โอวาทข้อสี่ของท่านเหลี่ยวฝาน

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 15 มิถุนายน 2010 เวลา 8:14 ในหมวดหมู่ ครอบครัว, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1342

วันนี้จะมาเล่าโอวาทของท่านเหลี่ยวฝานข้อสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องของความถ่อมตน ผมเคยอ่านเรื่องของต้นข้าวมานานมากแล้วและชอบมาก ต้นข้าวที่มีรวงมีเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์มันจะค้อมลงดิน แต่ข้าวที่ไม่สมบูรณ์มีแต่รวงข้าวไม่มีเมล็ดมันจะชูช่อขึ้นฟ้า เปรียบเสมือนคนเรา ถ้าเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนใครก็รักใครก็เคารพ แต่ประเภทหยิ่งผยองอยู่ได้ไม่นานเหมือนกับรวงข้าวนั่นแหละ อ้าว…อารัมภบทยาวไปหน่อย อิอิ

สังเกตไหมครับสามข้อที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการทำความดีทั้งนั้น แต่พอมาข้อสุดท้ายนี่เป็นเรื่องการวางตัวในการคบหาสมาคมกับบุคคลทั่วไป สอนไม่ให้ลูกอวดดีว่าคนเองวิเศษกว่าผู้อื่น เพราะจะได้ไม่มีเรื่องกับใคร ให้รู้จักตัวเองว่ายังทำความดีไม่เพียงพอ ต้องหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา และยังต้องรู้จักฝึกตน ให้เข้ากับคนในสังคมได้ จะได้ไม่มีศัตรูทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ท่านยกคัมภีร์มาสอนลูก คือ คัมภีร์เอ็กเก็ง(หรืออี้จิง)ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ใดยกตนข่มท่าน อวดวิเศษกว่าผู้อื่น ย่อมต้องประสบความเสียหาย ผู้ใดอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่จองหองลำพองตน ย่อมต้องประสบความสุขความเจริญ”

ท่านสอนให้ดูธรรมชาติเป็นตัวอย่าง ขุนเขาที่สูงตระหง่าน ยืนทะมึนเย้ยฟ้าท้าดิน ก็ยังต้องพังทลาย ส่วนแอ่งน้ำที่ต่ำต้อยนั้น กลับมีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา และยังยกคัมภีร์อื่นๆมาสอนลูกอีกด้วย ในคัมภีร์อื่นๆ ก็กล่าวเหมือนกันว่า ทะนงตนย่อมนำมาซึ่งความวิบัติ ถ่อมตนย่อมนำมาซึ่งความเจริญ

ท่านเล่าถึงการไปสอบ สังเกตเห็นเพื่อนนักศึกษาที่ยากจนบางคน บนใบหน้ามักทอประกายแห่งความถ่อมตน ถึงขนาดที่ว่า “พ่อคิดอยากจะเอามือทั้งสองของพ่อ ไปประคองประกายแห่งความถ่อมตนนั้น มาประดับบนใบหน้าของพ่อเสียบ้าง” และยังเล่าถึงนักศึกษาที่มีความสงบเสงี่ยมเจียมตัว มีความถ่อมตนอยู่เป็นนิจ ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลย พวกเขาเหล่านี้สอบไล่ได้ทุกทีไป

ท่านก็ยังเล่าถึงเพื่อนไคจือ แซ่เผิง “พ่อสังเกตดูรู้สึกเขาเปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อเด็กๆ เขาขี้เล่นซุกซน และเจ้าอารมณ์ แต่บัดนี้ ดูเขามีสติควบคุมอารมณ์ได้ดีมาก เขามีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง เป็นคนดีมาก ฉลาด ซื่อตรง ชอบช่วยเหลือเพื่อน คุณธรรมสามประการนี้ สมแล้วที่จักขนานนามเขาว่ากัลยาณมิตร เขามักจะติเตียนไคจือต่อหน้า ไคจือไม่เคยโกรธ หรือโต้ตอบเขาเลย รับฟังอย่างอารมณ์ดีเสมอ พ่อจึงบอกเขาว่า นิสัยอันดีงามของเขานี้ ย่อมเป็นปัจจัย นำเขาไปสู่ความมีบุญวาสนา” และไคจือ ก็สอบได้เช่นกัน

