รู้จักไดออกซินขึ้นอีกหน่อยเหอะ

อ่าน: 2129

ที่จริงไดออกซินเป็นชื่อก๊กของสารเคมีก่อมะเร็งก๊กหนึ่ง ซึ่งมีถึงกว่า 3 พันตัว

สมาชิกตัวร้ายในก๊กมีอยู่ 3 ตัว คือ TCDD, PCDFs, PCBs  TCDD เป็นตัวที่ร้ายที่สุด พิษมากที่สุดและจัดเป็นสารก่อมะเร็งในคนประเภทระดับ 1

ที่มาของไดออกซิน นั้นมีอยู่ 3 แหล่งหลักๆ ได้แก่

1. trichlorophenol สารที่ใช้ในการผลิตศัตรูพืช  ฝนเหลืองในสงครามเวียดนาม มีสารตัวนี้อยู่  จึงมีไดออกซินด้วย

ฝนเหลืองเคยถูกลองใช้ในบ้านเรา ก่อนอเมริกาจะนำไปใช้กับเวียดนาม แถมส่วนที่เหลือยังฝังทิ้งไว้ให้เราแก้ปัญหาอีก เหตุเกิดที่บ่อฝ้าย หัวหิน ในยุคจอมพลสฤษฎ์ ธนะรัชน์เป็นผู้ปกครองประเทศไทย เกือบ 40 ปีมาแล้ว

2. การเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีคลอรีนและคาร์บอน ที่อุณหภูมิ 250-350 องศาเซลเซียส ไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด เตาเผาขยะโรงพยาบาล บ้านเรือนที่ถูกเผา การเผาขยะอันตราย โรงไฟฟ้าถ่านหิน และการหุงต้มที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้ ล้วนเป็นแหล่งปล่อยไดออกซินออกมาสู่สิ่งแวดล้อม โดยมีปริมาณที่ปล่อยออกต่ำ

ไดออกซินที่เกิดขึ้นเกาะติดอนุภาคควันไฟ ล่องลอยไปในอากาศและสิ่งแวดล้อมแล้วค้างอยู่ เพราะความคงตัวของมัน

การเผาขยะแล้วเกิดไดออกซินแพร่ เคยเกิดในบ้านเราที่ขอนแก่น จากโรงงานขยะปล่อยของเสียลงเขื่อนน้ำพอง

แหล่งหนึ่งที่อาจนึกไม่ถึงว่าปล่อยไดออกซินด้วย คือ บุหรี่

คนที่สูบบุหรี่วันละ 20 มวนต่อวันขึ้นไป จะสูดไดออกซินเข้าไปด้วยวันละ 4.3 pg/kg

3. pentatrichlorophenol สารที่ใช้ในการรักษาเนื้อไม้ เสาโทรศัพท์ รั้ว ไม้ในบ้าน และใช้ในฆ่าเชื้อในสี เครื่องสำอาง หมึก สีย้อมผ้า

เจ้าสารตัวนี้เรียกกันสั้นๆว่า Penta เวลาใช้รักษาเนื้อไม้ต้องอัดมันด้วยแรงดัน  คนงานมีโอกาสได้รับพิษได้มาก อาการพิษที่พบ คือ “มีสิวรุนแรงเป็นตะปุ่มตะป่ำเหมือนหนังคางคก (Chloracne)”

สิวที่เกิดจากพิษไดออกซิน

ไม้ที่ใช้ Penta รักษาเนื้อไม้ จึงไม่ควรใช้สร้างโรงเก็บอาหารสัตว์

ไดออกซินไม่รวมกับน้ำ  ละลายได้ดีในไขมัน เมื่อลงไปปนในแหล่งน้ำจะอยู่ในรูปของตะกอน

การป้องกันในเชิงระบบ จึงไม่ใช่ให้แต่สาธารณสุขไปจัดการ หากแต่เป็นเรื่องของทุกคน ที่ต้องทำงานรอบด้านทั้งเรื่อง ป่าไม้ แม่น้ำ ลำคลอง และการตอบรับอุตสาหกรรม ไม่งั้นรัฐจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องการรักษาพยาบาลก้อนมหาศาลทีเดียว

