ดงผู้ดี(๔)

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 29 เมษายน 2009 เวลา 8:51 ในหมวดหมู่ ครอบครัว, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1241

เขียนมาถึงนี่ตอนที่สี่เข้าไปแล้ว…

คราวที่แล้วผมเล่าว่า ผู้ที่พบเห็นหรือผู้ที่ทราบว่ามีการกระทำความรุนแรงเกิดขึ้นมีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คนขี้สงสัยก็จะสงสัยต่อไปอีกว่า แจ้งทางโทรศัพท์ได้ไหม แจ้งทางอีแมว เอ๊ย อีเมล์ ได้ไหม แจ้งทางจดหมายได้ไหม ไม่ต้องสงสัยอีกแล้วครับ เพราะกฎหมายเขาบอกว่า

การแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 5 อาจกระทำโดย วาจา เป็นหนังสือ ทางโทรศัพท์ วิธีการทาง อิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด (มาตรา 6 วรรคแรก)

เห็นไหมครับว่าเขาอำนวยความสะดวกดีแท้ แจ้งแล้วกฎหมายให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่เกิดเหตุเพื่อสอบถามผู้กระทำความรุนแรง ผู้ถูกกระทำหรือบุคคลอื่นใดที่อยู่ในที่เกิดเหตุ เอาตัวผู้ได้รับบาดเจ็บไปหาแพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หากผู้ถูกกระทำอยากจะแจ้งความร้องทุกข์ก็จัดให้ ถ้าโดนสามีซ้อมซะจนปากบวมพูดไม่ถนัด หรือไม่อยู่ในวิสัยหรือโอกาสที่จะร้องทุกข์ด้วยตนเองกฎหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องทุกข์ให้ ก็ได้ เอาอกเอาใจขนาดไหน นี่เป็นไปตามมาตรา ๖ วรรคสอง

ส่วนผู้กระทำด้วยความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัว ก็ประคบประหงมด้วยนะ..อิอิ ก็คือว่าเมื่อมีการแจ้งเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบว่า คุณรังสรรค์ตบเด็กขมแล้ว หลังจากนั้นห้ามผู้ใดลงพิมพ์โฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีใดๆซึ่งภาพหรือเรื่องราวหรือข้อมูลใดๆอันน่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวในคดีเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ หมายถึงว่า จะตีพิมพ์ข่าวว่าคุณรังสรรค์นี่แย่มากๆเลยนะ ตบเด็กหญิงที่ไม่มีทางสู้จนคางโย้ มีภาพคุณรังสรรค์กำลังตบเด็กขม ลงประกอบด้วย อย่างนี้ไม่ได้นะครับ เพราะคุณรังสรรค์เขาจะเสียหาย เฮ้อ…ประคบประหงมเหลือเกิน….อิอิ ความจริงที่เขาไม่อยากให้เป็นข่าวก็เพราะเป็นเรื่องภายในครอบครัว พอออกข่าวไปแล้วคนกระทำ ก็อาย ผู้ถูกกระทำ ก็อาย คนในบ้านนั้นก็อาย เพราะขณะที่ตบตีทำร้ายมันเกิดจากความโกรธหูฉี่ไม่ฟังเหตุผลใดๆทั้งสิ้น และคุณรังสรรค์ก็เป็นนักธุรกิจใหญ่ ออกข่าวไปคนรู้กันทั่วเขาได้รับความเสียหายทางชื่อเสียงได้ นี่ก็เป็นไปตาม มาตรา ๙

กฎหมายฉบับนี้ เขียนความในใจไว้ในมาตรา ๑๕ ครับ เขาเขียนว่า

“ไม่ว่าการพิจารณาคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัวจะดำเนินไปแล้วเพียงใด ให้ศาลพยายามเปรียบเทียบให้คู่ความได้ยอมความกัน โดยมุ่งถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันในครอบครัวเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงหลักการดังต่อไปนี้ประกอบด้วย
(๑)การคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
(๒)การสงวนและคุ้มครองสถานภาพของการสมรสในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของชายและหญิงที่สมัครใจเข้ามาอยู่กินฉันสามีภริยา หากไม่อาจรักษาสถานภาพของการสมรสได้ ก็ให้การหย่าเป็นไปด้วยความเป็นธรรมและเสียหายน้อยที่สุดโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรเป็นสำคัญ
(๓)การคุ้มครองและช่วยเหลือครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ครอบครัวนั้นต้องรับผิดชอบในการดูแลให้การศึกษาแก่สมาชิกที่เป็นผู้เยาว์
(๔)มาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือสามีภริยาและบุคคลในครอบครัวให้ปรองดองกันและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกันเองและกับบุตร”