ท่านยังเล่าถึงมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งแซ่จ้าว สอบไล่ได้ในภูมิลำเนาของตน เมื่ออายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี แต่ต่อจากนั้นไปจะสอบกี่ครั้ง ก็ไม่เคยสอบไล่ได้อีกเลย ต่อมาได้พบบัณฑิต และเขาลดความหยิ่งผยองน้อมรับคำสั่งสอน ในที่สุดก็สอบได้

ท่านยกตัวอย่างแต่ละปีที่ท่านไปพบเพื่อนหรือบุคคลที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จเพื่อสอนให้ลูกอ่อนน้อมถ่อมตน และยกตัวอย่างนักศึกษาแซ่จางที่เด่นมากแต่สอบไม่ได้ เขาโทษกรรมการว่าไม่ยุติธรรม หลวงจีนเข้าไปเตือนสติก็โกรธหลวงจีน แต่ในที่สุดหลวงจีนบอกว่า “การประพันธ์ ต้องอาศัยความสงบทางใจ จิตเป็นสมาธิจึงจะเขียนได้ดีท่านควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หวั่นไหวอยูตลอดเวลา จะเขียนบทประพันธ์ได้ดีอย่างไรได้ นักศึกษาจางได้สติ จึงคุกเข่าขอขมา และมอบตัวเป็นศิษย์ หลวงจีนจึงสอนแก้ไขที่ตนเองเสียก่อน นักศึกษาจางกราบถามท่านว่า หากขึ้นอยู่กับชะตาชีวิตแล้ว จะแก้ไขได้หรือ หลวงจีนพูดว่า ฟ้าประทานชีวิตให้เรา แต่ชะตาชีวิตเราต้องสร้างสมเอง หากกระทำแต่กรรมดี มีศีลมีธรรม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ยิ่งไม่มีผู้รู้เห็น ก็ยิ่งเป็นกุศลมหาศาล เมื่อเราสั่งสมความดีจนเต็มเปี่ยมแล้ว เราจะต้องการชะตาชีวิตอย่างไร ได้ทั้งนั้น นักศึกษาจางจึงปรารภว่า ข้าพเจ้าเป็นคนจน จะมีปัญญาช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร ท่านชี้แจงว่า การทำความดีต้องเริ่มที่ใจ มุ่งแก้ไขตนเองเสียก่อน เช่นการอ่อนน้อมถ่อมตน ก็ไม่ต้องใช้เงินเลย ทำไมท่านไม่ตำหนิตนเองว่า ความรู้ยังไม่เพียงพอจึงสอบตก แต่กลับไปด่ากรรมการควบคุมสอบเล่า นักศึกษาจางเพิ่งได้คิด จึงเริ่มปฏิบัติตนเสียใหม่ ลดความหยิ่งผยองลงไปทุกวันๆ เพิ่มคุณธรรมให้กับตนเองมากยิ่งขึ้นทุกวันๆ ครั้นอีกสามปีต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๐๘๐ เขาก็สอบไล่ได้ที่ ๑๐๕

ท่านสอนลูกให้รู้จักควบคุมจิตใจและความประพฤติ “ไม่ทำสิ่งที่ฟ้าดิน และผีสางเทวดาไม่พอใจ ไม่หยิ่ง ไม่โอหัง ไม่วู่วาม อดทนในสิ่งที่ทนได้ยาก ฟ้าดินและผีสางเทวดา ก็ย่อมจะสงสารเรา เห็นใจเราประทานความช่วยเหลือแก่เรา คนที่จะเป็นใหญ่เป็นโตในอนาคต ย่อมไม่ทำจิตใจคับแคบ เห็นแก่ตัว ย่อมไม่เป็นผู้ทำลายความสุข ความเจริญของตนเอง ความถ่อมตน ทำให้มีโอกาส ที่จะได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านผู้รู้ ได้รับประโยชน์จากท่านเหล่านั้น ไม่จบสิ้น นักศึกษาจึงควรทำตัวเช่นนี้ ลูกจงจำไว้ว่า คนที่ยกตนข่มท่าน ถือดีอวดเบ่งนั้น แม้จะได้ดิบได้ดี ไม่ยั่งยืนนาน”

