อันเนื่องมาจากพระราชดำริ…บทเรียนที่สอนวิชาสอบสวนโรค

โดย สาวตา เมื่อ 28 พฤษภาคม 2011 เวลา 22:37 (เย็น) ในหมวดหมู่ การจัดการ, ชีวิต สุขภาพ, ดูแลสุขภาพ, อาหารกับสุขภาพ #
อ่าน: 2195

แนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการกันอยู่ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการใช้หลักคิดด้าน “สังคมวิทยาการแพทย์” เรื่องเกลือก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ต่อยอดมาจากหลักสังคมวิทยาการแพทย์

จึงขอนำเรื่อง  “เส้นทางเกลือ”  อันเนื่องมาจากพระราชดำริตามหลักสังคมวิทยาการแพทย์ (Medical Sociology) มาเล่าสู่กันฟัง

เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆนั้น พระองค์ทรงพบว่าประชาชนหลายพื้นที่มีปัญหาสุขภาพต่างๆกันไป  เรื่องหนึ่งที่พระองค์ทรงพบก็เป็น ปัญหาการขาดสารไอโอดีนจนเกิดเป็นโรคคอพอก ในยามที่เสด็จพระราชดำเนินไป ทรงพบโรคนี้ว่ายังมีอยู่มากมายหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในท้องที่ทุรกันดาร ผู้คนที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทจำนวนมากเป็นโรคนี้ และมาขอรับการรักษาจากคณะแพทย์หลวงที่ตามเสด็จฯ

ในหลวงและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระเมตตา และสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการแก้ไข ปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนเป็นอย่างมาก ถึงกับเคยทรงนำเกลือผสมไอโอดีนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ไปทรงแจกประชาชนในถิ่นทุรกันดารมาแล้วหลายครั้ง

เมื่อ วันที่ 9 มีนาคม 2536 ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมกิจกรรมของวิทยาลัยเทคนิค เชียงใหม่ ในการนี้ได้ทอดพระเนตรการสาธิตการทำงานของเครื่องผสมเกลือไอโอดีน ซึ่งทางวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ได้ผลิตขึ้นและน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานให้แก่จังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือที่ราษฎรประสบปัญหาของการขาดสารไอโอดีน

พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริว่า “…….ให้ พิจารณาแก้ไขปัญหาของการขาดสารไอโอดีนของราษฎร โดยการสำรวจพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ถึงปัญหาและความต้องการเกลือ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีปัญหาและความต้องการไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะต้องสำรวจเส้นทางเกลือ ว่าผลิตจากแหล่งใด ก็น่าที่จะนำเอาไอโอดีนไปผสมกับแหล่งผลิตต้นทางเกลือเสียเลยทีเดียว…”

หลังจากนั้นวงการสาธารณสุขก็จับมือกัน  ดำเนินรอยตามแนวพระราชดำริ สำรวจเส้นทางเกลือ

เส้นทางแรก คือ ค้นหาเส้นทางเกลือ ตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงผู้บริโภค

เส้นทางที่ ๒  ให้พ่อค้าและภาคเอกชน ที่เกิดศรัทธา ได้ร่วมสมทบ ดำเนินตามรอยพระราชดำริ เริ่มจากนำไอโอดีนไปผสมที่แหล่งผลิตหรือแหล่งจัดจำหน่าย โดยเติมให้ฟรีก่อน แล้วพ่อค้าและภาคเอกชนดำเนินการร่วมภายหลัง

เส้นทางที่ ๓  ในบางท้องที่ซึ่งไม่อาจเติมไอโอดีนที่แหล่งต้นทางได้ ทรงแนะนำว่าควรนำเครื่องเกลือผสมไอโอดีน ไปบริการในลักษณะหน่วยบริการเคลื่อนที่เข้าไปในหมู่บ้านต่างๆ กล่าวคือ ใครมีเกลืออยู่แล้วก็ผสมให้ฟรี หรืออาจเอาเกลือธรรมดามาแลกกับเกลือผสมไอโอดีนก็ได้

เส้นทางที่ ๔  ดำเนินรอยตามพระราชดำริ ที่ทรงกำหนดให้ใช้อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอำเภอต้นแบบ ในการศึกษาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสารไอโอดีนว่ามีเส้นทางเกลือ มาจากแหล่งใด

ผลการสำรวจเส้นทางเกลือนับแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2536 เป็นต้นมาให้ความรู้ว่า

* เกลือผสมไอโอดีนส่วนใหญ่เป็นเกลือป่น
* เกลือที่ไม่ได้ผสมสารไอโอดีนเพิ่มเข้าไป มีทั้งเกลือป่นและเกลือเม็ด
* เกลือป่นส่วนใหญ่เป็นเกลือสินเธาว์จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเกลือเม็ด
* ส่วนใหญ่เป็นเกลือสมุทรจากสมุทรสงคราม สมุทรสาคร และเพชรบุรี

*เส้นทางเกลือที่ไม่ผสมไอโอดีน มีแหล่งผลิตและจำหน่ายที่สำคัญ รวม 4 เส้นทาง คือ

ส่วนที่ 1 จากจังหวัดสมุทรสาคร เป็นแหล่งรวมเกลือสมุทรจากเพชรบุรีและสมุทรสงครามส่งไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ และส่งขายต่อร้านค้าย่อยในอำเภอสะเมิง

ส่วนที่ 2 พ่อค้าเชียงใหม่ซื้อตรงจากสมุทรสาคร โดยรถสิบล้อบรรทุกขึ้นมาแล้วมาบรรจุใส่ซองพลาสติดใส นำขึ้นรถปิดอัพเร่ขายในอำเภอสะเมิงและพื้นที่ใกล้เคียง