วันนี้ที่น่ากลัวคือ รัฐมีกฎหมายให้หยิบใช้ได้หรือยังหลังเกิดเหตุการณ์ที่น้ำพอง

“เหตุเกิดที่น้ำพอง เอกชนปล่อยของเสียที่ทำให้แม่น้ำพองมีไดออกซินเกินระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ตรวจน้ำโดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เก็บน้ำส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการสถาบันหลุยส์-ปาสเตอร์ ส่วนเอกชนเก็บน้ำส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการประเทศฟินแลนด์  ข้อพบที่เหมือนกัน คือ พบไดออกซินในน้ำ ข้อต่างที่พบ คือ ระดับไดออกซินมีค่าต่างกันมาก ที่ตรวจในไทยพบสูงเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกรับรอง ที่ตรวจจากฟินแลนด์พบต่ำกว่าที่ตรวจในไทย”

ผลลัพธ์ของเรื่องนี้ ลงเอยที่เอกชนไม่ผิด เพราะ “จะพบไดออกซินเท่าไรก็เหอะ ทิ้งได้ทิ้งไปไม่ผิดกฎหมายไทย เพราะประเทศไทยไม่เคยกำหนดความผิดว่าทิ้งเท่าไรจึงผิดกฎหมายไทย” และ คดีนี้ผู้เป็นโจทย์ไม่ใช่เจ้าของแม่น้ำ….เฮ้อ

« « Prev : จะป้องกันมะเร็งจากไดออกซินได้มั๊ย

Next : รู้ได้ยังไงว่าเกิดพิษไดออกซิน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2011 เวลา 9:01 (เช้า)

    Case น้ำพองเป็นกรณีที่ classic มาก เป็นกรณีศึกษาในห้องเรียนพวกสิ่งแวดล้อม และ NGO
    กระทบไปถึงจรรยาบรรณของนักวิชาการ

    ปัจจุบันเท่าที่ทราบดีขึ้นมาเยอะเพราะโรงงานนั้นเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ และให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
    ผู้จัดการที่เข้ามาทำหน้าที่เน้นเรื่องนี้ อิอิ เป็นเพื่อนผมเอง คนสงขลา ได้เข้ามาแก้ปัญหานี้จริงจังมากขึ้น ปัจจุบันเพื่อนคนนี้ถอยออกเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น

    ช่วงนั้นที่เกิดเรื่องรุนแรง ตกใจมากเพราะน้ำพองเป็นน้ำดิบที่ขอนแก่นเอามาทำน้ำประปา แล้วเราก็เอาน้ำประปามากรองทำน้ำดื่มตามบ้าน รวมทั้งบ้านผมด้วย
    นอนผวากันนานทีเดียวครับ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2011 เวลา 21:49 (เย็น)

    การได้เข้าไปมีประสบการณ์ใน สสสส.๒ ทำให้เห็นว่าบ้านเราบริหารบ้านเมืองแบบตั้งรับตลอดมาเลยค่ะพี่ โดยเฉพาะกฏหมายคุ้มครองประชาชน มักจะเกิดเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว บ้านเมืองไม่ถูกบริหารเชิงระบบ และใช้ความรู้จากนักวิชาการมาวางระบบเชิงป้องกัน อย่างให้เกียรติความรู้ จึงเกิดปรากฏการณ์ต่างๆในสังคมอย่างเวลานี้

    เรื่องของน้ำพองที่พี่เล่า เป็นที่มาของกฏหมายกำหนดความผิดเกี่ยวกับไดออกซินแล้ว โชคดีที่เอกชนเจ้าของเรื่อง มีสำนึกและสปิริตของความเป็นคนนะพี่ อีกอย่างมาตรการทางสังคมของพื้นที่ น่าจะแรงจนกดดันให้เปลี่ยนแปลงคนได้ด้วยมั๊งค่ะ

    สาธารณสุขยังมีความอ่อนแอทางวิชาการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งที่มีหน่วยงานรับผิดชอบในด้านนี้มากว่า ๒๐ ปีแล้ว นี่ก็เป็นบทเรียนที่สอนให้จัดระบบงานให้คงตัวสม่ำเสมอไว้เป็นดี


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.32691287994385 sec
Sidebar: 0.44173502922058 sec