ดงผู้ดี(๕)
อ่าน: 1179ตอนแรกตั้งใจว่าจะให้จบที่สี่ตอน แต่คืนนี้นั่งดูละครเรื่องนี้ก็อดที่จะลุกขึ้นมาเขียนอธิบายข้อกฎหมายไม่ได้ เพราะหากไม่อธิบายผู้ชมละครจะเข้าใจข้อกฎหมายผิดพลาดและจะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในข้อกฎหมายที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วแก้ไขไม่ได้ นอกจากจะเสียเพื่อนแล้วยังจะเสียเงินอีกด้วย
ละครมาถึงตอนที่ขมแอบไปเห็นจดหมายที่ชาติสยามเขียนค้างเอาไว้ ขมจึงรู้ว่าจดหมายต่างๆที่ตนได้รับนั้นเป็นฝีมือของชาติสยามที่เขียนแทนชวาลทั้งนั้น ทำเอาขมเสียความรู้สึก ชาติสยามจะอธิบายก็ไม่ยอมฟัง และมันเป็นอย่างนี้ทุกครั้งสำหรับหนังไทย พระเอกนางเอกแง่งอนแล้วไม่ยอมรับฟังกันแล้วนางเอกเข้าใจผิดพระเอก หรือไม่ก็พระเอกเข้าใจนางเอกผิด และเรื่องนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ในสังคม สังคมใดที่ผู้คนในสังคมไม่ยอมรับฟังกัน มันจะเกิดปัญหาสารพัด สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบางอำเภอในจังหวัดสงขลาเกิดปัญหาเพราะการไม่ยอมรับฟังหรือฟังแล้วไม่ใส่ใจ หรือปัญหาการเมืองพอแบ่งขั้วก็ไม่ฟังกันก็จะเอาชนะคะคานกัน เราอยากจนตัวสั่นที่อยากจะได้ประชาธิปไตยแบบตะวันตก อยากเป็นแบบอเมริกันมีเดโมแครตกับรีพับบลิกกัน แต่เราไม่ฟังกัน เราไม่เคยยอมรับผลการเลือกตั้งอย่างจริงใจ ทำไมไม่รับเขามาให้หมด เฮ้อ..เบื่อ อ้าว..ออกนอกเรื่องไปไกลแล้ว อิอิ
เรื่องที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟังก็คือ ก่อนครบกำหนดที่ขมอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์เพียง ๑ วัน ความจริงก็เปิดเผยเพราะชาติสยามได้มาที่บ้านเอาเอกสารที่ชวาลฝากไว้มาเปิดออกอ่านให้ทุกคนฟังจึงได้รู้ว่า รังสรรค์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับแขนภา ลูกที่เกิดกับแขนภาจึงมิใช่ลูกที่ชอบด้วยกฎหมายของรังสรรค์ไม่ว่ารติรส(ลูกคนแรก)หรือขม(ลูกคนที่สอง) แถมหากจะไปฟ้องรังสรรค์ให้รับเด็กเป็นบุตรก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะรังสรรค์มิได้ยกย่องแขนภาว่าเป็นภรรยาอย่างออกหน้าออกตา จะง่ายกว่าก็คือรติรสที่รังสรรค์เลี้ยงดูอย่างลูกสาว ถือว่ารังสรรค์รับรองแล้ว แต่ขมแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีทาง เพราะรังสรรค์ไม่เคยยอมรับแถมยังเข้าใจด้วยว่าขมคือลูกของแขนภาที่เกิดกับชวาล การที่ขมมาอยู่ที่บ้านของรังสรรค์ ก็ถือไม่ได้ว่ารังสรรค์เป็นผู้ปกครองตามกฎหมายของขมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (แต่เป็นบุคคลในครอบครัวตามกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว)
แต่ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ รังสรรค์ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ชวาลถอนตัวจากหุ้นส่วนทำธุรกิจ รังสรรค์จึงยืมเงินจากชวาลยี่สิบหมื่น ฟังแล้วงงไหมครับ สองแสนบาทครับ แล้วเอาโฉนดที่ดินมาไว้เป็นประกันกับชวาล ตรงนี้แหละครับที่น่าสนใจว่า เอามาไว้แบบไหน เรามาทำความสนใจกับข้อกฎหมายกันสักนิดดีไหมครับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่