ส่วนที่ 3 พ่อค้าจากมหาสารคาม มีการซื้อเกลือสินเธาว์ป่นแถบอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี และย่านหนองกวั่ง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร มาบรรจุซองที่จังหวัดมหาสารคาม แล้วนำเกลือไปเร่ขายทั่วประเทศโดยใช้รถหกล้อ ซึ่งมีการส่งขายถึงเชียงใหม่ และเข้าสู่อำเภอสะเมิงในที่สุด

ส่วนที่ 4 จากกรุงเทพมหานคร โดยพ่อค้ารายใหญ่จัดส่งไปขายที่เชียงใหม่และแถบใกล้เคียงโดยใช้เกลือสมุทรธรรมดา

*ได้วิธีการผลิตเกลือเสริมไอโอดีนหรือเกลืออนามัยมาด้วย คือ

โดยปกติแล้วคนเราต้องการธาตุไอโอดีนวันลtประมาณ 100-150 ไมโครกรัมในปริมาณเกลือที่บริโภคต่อวัน เฉลี่ย 5.4 กรัม

อัตราส่วนเกลือไอโอดีน ต้องใช้ปริมาณไอโอเดทที่เสริมในเกลืออัตราส่วน 1:20,000 โดยน้ำหนัก

เกลือ 1 กิโลกรัม ต้องเสริมโปแตสเซียมไอโอเดท 50 มิลลิกรัม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับไอโอดีนวันละ 150 ไมโครกรัมต่อคนต่อวัน

โปแตสเซียมไอโอเดท 1 กิโลกรัม ผสมเกลือได้ 18 ตัน มีหลายวิธีการสำหรับการผสม ดังนี้

การเสริมไอโอดีนในเกลือโดยใช้วิธีผสมเปียก  : ใช้ผงไอโอเดทปริมาณ 25 กรัม ผสมกับน้ำจำนวน 1 ลิตร

มีผลการทดลองของวิทยาลัยเทคนิคสกลนครสามารถผลิตเกลือผสมไอโอดีนได้ครั้งละ 60 กิโลกรัม โดยการพ่นฉีดแต่ละครั้ง 60 กิโลกรัม โดยการพ่นฉีดแต่ละครั้ง จะใช้ไอโอดีนน้ำผสมประมาณครั้งละ 200 ซีซี. ต่อเกลือจำนวน 60 กิโลกรัม และพบว่าได้ความเข้มข้นของไอโอดีนสม่ำเสมอดี

การเสริมเกลือไอโอดีนแบบผสมแห้ง  เป็นการผสมเกลือไอโอดีนที่ดำเนินการได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูง โดยใช้วิธีผสมแห้งและใช้หลักการทำงานของเครื่องผสมทรายหล่อ และหลักการทำงานของเครื่องไซโลผสมอาหารสัตว์ มาเป็นการทำงานของเครื่องผสมเกลือไอโอดีน ซึ่งใช้สะดวก กระทัดรัด ประหยัด ผสมได้ครั้งละ 60 กิโลกรัม โดยใช้ใบกวนหมุนภายในถังที่ตรึงอยู่กับที่ โดยให้ความเร็วของการหมุนใบกวน สัมพันธ์กับลักษณะของใบกวนที่วางใบให้เป็นมุมเอียง เพื่อให้เกลือไหลและเกิดการพลิกตลอดเวลา ใช้เวลาในการคลุก 2 นาที โดยการหมุนทวนเข็มนาฬิกา

กรณีที่มีความประสงค์จะผสมเกลือไอโอดีนด้วยตนเอง ก็สามkรถทำได้ในอัตราส่วนดังกล่าว โดยใช้กะบะและไม้พายผสมโดยใช้แรงคนใช้เวลาผสมประมาณ 20-30 นาที หรือนานกว่าจึงจะได้ส่วนผสมที่ใช้การได้

*ข้อมูลปี 2548 ที่พบว่า มีความครอบคลุมเกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือนเพียงร้อยละ 58.8 และมีเกลือเสริมไอโอดีนในครัวเรือนที่ได้คุณภาพมาตรฐานร้อยละ 54 เท่านั้น

*ปี 2550 พฤติกรรมการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนในกลุ่มตัวอย่าง 630 คน พบว่า มีการใช้เกลือเสริมไอโอดีนปรุงประกอบอาหารภายในครอบครัวร้อยละ 57.67 เท่านั้น

เส้นทางเกลือเหล่านี้ เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงห่วงใยในทุกวิถีแห่งการดำรงชีพของมวลพสกนิกรทั้งหลายโดยแท้

ผลสรุปที่ได้มา ทำให้เห็นว่าปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนไม่สามารถขจัดให้หมดไปได้ หากไม่มีมาตรการควบคุมที่เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ มาตรการส่งเสริมให้ทุกครัวเรือน มีการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงอาหารไม่ น้อยกว่าร้อยละ 70 เป็นมาตรการหลัก และใช้อาหารเสริมไอโอดีนเป็นมาตรการเสริม จึงเป็นการนำ “เส้นทางเกลือ” ที่ทรงพระราชทานแนวทางไว้ มาดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำริต่อเนื่อง

« « Prev : ซื้อเกลือ อย่าลืมดูฉลากอย.เน้อ

Next : ไขมันในตัวคน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "อันเนื่องมาจากพระราชดำริ…บทเรียนที่สอนวิชาสอบสวนโรค"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.033190011978149 sec
Sidebar: 0.07542085647583 sec