ท่านยังยกคำโบราณมาสอนลูกด้วยว่า “ความปรารถนาของมนุษย์ เปรียบประดุจรากแก้วของต้นไม้ เมื่อหยั่งลึกลงดินแล้ว ต้นไม้ก็จะมีกิ่งก้านไพศาล ออกดอกออกผลตามฤดูกาล รากแก้วของมนุษย์ ก็คือ การอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือเรื่องใหญ่ เราจะต้องยึดมั่นในคุณธรรมข้อนี้ ถ่อมตนไว้เสมอ ให้ความสะดวกแก่ผู้อื่น เมื่อไม่ทำให้ผู้อื่นสะเทือนใจ เพราะความอวดดีของเราแล้ว ฟ้าดินย่อมประทับใจในความดีของเรา”

เมื่อลูกต้องการสอบไล่ได้เป็นขุนนาง ลูกก็จะต้องตั้งความปรารถนาไว้ ดุจรากแก้วของต้นไม้ แน่วแน่ที่จะทำความดี ไม่ท้อถอย สั่งสมความดีงามให้ได้ทุกๆ วัน ลดความถือดีอวดดีให้หมดสิ้นไป สร้างอนาคตด้วยตัวลูกเองชะตาชีวิตจักทำอะไรได้
ขอให้ลูกจงเพียรพยายามต่อไปเถิด ความสำเร็จย่อมรอลูกอยู่แล้วอย่างแน่นอน

เป็นอย่างไรบ้างครับ หนังสือเล่มนี้แม้จะเป็นเรื่องพื้นๆ แต่ในความพื้นๆนั้น เราหยิบขึ้นมาปฏิบัติจริงหรือไม่ แม้บางเรื่องจะดูยาก เช่น ทำบัญชีความดีความชั่วเพราะมนุษย์เรามักไม่ค่อยมีความอดทน แต่เราก็สามารถเดินหน้าทำความดีต่อไปเรื่อยๆ มุ่งทำความดีเป็นหลัก เราก็ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

ผมนำหนังสือนี้มาย่อให้อ่านกันด้วยเห็นว่าเป็นหนังสือดี และเหมาะสำหรับผู้มีปัญญาเช่นท่านจะได้อ่านกัน อิอิ.

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : หาดใหญ่วันนี้

Next : คดีหกลังแม่โขง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 มิถุนายน 2010 เวลา 9:19

    ขอบคุณอาหารทางจิตใจที่ดี ๆ แต่สาย ๆ วันนี้ค่ะ

    รากแก้วของมนุษย์ ก็คือ การอ่อนน้อมถ่อมตน“   คิดไปถึงกฎทองคำของครอบครัวตัวเองค่ะ ตั้งแต่เด็กจะต้องท่อง “กฎทองคำ” คือ “ซื่อสัตย์ กตัญญู อ่อนน้อมถ่อมตน” ซึ่งสอนและถ่ายทอดจากอากง(ปู่)  ทุกวันก่อนรับเงินค่าขนมไปโรงเรียนต้องท่องกฎทองคำนี้  อากงและเหล่าเจ็กกง (น้องชายคุณปู่) เป็นหมอสมุนไพรจีน รักษาคนฟรี ไม่เคยเรียกร้องค่ารักษา บางครั้งต้องควักเนื้อให้คนไข้ที่ไม่มีเงินพอ ต้องเปิดบ้านเป็นที่อยู่พัก แม่ต้องทำอาหารเลี้ยงทั้งคนในครอบครัวและเลี้ยงคนไข้และญาติ ๆ ด้วยในบางครั้ง แต่เราพบว่าครอบครัวเราร่ำรวยมั่งมีด้วยความรัก นับถือ ที่บ้านจะมีของกินของใช้ดี ๆ ที่คนไข้นำมาให้ไม่เคยขาด และแม่บอกว่าที่สำคัญคือ ลูกหลานของอากงทำมาหากินขึ้น ได้ดีทุกคน ไม่มีใครเกเรเลยสักคน