ง่ายๆก็คือเวลาไปยืมตังค์เขามาแล้วหาอะไรไปค้ำประกัน ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์(ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้) เช่น บ้าน ที่ดิน เขาเรียกว่าจำนอง แต่ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์(ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้) เช่น สร้อย แหวน นาฬิกา ครก อิอิ เขาเรียกว่า จำนำ เว้นแต่สังหาริมทรัพย์บางวประเภทที่เอาไปจำนองได้ ดูตรงนี้ครับ
มาตรา 703 อันอสังหาริมทรัพย์นั้นอาจจำนองได้ไม่ว่าประเภทใด ๆ
สังหาริมทรัพย์อันจะกล่าวต่อไปนี้ก็อาจจำนองได้ดุจกันหากว่าได้จดทะเบียนไว้แล้วตามกฎหมาย คือ
(1) เรือกำปั่น หรือเรือมีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป
(2) แพ
(3) สัตว์พาหนะ
(4) สังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งกฎหมายหากบัญญัติไว้ให้จดทะเบียนเฉพาะการ
แต่สาระสำคัญของเรื่องนี้ที่ผมจะชี้ให้ดูก็คือ
มาตรา 714 อันสัญญาจำนองนั้น ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ผมกลัวชาวบ้านดูละครแล้วเข้าใจผิด เพราะในละครมันเป็นคำอธิบายสั้นๆที่ชวาลเขียนบันทึกถึงรังสรรค์ว่ารังสรรค์เอาที่ดินมาไว้กับชวาล ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มันก็ไม่ใช่การจำนองตามกฎหมาย ทำแต่หนังสืออย่าวงเดียวแต่ไม่ไปจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินก็ไม่ใช่จำนองตามกฎหมาย จะบังคับเอาในเรื่องจำนองไม่ได้ ไม่มีบุริมสิทธิในทรัพย์สินที่มาไว้เป็นประกัน
ในเรื่องรังสรรค์เอาตึกเล็กไปไว้กับชวาลถ้าเอาไปไว้เฉยๆ ก็เป็นไปไม่ได้ที่ชวาลโอนมาเป็นชื่อขม
ถ้ารังสรรค์เอาไปจำนองไว้กับชวาลตามกฎหมาย ชวาลก็ต้องฟ้องบังคับจำนองจะเอาตึกเล็กไปเฉยๆไม่ได้ แล้วก็เป็นไปไม่ได้ที่รังสรรค์จะไม่รู้หากชวาลฟ้องบังคับจำนอง เพราะในเรื่องไม่มีข้อมูลว่ารังสรรค์ถูกฟ้องบังคับจำนอง
ถ้าจะให้ผมเดา ผมเดาเอาว่าชวาลคงให้รังสรรค์ทำสัญญาขายฝาก ท่านอาจจะงงว่าขายฝากคืออะไร ดูตรงนี้ครับ
มาตรา 491 อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้
ตรงนี้แหละที่มันต่างจากจำนอง เพราะการจำนองนั้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ยังเป็นของเจ้าของทรัพย์ เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วไม่ชำระหนี้ ก็ต้องฟ้องบังคับจำนอง แต่ถ้าทำเป็นสัญญาขายฝาก กรรมสิทธิ์ในทรัพย์จะโอนไปยังผู้ซื้อฝากทันที โดยมีข้อตกลงว่าให้ซื้อคืนได้ภายในกำหนดระยะเวลา และการที่กฎหมายเขียนไว้แบบนี้มันจึงทำให้บรรดานายทุนหลีกเลี่ยงไม่ทำสัญญาจำนองแต่มาทำสัญญาขายฝากแทนเพราะไม่ต้องเสียตังค์จ้างทนายฟ้องบังคับจำนอง แต่ได้ทรัพย์สินเป็นของตนอย่างเด็ดขาดโดยไม่ต้องทำอะไรอีก
ผมดูละครแล้วรีบเขียนบทความนี้ เพื่อบอกท่านผู้อ่านว่าถ้าต้องไปกู้ยืมเงินใครแล้วเขาให้เขียนสัญญาขายฝากอย่าทำสัญญาเด็ดขาดนะครับไปหาเจ้าอื่นกู้เถอะครับ เดี๋ยวจะหาว่าอัยการชาวเกาะไม่เตือน อิอิ
2 ความคิดเห็น
Finyall! This is just what I was looking for.
Extlemery helpful article, please write more.