ผมเรียกว่าความในใจเพราะจะเห็นเจตนาในการประคับประคองครอบครัวให้อยู่รอดปลอดภัยให้นานที่สุด เพื่ออนาคตของเด็กเป็นสำคัญ เพื่อให้คนในครอบครัวรักกันมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผมว่ากฎหมายฉบับนี้ดีนะ แม้ในความเป็นจริงก็มีอยู่หลายเรื่องที่ต่างคนต่างงงในวิธีการทำงาน ซึ่งผมจะไม่นำมาเล่า ณ ที่นี้เพราะจะทำให้ท่านหนักสมองแล้วจะพาลไม่อ่านบันทึกผม อิอิ ไว้ไปวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงวิชาการครับ

ผมไม่รู้ว่าตอนนี้ท่านรู้สึกเลี่ยนกับกฎหมายหรือเปล่า เอามะม่วงน้ำปลาหวานสักหน่อยไหม…

ในละครก็ถึงตอนเปิดเผยความจริงที่เก็บงำมา ๒๐ ปีแล้ว ว่ารังสรรค์ เป็นพ่อแท้ๆของขม ส่วนชวาลที่บอกกับใครต่อใครว่าตนชื่อพิทย์ รุ้งพลาย ก็ตายไปหลายปีแล้ว การที่เอาขมมาฝากรังสรรค์ทั้งๆที่รู้ว่ารังสรรค์ทิฐิและจะต้องรังเกียจขม แต่ชวาลก็เอามาฝากไว้ ผมวิเคราะห์ว่าชวาลต้องการความสะใจที่รังสรรค์ต้องเกลียดขมเพราะเข้าใจว่าขมเป็นลูกชู้ของแขนภา แล้ววันหนึ่งเมื่อรังสรรค์รู้ความจริงจะต้องเจ็บปวดกับการกระทำของตัวเองที่ทำกับลูกและเมีย แต่คุณชวาลครับ ใครรับผิดชอบกับสิ่งที่ขมต้องได้รับตั้งแต่เด็กจนโตละครับ….

ละครเรื่องนี้ ถ้าผู้ปกครองหรือคุณครูได้ดูแล้วรู้ว่าเด็กนักเรียนก็ดู ท่านคิดจะสอนลูกศิษย์ของท่านเกี่ยวกับผู้ดีอย่างไร ท่านจะวิพากษ์วิจารณ์ผู้ดีแต่เปลือกอย่างเช่นรังสรรค์ หรือ บุหงา หรือพจนีย์ อย่างไร ท่านจะอธิบายถึงบุคคลต่างๆ เช่น คุณหญิง นมผ่อน คุณไพลิน คุณรุ้งกาญจน์ คุณชาติสยาม อย่างไร

แต่สิ่งที่ผมอยากจะสื่อกับเด็กก็คือ

๑.ความเป็นผู้ดี ไม่ใช่อยู่ที่ฐานะร่ำรวยแล้วจะเหมาว่าเขาคือผู้ดี แต่อยู่ที่กิริยาวาจา/ท่าทาง/คำพูด/การแต่งกาย/การกระทำ

๒.อย่าเชื่อในสิ่งที่ตาเห็นแล้วคิดเอาเอง เช่น รุ้งกาญจน์ ตามบุหงาไปดูเห็นชาติสยามนั่งคุยกับคุณไพลิน ก็คิดเอาเองว่า ชาติสยามกับไพลินรักกัน แล้วมาน้อยอกน้อยใจ ทั้งๆที่คุณไพลินไม่รู้เรื่อง หรือกรณี รติรส ซึ่งปกติก็เป็นผู้ดี แต่พอถูกพจนีย์เป่าหู และเห็นหนังสือที่รัฐเอามาให้ขมอ่านมีข้อความที่รัฐบอกรักขม ก็โกรธขมที่แย่งคนรักของตนทั้งๆที่ขมไม่รู้เรื่อง สองคนนี้แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่ไม่เข้มแข็ง ไม่รู้จักคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผล

สิ่งที่ผมอยากสื่อกับคนในแต่ละครอบครัวก็คือ

๑.ครอบครัวของใครก็ขอให้ประคับประคองครอบครัวของท่าน ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข หน้าที่ของหัวหน้าครอบครัวก็คือสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กับครอบครัว ทั้งทางจิตใจ และทั้งฐานะความเป็นอยู่

๒.การใช้ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่จะกลายเป็นสิ่งบ่มเพาะให้บุตรหลานของท่านกลายเป็นคนที่ชอบใช้ความรุนแรงต่อไป ขอให้ช่วยกันตัดวงจรความรุนแรงเหล่านี้ด้วยการให้ความรักแก่บุคคลในครอบครัว

สิ่งที่ผมอยากจะสื่อกับสังคมก็คือ

ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องของมนุษย์ในสังคมที่ช่วยให้มนุษย์ด้วยกันอยู่ในสังคมด้วยความสุขและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ท่านดูละครเรื่องนี้แล้ว คิดว่าละครเรื่องนี้ต้องการจะสื่อเรื่องอะไร…

Post to Twitter Post to Facebook

« « Prev : ดงผู้ดี(๓)

Next : ดงผู้ดี(๕) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.075963973999023 sec
Sidebar: 0.3766930103302 sec