    ทำให้คิดต่อว่า ข้อคิด คติเตือนใจดี ๆ ของเก่า ๆ เหล่านี้ควรเผยแพร่มาก ๆ  แม้ผ่านไปหลายร้อยปี ก็ยังคงมีคุณค่าและเป็นประโยชน์อยู่เสมอ

  • #2 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 มิถุนายน 2010 เวลา 13:56

    ขอบคุณ freemind
    ที่มาเติมเต็มให้บันทึกนี้ครับ ชอบกฎทองคำครับ “ซื่อสัตย์ กตัญญู อ่อนน้อมถ่อมตน”
    เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่ไหว้คนไม่เป็น บางทีไหว้ผู้ใหญ่ก็ยกมือไหว้ระดับหน้าอก ผู้ใหญ่บางคนรับไหว้แบบไม่เต็มใจรับ จะเรียกว่าพอกันทั้งคู่ก็พอได้ อิอิ สงสัยต้องบอกโรงเรียนให้สอนมารยาทในสังคมไทยเป็นวิชาพิเศษสักวิชาซะแล้ว แฮ่ๆ 

  • #3 ป้าหวาน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 มิถุนายน 2010 เวลา 14:59

    คำสอนของท่านเหลี่ยวฝานนั้นเหมือนคำสอนของพ่อแม่สอนลูกทุกๆคนจริงๆ อาจเป็นคำสอนที่เสมือนเพาะต้นอ่อนหรือเมล็ดอยู่ในใจแล้วจึงให้การรดน้ำพรวนดิน เพิ่มปุ๋ย ให้งอกงาม เติบโตแข็งแรง  รู้สึกแบบนั้นเพราะท่านใช้คำและตัวอย่างในชีวิตจริงเหมือนพ่อแม่สอนลูก ธรรมดาๆ มีความรัก เมตตาเป็นทุน มีความเรียบง่ายเป็นเครื่องมือ  ไม่ต้องตีความยาก  สามารถติดตาม เข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้  แค่ความยากนั้นอยู่ที่การอดทน ตั้งมั่น ต่อสู้กับแรงภายใน ภายนอก เริ่มต้นบทแรกที่ท่านทำความดี  ปีแรกๆท่านต้องใช้ความพยายามและเวลามาก ถึงกว่า 3ปี กว่าจะได้ 3000 ครั้ง (ติดลบทุกครั้งที่ทำไม่ดี มีการหักออกด้วย.)  แต่หลังจากท่านพยายามแล้ว ท่านสามารถทำอีก 10000 ครั้งได้ในเวลาที่ลดลงมามากกว่าครึ่ง  พออ่านถึงตอนหลังๆ  เข้าใจมากทีเดียวว่าท่านทำได้อย่างไร
    คำสอนของท่านได้กล่าวไว้อย่างละเอียด  หนทางในชีวิตมีให้เลือกมากหลาย หนทางที่ท่านเหลี่ยวฝานแนะนำ ควรนำไปศึกษาใคร่ครวญ  ขอบพระคุณพี่อัยการมากค่ะ
    ป้าหวานอยากขอถามพี่อัยการว่า  พี่มีวิธีเปิดใจ หรือ กระตุ้น ความสนใจอย่างไรคะ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดแตกต่างจากคนรุ่นเก่า  เหมือนจะปลูกต้นไม้ต้องเตรียมดิน หรือ จะเลือกต้นไม้ให้เหมาะกับดิน  จะไม่ปลูกก็ไม่ได้ ไม่งั้นตอบว่าไม่ต้องปลูกก็สิ้นเรื่อง55   พี่มีประสบการณ์มากมาย  ป้าหวานจึงอยากฟังความคิดของพี่มากเลยค่ะ  ขอบพระคุณค่ะ

  • #4 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 มิถุนายน 2010 เวลา 23:27

