เฝ้าระวังหลุมยุบ vs ระบบเตือนภัย
ถอดบทเรียนมาเป็นครู(๑) :
โดยธรรมชาติแล้ว ส่วนใหญ่ หินปูนเกิดจากการสะสมตัวของเศษเปลือกแข็ง ของสัตว์และพืชในน้ำเพื่อการดำรงชีวิต จึงเจอหินปูนสะสมตัวได้ดีแถวๆทะเลน้ำตื้นในเขตร้อน ส่วนน้อยเกิดจากการตกตะกอนของโคลน คาร์บอเนตบางชนิดตามธรรมชาติ เช่น การตกตะกอนในทะเลสาบ หินงอก หินย้อย คราบหินปูน (tufa) และทราเวอร์ทีน (travertine)
เขาว่าหินปูนเป็นหินละลายน้ำได้ดี อย่างนี้แปลว่า เมื่อได้น้ำสักหน่อย หินปูนก็จะละลาย มิน่าหลุมยุบในพื้นที่ราบกลางภูเขาหินปูนที่พบที่กระบี่ จึงเกิดขึ้นในยามฝนตกหนักๆติดต่อกัน
อย่างนี้ถ้ารู้ว่าตรงไหนมีหินปูนเยอะก็จัดระบบเฝ้าระวังได้ซิ
ลองตามรอยผ่านอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ดู ก็พบว่าตั้งแต่เหนือจดใต้มีภูเขาหินปูนอยู่ทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้าง เหนือ-แม่ฮ่องสอน ลำปาง เชียงราย แพร่ น่าน กลาง-สระบุรี นครสวรรค์ เพชรบุรี ลพบุรี ตะวันตก-กาญจนบุรี ตะวันออก-จันทบุรี ใต้-ชุมพร ะนอง สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี
แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าภูไหนเป็นหินปูน ภูไหนไม่ใช่ ครูเขาสอนว่า ภูไหนเป็นยอดเป็นโดม ก็เป็นหินแกรนิต ภูไหนยอดป้าน ยอดตัด ก็เป็นภูเขาหินทราย
ส่วนภูที่เป็นหินปูนก็นี่เลย มียอดหลายยอดซ้อนกัน ยอดสูง หน้าผาสูงชัน มีถ้ำ หินงอก หินย้อยห้อยลงมา น้ำตก ตัวหินแหลมบ้างเหลี่ยมๆคมๆบ้าง และไม่ลื่น ตามแต่ธรรมชาติจะรังสรรค์ให้เป็นปฏิมากรรมที่แปลกตา จากฤทธิ์ของน้ำทั้งจากฟ้าและใต้ดินกัดเซาะ
ความรู้เรื่องชุดหินกระบี่สอนว่า ไม่เคยเกิดเหตุหลุมยุบมาเลยในพื้นที่ที่มีหินอัคนี และตรงไหนมีหินแกรนิต หินอัคนี ตรงนั้นไม่พบหินปูน
อย่างนี้เอามาใช้คัดพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังได้ซิ ภูไหนที่เป็นหินแกรนิตก็ไม่ต้องกลัวเกิดหลุมยุบ ภูไหนที่เป็นหินทราย ยังต้องดู ภูไหนที่เป็นหินปูน เชิงเขาและพื้นราบแถบนั้นก็มีโอกาสเกิดหลุมยุบได้
อย่างนี้พื้นที่หมู่บ้านที่อยู่ในหุบเขาหินปูน ก็ควรจะมีระบบเฝ้าระวังหลุมยุบและระบบเืตือนภัยเรื่องปริมาณน้ำฝน
ข้อมูลที่มีคนไปศึกษาเรื่องหินและได้หินชุดกระบี่มานั้น เขาเก็บตัวอย่างจากพื้นที่ที่มีคนอยู่อย่างเช่นโรงเรียน แต่ของจริงเรื่องหลุมยุบที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้น เกิดทั้งในที่ที่มีคนอยู่และไม่มีคน จึงยังต้องหาข้อสังเกตอีกสำหรับพื้นที่ที่เป็นแหล่งถ่านหิน
แหล่งถ่านหินจะมีหลุมยุบได้มากน้อยแค่ไหน พอจะได้ข้อสังเกตจากแม่เมาะมาว่า ให้สังเกตสภาพแวดล้อมของหินดูตรงไหนเป็นทะเลสาบ ตรงนั้นก็ไม่ใคร่ต้องห่วงเรื่องหลุมยุบ อันนี้ถอดความรู้จากชุดหินแม่เมาะมาใช้ ชุดหินแม่เมาะพบแต่หินโคลน หินทรายแป้ง หินทราย ถ่านหินลิกไนต์และหินกรวดมนเท่านั้น
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในแหล่งถ่านหินจะไม่มีหินปูนเลยนะ เพราะว่าชุดหินที่แพร่ซึ่งมีถ่านหินอยู่เหมือนกัน มีหินปูนอยู่ด้วย แล้วหินปูนนั้นก็มักจะเกิดอยู่ในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล
อย่างนี้พื้นที่หมู่บ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเหมืองลิกไนท์ และอยู่ไม่ไกลจากป่าชายเลน ก็ควรจะมีระบบเฝ้าระวังหลุมยุบไว้ก่อนเพื่อนำมาถอดบทเรียนสร้างระบบเตือนภัยให้เหมาะต่อไป
« « Prev : หลุมยุบ
Next : มาตรวัดแผ่นดินไหวใช้แบบไหนเตือนภัยดีกว่า » »
2 ความคิดเห็น
หินปูนละลายน้ำได้ดี
แต่น่าคิดว่า แล้วทำไมฟันมนุษย์จึงมีหินปูนเกาะมาก ทั้งที่ชุ่มไปด้วย “น้ำ” ลาย
เงื่อนไข..ห้ามตอบด้วยทฤษฏีฝรั่ง
คำว่า “น้ำ” ที่จะใช้ละลายหินปูนได้ ต้องมีความเป็นกรดอ่อน
ส่วน “น้ำลาย” นั้นมีธรรมชาติเป็นด่างค่ะ อาจารย์
ความเป็นด่างของน้ำลายจะเปลี่ยนไปเมื่อมีความสัมพันธ์กับอาหาร
คนที่กินอาหารหนักมาทางพืชมาก ไม่กินหวานจัด จะไม่ค่อยมีหินปูนเกาะฟัน
คนที่กินหวานจัด หรือไม่กินผัก หรือ กินเนื้อมากกว่าผัก จะมีปัญหาเรื่องหินปูนเกาะฟัน
คนที่ไม่ใคร่ออกกำลังกาย ไม่ใคร่โดนแดดก็มีหินปูนเกาะฟันเยอะค่ะ
ความรู้ได้มาจากข้อสังเกตจากคนไข้
แต่ก็ต้องใช้ความรู้ของฝรั่งตรงการสอบความเป็นกรด-ด่างค่ะ