที่ 125 มก./กก.

ไม่สามารถหาข้อมูลไนเตรทในน้ำดื่มมาเล่าให้ฟังได้ รู้แต่ว่าไนเตรทไม่ได้อยู่แต่ในน้ำดื่มเท่านั้น แต่ในเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้ต่างๆก็มีไนเตรทอยู่ มีตกค้างได้อย่างไรก็คงต้องรอผู้รู้มาช่วยเติมเต็ม

ถือโอกาสประชาสัมพันธ์ให้กองทัพเรือซะเลย หากต้องการรู้ว่าน้ำดื่มของท่านสะอาด ปลอดภัย มีปริมาณไนเตรตเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่

สามารถส่งตัวอย่างน้ำดื่มเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณไนเตรต และดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำอื่นๆได้ที่ แผนกวิเคราะห์ทั่วไป กองวิเคราะห์และทดสอบ กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ถ.พุทธมณฑล สาย ๓ แขวงศาลาธรรมสพณ์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ ๐๒-๔๗๕๗๑๒๑

สอบถามรายละเอียดในการส่งตัวอย่างรวมถึงขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์ การเก็บตัวอย่างน้ำได้ด้วยนะ

วันนี้มีสิ่งที่ควรจดจำใหม่ว่า “การต้มน้ำเพื่อดื่ม ไม่ได้ทำให้ไนเตรทในน้ำลดลง แต่ทำให้เพิ่ม”

วิธีปรับคุณภาพน้ำดื่มเพื่อลดไนเตรทที่ใช้กันอยู่ในวันนี้ คือ การแลกเปลี่ยนอิออนระหว่างน้ำดิบกับสารกรองเรซินก่อนนำไปผลิตเป็นน้ำดื่ม เทคนิค Reverse osmosis และ Electrodialysis ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน

เมื่อความหมายของน้ำดื่มปลอดภัยเปลี่ยนไปแล้ว ก็มีความรู้ที่ต้องเติมในคนแต่ละรุ่นแตกต่างกันไป

คนรุ่นใหม่ซึ่งนิยมดื่มน้ำที่ผลิตสำเร็จรูปก็อย่าลืมว่าน้ำที่ดื่มยังเป็นน้ำดิบที่ไม่ได้ปลอดเชื้อโรคนะ

คนรุ่นเก่าที่นิยมต้มน้ำก่อนดื่มก็อย่าลืมว่าน้ำดิบอาจยังไม่ปลอดไนเตรทนะ

เติมเต็มความรู้ตัวเองครบมุม เมื่อนั้นก็จะห่างไกลโรคได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ดื่มกินแล้วมีอาการไม่ปกติ อย่าลืมเชื่อมโยงไปที่อาหารและน้ำที่ดื่มไว้บ้าง อาการผิดปกติปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนหลังการบริโภคเหล่านี้ คือความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากไนเตรท ไนไตรท์ที่ปนเปื้อนในอาหาร

« « Prev : ทำอะไรอยู่บ้างกับอาหารปลอดภัย

Next : มีความสำคัญอะไรอีกในเรื่องอาหารปลอดภัย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 กันยายน 2011 เวลา 18:15 (เย็น)

    การอบแห้งแบบเดิมๆ แต่สมัยชัยวรมัน ๒ คือ ตากในกระด้ง มันช้า ใช้เวลานาน จุลินทรีย์ก็ก่อตัวได้มาก ก็เลยเกิด “ภูมิปัญญา” เอาดินประสิวไปพ่น

    แต่ถ้าหันมาใช้การอบแบบของผมให้หมด (เข้าใจว่ามีโพสต์ไว้แล้ว โพสต์เก่าๆ) จะหมดปัญหาครับ เช่น ตากแห้งปลาผมไปสัมภาษณ์มา ส่วนใหญ่ใช้เวลา 3 แดด และยังต้องพลิกกลับทุกๆ ชม. แบบนี้จุลินทรีย์ยิ้มร่า เพราะกำลังจะตาย ก็มีคนมาพลิกฟื้นคืนชีวี

    ส่วนของผมแห้งสนิทในครึ่งวัน โดยไม่ต้องพลิกสักครั้ง

    โฆษณาแจกฟรีอย่างไร ก็ไม่มีมีใครเอาไปใช้ แต่ที่มันมาหลอกขายแพงๆ ซื้อกันดีนัก (บักห่าเอ๊ย..ขอด่าให้สะใจหน่อย)

    หลักการเดียวกันนี้สามารถขยายผลเอาไปอบแห้งจานในรพ. ร้านอาหาร โรงเรียนก็ยังได้ ไม่ต้องเสียค่าโง่ไปทั่วประเทศ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 กันยายน 2011 เวลา 18:56 (เย็น)

    รับเรื่องนี้ไว้ลองอีกเรื่องค่ะอาจารย์ เพราะว่าชาวบ้านที่นี่เขามีอาชีพประมงกันอยู่เยอะเลย มีอาหารแห้งจากทะเลที่เขาผลิตด้วย สภาวะฝนแปด แดดสี่ เป็นอุปสรรคเรื่องการทำให้แห้ง ระยะเวลาทำให้เกิดสารที่ไม่ต้องการถ้ามีเครื่องมือจัดการได้ก็โอเลยค่ะ

  • #3 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 กันยายน 2011 เวลา 23:37 (เย็น)

    ห้าห้าหกเจ็ดแปด นะหมอเจ๊ แรงบันดาลใจให้ผมคิดเครื่องอบแห้งนี้ขึ้นมา ประการหนึ่งก็คือ เห็นอาหารทะเล ที่บ้านเพ ระยอง ตากกันแบบ สกป. นี่แหละ เครื่องอบผมนี้ผลกระทบสูงสุดคืออาหารทะเล ลงทุนนิดเดียวได้หมดทุกอย่าง คือ สะอาด ลดเหนื่อย เงิน ส่วนเราคนกินก็ลดโรค เชื้อรา ล้า รา (เสียแต่ว่านักการเมืองมันไม่ได้เงินหัวคิว มันคงไม่หนับหนุนหรอก นอกจากเราควักเงิน ทำกันเอง หึหึ)

  • #4 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 กันยายน 2011 เวลา 5:47 (เช้า)

    กว่าจะมาอ่านก็ล่อสารอะไรไปเยอะแยะ อิ

  • #5 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 กันยายน 2011 เวลา 16:58 (เย็น)

    โม้นิดว่า เครื่องอบแห้งพลังแดดของผมนี้ทดลองแล้ว อบแห้งปลานิลขนาดใหญ่ (ตัวละโล) แห้งสนิทใช้เวลาเพียงครึ่งแดด โดยไม่ต้องพลิก ในขณะที่ของชาวบ้านตากบนกระด้งไม่ทราบ แต่ทราบว่าปลาช่อนเค็มที่ผ่าแหวะแล้วนั้นต้องใช้ 3 แดด แล้วยังต้องพลิกกลับทุกชม. แถมแมงวันตอมหึ่ง


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.035734176635742 sec
Sidebar: 0.11183500289917 sec