    ขอบคุณป้าหวานที่มาช่วยเติมเต็มครับ
    ผมไม่ใช่นักจิตวิทยา แต่ผมชอบที่จะใช้วาทะศิลป์ในการบอกคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษาหรือลูกน้องในที่ทำงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลูก ผมจะกระตุ้นให้เขาอยากฟังในสิ่งที่เราต้องการจะบอกโดยการเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวทางด้านคุณธรรมจริยธรรม ซ้ำซาก แต่ไม่ซ้ำเรื่อง เช่น เรื่องความอดทนของคนสมัยก่อนซึ่งจะมีผลต่อปัจจุบันอย่างไร การทำความดีของคนจะส่งผลอย่างไรต่อชีวิตซึ่งมักจะเห็นช้า บางทีก็เอาบทความดีๆให้อ่าน บางทีก็เขียนบทความให้เขาอ่าน นั่งเล่านั่งคุยกับลูกน้องเรื่องโจ๊กมั่งแล้วก็สอดแทรกสิ่งเหล่านี้เข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาไปโรงเรียนในฐานะประธานกรรมการสถานศึกษาและมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับนักเรียนก็ต้องแทรกเรื่องเหล่านี้เข้าไปโดยตลอด มีอยู่วันหนึ่ง ผมไปเป็นประธานพิธีเปิดการเข้าค่ายคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งผมก็สอดแทรกเรื่องเหล่านี้ พอเปิดเสร็จพระอาจารย์ที่ไปเป็นพระวิทยากรก็บอกว่า โยมมีเวลาสักชั่วโมงไหม อาตมาจะให้เวลาโยมบรรยายเรื่องคุณธรรมจริยธรรม แต่เราก็ต้องเลือกเรื่องบรรยายเหมือนกัน เหมือนกับที่ป้าหวานว่าเลือกต้นไม้ให้เหมาะกับดิน แต่บางทีก็ใช้วิธีเตรียมดินก่อน เช่น สมัยเป็นอัยการจังหวัดจะมีการประชุมลูกน้องทุกเดือน ในระหว่างเดือนก็ใช้วิธีเตรียมดินโดยเขียนบทความให้ลูกน้องอ่าน ให้ลูกน้องจัดบอร์ดเรื่องราวที่น่าสนใจ กระตุ้นให้เขาอ่านเรื่องดีๆ เป็นการพัฒนาตัวเอง พูดง่ายๆก็คือใช้เทคนิคทุกวิธีการ ทั้งเขียนให้อ่าน เล่าให้ฟัง พูดคุยกันเวลาประชุม ให้ไปอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจมาทำให้คนอื่นอ่านด้วย แต่มันก็ไม่ง่ายเหมือนปากพูดที่จะให้ลูกน้องทำตามที่เราต้องการ ต้องกระตุ้นบ่อยๆครับ และเรื่องเหล่านี้จะให้ได้ผลต้องพูดคุยกันบ่อยๆ ซ้ำซากแต่ไม่ซ้ำเรื่องครับ..

  • #5 ป้าหวาน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 มิถุนายน 2010 เวลา 8:32

    ขอบพระคุณค่ะ ป้าหวานคิดเช่นกันว่าต้องประกอบกันทั้งเตรียมดินและเตรียมต้นไม้  ชอบวิธีสอดแทรก คือให้ตรงๆแต่ให้พร้อมอย่างอื่น และวิธีเตรียมดิน คือให้ล่วงหน้า ให้ทีละนิด  สุดท้ายคือใจของผู้ให้ ดังที่พี่บอกว่าให้บ่อยๆ ให้ซ้ำๆ แต่ไม่ซ้ำเรื่อง  นึกถึง ฝนตก ไม่ได้ตกที่เดียว ทีเดียวให้ได้ทั้งโลก แต่ตกในทุกหนแห่ง ในบางเวลาที่เหมาะสม และอาจตกซ้ำๆแต่หนักเบาไม่เท่ากัน  นึกถึงบทกลอนพระราชนิพนธ์ ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 และของ วิลเลียม เช็คสเปียร์ 

    อันว่าความกรุณาปรานี
    จะมีใครบังคับก็หาไม่
    หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ
    จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน :

    The quality of mercy is not strain’d,
    It droppeth as the gentle rain from heaven
    Upon the place beneath: It is twice blest;
    It blesses him that gives, and him that takes:

  • #6 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 มิถุนายน 2010 เวลา 22:20

    อิอิ ขำภาษาตัวเอง ผมจะเขียนซ้ำๆไหงกลายเป็นซ้ำซากก็ไม่รู้ อิอิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.98326802253723 sec
Sidebar: 0.29986786842346 sec